ใกล้เป็นจริงมากขึ้นทุกที สำหรับการเดินทางในฝันของชาวเมืองกรุง และปริมณฑล ด้วยระบบรถไฟฟ้าเครือข่ายใยแมงมุมที่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวกสบาย เชื่อมต่อสลับสาย เปลี่ยนสีได้ ทันใจเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว
ในโอกาสที่กำลังเปลี่ยนปฏิทินเข้าสู่ศักราชใหม่ “ทีมข่าวเศรษฐกิจหัวเขียว ไทยรัฐ” ขอพาไปอัปเดตความก้าวหน้าของรถไฟฟ้าแต่ละสาย ว่าเสร็จแล้วกี่แห่ง และแต่ละสาย สามารถเชื่อมต่อกับสายไหนกันได้บ้าง...
เริ่มจากภาพรวมปัจจุบัน ข้อมูล ณ เดือน ธ.ค.66 มีโครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพ มหานครและปริมณฑล เปิดให้บริการได้แล้วทั้งสิ้น 13 เส้นทาง ระยะทางรวม 276.84 กิโลเมตร ประกอบด้วย สายสีเขียวอ่อน 2 เส้นทาง 1.หมอชิต-สมุทรปราการ (37.10 กม.) 2.หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต (18.70 กม.) สายสีเขียวเข้ม 3.สนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า (14 กม.) สายสีน้ำเงิน 3 เส้นทาง
4.บางซื่อ-หัวลำโพง (20 กม.) 5. หัวลำโพง-บางแค (หลักสอง) (14 กม.) 6. บางซื่อ-ท่าพระ (13 กม.) แอร์พอร์ต เรลลิงก์ 7.พญาไท-สุวรรณภูมิ (28.70 กม.) สายสีม่วง 8.คลองบางไผ่-เตาปูน (23 กม.) สายสีทอง 9.กรุงธนบุรี-คลองสาน (1.88 กม.) สายสีแดงเหนือ 10.บางซื่อ-รังสิต (26.30 กม.) สายสีแดงตะวันตก 11.บางซื่อ-ตลิ่งชัน (15.26 กม.) สายสีเหลือง 12.ลาดพร้าว-สำโรง (30.40 กม.) และ สายสีชมพู 13. แคราย-มีนบุรี (34.50 กม.) อยู่ระหว่างการเปิดทดลองให้บริการ
เมื่อรถไฟฟ้าหลายสายมีความพร้อมเปิดให้บริการแล้ว หลายคนก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่าแต่ละสายจะไปไหนได้บ้าง และเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆได้อย่างไร คราวนี้จะไปดูรายละเอียดกัน
จุดเชื่อมต่อสายสีเขียว
เริ่มจากรถไฟฟ้าสายยาวที่สุด และมีคนใช้มากที่สุดในประเทศก่อนอย่างสายสีเขียวหรือที่เรารู้จักกันในชื่อรถไฟฟ้าบีทีเอส มีเส้นทางพาดผ่านถึง 3 จังหวัดปทุมธานี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ที่งานนี้บีทีเอสโปรโมตว่าเป็นการเดินทางที่แสนสะดวกสบายที่สุด เพราะเชื่อมต่อได้กับรถ เรือ และรถไฟฟ้าอื่นอีกหลายเส้นทาง
สำหรับบีทีเอสสายสุขุมวิท ซึ่งมีเส้นทาง หมอชิต-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพาน ใหม่-คูคต มีจุดเดินทางเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นอย่างหลากหลาย ได้แก่ สถานีราชเทวี N1 เชื่อมต่อกับเรือคลองแสนแสบ สถานีพญาไท N2 เชื่อมต่อกับแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ไปสนามบินสุวรรณภูมิ และจุดเปลี่ยนเส้นทางไปรถไฟไทย สถานีหมอชิต N8 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน (สถานีสวน จตุจักร) และจุดเปลี่ยนเส้นทางไปรถไฟฟ้าสายสีแดงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และรถเมล์ A1 ไปสนามบินดอนเมือง
ขณะที่สถานีห้าแยกลาดพร้าว N9 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน (สถานีพหลโยธิน) สถานีอโศก E4 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน (สถานีสุขุมวิท) สถานีเอกมัย E7 เชื่อมต่อกับรถทัวร์สายตะวันออก สถานีสำโรง E15 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง (สุขุมวิท) และสถานีปากน้ำ E19 เชื่อมต่อกับเรือข้ามฟากปากน้ำ-พระสมุทรเจดีย์
ส่วนบีทีเอส สายสีลม ก็มีจุดเชื่อมต่อสำคัญ ได้แก่ สถานีศาลาแดง S2 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน (สถานีสีลม) สถานีช่องนนทรี S3 เชื่อมต่อกับรถ BRT (สาทร) สถานีสะพานตากสิน S6 เชื่อมต่อกับเรือด่วนเจ้าพระยา สถานีกรุงธนบุรี S7 เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีทอง สถานีตลาดพลู S10 เชื่อมต่อกับ BRT (ราชพฤกษ์) สถานีวุฒากาศ S11 เชื่อมต่อกับ รฟท.สายวงเวียนใหญ่-มหาชัย และสถานีบางหว้า S12 เชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน (สถานีบางหว้า)
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของรถไฟฟ้าบีทีเอสก็คือ แม้เป็นระบบขนส่งหลักที่เชื่อมต่อได้หลายระบบการขนส่ง แต่ระบบการเดินทางยังไม่เชื่อมต่อกับขนส่งอื่นๆ ทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวกสบาย จะต้องพกใบหลายใบ และมีค่าใช้จ่ายสูง หากจะไปต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่น เพราะเป็นคนละเจ้าของกัน
จุดเชื่อมต่อสายสีน้ำเงิน
ต่อมาเป็นระบบขนส่งมวลชนสายหลักอีกสาย ที่เชื่อมโยงการเดินทางเข้าใจกลางกรุงเทพมหานคร ระยะทางรวม 48 กิโลเมตร จำนวน 38 สถานี แบ่งเป็น ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ โดยมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นที่สำคัญ ดังนี้
1.สถานีหัวลำโพง และสถานีบางซื่อ เชื่อมต่อกับรถไฟชานเมือง สายสีแดง 2.สถานีสีลม สถานีสุขุมวิท สถานีพหลโยธิน สถานีสวนจตุจักร และสถานีบางหว้า สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือบีทีเอส
3.สถานีเพชรบุรี เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ 4.สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในอนาคตจะเชื่อมต่อกับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) แต่ตอนนี้ต้องรอไปก่อนเพราะสายสีส้มยังสร้างไม่เสร็จ 5.สถานีลาดพร้าว เชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว- สำโรง 6.สถานีเตาปูน เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง
8.สถานีบางขุนนนท์ ที่ในอนาคตจะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ส่วนตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์- ศูนย์วัฒนธรรม แห่งประเทศไทย และรถไฟชานเมืองสายสีแดง และ 9.สถานีสามยอด ที่ในอนาคตเตรียมจะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ หลังจากสายสีม่วงสร้างส่วนต่อขยายเสร็จแล้ว
จุดเชื่อมต่อสายสีเหลือง
ไปต่อที่ “น้องเก๊กฮวย” รถไฟฟ้าสายน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ในการดูแลของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย โดยถูกออกแบบให้เป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง เพื่อใช้ขนส่งผู้โดยสารจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ และพื้นที่บางส่วนในจังหวัดสมุทร ปราการ เข้าสู่รถไฟฟ้าสายหลัก มีระยะทางรวม 30.4 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดสาย จำนวน 23 สถานี
มีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นที่สำคัญ ดังนี้ 1.สถานีลาดพร้าว เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน 2.สถานีแยกลำสาลี ในอนาคตสามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ส่วนตะวันออก) ช่วงศูนย์ วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อสายสีส้มก่อสร้างแล้วเสร็จ 3.สถานีหัวหมาก เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถไฟสายตะวันออก 4.สถานีสําโรง เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ
จุดเชื่อมต่อสายสีชมพู
ขณะนี้สายสีชมพูกำลังอยู่ระหว่างทดลองให้บริการ เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว ที่วิ่งให้บริการในเส้นทางแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารได้ 17,000 คนต่อชั่วโมง มีจุดเด่นในการเป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง เพราะมีสถานีที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายหลักมากถึง 5 สถานี ได้แก่
1.สถานีศูนย์ราชการนนทบุรีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) 2.สถานีหลักสี่ เชื่อมต่อกับรถไฟชานเมือง สายสีแดง 3.สถานีวัดพระ ศรีมหาธาตุ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต- สะพานใหม่-คูคต 4.สถานีวัชรพล เชื่อมต่อกับโครง การรถไฟฟ้าสายสีเทาในอนาคต
5.สถานี มีนบุรี ในอนาคตเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม (ส่วนตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ได้เช่นกัน จึงสามารถขนส่งผู้โดยสารจากพื้นที่จังหวัดนนทบุรี และตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร เข้าสู่รถไฟฟ้าสายหลักที่วิ่งให้บริการในพื้นที่ใจกลางเมืองได้อย่างรวดเร็วทันใจ โดยจะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสาร 15-45 บาท ตั้งแต่ 3 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
จุดเชื่อมต่อสายสีแดง
มีระยะทางรวม 41 กม. วิ่งขนานกับทางรถไฟเดิม ประกอบด้วย 15 สถานี วิ่งผ่านจากทางเหนือ จังหวัดปทุมธานี มุ่งตรงเข้าสู่ใจกลางกรุง ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และแฉลบออกไปทิศตะวันตกไปตลิ่งชัน ที่สำคัญถือเป็นรถไฟฟ้าที่รัฐบาลได้นำร่องการเก็บค่าโดยสารเพียง 20 บาทตลอดสายอีกด้วย
สายสีแดงมีจุดเชื่อมต่อสำคัญ ได้แก่ สถานีหลักสี่ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู, สถานีบางซ่อน เชื่อมต่อกับสายสีม่วง ซึ่งสามารถไปมาข้ามสายได้โดยไม่เสียค่าโดยสาร หรือค่าแรกเข้าเพิ่มและสถานีบางซื่อเชื่อมต่อกับสายสีน้ำเงิน รวมถึงยังสามารถใช้เดินทางไปสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางขนส่งระบบรางได้อย่างสะดวก เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางไปยังรถไฟทางคู่ และอนาคตจะมีรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนอีกด้วย
จุดเชื่อมต่อสายสีม่วง
สายฉลองรัชธรรม หรือ MRT สายสีม่วง (ช่วงสถานีคลองบางไผ่-เตาปูน) ถือเป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรางที่รองรับการเดินทางจากตอนเหนือของกรุงเทพฯ เข้าสู่ใจกลางเมือง โดยเป็นอีกสายที่รัฐบาลนำร่องคิดค่าโดยสารเพียง 20 บาทเช่นกัน มีแนวเส้นทางเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างกรุงเทพมหานครและจังหวัดนนทบุรี ระยะทาง 23 กิโลเมตร 16 สถานี
มีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ได้แก่ สถานีเตาปูน เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล หรือ MRT สายสีนํ้าเงิน ต่อมาเป็นสถานีบางซ่อน เชื่อมต่อกับรถไฟชานเมืองสายสีแดงโดยไม่ต้องเสียค่าบริการเพิ่ม สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และในอนาคตจะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีนํ้าตาล ช่วงแคราย-บึงกุ่ม (ลําสาลี) อีกด้วย ที่สำคัญข้อดีของรถไฟฟ้าสายสีม่วง ยังสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปสายสีแดงได้ โดยไม่เสียค่าเปลี่ยนผ่าน ค่าเชื่อมต่ออะไรอีกด้วย เรียกว่าเป็นสายที่มีความประหยัดแบบมินิมอลจริงๆ
จุดเชื่อมต่อแอร์พอร์ตเรลลิงก์
แอร์พอร์ตเรลลิงก์ เป็นรถไฟฟ้าที่สร้างขึ้น เพื่อเป้าหมายในการขนส่งผู้โดยสารจากสนามบินสุวรรณภูมิเข้าสู่เมือง มีเส้นทางตั้งแต่สุวรรณภูมิถึงพญาไท ประกอบด้วย 8 สถานี โดยมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นที่สำคัญ ได้แก่ สถานีพญาไท เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียว สถานีมักกะสัน เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสถานีหัวหมาก เชื่อมการเดินทางเข้ากับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง
จุดเชื่อมต่อสายสีทอง
เป็นรถไฟฟ้าสายสั้นๆ ใช้ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติแบบไร้คนขับ เพียง 3 สถานี โดยถูกสร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางเข้ากับสายสีเขียว หรือบีทีเอส บริเวณสถานีกรุงธนบุรี วิ่งหลบเข้าไปตามแนวถนนเจริญนคร ผ่านศูนย์การค้าไอคอนสยาม สำนักงานเขตคลองสาน และระยะต่อไปมีแผนสร้างขยายไปถึงสถานีสำนักงานเขตคลองสาน-สถานีประชาธิปกเพิ่มเติมอีกด้วย
จากความสะดวกสบายที่มากขึ้นของการเชื่อมต่อเส้นทาง มาที่อีกไฮไลต์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของการเดินทางเชื่อมต่อ ก็คือการเชื่อมระบบของตั๋วโดยสารแบบไร้รอยต่อ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้จัดทำขึ้น โดยได้นำร่องระหว่างสายสีม่วง กับสายสีแดง ที่สถานีบางซ่อน ทำให้ผู้โดยสารทั้ง 2 สาย สามารถเดินทางข้ามสายไปกันมาได้อย่างสะดวก ในราคาโดยสารเพียง 20 บาทตลอดสาย อีกทั้งไม่ต้องมีค่าแรกเข้า
เพียงแต่ผู้โดยสารจะต้องชำระเงินผ่าน บัตร EMV (Europay, MasterCard, VISA) หรือบัตรเครดิตของทุกธนาคาร ส่วนใครที่ถือบัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเดบิต เฉพาะบัตรของธนาคารยูโอบี และ ธนาคารกรุงไทยเท่านั้น โดยจะใช้บริการข้ามสายได้เฉพาะสถานีบางซ่อน ของรถไฟฟ้าชานเมืองสีแดง และมีข้อแม้ว่าทุกการเข้าออก จะต้องเดินทางข้ามระบบภายใน 30 นาที
ขณะที่การจ่ายเงินผ่านบัตรต้องเป็นบัตรใบเดียวกันในการชำระเงิน หากเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดจะคิดตามอัตราค่าโดยสารสูงสุดคือ 42 บาท ส่วนตัวผู้โดยสารควรมีเงินสำรองภายในบัตรไม่ต่ำกว่า 40 บาท เพื่อรองรับการเรียกเก็บอัตราค่าโดยสารผ่านบัตร EMV จากทางธนาคาร โดยหากการเดินทางเข้าเงื่อนไขตามนโยบายอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาท ธนาคารจะดำเนินการ Cash Back กลับเข้าบัตรให้ภายใน 3 วัน
สายสีอื่นรอไปก่อน “คนละเจ้าของกัน”
ส่วนคำถามที่หลายคนสงสัย แล้วรถไฟฟ้าสายสีอื่นล่ะ นอกจากสายสีแดงกับสีม่วง จะมีสายไหนที่เดินทางเชื่อมต่อได้แบบสะดวก ประหยัดแบบนี้ไหม คำตอบตอนนี้คือ ยังไม่มี เนื่องจากนโยบายรัฐบาล การเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย บังคับใช้เฉพาะรถไฟฟ้าสายสีม่วง และสายสีแดง เพราะทั้ง 2 สาย อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงคมนาคม ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียว สีชมพู และสีเหลือง ไปอยู่ในมือของเอกชน ซึ่งมีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เป็นผู้รับสัมปทาน
ดังนั้น หากนั่งรถไฟฟ้าสายสีชมพู มาตัดกับสายสีเขียวที่สถานีวัดพระศรีฯ ผู้โดยสารก็ต้องเสียค่าโดยสารแบบเต็มอัตรายกเว้นว่าอนาคตเอกชนผู้รับสัมปทานจะเข้าร่วมนโยบายรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ข้อดีของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู คือยังสามารถชำระค่าโดยสารผ่านบัตร EMV (บัตรเครดิต) ของทุกธนาคาร หรือจะชำระผ่านเอทีเอ็ม เฉพาะบัตรของธนาคารยูโอบี และธนาคารกรุงไทยได้
หลังจากดูวิธีการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างรถไฟฟ้าสายไปมาหากันแล้ว ก็เลยขอพาไปอัปเดตความก้าวหน้าของรถไฟฟ้าสายอื่นๆที่กำลังสร้าง หรือที่มีแผนในอนาคตกัน เริ่มจาก 4 โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ระยะทาง 70.40 กิโลเมตร ปัจจุบันมีความก้าวหน้างานโยธา ดังนี้ สายสีชมพู ส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กิโลเมตร ก้าวหน้า 44.75% สายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.60 กิโลเมตร ก้าวหน้า 22.69%สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ระยะทาง 22.50 กิโลเมตร ก้าวหน้าครบ 100% ปัจจุบันอยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชนบริหารเดินรถ และแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ช่วงพญาไท-ดอนเมือง ระยะทาง 21.80 กิโลเมตร ซึ่งรวมอยู่ในโครงการเชื่อมสามสนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) ปัจจุบันอยู่ระหว่างรื้อย้ายสาธารณูปโภคและเวนคืนที่ดิน ก้าวหน้า 97.21%
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังมีแผนผุดรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ เพิ่มเติมอีก โดยอยู่ระหว่างให้กรมการขนส่งทางรางไปศึกษาพัฒนาแบบจำลองเพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นแผนพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 2 แบ่งเป็น 4 รูปแบบ ประกอบด้วย เส้นทางที่มีความจำเป็น มีความพร้อม สามารถดำเนินการได้ทันที มี 4 เส้นทาง ได้แก่ 1.รถไฟฟ้าสายสีแดงรังสิต–ธรรมศาสตร์ 2.รถไฟฟ้าสายสีแดงตลิ่งชัน–ศาลายา 3.รถไฟฟ้าสายสีแดงตลิ่งชัน–ศิริราช ทั้งหมดอยู่ระหว่างรอ ครม.อนุมัติ ส่วน 4.สายสีน้ำตาลแคราย–บึงกุ่ม ได้ศึกษารูปแบบการลงทุนเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบด้านอื่นอย่างรอบด้าน
กลุ่มต่อมาเป็นเส้นทางที่มีความจำเป็น แต่ต้องเตรียมความพร้อมก่อน และคาดว่าดำเนินการภายในปี 72 จำนวน 6 เส้นทาง ดังนี้ 1.สายสีแดงบางซื่อ–หัวลำโพง ที่จะสร้างเป็นรถใต้ดินทั้งหมด และอยู่ระหว่างการกำหนดจุดสถานีใหม่ 2.สายสีเขียวสนามกีฬาแห่งชาติ–ยศเส จะสร้างพร้อมกับรถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อ-พญาไท -หัวลำโพง 3.สายสีเขียวบางหว้า–ตลิ่งชัน อยู่ระหว่างการขออนุมัติผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม 4.สายสีแดงวงเวียนใหญ่–บางบอน อยู่ระหว่างออกแบบตามแนวเส้นทางใหม่ เนื่องจากเขตทางเดิมมีขนาดไม่เพียงพอไม่สามารถก่อสร้างได้ 5.สายสีเงินบางนา–สุวรรณภูมิ ต้องรอการพัฒนาสนามบินด้านใต้แล้วเสร็จ เพื่อให้รถไฟฟ้าเชื่อมต่อสนามบินได้โดยตรง และ6.รถไฟฟ้าสายสีเทาวัชรพล–ทองหล่อ อยู่ระหว่างการขออนุมัติอีไอเอ
นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางที่มีศักยภาพ ซึ่งผ่านการศึกษาความคุ้มค่าไปแล้ว รวมถึงเส้นทางใหม่ที่มีปริมาณผู้โดยสารถึงเกณฑ์ที่จะพัฒนาเป็นระบบรถไฟฟ้าได้อีก 9 เส้นทาง ได้แก่ 1.รถไฟฟ้าสายสีฟ้า สาธร-ดินแดง 2.รถไฟฟ้าสายสีเขียว คูคต-วงแหวนรอบนอก 3.รถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล-ลำลูกกา 4.รถไฟฟ้าสายสีเทา พระโขนง-ท่าพระ 5.รถไฟฟ้าสายสีแดง หัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ 6.รถไฟฟ้าสายสีแดง บางบอน-มหาชัย-ปากท่อ 7.รถไฟฟ้าสายสีเขียว สมุทรปราการ-บางปู 8.รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บางแค-พุทธมณฑล และ 9.รถไฟฟ้าสายสีเขียว ตลิ่งชัน-รัตนาธิเบศร์
ขณะเดียวกัน ในการเชื่อมต่อการเดินทางนอกจากจะเชื่อมต่อด้วยรถไฟฟ้าเข้าหากันแล้ว กระทรวงคมนาคมยังเตรียมระบบขนส่งสาธารณะอื่น หรือเป็นฟีดเดอร์เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าให้บริการแก่ประชาชนด้วย โดยล่าสุด การรถไฟฯได้ร่วมกับบริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. ทดลองเพิ่มจุดจอดรถโดยสาร เฉพาะรถ บขส.ขาเข้ากรุงเทพฯ ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ประตู 3 ทำให้ผู้โดยสารที่เดินทางเข้ากรุงเทพฯได้รับความสะดวกสามารถเลือกลงจุดจอดที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อต่อรถไฟทางไกล รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) และรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน สถานีบางซื่อ หรือลงจุดจอดที่ชานชาลาขาเข้า สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร)
นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางราง ยังอยู่ระหว่างศึกษา การทำระบบขนส่งรองอื่นๆ เป็นฟีดเดอร์เพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง เช่น รถแทรม รถล้อยาง รถเมล์ไฟฟ้า อีก 26 เส้นทาง ซึ่งศึกษาแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.66 รวมทั้งรายงานผลการศึกษาถึงกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ความเห็นชอบและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลผลการศึกษาไปบูรณาการต่อไป อาทิ เส้นทางลาดพร้าว- รัชโยธิน-ท่าน้ำนนท์ เส้นทางดอนเมือง-ศรีสมาน เส้นทางศาลายา-มหาชัย เป็นต้น
จะเห็นได้ว่านับวันการเดินทางของชาวเมืองกรุงและปริมณฑล มีความสะดวกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทัดเทียมกับมหานครอื่นของหลายประเทศที่พัฒนาไปแล้ว แต่โจทย์สำคัญต่อไปของรัฐบาล คือจะทำอย่างไรเพื่อจูงใจให้คนไทยที่เสพติดการใช้รถส่วนตัวหันมาใช้บริการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะมากขึ้น
นั่นคือประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะการบ้านเรื่องการเชื่อมต่อระบบตั๋วโดยสารให้สามารถใช้ใบเดียว ราคาเดียว และคิดค่าโดยสารในราคาไม่แพงจนเกินไป จะถือเป็นหัวใจหลักที่ช่วยปรับพฤติกรรมคนไทยได้ และเป็นอีกบทพิสูจน์ฝีมืออีกอย่างหนึ่งของรัฐบาลชุดนี้.
ทีมข่าวเศรษฐกิจ
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่