หลังจากการสู้รบอย่างหนักระหว่างกองทัพของรัฐบาลเมียนมาและกองกำลังชาติพันธุ์ในเมืองเล้าก์ก่าย ศูนย์กลางแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ในเขตรัฐฉานตอนเหนือ ชายแดนเมียนมา-จีน ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ณ วันนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นและมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ความสงบได้ในระดับหนึ่ง
ตามที่กระทรวงการต่างประเทศจีนออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลเมียนมาและกองกำลังชาติพันธุ์หลายกลุ่ม สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันหลายประการ รวมถึง “การหยุดยิง” ได้แล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายยังคงต้องเฝ้าระวังและหาหนทางรองรับผลของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งแม้ไม่ได้สร้างผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจเมียนมา แต่ส่งผลกระทบทางอ้อม โดยทำให้บรรยากาศการค้า การลงทุน การทำธุรกิจในเมียนมาซบเซาอย่างหนัก ผู้คนทั่วโลกหวาดกลัวการเข้าไปลงทุน ทำธุรกิจ หรือท่องเที่ยวในเมียนมา
สถานการณ์นี้ซ้ำเติมเศรษฐกิจเมียนมาที่ถดถอยลงอย่างมาก จากผลกระทบของโควิด-19 และการถูกนานาชาติ “คว่ำบาตร” และยังไม่ฟื้นตัวในขณะนี้ให้ยิ่งหนักหนาสาหัสมากขึ้น ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับทั้งธุรกิจของชาวเมียนมาเอง และธุรกิจของต่างชาติที่ลงทุนในเมียนมา รวมถึงของคนไทยด้วยเช่นกัน
“ทีมเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์” ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา และตัวแทนหอการค้าจังหวัด 3 จังหวัดชายแดน คือ เชียงราย ตาก และกาญจนบุรี ที่ทำมาค้าขายตามแนวชายแดนกับเมียนมาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นและสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ
กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์
ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา
“นายกริช” เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์การสู้รบในเขตรัฐฉานตอนเหนือ ชายแดนเมียนมา-จีน ว่าเกิดจากการเปิดปฏิบัติการกวาดล้างธุรกิจผิดกฎหมายของบ่อนกาสิโนจากกัมพูชา จนทำให้กลุ่มผิดกฎหมายเหล่านี้ได้โยกย้ายเข้าสู่บ่อนกาสิโนที่มีอยู่อย่างมากตามชายแดนเมียนมา-จีน ประกอบกับมีการหลอกลวงหนุ่มสาวชาวจีนเข้าสู่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ รัฐบาลจีนจึงร่วมมือกับรัฐบาลเมียนมา ปราบปรามและจับกุมกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้และส่งตัวไปยังจีน
การปราบปรามอย่างหนักก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งกับกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ตามชายแดน ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์รวมตัวเป็น “สามพันธมิตร” หรือ Three Brotherhood Alliance ประกอบด้วย กองทัพโกกั้ง (MNDAA) กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) และกองทัพยะไข่ (AA) ต่อสู้กับกองทัพรัฐบาลและลุกลามใหญ่โตขึ้นมาก
นอกจากนี้ ยังมีความพยายามปั่นกระแส สร้างภาพว่า รัฐบาลเมียนมากำลังใกล้สูญสลาย ทำให้ผู้คนหวาดกลัว ไม่กล้าเข้าไปเที่ยวหรือทำมาค้าขายด้วย ยิ่งทำให้สถานการณ์ดูหนักหนามากขึ้น ทั้งๆที่รัฐบาลเมียนมามีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เหนือกว่ากองกำลังชาติพันธุ์มาก
“จุดเกิดเหตุของการสู้รบครั้งนี้ ห่างไกลจากเมืองหลักอย่างกรุงย่างกุ้ง กรุงเนปิดอร์ หรือเมืองมัณฑะเลย์มาก จึงไม่มีผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจเมียนมา มีเพียงผลกระทบทางอ้อมเชิงจิตวิทยา ที่ทำให้บรรยากาศการค้า-การลงทุนที่ซบเซาอยู่แล้วได้รับผลกระทบมากขึ้น นักลงทุนใหม่ๆหายไปเกือบหมด เพราะกลัวความไม่แน่นอนของนโยบาย เหลือเพียงนักลงทุนเก่าที่จำต้องดำเนินธุรกิจต่อไป”
ส่วนในทางการค้า แม้ประชาชนยังจำเป็นต้องบริโภค แต่ก็ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจเมียนมาถดถอย เพราะผลของการที่นานาชาติคว่ำบาตร ทำให้กำลังซื้อลดลง กระแสเงินสดในท้องตลาดหดหาย อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนหนัก ค่าเงินจ๊าดลดลงมากถึง 3 เท่า ราคาสินค้านำเข้าแพงขึ้นถึง 2-3 เท่า อัตราเงินเฟ้อเพิ่มถึง 30%-50% ในบางช่วงเวลา เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงมาก
แต่ค่าจ้างแรงงานไม่สามารถปรับได้ เพราะปัญหาอัตราการจ้างงานต่ำ หรือ Supply for Labor สูงกว่า Demand for Labor มาก ส่งผลให้รายได้ประชากรต่อหัวต่ำมาก กระทบต่อกำลังซื้อ และการใช้จ่ายของประชาชน
ขณะที่ธุรกิจของต่างชาติในเมียนมายังมีความไม่คล่องตัว เพราะยังมีปัญหาการขอใบอนุญาตการนำเข้าสินค้าที่ยุ่งยากมากกว่าเดิม ตลอดจนปัญหาการชำระเงินของลูกค้าและการโอนเงินกลับประเทศ
ดังนั้น เราจะเห็นภาพว่า เศรษฐกิจเมียนมาถดถอยมาก จากเดิมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด–19 อยู่แล้ว และขณะนี้ยังไม่ฟื้น เพราะเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค จึงได้รับผลกระทบหนักกว่า แล้วยังมีการสู้รบที่นำไปสู่การถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติ เข้ามาซ้ำเติมอีก ยิ่งทำให้เศรษฐกิจที่อ่อนแออยู่แล้วถูกกระหน่ำซ้ำเติมมากขึ้น
“เมื่อภาวะเศรษฐกิจเมียนมาย่ำแย่ ธุรกิจไทยในเมียนมาย่อมได้รับผลกระทบตาม อย่างธุรกิจของผม นำเข้าสินค้าจากไทยไปขายในเมียนมา กระจายไปเมืองต่างๆก็ซบเซา ยอดขายตก เมื่อก่อนเคยมีพนักงานประมาณ 400 คน ตอนนี้เหลือ 30 คน รายอื่นๆ ก็เช่นกัน ผู้ประกอบการไทยทำได้แค่ประคองตัวให้อยู่รอด จะขอความช่วยเหลือจากรัฐก็คงช่วยในเรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเสริมสภาพคล่อง ซึ่งจะทำให้พวกเราเป็นหนี้มากขึ้นและรับภาระไม่ไหว”
อย่างไรก็ตาม สภาธุรกิจไทย-เมียนมา ได้ร่วมกับนายเอกวัฒน์ ธนประสิทธิ์พัฒนา ทูตพาณิชย์ไทยประจำกรุงย่างกุ้ง สร้างความเชื่อมั่นให้กับเอกชนไทยว่า แม้จะมีการสู้รบทางตอนเหนือ แต่เมืองใหญ่ๆ ยังมีความปลอดภัย ที่สำคัญ สินค้าอุปโภคบริโภคของไทยเป็นที่นิยมมาก ยังพอขายได้อยู่ จึงเป็นโอกาสของสินค้าไทยในตลาดเมียนมา
“นอกจากนั้น เมื่อเร็วๆนี้ รัฐบาลเมียนมาได้ประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้นโยบายควบคุมเงินตราต่างประเทศ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีขึ้น และต้องจับตาดูว่ารัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมอีกหรือไม่ หากมีอีกก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ”
ประเสริฐ จึงกิจรุ่งโรจน์
ประธานอาวุโส หอการค้าจังหวัดตาก
ขณะที่ “นายประเสริฐ” ได้ฉายภาพสถานการณ์การค้าชายแดนไทย-เมียนมา บริเวณด่านการค้าแม่สอด-เมียวดีว่า หลังเกิดความไม่สงบในเมียนมาตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจการค้าชายแดนในพื้นที่จังหวัดตากต่างได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยได้รับผลกระทบตั้งแต่โควิด-19 และต่อเนื่องซ้ำสองจากการสู้รบในเมียนมา แม้ด่านถาวรทั้ง 2 แห่งของจังหวัดตากยังเปิดให้ส่งออกและนำเข้าสินค้าได้ตามปกติ แต่ต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้นกว่า 20% อีกทั้งการขนส่งติดขัด ไม่คล่องตัว เพราะความไม่สงบในพื้นที่หลายแห่งในรัฐกะเหรี่ยง
“ธุรกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากค่าเงินจ๊าดผันผวนมาก เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจมาก แต่ในอนาคตถ้าสถานการณ์ภายในของเมียนมาดีขึ้น ค่าเงินจ๊าดน่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น”
สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น นักธุรกิจไทยต่างปรับตัว โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ลงทุนในพื้นที่ไม่สงบ ต่างปรับขนาดองค์กรให้เล็กลง เพื่อลดค่าใช้จ่ายตามสภาพเศรษฐกิจที่แย่ลง อีกทั้งต้องติดตามสถานการณ์แบบรายวัน และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ หรือการเปลี่ยนแปลงของนโยบายต่างๆที่จะกระทบต่อภาคธุรกิจ
นอกจากนั้น ยังมองหาโอกาสในสถานการณ์วิกฤติ คาดว่า ปีหน้าจะเห็นทิศทางการค้าชายแดนไทย-เมียนมา โดยเฉพาะจังหวัดตาก ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ขณะนี้นักธุรกิจเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ที่น่าจะดีขึ้น
แต่ระหว่างนี้ ต้องการให้ภาครัฐขจัดข้อกฎหมายหรือข้อบังคับ ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าชายแดน เพื่อให้ทำธุรกิจได้สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะการเก็บภาษีเข้าประเทศ
และอีกข้อสำคัญคือ อยากให้รัฐบาลก่อสร้างถนน และมีเส้นทางขนส่งทางราง เช่น มอเตอร์เวย์แม่สอดหรือเส้นทางรถไฟ ที่ผ่านมา ศึกษาแล้วหลายรัฐบาล และเลื่อนโครงการก่อสร้างออกไปถ้ารัฐบาลนี้ผลักดันให้เกิดขึ้นจริง จะช่วยลดระยะทาง และเวลาขนส่งสินค้าได้มาก
“ปัจจุบันภาคธุรกิจขนส่งสินค้าผ่านถนนสายแม่สอด-ตาก ระยะทาง 90 กิโลเมตร จากตัวจังหวัดตากมาที่ด่านพรมแดนถาวรแม่สอดทั้ง 2 แห่ง ถนนสายนี้เป็นภูเขา มีจุดอันตรายตลอดเส้นทาง รถขนส่งสินค้าประสบอุบัติเหตุเป็นประจำ ถ้ารัฐบาลส่งเสริมให้พื้นที่ชายแดนจังหวัดตากมีมอเตอร์เวย์ หรือระบบขนส่งทางราง หรือรถไฟรางคู่ จะช่วยลดต้นทุน ลดเวลา และลดอุปสรรคในการขนส่งสินค้าได้มาก”
เทอดศักดิ์ กิตติวรากูร
กรรมการหอการค้าจังหวัดกาญจนบุรี ฝ่ายการค้าชายแดน
ด้าน “นายเทอดศักดิ์” ให้ความเห็นต่างว่า การค้าขายกับเมียนมาตามแนวชายแดนจังหวัดกาญจนบุรียังเป็นปกติ ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบน้อยมาก แต่ก็ยังมีอุปสรรคในการกระจายสินค้าที่ไม่สะดวก เพราะความต้องการสินค้าไทยในฝั่งเมียนมาสูงขึ้นมาก ส่วนการลงทุนของคนไทยในเมียนมาที่เป็นการลงทุนเดิม ยังทำได้ตามปกติ แต่การลงทุนใหม่ยังไม่เกิดขึ้น เพราะเศรษฐกิจเมียนมาซบเซา
ส่วนเงินจ๊าดที่ผันผวนมาก ธุรกิจไทยก็แทบไม่ได้รับผลกระทบ เพราะแลกเปลี่ยนเงินบาทและเงินจ๊าดโดยผ่านธนาคารหรือช่องทางต่างๆได้ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไทยทำสัญญาระหว่างบาทและเงินจ๊าดมาตั้งแต่ปี 65
“ปัญหาการขนส่งหรือกระจายสินค้าในเมียนมา ผู้ประกอบการพยายามหาช่องทางการขนส่งใหม่ที่จะกระจายสินค้าถึงมือผู้บริโภคได้รวดเร็ว ส่วนปัญหาตามชายแดน อยากให้รัฐบาลทั้ง 2 ฝั่ง พิจารณาเปิดด่านชายแดนให้มากขึ้น เพื่อให้มีทางเลือกมากขึ้นในการขนส่งสินค้า ซึ่งจะช่วยให้การค้าขายคล่องตัวและขยายตัวได้มากขึ้น”
นอกจากนี้ ยังต้องการให้รัฐบาลไทยเจรจาเปิดด่านผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อนโดยเร็วที่สุด เพื่อให้คนเข้า-ออกได้ตามปกติ และช่วยอำนวยความสะดวกในการนำเข้า-ส่งออก รวมถึงอยากให้เจรจากับรัฐบาลเมียนมาคลายกฎระเบียบต่างๆในการขอใบอนุญาตนำเข้า เพื่อให้การค้าคล่องตัวและรวดเร็วยิ่งขึ้น
“กาญจนบุรีมีแนวชายแดนติดกับเมียนมาเป็นระยะทางยาวมาก มีจุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน ต.บ้านเก่า อ.เมืองกาญจนบุรี ปัจจุบันการนำเข้า–ส่งออกสินค้ายังปกติ แต่ในส่วนของบุคคลที่จะเดินทางเข้า–ออก เมียนมายังไม่เปิดระบบการเข้าเมือง”
สำหรับมูลค่าการค้าชายแดนไทย-เมียนมา ที่จังหวัดกาญจนบุรี ในช่วงโควิด-19 ปี 63 ประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเติบโตแบบทวีคูณ เพราะด่านพุน้ำร้อนเป็นเส้นทางขนส่งที่สามารถลดต้นทุนค่าขนส่งได้มาก ถ้ามีการก่อสร้างถนนทวาย-กาญจนบุรี ก็จะทำให้การกระจายสินค้าไทยไปเมียนมาคล่องตัวมากขึ้น และยิ่งหากมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรีเปิดใช้ในปี 67 ก็จะทำให้การขนส่งสินค้าที่ด่านผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อนเพิ่มขึ้น และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม
ส่วนที่ อ.สังขละบุรี มีจุดผ่อนปรนชั่วคราวทางการค้าบ้านพระเจดีย์สามองค์ ที่ปัจจุบันใช้นำเข้า-ส่งออกสินค้า และสินค้าผ่านแดนก็ใช้บริการจำนวนมาก หากรัฐบาลสนับสนุนให้เปิดเป็นจุดผ่านแดนถาวร ขยายถนน และเพิ่มความพร้อมของด่านการค้าให้รองรับการพัฒนาในอนาคตจะช่วยสนับสนุนการค้าชายแดน 2 ประเทศได้อีกมาก
ผกายมาศ เวียร์รา
รองประธานหอการค้าเชียงราย ฝ่ายชายแดน (แม่สาย)
สำหรับ “น.ส.ผกายมาศ” ซึ่งทำการค้าบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ติดกับเมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉานตะวันออก อีกด้านติดกับแม่น้ำโขง ตรงข้ามลาว และ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ที่รู้จักกันในชื่อ “สามเหลี่ยมทองคำ”
ขณะเดียวกัน ที่ อ.แม่สาย ยังมีสะพานข้ามด่านพรมแดนถาวร 2 แห่ง โดยแห่งที่ 1 อยู่กลางเมืองแม่สาย ต.แม่สาย และแห่งที่ 2 อยู่ที่บ้านสันผักฮี้ ตรงข้ามบ้านแม่ขาว จ.ท่าขี้เหล็ก เป็นด่านสากลแห่งเดียวของรัฐฉานระหว่างท่าขี้เหล็ก-แม่สาย เป็นเมืองที่เจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจ มีสนามบินท่าขี้เหล็ก ถือเป็นศูนย์กลางของรัฐฉาน กล่าวให้ความเห็นว่าการค้าชายแดนไทย-เมียนมา บริเวณด่านแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ไม่มีปัญหา ยังทำธุรกิจได้ตามปกติ
“สินค้าไทยยังส่งออกผ่านด่านพรมแดนได้ตามปกติ มีทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค น้ำมันเชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้าง ขณะนี้ธุรกิจบันเทิงบางประเภทที่ทางการจีนไม่เห็นด้วยที่จะให้ตั้งประชิดตามแนวชายแดนจีน–เมียนมา ก็ได้ขยับมาตั้งที่ท่าขี้เหล็กมากขึ้น ทำให้เมืองท่าขี้เหล็กเติบโตก้าวกระโดด และมีความต้องการวัสดุก่อสร้างจากไทยเพิ่มขึ้นมาก”
สำหรับการซื้อสินค้ายังคงใช้เงินจ๊าดและเงินบาทตามปกติไม่มีผลกระทบใดๆ ชาวเมียนมาด้านชายแดนนี้นิยมใช้เงินบาท ซื้อสินค้า ขณะที่การท่องเที่ยว อ.แม่สาย ก็เติบโตขึ้น หลังจากวัดดอยเวาเปิดจุดเช็กอินบนสะพานสกายวอล์ก และอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เปิดให้เข้าชมตามรอย 13 หมูป่าติดถ้ำ ส่งผลให้ชาวเมียนมาจากเมืองต่างๆรวมทั้งท่าขี้เหล็กเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเฉลี่ยวันละ 5,000 คน หากเป็นช่วงวันหยุดยาวมีถึง 10,000 คน
อย่างไรก็ตาม แม้การค้าขาย การทำธุรกิจตามแนวชายแดนของเชียงรายแทบไม่ได้รับผลกระทบใดๆ แต่ภาคเอกชนก็ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนภาคธุรกิจ โดยหากหน่วยงานราชการจะจัดกิจกรรมใดๆก็ขอให้ไปจัดที่ชายแดนแม่สายมากขึ้น อย่าเพียงแต่จัดอยู่ที่ อ.เมือง เพราะจะทำให้คนชายแดนของทั้งเมียนมาและลาว เดินทางมาท่องเที่ยวจับจ่ายซื้อของ ทำให้มีเงินหมุนเวียนในพื้นที่มากขึ้น ช่วยทำให้การค้าชายแดนคึกคักตลอดทุกฤดูกาล.
ทีมเศรษฐกิจ
คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปเศรษฐกิจ" เพิ่มเติม