เจาะลึก "โอกาสและความท้าทาย" เปิดตำราวางแผนปีงูใหญ่ "เศรษฐกิจไทย" ปี 2567

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เจาะลึก "โอกาสและความท้าทาย" เปิดตำราวางแผนปีงูใหญ่ "เศรษฐกิจไทย" ปี 2567

Date Time: 8 ม.ค. 2567 06:59 น.

Summary

  • “ทีมเศรษฐกิจไทยรัฐ” ได้มีโอกาสรับฟังความคิดเห็นจาก รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการ การจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (NIDA) ซึ่งมองว่า เศรษฐกิจไทย ปี 2567 ยังมีทั้งโอกาสและความท้าทาย

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

ผ่านสัปดาห์แรกของปีใหม่ 2567 ไปอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับบรรยากาศความคึกคักของการเฉลิมฉลอง และการจับจ่ายท่องเที่ยวที่เริ่มซาลง เข้าสู่โหมดเริ่มต้นการทำงานอีกครั้ง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเดินหน้าไปสู่เป้าหมายใหม่ยิ่งใหญ่กว่า

โดยในส่วนภาพรวมของทิศทางเศรษฐกิจไทยนั้น ในปี 2566 ที่ผ่านมา แม้จะมีปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไม่ได้พุ่งขึ้นพรวดพราดอย่างที่คาดหวัง แต่ก็ถือว่ากลับมาอยู่ใน “ฝั่งขาขึ้น” และคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ อาจจะไม่ได้โตแบบก้าวกระโดด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า “เราหมดโอกาสที่จะได้เงินเดือนมากขึ้น หรือร่ำรวยขึ้น” เพียงแต่เราต้องจับทิศทางและโอกาสไว้ให้อยู่เท่านั้น

“ทีมเศรษฐกิจไทยรัฐ” ได้มีโอกาสรับฟังความคิดเห็นจาก รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการ การจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (NIDA) ซึ่งมองว่า เศรษฐกิจไทย ปี 2567 ยังมีทั้งโอกาสและความท้าทาย ดังนี้

ย้อนภาพรวมเศรษฐกิจปี 2566

“ก่อนอื่นขอสรุปภาพรวมเศรษฐกิจไทย ปี 2566 โดยในช่วงต้นปีทั่วโลก รวมทั้งไทยเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูง อันเกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ธนาคารกลางของประเทศต่างๆใช้มาตรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารอังกฤษ รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกลางสหรัฐฯได้ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนสูงสุดที่ 5.5% ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก” อาจารย์มนตรีกล่าว

ขณะที่เศรษฐกิจของไทยซึ่งพึ่งพาต่างประเทศสูงถึง 72% ผ่านการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน และประเทศที่พึ่งพาในสัดส่วนที่สูงก็คือ ประเทศในอาเซียน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนที่เราเกี่ยวข้องด้วยประมาณ 2 ใน 3 ของการค้าต่างประเทศ ทำให้การส่งออกปี 2566 ขยายตัว -4.0% ซึ่ง โดยปกติมูลค่าการส่งออกของไทยหากขยายตัวได้ 4% จะช่วยเศรษฐกิจโต 1% เพราะฉะนั้น ในปี 2566 นั้นการส่งออกขยายตัวติดลบก็เลย มีผลต่อการฉุดเศรษฐกิจของไทยไปด้วย ประกอบกับ ประเทศจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญมีความเกี่ยวโยงกับประเทศไทยโดยผ่านซัพพลายเชน (Supply Chain) เมื่อการผลิตของจีนชะลอตัวลงก็กระทบส่งออกไทยเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวของไทย ปีที่ผ่านมา 2566 ตัวเลขได้ต่ำกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะตัวเลขการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งโดยปกติจะเข้ามาประมาณ 11 ล้านคน แต่ในปีที่ผ่านมาเข้ามา 4.5 ล้านคน ซึ่งต่ำกว่าเป้า โดยมีสาเหตุมาจากหลายๆปัจจัย อาทิ เศรษฐกิจของประเทศจีนเองด้วยส่วนหนึ่ง ขณะที่ในส่วนของการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากในช่วงต้นปีถึงกลางปีมีการเลือกตั้ง ทำให้นักลงทุนต่างประเทศรอดูนโยบายของรัฐบาล ทำให้การลงทุนต่างประเทศยังไม่มีความชัดเจน

สำหรับภายในประเทศก็ประสบปัญหาจาก หนี้สาธารณะในสัดส่วนที่สูงประมาณ 11 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี : GDP) ก็ประมาณ 62% ทำให้เหลือกรอบการก่อหนี้สาธารณะได้เพียง 8% และเป็นเงื่อนไขที่ทำให้การบริหารงานของภาครัฐมีข้อจำกัด สถานการณ์ถัดมาก็กำลังซื้อของภาคครัวเรือนเอง หนี้ครัวเรือนก็ค่อนข้างจะสูง ตัวเลขหนี้ครัวเรือนปลายปีก็อยู่ที่ประมาณ 90.6% ของ GDP และหากบวกหนี้นอกระบบรวมกันแล้ว ประมาณ 19 ล้านล้านบาท ซึ่งก็คือมากกว่า 100% ของ GDP ซึ่งก็ถือว่าค่อนข้างจะสูง อันนี้จะบั่นทอนกำลังซื้อของภาคประชาชน

นอกจากนั้น บรรยากาศการลงทุนของภาคเอกชนก็ยังไม่ชัดเจน เนื่องจากว่ารัฐบาลเพิ่งเข้ามาบริหารประเทศเพียงสามเดือน รอดูนโยบายของรัฐบาล และผลจากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ทำให้งบประมาณปี 2567 ซึ่งปกติมีผลตั้งแต่ ต.ค.2566 ยังไม่ผ่านสภา ทำให้ขาดเครื่องมือสำคัญทางการคลังคือ งบลงทุนภาครัฐกว่า 710,000 ล้านบาท เป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจของปี 2566 ขยายตัวประมาณ 2.5% ต่ำกว่าที่คาดไว้

เปิดทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2567

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจปีมะโรงงูใหญ่ 2567 นี้ คาดว่า เศรษฐกิจไทย น่าจะมีการขยายตัวราว 3.0–3.5% ภาวะเงินเฟ้อ 1.0–2.0% อัตราดอกเบี้ยราว 2–2.5% และค่าเงินบาทน่าจะอยู่ราว 33–35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยในการมองภาพเศรษฐกิจไปข้างหน้านั้น จะมองจากปัจจัยทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ และเศรษฐกิจในประเทศของเรา ทั้งนี้ เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยพึ่งพาต่างประเทศค่อนข้างมากถึง 72% ปัจจัยภายนอกประเทศจึงมีบทบาทสำคัญ โดยมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาใน 4 เรื่องด้วยกัน

ประการแรก คือ ทิศทางเศรษฐกิจ การเงิน และตลาดเงินโลก ซึ่งตามที่เล่าไปแล้วว่า เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องจนถึง 5.5% ทำให้สามารถควบคุมเงินเฟ้อจากที่เคยสูงถึง 9.1% ลงมาเหลือต่ำกว่า
3.0% แม้ตามปกติอัตราเงินเฟ้อที่ทางเฟดดูแลจะไม่ให้เกิน 2.0% แต่เชื่อว่า เฟดมองสัญญาณเศรษฐกิจของปี 2567 ไว้ค่อนข้างจะดี ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยคงจะไม่ปรับขึ้นอีก แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายจะปรับ
ลดลงอย่างน้อย 3 ครั้งในปีนี้

บรรยากาศการลงทุนทางธุรกิจต่างๆเริ่มดีขึ้น ขณะที่ประเทศจีนก็มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคต่างๆออกมาหลายมาตรการ ส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น แม้ยังต่ำกว่าเป้าหมาย แต่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 4.5% อีกประเทศหนึ่งที่น่าสนใจคือ ประเทศอินเดีย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก การเติบโตของอินเดียในปีนี้ขยายตัวประมาณ 6.5% ซึ่งสูงสุดของโลก และน่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่ค่อนข้างดีทีเดียว

ขณะที่ในยุโรป ก็ดูเหมือนว่ามาตรการต่างๆในการดูแลเงินเฟ้อ น่าจะช่วยให้อยู่ในกรอบที่จะควบคุมได้แล้ว เพราะฉะนั้น การที่อเมริกามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกและเริ่มดีขึ้นน่าจะมีส่วนช่วยเศรษฐกิจโลกในปี 2567 อย่างมาก แต่การฟื้นตัวนี้อาจจะต้องใช้เวลา การเติบโตเศรษฐกิจโลกในปี 2567 จึงอาจจะขยายตัวประมาณ 2.7-3.0% ซึ่งเริ่มดีขึ้นแต่ยังไม่มากเท่าที่คาดไว้ แต่ก็ดีพอที่จะมีผลดีต่อการส่งออกของไทยในปีนี้

ประการที่สอง มีปัจจัยเสริมในเชิงเศรษฐกิจโลกคือ มีการเลือกตั้งในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย ยูเครน อินโดนีเซีย อินเดีย อังกฤษ แอฟริกาใต้ และอีกราว 40 ประเทศก็มีการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน ปัจจัยเหล่านี้ในเชิงการเมืองน่าจะมีผลทำให้บรรยากาศระหว่างประเทศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์น่าจะลดความรุนแรงกว่าปีที่ผ่านๆมา การเลือกตั้งมักจะมุ่งเน้นปัญหาภายในประเทศตนเองเป็นหลัก บรรยากาศความขัดแย้งระหว่างประเทศจะบรรเทาลง

ขณะเดียวกันก็จะมีนโยบายใหม่ๆของแต่ละรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจซึ่งจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจของโลก อันนี้น่าจะเป็นปัจจัยบวกกับเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา อังกฤษ รัสเซีย อินเดีย และอินโดนีเซีย ซึ่งจะมีผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศในปี 2567 โดยคาดว่าการส่งออกน่าจะขยายตัว 3.0%

ประการที่สาม การท่องเที่ยวจากต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ จากที่รัฐบาลไทยได้มีข้อตกลงเรื่องฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีนที่มาเมืองไทย จะช่วยให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านคน และทำให้จำนวนรวมนักท่องเที่ยวทั้งปีเป็น 35 ล้านคน ทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อเนื่องเกิดการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยว

และสุดท้าย ประการที่สี่ การลงทุนจากต่างประเทศในไทยดีขึ้น เนื่องจากการมีรัฐบาลใหม่ นโยบายใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่นายกรัฐมนตรีไปเยือนต่างประเทศและเชิญชวนนักลงทุน ก็จะมีผลทำให้บรรยากาศการลงทุนจากต่างประเทศดีขึ้น

เตือนข้อจำกัด-ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะเป็นไปในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่อาจารย์มนตรีได้เตือนถึง “ข้อจำกัดในประเทศ” ที่อาจจะเป็นตัวบั่นทอนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 นี้

โดยจากโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งมี 3 ภาคส่วนคือ ภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาครัฐบาล ข้อจำกัดในส่วนของภาคครัวเรือน คือ ภาระหนี้ครัวเรือนค่อนข้างสูง ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 90.6% เมื่อเทียบกับ GDP และถ้ารวมหนี้นอกระบบด้วยก็น่าจะประมาณร้อยกว่าเปอร์เซ็นต์ ตามที่เล่ามาแล้วก่อนหน้านั้น ปัจจัยนี้จะมีผลต่อกำลังซื้อของภาคครัวเรือนในระยะต่อไป ขณะที่ข้อจำกัดของภาคเอกชน คือ ต้นทุนในการผลิตสูง และความสามารถในการแข่งขันต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการขาดแรงงานที่มีฝีมือ จุดนี้เป็นจุดที่ต้องเร่งแก้ปัญหา

ขณะที่ภาครัฐบาล ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ปี 2567 ข้อจำกัดคือ งบประมาณปี 2567 ซึ่งปกติจะเริ่ม 1 ต.ค. ปี 2566 แต่ปีนี้ล่าช้า และคาดว่าประกาศเป็นพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ประมาณปลาย เม.ย. และมีผลเดือน พ.ค.นี้ทำให้จะมีเวลาใช้จ่ายงบลงทุน 710,000 ล้านบาท ประมาณ 5 เดือนเท่านั้น ซึ่งงบลงทุนเป็นตัวแปรจะมาขับเคลื่อน แต่ต้องทำอย่างไรให้มีการบริหารจัดการอย่างมีระบบและเกิดผลเต็มที่เพื่อจะช่วยเศรษฐกิจปี 2567 ให้ขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อดีในส่วนงบประมาณปี 2568 ซึ่งจะเริ่มพิจารณากรอบแรก ใน ครม. ประมาณเดือน มี.ค.นี้ และขอความเห็นชอบจากสภาและกรรมาธิการในสภาในระยะต่อไป ซึ่งคาดว่ามีผลได้ตามวาระปกติตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้ เพราะฉะนั้น งบประมาณปี 2568 ใน 3 เดือนแรก (ต.ค.-ธ.ค.67) จะเป็นตัวแปรสำคัญ หากรัฐบาลเตรียมแผนการบริหารงบประมาณที่ดีก็จะช่วยผลักดันการขยายตัวในปีนี้ได้อีกแรงหนึ่ง

ดังนั้น การจัดทำงบประมาณปี 2568 จึงมีความสำคัญในการเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน อย่างไรก็ตามการที่จะทำงบประมาณ ปี 2568 ก็มีการขาดดุลได้ไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่ายในปีนั้น ส่วนการขาดดุลจะถูกนับอยู่ในหนี้สาธารณะก็มีเพดานอีกว่า หนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 70% ของ GDP ซึ่งทำให้การก่อหนี้ของรัฐบาลมีจำกัด

นอกจากนั้น อาจารย์มนตรี ยังได้กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศที่ต้องเฝ้าระวังใน 2 เรื่อง ประการแรก ยังต้องระวังผลกระทบความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รัสเซียกับยูเครน และอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส เพราะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อราคาน้ำมันของโลก และมีผลกระทบต่อการขนส่งทางเรือผ่านทะเลแดง การขนส่งทางเรือ ผ่านคลองสุเอซ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนขนส่งทางเรือไปยุโรปจะสูงขึ้นและใช้เวลานานขึ้น โดยเฉพาะยุโรปคือตลาดส่งออกที่มีสัดส่วน 31% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย

ขณะที่ประการที่ 2 ยังต้องระวังแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกภาพรวม เพราะถึงแม้บางประเทศจะมีการขยายตัวสูงมาก เช่น อินเดีย ที่มีการขยายตัว 6.5% แต่ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่

8 โอกาสขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ท้ายที่สุด เพื่อให้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขยายตัวได้ตามคาดการณ์ หรือดีกว่าที่คาดการณ์ รวมทั้งช่วยสนับสนุนการปรับโครงสร้างเพื่อยกระดับขีดความสามารถของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว อาจารย์มนตรี ได้ฝาก 8 แนวทางไว้ เพื่อเป็นโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2567 นี้

แนวทางที่ 1 คือ การเจรจา FTA โดยเฉพาะการเจรจา FTA ไทยกับจีน ซึ่งมีการปรับเพิ่มประเด็นต่างๆมากขึ้น หลังจากที่ทำไว้เมื่อปี 2549 ซึ่งเป็นโอกาสที่จะให้เกิดความร่วมมือทางการค้ามากขึ้น และที่สำคัญก็คือ FTA ระหว่างไทยกับ EU ซึ่งประเทศ EU นี้มีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกับสหรัฐอเมริกา รวมทั้ง FTA ระหว่างไทยกับอังกฤษต้องเร่งรัด ซึ่งจะช่วยการส่งออกให้ดีขึ้น

แนวทางที่ 2 การเร่งสร้างบรรยากาศในการลงทุนดึงเงินทุนจากต่างประเทศ โดยมีแนวนโยบายที่ชัดเจนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวเพื่อให้นักลงทุนต่างประเทศได้ตัดสินใจในการเข้ามาลงทุนในเมืองไทยได้ง่ายและเร็วขึ้น คงต้องมีแผนพอสมควร

แนวทางที่ 3 เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มีฝีมือ โดยการพัฒนาทางการศึกษาและพัฒนาฝีมือแรงงาน

แนวทางที่ 4 การเร่งรัดการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งงบลงทุนประมาณปีละ 350,000 ล้านบาท ให้เป็นรูปธรรมและตอบโจทย์เศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

แนวทางที่ 5 เร่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่ โดยใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนในการขับเคลื่อนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจระยะยาว และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และช่วยแบ่งเบาภาระภาครัฐ

แนวทางที่ 6 มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้าเข้ามาช่วยเสริม เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ มาตรการการลดหย่อนภาษีในการจับจ่ายใช้สอยในช่วง ม.ค.-ก.พ.ปีนี้ และมาตรการอื่นๆในการกระตุ้นการบริโภคของภาคครัวเรือน

แนวทางที่ 7 นโยบายรัฐบาลโดยรวมมีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้ต่างประเทศมาลงทุนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยจะเริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มจะปรับลดลง ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการลงทุนของภาคเอกชน

และ แนวทางที่ 8 คือ หากจะให้ดีกว่านั้น อัตราดอกเบี้ยควรมีการปรับลดลง ซึ่งช่วยบรรเทาภาระหนี้ของภาคครัวเรือน.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปเศรษฐกิจ" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ