จากที่ ฟิทช์ เรตติ้ง ระบุว่า “อินเดีย” จะขึ้นแท่นหนึ่งในประเทศ ที่เศรษฐกิจขยายตัวเร็วที่สุดในปี 2567-2568 ประเมินว่า จีดีพี จะโตร้อยละ 6.5 ปีนี้จีดีพีของอินเดียขยายตัวประมาณร้อยละ 6.9 หลังจาก วิกฤติโควิด–19 มีหลายประเทศที่ฟื้นตัวช้าหรือไม่มี การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และมีวิกฤติเศรษฐกิจบางส่วนตามมา ไม่น่าเชื่อว่า อินเดีย จะมีอุปสงค์ด้านผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์และปิโตรเลียมที่แข็งแรง ความต้องการสูงกว่าก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ด้วยซ้ำ ที่น่าสนใจคืออินเดียมีการใช้จ่ายกับโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นมาก ทำให้มีความต้องการวัสดุก่อสร้าง เหล็ก ปูน ซีเมนต์มากเป็นพิเศษ
รถยนต์ ที่ผลิตภายใต้แบรนด์ของอินเดีย แม้จะไม่ค่อยฟู่ฟ่าในบ้านเราหรือแถบอาเซียน แต่ยอดการขายรถยนต์ของอินเดียก็ยังเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ปัจจุบันอินเดียมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก นอกจาก สหรัฐฯ จีน เยอรมนี และญี่ปุ่น และเมื่อดูจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียแล้ว คาดว่าภายในปี 2573 จีดีพี ของ อินเดีย จะแซงหน้า ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่ 2 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
เช่นเดียวกับ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ คาดว่าเศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัวที่ร้อยละ 6.3 และมีการขยายตัวต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า จากเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินและการลงทุนในอินเดีย
โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ในเดือน ธ.ค. อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียจะอยู่ที่ร้อยละ 6.2 สูงสุดในบรรดาประเทศขนาดใหญ่ 13 ประเทศ ในปี 2567 มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าจีนที่มาเป็นอันดับที่ 2 ร้อยละ 4.8
เอสแอนด์พี คาดจีดีพีของอินเดียจะขยายตัวร้อยละ 6-7.1 ในปี 2567-2569 ธนาคารกลางอินเดีย เองประกาศจีดีพีอินเดียจะเข้าสู่ระดับร้อยละ 7 โตจากปีนี้ร้อยละ 0.5 เมื่อดูโอกาสของ อินเดีย ในปลายปีนี้จนถึงปีหน้า จะมีโอกาสเป็นประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 1 ด้วยซ้ำ จากปัจจัยภายในของอินเดียเอง ทั้งเศรษฐกิจและการเมือง ถ้า นายกฯเศรษฐา ทวีสิน จะไปทำหน้าที่นายกฯเซลส์แมน กับอินเดียล่วงหน้าก็ไม่เสียหาย
ขณะที่ สหรัฐฯ รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี ประสบกับปัญหาเศรษฐกิจภายใน ผลกระทบจาก สงครามรัสเซีย–ยูเครน และสงครามอิสราเอล–ฮามาส อย่างต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างเต็มที่
ราคาน้ำมันดิบ ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดกันว่า ประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่เคยมั่งคั่ง ก็ต้องปรับโครงสร้างให้สอดรับกับกระแสตื่นตัวปัญหาโลกเดือด และสภาวะเรือนกระจกที่รุนแรงมากขึ้นทุกวัน
บ้านเราธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ผลบุญจากมาตรการผ่อนปรนการเข้ามาเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ของต่างชาติ ทั้งด้านภาษีและเงื่อนไข ยอดโอนกรรมสิทธิ์ปีที่ผ่านมาค่อนข้างน่าพอใจ แต่ภาคผู้ใช้แรงงานไม่ได้รับอานิสงส์แต่อย่างใด อาจเป็นเพราะมีการใช้แรงงานต่างด้าวในธุรกิจก่อสร้างเป็นหลัก ปัญหาการส่งออก เม็ดเงินลงทุน ยังไม่เป็นที่น่ายินดี เงินเฟ้อกลับมาปกติ แต่การใช้จ่ายกลับลดลง ท่องเที่ยว ส่งออกยังไม่ได้ตามเป้า ยังไม่มีปัจจัยบวก
ปีหน้าเผาหลอกต่อด้วยเผาจริง.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th
คลิกอ่านคอลัมน์ "คาบลูกคาบดอก" เพิ่มเติม