เศรษฐกิจไทยยุคน้ำแข็งโปะหัว “สมคิด” ชี้พิษการเมืองทำประเทศไข้ขึ้น

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เศรษฐกิจไทยยุคน้ำแข็งโปะหัว “สมคิด” ชี้พิษการเมืองทำประเทศไข้ขึ้น

Date Time: 2 ก.พ. 2567 06:21 น.

Summary

  • “สมคิด” ชี้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยไม่ง่ายอีกต่อไป ตัวเลขที่ออกมาว่าโต 1.8% ถ้าจริงต้องเอาน้ำแข็งโปะหัวเพราะต่ำมาก ขณะที่เพื่อนบ้านวิ่งได้เร็ว ชี้ “การเมือง” ฉุดเศรษฐกิจตกต่ำ ย้ำหากอีอีซีไม่เดินหน้า อย่าหวังให้แลนด์บริดจ์เกิด ประธาน ส.อ.ท.ชี้เสน่ห์ไทยแลนด์เหลือเพียงที่ตั้งประเทศ

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ.67 สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ได้จัดสัมมนาเศรษฐกิจประจำปี 2567 ภายใต้หัวข้อ “ฝ่าเศรษฐกิจ ปีงูใหญ่ ชวนสร้างไทยให้ยั่งยืน” ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮเอท เอราวัณ กรุงเทพฯ โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ “จับชีพจรชีวิตประเทศไทย” ว่า การจะจับชีพจรประเทศไทย เศรษฐกิจไทยได้ต้องเข้าใจชีพจรโลกด้วย เพราะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกแยกกันไม่ออก ไทยพึ่งพิงโลกมากมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) อย่างมาก สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้นเป็นเศรษฐกิจที่เติบโตช้ามากว่า 20 ปี ไม่ได้เติบโตเหมือนเดิมอีก เป็นปัญหาสั่งสมมายาวนาน

วันนี้เศรษฐกิจไทยถือว่าอ่อนแอเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ ประเทศอื่นเขาวิ่งได้เร็วมาก และน่ากลัว ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม และอินโดนีเซีย หรือมาเลเซียก็สามารถที่จะกลับมาใช้นโยบาย Multi Corridor เดินหน้าเศรษฐกิจ ส่วนอินเดียมีประชากรและแรงงานมาก มีการลงทุนใหม่ๆเกิดขึ้นมาก แต่ไทยเสียความสามารถในการแข่งขันและกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสุดยอด และประชากรลดลงเรื่อยๆ

“การเติบโตของเศรษฐกิจไทยแต่ละปีต่อจากนี้ไม่ง่ายอีกต่อไป มีตัวเลขที่ออกมาว่าโตได้แค่ 1.8% ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ ถ้าจริงก็ต้องเอาน้ำแข็งโปะหัวเพราะโตต่ำมาก วันนี้สินค้าไทยคืออะไร จุดแข็งของไทยคืออะไรเราจะแข่งกับใครได้ เราสามารถที่จะตอบตัวเองได้หรือไม่ เพราะโลกเขาไปอุตสาหกรรมใหม่ และ AI แล้ว แต่อุตสาหกรรมของเรายังกระจุกตัว มีบริษัทใหญ่ไม่กี่บริษัท และธุรกิจใหญ่ยังผูกกับคาร์บอนและฟอสซิลอยู่มาก”

ทั้งนี้ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยถือว่าเสียเวลาไปมากและไม่ใช่ปัจจัยปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างเดียวแต่เป็นปัญหาทางการเมือง รัฐบาลแต่ละช่วงเวลาอาจจะรู้ว่าต้องทำนโยบายอะไร แต่ว่าการเมืองไม่สนับสนุนให้ทำได้เพราะการเมืองมุ่งแต่จะเอาชนะกัน แบ่งสี แบ่งค่าย เพื่อเอาฐานเสียงทุกรูปแบบ ก็นำไปสู่ต้องหาเสบียง หาเงินดัชนีคอร์รัปชันก็เลยพุ่งสูง เปิดโอกาสให้ทุนทางการเมืองเข้ามากลายเป็นรูปแบบธุรกิจ นโยบายจึงออกมาเป็นควิกวิน ระยะสั้นไม่สามารถทำนโยบายระยะยาวได้ เรื่องที่เป็นนโยบายใหญ่ๆ กฎหมายสำคัญๆ ที่จะออกจากสภาฯก็ไม่ทำ การเมืองก็ใช้วิธีการปรองดองกันเพื่อผลประโยชน์เท่าที่ทำได้

นายสมคิดกล่าวว่า นโยบายระยะยาววันนี้ยังต้องเดินหน้าโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ต้องสร้างความต่อเนื่อง เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน แต่มีข่าวว่านักลงทุนบางรายจะไม่ทำต่อ ถ้าโครงการอีอีซีเดินหน้าไม่ได้ ก็ไม่ต้องหวังอะไรกับโครงการแลนด์บริดจ์ เพราะความเชื่อมั่นไม่เหลืออยู่แล้ว วันนี้ต้องเร่งฟื้นฟู ความเชื่อมั่น ความเชื่อใจ และความเชื่อถือ ทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมทั้งฟื้นหลักการความยุติธรรม ธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็ไปต่อยาก หุ้นตกก็มาจากเรื่องเหล่านี้ เศรษฐกิจถดถอยก็มาจากเรื่องแบบนี้ไม่ใช่ปัจจัยอื่น ถ้าเรายังไม่ช่วยกันทำ ไม่หือ ไม่อือ ก็จะพาประเทศไทยไปสู่ความเสี่ยง ไม่ใช่ความเสี่ยงที่เราไม่รู้แต่เป็นความเสี่ยงที่เรารู้แน่นอนว่าเราจะเดินไปสู่อะไร ตรงนี้ต้องคิดกันให้ดี

นายสมคิดกล่าวว่า ที่ผ่านมาโลกได้ผ่านสถานการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงมากมาย ทำให้การคาดการณ์เศรษฐกิจเป็นไปได้ยาก การทำนายอนาคตให้แม่นยำเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แม้แต่ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังต้องมีการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจแล้ว 2 ครั้งซึ่งบ่งบอกว่าความไม่แน่นอนมีสูงมาก อย่างไรก็ตามสิ่งที่ประเทศต่างๆ รวมทั้งบริษัท องค์กรเอกชนจะต้องเผชิญคือภาพใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือภาวะที่เศรษฐกิจโลกเติบโตช้าลง ล่าสุด IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวที่ 3.1% ต่ำกว่าระดับเฉลี่ยในรอบหลายปีซึ่งค่าเฉลี่ยของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมานั้นอยู่ที่ประมาณ 3.8%

นายสมคิดกล่าวว่า เศรษฐกิจในภาพรวมเหมือนจะฟื้นตัวและมีปัจจัยบวกรออยู่ เช่น เศรษฐกิจจีนที่จะขยายตัวได้เพิ่มเติมที่ประมาณ 4.5% เศรษฐกิจญี่ปุ่นและอินเดียฟื้นตัวและเติบโตได้ดี โดยสาเหตุที่ IMF คาดการณ์จีดีพีโลกขยายตัวต่ำกว่าที่ควร มาจากความเสี่ยงหลักในเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ที่ทั่วโลกต้องเผชิญซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงระดับสูงสุด (Top Risk) ของโลกในปัจจุบัน หากนายโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯอีกครั้งจะมีความเสี่ยงต่อเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจ เช่นนโยบายที่ทรัมป์จะหยุดสงครามยูเครนภายใน 1 วัน โดยการไปผูกไมตรีกับรัสเซีย หรือทรัมป์อาจประกาศให้อเมริกาถอนตัวจากสมาชิกป้องกันภัยแอตแลนติกเหนือ (NATO) ซึ่งก็จะทำให้ NATO อ่อนแอลงไปได้ ขณะที่การกลับมาของทรัมป์จะทำให้จีนและสหรัฐฯตึงเครียดมากขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจทั่วโลกเป็นความเสี่ยงที่จะต้องเตรียมรับมือให้ดี

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในหัวข้อ “Geopolitics : โลกรวนชวนตีกัน โอกาสของไทย?” ว่า ขณะนี้เสน่ห์ประเทศไทย หายไปเกือบหมดแล้ว เหลือเพียงที่ตั้งประเทศไทยเท่านั้นที่ยังดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยว เช่น โรงงานจากจีนจะย้ายฐานการผลิต 4 ราย มาไทยเพียง 1 ราย อีก 3 รายไปเวียดนาม เนื่องจากต้นทุนเวียดนามต่ำกว่า และเงื่อนไขกฎระเบียบต่างๆเอื้ออำนวยการลงทุน ขณะที่ไทยไม่มีการปรับโครงสร้าง ไม่มีการปรับปรุงกฎระเบียบมาเป็นเวลานานมาก.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ