“พลังละมุน” น่าจะเป็นคำที่คนไทยไม่คุ้นชินนัก แต่เมื่อพูดถึงคำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” (Soft Power) ได้กลายเป็นคำฮิตติดปาก ยิ่งเมื่อรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ได้ให้บท “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ทำหน้าที่จัดทำแผนงานโครงการในด้านต่างๆเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
ภาพจำตอนนี้ของคนไทยเมื่อพูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ จึงเห็นหน้าตาของ “แพทองธาร” ลอยตามมา
ขณะที่องคาพยพต่างๆ รัฐมนตรีในแต่ละกระทรวง ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ล้วนมีหน้าที่นำแผนนั้นไปสู่ทางปฏิบัติ
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็เช่นกันที่ดูจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์อย่างตรงไปตรงมา เพราะการพัฒนา 11 สาขาซอฟต์พาวเวอร์ ล้วนมีผลดีต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทยทั้งสิ้น
“ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ได้สัมภาษณ์ “สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล” รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา และ “ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ถึงบทบาทที่จะส่งเสริมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ไปด้วยกัน
สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล
รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา
จากนโยบายของรัฐบาลในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ได้เดินหน้าสนับสนุนการสร้าง Soft Power ของประเทศ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ผ่านการ ส่งเสริมนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ทักษะ Soft Power ซึ่งจะเป็นกลไกและองค์ประกอบสำคัญในการสนับสนุนให้การท่องเที่ยวของไทยได้รับความนิยมและเป็นสปอตไลต์ในเวทีโลกไปด้วย และในโอกาสนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะใช้จุดเด่นในเรื่องของกีฬาเข้ามาเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนและเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศไทย
“การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์สาขาต่างๆภายในประเทศ 11 สาขา ได้แก่ อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบแฟชั่น ดิฉันเห็นว่า ใน 11 Soft Power มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และกีฬาถึง 6 สาขา ได้แก่ อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี ภาพยนตร์ เราต้องขับเคลื่อนตามเป้าหมายของรัฐบาลให้ได้”
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีนโยบายชัดเจนที่จะใช้ Soft Power เป็นพลังในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการกีฬาของประเทศไทยให้เป็น “Engine the New Power” หรือเครื่องยนต์ที่เป็นขุมพลังใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
โดยเฉพาะใช้ Soft Power กระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อกระจายรายได้ไปสู่พื้นที่เมืองรองทั่วประเทศ เพื่อให้เกิด จึงต้องมีการพัฒนาและผลักดันจุดเด่นของแต่ละพื้นที่ให้เป็น Soft Power ต้องมีการสร้างเรื่องราวของพื้นที่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ผ่านสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ นำผลิตภัณฑ์อาหาร และวัฒนธรรม มาหนุนให้เกิดการท่องเที่ยวในระดับชุมชน ก่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของชุมชน
ขณะเดียวกัน การส่งเสริมให้ไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ต่างชาติ นับเป็น Soft Power ที่สำคัญและได้ผลมาก ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย อีกทั้งผู้ชมภาพยนตร์ที่เกิดความประทับใจในโลเกชันของการถ่ายทำจะมีการเดินทางท่องเที่ยวตามรอยสถานที่นั้นๆ ทำให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น
“การส่งเสริมให้ต่างชาติมาถ่ายภาพยนตร์ในประเทศก็จะนำรายได้เข้าสู่ประเทศและสร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศไทย จึงต้องเน้นการส่งเสริมอย่างจริงจัง มีข้อสังเกตว่าภาพยนตร์ที่มาถ่ายทำที่ประเทศไทย แต่คนทั่วโลกไม่รู้เลยว่าทะเลที่สวยงามคือที่ไหน ตรงจุดนี้ต้องให้ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำในประเทศไทย ให้เครดิตสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ เพื่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามต่อไปด้วย”
นอกจากนี้ มีนโยบายนำเสนอให้ประเทศไทยเป็น Festival Desti nation หรือจุดหมายปลายทางของการจัดงานเทศกาลประเพณี เพื่อปักหมุดเทศกาลท่องเที่ยวไทยให้อยู่ในปฏิทินการท่องเที่ยวโลก รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะจัดงานเทศกาลต่างๆ ให้ยิ่งใหญ่และเป็นที่กล่าวขานของคน ทั่วโลกให้มากยิ่งขึ้น
สุดท้ายในเรื่องของกีฬา จะเห็น ได้ว่ากีฬามวยไทยเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่วัฒนธรรม คนทั่วโลกให้ความนิยม มีชาวต่างชาติจำนวนมากเดินทางมาท่องเที่ยวและเรียนมวยไทยไปด้วย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงจะเดินหน้าส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่จะให้วีซ่าพิเศษสำหรับ ชาวต่างชาติที่มาเรียนมวยไทย ให้พำนักในไทยได้ถึง 90 วัน มากกว่าเดิม ที่ให้ 60 วัน ตรงจุดนี้ถือว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วย Soft Power ด้านกีฬา และผลักดันกิจกรรมกีฬาเพื่อการท่องเที่ยว (Sport Tourism) นำกีฬามาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย
ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์
ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
ททท.ภายใต้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ร่วมกันผลักดันและส่งเสริมพลังของซอฟต์พาวเวอร์ไทย ภายใต้การบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยจะสนับสนุนการจัดกิจกรรม งานประเพณี และส่งเสริมด้านการประชาสัมพันธ์ Soft Power ของไทยทั้ง 11 ด้าน แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
“สะท้อนศักยภาพของต้นทุนทางวัฒนธรรมไทยที่มีเอกลักษณ์ให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ และเพิ่มมูลค่า Soft Power ของไทยให้ทรงพลังมากยิ่งขึ้นในระดับโลก”
โดยในปี 2567 นี้ ททท.มุ่งนำเสนอจุดแข็งสู่จุดขายของ Soft Power (5F) ผ่านกลยุทธ์ Year of Soft Power Collaborations ซึ่งจะดำเนินการขับเคลื่อนต้นทุนทางวัฒนธรรมควบคู่กับการนำเสนอสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ เพื่อผลักดันให้การท่องเที่ยวไทยคึกคักตลอดทั้งปีและกระตุ้นให้เกิด Amazing Experience ที่มีคุณค่าและความหมาย ภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร
เริ่มจาก Festival ททท.ร่วมสนับสนุนและจัดงานเทศกาลที่เป็นที่นิยมทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ เพื่อกระตุ้นการเดินทางอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะ 2 เทศกาลใหญ่ที่กำลังจะมาถึง ทั้งเทศกาลตรุษจีน และเทศกาลสงกรานต์
ในเทศกาลตรุษจีน ททท.ได้ดำเนินการจัดงานเทศกาลตรุษจีนไชน่าทาวน์เยาวราช และเทศกาลตรุษจีนในภูมิภาค มาตั้งแต่ปี 2548 เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีการจัดงานเทศกาลตรุษจีนที่ใหญ่ที่สุดนอกสาธารณรัฐประชาชนจีน
ในปี 2567 นี้ ททท.จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในวันขึ้นปีใหม่ตามธรรมเนียมจีนในย่านเยาวราช ซึ่งถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนชาวจีนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยโดยมุ่งหวังให้เป็นกิจกรรมที่สามารถสร้างประสบการณ์และความประทับใจและกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวและการใช้จ่ายเงินในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยวันที่ 1-29 ก.พ.2567 จะตกแต่งประดับไฟเทศกาลตรุษจีน บริเวณถนนเยาวราช ตลอดทั้งเดือน และมีกิจกรรมมากมาย โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จบริเวณวงเวียนโอเดียน ถนนเยาวราช วันที่ 10 ก.พ.2567
ขณะเดียวกันในเดือน เม.ย.2567 จะมีเทศกาลมหาสงกรานต์ ต่อยอดกิจกรรมการท่องเที่ยวผ่านเทศกาลงานประเพณีในประเทศไทยที่เป็นที่นิยมในระดับนานาชาติ ผ่านการจัดงาน Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567 ในวันที่ 11-15 เม.ย.2567 ณ บริเวณถนนราชดำเนินกลาง และท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร รวมถึงพื้นที่อัตลักษณ์ทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นการนำเสนออัตลักษณ์ประเพณีสงกรานต์ไทยผ่านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ควบคู่กับการสร้างความตระหนักรู้ถึงรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
“การจัดงานจะยิ่งใหญ่กว่าทุกปี เพราะ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ของมนุษยชาติ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2566”
สำหรับซอฟต์พาวเวอร์ ต่อมา คือ Film ล่าสุด บริษัท HBO Warner Bros. Discovery เลือกประเทศไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำรายการซีรีส์ทางโทรทัศน์ เรื่อง “The White Lotus” ซีซัน 3 และได้เลือกพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต และเกาะสมุย เป็นสถานที่ถ่ายทำ โดย ททท. ร่วมสนับสนุนการถ่ายทำซีรีส์ พร้อมอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่คณะถ่ายทำ คาดว่าจะช่วยผลักดันส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยวโดยเชื่อมโยงในการนำมิติของการท่องเที่ยวผนวกกับ Soft Power of Thailand มิติของภาพยนตร์ (Film) สู่สายตาผู้ชมจากทั่วโลก ให้เกิดแรงบันดาลใจในการออกเดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Luxury Travel
ขณะเดียวกัน อาหารหรือ Food ที่ ททท.ดำเนินการอยู่ คือ ต่อยอดโครงการและจัดกิจกรรม Joint Promotion ร่วมกับ The MICHELIN Guide Thailand เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มการท่องเที่ยวเชิงอาหาร และสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงอาหารของโลก (Gastronomy Tourism) โดยการดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 คาดว่าสร้างมูลค่าเพิ่มการท่องเที่ยวเชิงอาหารแล้วกว่า 1,300 ล้านบาท
Fight สร้าง Experience ททท.ได้สนับสนุนการแข่งขันมวยไทยในรูปแบบ Road Show ทั่วประเทศและต่างประเทศ โดยล่าสุดจัดกิจกรรมจัดการแข่งขันมวยไทยนานาชาติ “AMAZING MUAY THAI, ROAD TO RAJADAM NERN” การแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาตินี้จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ให้ฟื้นตัว นำสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและตอกย้ำการส่งเสริม Soft Power ไทยในเวทีโลก
Fashion ร่วมกับแบรนด์แฟชั่นชื่อดังจัดทำ Collection กางเกงช้าง, จัดกิจกรรมแฟชั่นโชว์ผ้าไทยในแต่ละภูมิภาค และทำกิจกรรมทางสื่อสังคมออนไลน์ร่วมกับกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ รวมทั้งสนับสนุนกลุ่มดีไซเนอร์รุ่นใหม่
ส่วนล่าสุดที่ ททท.จัดกิจกรรม “THAILAND SOFT POWER X GUINNESS WORLD RECORDS™ CHALLENGE” โดยร่วมกับ GUINNESS WORLD RECORDS™ จัดการแข่งขันใน 5 หัวข้อที่สุดของโลก ได้แก่ 1.ใส่นวมต่อยลูกโป่งแตกมากที่สุดใน 1 นาที 2.ใส่กางเกงช้างเยอะที่สุดใน 1 นาที 3.กินสตรีทฟู้ด (ปาท่องโก๋) มากที่สุดใน 1 นาที 4.ใส่หน้ากาก (หน้ากากผีตาโขน) ได้มากที่สุดใน 1 นาที 5.กินป๊อปคอร์นได้เยอะที่สุดใน 1 นาที
แต่ละรายการได้เลือกเอาสินค้าท่องเที่ยวและซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวต่างชาติมานำเสนอ แต่ได้เกิดกระแสทางลบบนโลกโซเชียล อยากขอชี้แจงว่า
“สิ่งนี้ คือกุศโลบาย ที่เอาอะไรที่ง่ายๆ แต่ได้รางวัลใหญ่ถึงกินเนสส์ เวิลด์เรคคอร์ดมาเป็นตัวล่อ แต่เบื้องหลังแนวคิด คือ จะสร้างเนื้อหาให้กับทั้ง 5 F แบบจัดเต็ม ให้นักท่องเที่ยวได้ทราบ และอยากเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย”
ทั้งนี้ ททท. เชื่อมั่นว่า การผลักดัน Soft Power ให้เป็นพลังในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นการท่องเที่ยวให้บรรลุเป้าหมายทางด้านรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวตามที่ตั้งไว้.
ทีมเศรษฐกิจ
คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปเศรษฐกิจ" เพิ่มเติม