"กูรู" ฟันธงครึ่งหลังปีนี้ "ดอกเบี้ย" ลด เศรษฐกิจโลกชะลอ-ไทยโตต่ำ-กำลังซื้ออ่อนแอ

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

"กูรู" ฟันธงครึ่งหลังปีนี้ "ดอกเบี้ย" ลด เศรษฐกิจโลกชะลอ-ไทยโตต่ำ-กำลังซื้ออ่อนแอ

Date Time: 5 ก.พ. 2567 06:35 น.

Summary

  • หากมองที่ “ภาพใหญ่” เศรษฐกิจโลกปี 2567 ก็ยังอยู่ในภาวะ “เอาตัวเองไม่รอด” โดยมี “กุญแจสำคัญ” คือ “เศรษฐกิจจีน” ที่ต้องลุ้นว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้หรือไม่ในปีนี้

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

ผ่านเดือนแรกที่ยาวนาน เข้าสู่เดือนที่ 2 ของปี “งูใหญ่” ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 เพราะเริ่มเห็นความเสี่ยงที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ไม่สูงมากพอที่จะส่งให้เข้าสู่ “โหมดขับเคลื่อนกลับไปสู่ยุครุ่งโรจน์ใหม่” ได้อีกครั้งอย่างที่คาดหวังกันไว้

เพราะหลังจากที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ “ทิ้งระเบิด” ลูกใหญ่ด้วยการประกาศประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 ขยายตัวเพียง 1.8% ถือว่าต่ำมาก ต่ำกว่าทั้งความคาดหมาย และศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่ควรมี

ทำให้นักวิเคราะห์วิจัยเศรษฐกิจหลายค่าย ต้องกลับมาทบทวนใหม่ว่า ภาคการท่องเที่ยว การผลิต การส่งออก และการลงทุนของไทยยังอยู่ในสถานะที่น่าพอใจหรือไม่ ข้อจำกัดทั้งเชิงโครงสร้าง ทำให้การขยายตัวอ่อนด้อยลงไป และเราจะปล่อยให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนด้วยการใช้จ่ายในประเทศเพียงอย่างเดียวหรือ

หากมองที่ “ภาพใหญ่” เศรษฐกิจโลกปี 2567 ก็ยังอยู่ในภาวะ “เอาตัวเองไม่รอด” โดยมี “กุญแจสำคัญ” คือ “เศรษฐกิจจีน” ที่ต้องลุ้นว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้หรือไม่ในปีนี้ ขณะที่เมื่อย่อลงมาที่ “ภาพเล็ก” ระดับจุลภาค คนไทยจำนวนมากยังคงมีปัญหารายได้กลับมาไม่เท่ากับก่อนโควิด ขณะที่ค่าครองชีพ และภาระหนี้สินสูงขึ้นรวดเร็ว ผลจากราคาพลังงาน และราคาอาหารที่ขึ้นแล้วขึ้นเลยไม่ลดลง และยังถูกซ้ำเติมจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

นอกจากนั้น ความหวังของคนไทยที่จะเกิด “สึนามิลูกใหญ่” ทางเศรษฐกิจ จากการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ของรัฐบาลในปีนี้ก็เลือนลางลง เพราะมีอุปสรรคและเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ล่าสุดรัฐบาลยอมรับว่า อาจเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด และไม่แน่ใจว่าจะเข็นออกมาได้ในไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ของปีนี้หรือไม่

สุดท้าย มาที่ “อัตราเงินเฟ้อ” ซึ่งผิดคาดไปมากในปีที่ผ่านมา จากที่เคยสูงสุดใกล้ 8% แต่ทั้งปี 2566 ดิ่งลงมาอยู่ที่เพิ่มขึ้นเพียง 1.23% โดยอัตราดอกเบี้ยไตรมาสที่ 4 ปีที่ผ่านมา ติดลบจากระยะเดียวกันของปีก่อนต่อเนื่อง 3 เดือน และแม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า อัตราเงินเฟ้อในปีนี้มีโอกาสสูงขึ้น แต่นักวิชาการบางส่วนเริ่มกังวล การเกิด “อัตราเงินเฟ้อแบบฟุบ” หรือ Stagflation

ปี 2567 เป็นปีที่ “คนทั่วโลก” คาดหวังการลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อพยุงเศรษฐกิจ ซึ่งในไทย ตลอดเดือนมกราคมมีกระแสจากทุกฝ่ายมาถึง ธปท.ขอให้ลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อบรรเทาค่าครองชีพของคนไทย

อย่างไรก็ตาม ในฝั่งของโลกการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินล่าสุด เมื่อวันที่ 30-31 ม.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ตัดสินใจคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิม และยังไม่มีสัญญาณการลดดอกเบี้ยลงในไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะที่ของไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะประชุมนัดแรกของปีนี้วันพุธที่ 7 ก.พ.

“ทีมเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน การธนาคาร และตลาดทุนของไทย ถึงแนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจ การเงินของไทย โดยเฉพาะแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยว่า จะปรับลดลงได้หรือไม่ในปีนี้

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย

ดร.กอบศักดิ์เริ่มต้นมองทิศทางดอกเบี้ยจากภาพเศรษฐกิจปี 2567 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปีที่ “ไม่ง่าย” เพราะมีหลายปัจจัยรุมเร้าที่ธุรกิจต้องเผชิญ โดยเฉพาะช่วงต้นปีที่ดอกเบี้ยประเทศต่างๆยังค้างอยู่ในระดับที่สูงเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อให้เด็ดขาด ซึ่งจะกระทบต่อธุรกิจ กำลังซื้อทั่วโลก และมีผลมาถึงการส่งออกของไทย ทำให้ปีนี้ยังฟื้นตัวได้ไม่ดี

“แม้เงิน เฟ้อเริ่มลงแล้วในสหรัฐฯ ยุโรป อังกฤษ ฯลฯ แต่ธนาคารกลางประเทศเหล่านี้ ยังอยากให้มั่นใจว่า เงินเฟ้อจะกลับสู่ปกติ 2-3% ในระยะยาว ไม่ต้องกลับมาแก้อีก จึงคงดอกเบี้ยกันไว้ก่อน โดยเฉพาะช่วงครึ่งแรกของปี”

นอกจากนี้ยังมีเรื่องจีนที่น่ากังวลใจมาก เพราะปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์กำลังสุกงอม ส่งผลกระทบให้กำลังซื้อภายในของจีนไม่ดี สินค้าจีนก็จะต้องออกมาตีตลาดนอกประเทศ รวมถึงไทย กระทบผู้ประกอบการไทย ตามที่เราได้ยินว่า สินค้าจีนราคาถูกเข้ามาบุกตลาดใน 20 กว่าอุตสาหกรรม ทำให้ค้าขายลำบาก กระทบการผลิตไทย ทั้งยังมีผลกระทบของสงครามและความไม่สงบในตะวันออกกลางที่ค่อยๆลุกลาม และส่งผลต่อการขนส่งสินค้าโลก

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังปี 2567 เราจะมีข่าวดีจากการที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆเริ่มทยอยลดดอกเบี้ย ทำให้ความเชื่อมั่นของตลาดค่อยๆดีขึ้น และนำมาสู่ช่วงการฟื้นตัวรอบใหม่ของเศรษฐกิจโลกที่น่าจะคึกคัก และส่งอานิสงส์มาที่ประเทศไทย

“สำหรับทิศทางดอกเบี้ย กนง.คงต้องดูจากปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะแนวโน้มเงินเฟ้อและเศรษฐกิจไทยใน 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งเงินเฟ้อพื้นฐานของเราที่เอาปัจจัยผันผวนต่างๆ ทั้งราคาอาหารสด และน้ำมันเชื้อเพลิงออกไปแล้ว ล่าสุดอยู่ที่ 0.58% ต่ำกว่าเป้าเงินเฟ้อ 1-3% ทำให้ กนง.มุ่งไปที่เศรษฐกิจได้มากขึ้น โดยปีนี้หลายฝ่ายคาดกันว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะโตที่ประมาณ 3% จากภาคท่องเที่ยวที่ดีขึ้น และจากการลงทุนโดยตรงที่สนใจมาที่ไทยเพิ่มขึ้น รวมทั้งจากเศรษฐกิจโลกที่จะฟื้นตัวคึกคักขึ้น จะช่วยการส่งออกและเศรษฐกิจไทยอีกแรงในช่วงปลายปี

อย่างไรก็ตามถ้า กนง.จะลดดอกเบี้ยในช่วงต่อจากนี้ ก็คงลดได้ไม่มาก เพราะจริงๆแล้วช่วงปกติก่อนโควิด ดอกเบี้ยนโยบายไทยอยู่ที่ 1.5-1.75% ทำให้ผลกระตุ้นจากการลดดอกเบี้ยมีไม่มาก และผลต่อการกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ก็มีเพียงระยะสั้น

ดังนั้น หากกังวลเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับต่ำ หลังจากงบประมาณผ่านสภา ควรเน้นเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ เร่งรัดโครงสร้างพื้นฐานให้มากขึ้น ปรับนโยบายสู่อนาคตที่จะเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ในระยะยาว ปรับวิธีการวิจัย สร้างนวัตกรรมของประเทศ ปรับภาครัฐไทยให้เป็นดิจิทัลให้ง่ายต่อการติดต่ออนุมัติ อนุญาต ปรับเปลี่ยนกระบวนการเข้ามาลงทุน เปิดให้เข้ามาง่ายขึ้น ให้ไทยกลายเป็น Hub ของภูมิภาคอย่างแท้จริง

“นโยบายเหล่านี้จะเป็นตัวจริง เป็นหัวใจช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ต้องกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา”

ส่วนคนไทยควรทำอย่างไรในภาวะดอกเบี้ยในเวลานี้ ดร.กอบศักดิ์ มองว่า ปีนี้ดอกเบี้ยน่าจะสูงสุดแล้ว คนที่ฝากเงินควรเริ่มคิดฝากยาวมากขึ้นเพื่อล็อกดอกเบี้ยสูงไว้ สำหรับภาคธุรกิจ แม้ดอกเบี้ยลดก็คงลดได้ไม่มาก ธุรกิจควรให้ความสำคัญกับการปรับตัว ยกระดับการผลิต ขณะที่นักลงทุนขอให้รอช่วงปลายปีที่เศรษฐกิจโลกน่าจะดีขึ้นและส่งผลดีกับไทย ตลาดจึงเป็นโอกาสในการลงทุน อย่างไรก็ตาม รัฐต้องเร่งดูแลกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะประชาชน และ SME ที่อ่อนแอ โดยการช่วยเหลือแบบมุ่งเป้า เน้นคนเดือดร้อน ซึ่งจะทำให้ช่วยได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ดร.อมรเทพ จาวะลา
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย

มาถึงทิศทางดอกเบี้ยจาก “นายแบงก์โดยตรง” ดร.อมรเทพ เริ่มต้นมองทิศทางดอกเบี้ยจากต่างประเทศ โดยมองว่า เฟดมีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้จากระดับ 5.50% สู่ระดับ 4.50% โดยคาดว่าจะลดลง 4 ครั้ง ครั้งละ 0.25% และน่าจะเริ่มลดลงในรอบการประชุมเดือนพฤษภาคมนี้

“สหรัฐฯยังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังอยู่ในระดับสูงลากยาว ตลาดแรงงานยังตึงตัว อัตราว่างงานยังต่ำ การเพิ่มขึ้นของการจ้างงานยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนว่าอัตราค่าจ้างในอนาคตยังปรับขึ้นได้ และอาจจะนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อในอนาคต เมื่อเงินเฟ้อสหรัฐฯยังสูงกว่าเป้าหมายที่เฟดตั้งไว้ที่ 2% มีความเป็นไปได้ที่การปรับลดดอกเบี้ยของสหรัฐฯจะเป็นแบบระมัดระวัง และค่อยเป็นค่อยไป”

ภาพแบบนี้ จะกระทบเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดเกิดใหม่ และสภาพคล่องในตลาดการเงินของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทย

และด้วยภาพแบบนี้ ดอกเบี้ยนโยบายของไทย มีแนวโน้มลดลงตามสหรัฐฯ เพื่อให้สอดคล้องกับเงินทุนเคลื่อนย้ายและเสถียรภาพของตลาดเงินตลาดทุน

อย่างไรก็ดี เราไม่ได้มองว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะต้องตามสหรัฐฯทันที แต่เพื่อรักษาสมดุล ก็มีความเป็นไปได้ที่จะรอให้สหรัฐฯลดดอกเบี้ยก่อนแล้วไทยค่อยลดลงตาม

ดังนั้น หากพิจารณาทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทย มีความเป็นไปได้สูงที่แบงก์ชาติจะปรับลดในปีนี้ เพื่อพยุงเศรษฐกิจ เพราะต้องยอมรับว่านอกเหนือจากปัจจัยต่างประเทศแล้ว สภาพเศรษฐกิจปัจจุบันยังสอดรับกับการปรับลดดอกเบี้ยได้

เศรษฐกิจไทยที่โตต่ำ จากการคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่คาดว่าปี 2566 จะขยายตัวเพียง 1.8% หมายความว่าไตรมาส 4 อาจจะหดตัวเทียบไตรมาสต่อไตรมาส และน่าจะซึมลากยาวสู่ไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ของปีนี้ หากงบประมาณรายจ่ายของรัฐยังไม่ออกมา และงบการใช้จ่ายและลงทุนยังไม่ชัดเจน

อีกทั้งเงินเฟ้อไทยก็ยังอยู่ในระดับต่ำ ติดลบยาวมา 3 เดือนแล้ว สะท้อนกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแอ ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง ไม่เพียงแค่มาจากนโยบายรัฐ ที่พยุงกำลังซื้อจากการลดค่าไฟและค่าพลังงานเท่านั้น

มองต่อไป เชื่อว่าแบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ยเพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี เรามองเป็นช่วงเดือนสิงหาคม หากเฟดลดดอกเบี้ยได้ในเดือนพฤษภาคม

ท้ายที่สุด ดร.อมรเทพ ฝากตัวแปรที่สำคัญที่ต้องจับตาไว้ คือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการคลัง โดยเฉพาะมาตรการดิจิทัล วอลเล็ต ที่อาจจะทำให้มีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจไทยที่ยังร้อนแรงได้ต่อ ซึ่งอาจทำให้แบงก์ชาติระมัดระวังการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อไม่ทำให้เสถียรภาพตลาดเงินตลาดทุนมีปัญหาได้

ไพบูลย์ นลินทรางกูร
นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน

ต่อมาที่ฝั่งตลาดทุนของไทย เพราะนอกจาก “อัตราดอกเบี้ย” จะกระทบต่อภาระหนี้ของประชาชน และการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ยังกระทบโดยตรงถึงภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยด้วย

หนึ่งในกูรูของตลาดหุ้นไทยวันนี้ “ไพบูลย์ นลินทรางกูร” กล่าวว่า...“ในช่วงครึ่งปีแรก ผมคาดว่าแบงก์ชาติจะยังไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายดอกเบี้ย เพราะประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2567 ของแบงก์ชาติ ยังคงอยู่เกิน 3% แสดงให้เห็นว่าแบงก์ชาติยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัว

บวกกับแบงก์ชาติคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปจะพุ่งขึ้นไปที่ 2% ถ้าเป็นเช่นนั้น จะสอดคล้องกับระดับดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่ 2.5% รวมทั้งในครึ่งปีแรกยังไม่น่ามีแรงกดดันจากเฟด ซึ่งน่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่เดิม”

แต่ช่วงครึ่งปีหลัง ผมเชื่อว่ามีโอกาสสูงที่แบงก์ชาติจะเริ่มลดดอกเบี้ย แต่คงลดแค่ 0.25% หรือมากสุด 0.5% เพราะดอกเบี้ยนโยบายของไทยปัจจุบันค่อนข้างต่ำ และต่ำเป็นอันดับ 4 ในโลก (ไม่นับประเทศและหมู่เกาะขนาดเล็กๆ) และแบงก์ชาติน่าจะยังอยากเก็บเนื้อที่การลดดอกเบี้ยไว้เผื่อใช้ยามฉุกเฉิน

สำหรับปัจจัยหลักที่น่าจะทำให้แบงก์ชาติปรับดอกเบี้ยนโยบายลงในครึ่งปีหลัง คือ แนวโน้มดอกเบี้ยโลกที่คาดว่าจะเริ่มกลับสู่ขาลงในช่วงกลางปี นำโดยเฟด ซึ่ง ณ วันนี้ ตลาดคาดการณ์ว่า มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 1-1.5% ในปีนี้ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ตลาดคาดว่าจะลดดอกเบี้ยลง 1% และคาดว่าธนาคารกลางอังกฤษจะลด 0.75% สอดคล้องกับธนาคารกลางอีกหลายประเทศในโลกที่มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยในปีนี้

“นอกจากนั้น ผมเชื่อว่า ในไม่ช้านี้แบงก์ชาติจะปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลง เพราะภาวะเศรษฐกิจในประเทศยังดูอ่อนแอ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมีแนวโน้มล่าช้า และทิศทางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีน ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน”

ผลดีของการลดดอกเบี้ย คือ การลดภาระทางการเงินของประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ลดโอกาสเกิดหนี้เสีย ช่วยให้สภาพคล่องในระบบการเงินดีขึ้น กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายและการลงทุนเพิ่มขึ้น และช่วยทำให้ภาวะตลาดทุนดีขึ้น

โดยเฉพาะในภาวะที่หนี้ในประเทศสูงมากเช่นปัจจุบัน ที่ 232% ต่อ GDP (เป็นหนี้ครัวเรือน 90% ต่อ GDP หนี้ภาคธุรกิจ 80% และหนี้สาธารณะ 62%) การลดดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบด้านบวกค่อนข้างมาก

แต่ผลเสียของการลดดอกเบี้ย ถ้าทำในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ได้อ่อนแอ และแนวโน้มเงินเฟ้ออยู่ในขาขึ้น มีโอกาสนำไปสู่เสถียรภาพของเศรษฐกิจที่ลดลง ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ค่าเงินที่อ่อนค่า และอาจทำให้แบงก์ชาติต้องขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าเดิมในระยะถัดไป

ท้ายสุด คุณไพบูลย์ ฝากคำแนะนำมายังคนไทยในภาวะผันผวนของตลาดการเงินขณะนี้ว่า สำหรับ “ผู้ฝากเงิน” ดอกเบี้ยเงินฝากช่วงนี้น่าจะสูงสุดของรอบนี้แล้ว แนะนำให้เลือกฝากประจำระยะยาวๆ ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าระยะสั้นๆ เพื่อล็อกดอกเบี้ยที่ระดับสูงไว้ก่อน

ขณะที่ “นักลงทุน” พันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชนระดับ BBB+ ขึ้นไป น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี ในช่วงนี้ตลาดหุ้นยังสามารถลงทุนได้ และน่าจะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลงในครึ่งปีหลังแต่ควรเลือกลงทุนในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มจ่ายเงินปันผลสูงและต่อเนื่อง และสำหรับ “คนที่เป็นหนี้” ในขณะนี้ ช่วงครึ่งปีหลังอาจเป็นโอกาส refinance หนี้เดิมด้วยหนี้ใหม่ที่อัตราดอกเบี้ยต่ำลง.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ