ถอดบทเรียนการพัฒนาเมืองเพื่อสังคมสูงวัย : ญี่ปุ่นทำได้ ไทยก็ต้องทำได้

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ถอดบทเรียนการพัฒนาเมืองเพื่อสังคมสูงวัย : ญี่ปุ่นทำได้ ไทยก็ต้องทำได้

Date Time: 4 พ.ย. 2566 07:21 น.

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

สุพริศร์ สุวรรณิก สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

ประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นประเทศแรกๆ ในโลก คือ ญี่ปุ่น โดยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (super-aged society) ตั้งแต่ปี 2007 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ประเทศไทยจะก้าวสู่ super-aged society ในอีก 15 ปีข้างหน้าไม่ต่างกัน ในโอกาสที่ผู้เขียนได้เดินทางร่วมกับคณะ IMETMAX เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไปศึกษาโครงการของเมืองต่างๆ ในญี่ปุ่น ซึ่งมีระบบการจัดการและพัฒนาเมืองเพื่อรองรับสังคมสูงวัยอย่างดีเยี่ยม จึงขออนุญาตตกผลึกความรู้ที่ได้ร่วมกับคุณณัฐ เหลืองนฤมิตชัย ว่ามีอะไรที่ประเทศไทยทำเพิ่มเติมได้บ้างครับ

1.ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอ ทั้งโรงพยาบาล อุปกรณ์ทางการแพทย์ และบุคลากร โดยเฉพาะบุคลากรเพื่อดูแลผู้สูงวัย (caretaker) ซึ่งมีความสำคัญมาก และต้องเร่งเตรียมพร้อมตั้งแต่เนิ่นๆ เมือง Saku มีประชากรประมาณ 100,000 คน โดยมีประชากรสูงวัยประมาณ 30,000 คน จึงมีความจำเป็นต้องดูแลผู้สูงวัยจำนวนมาก ทั้งนี้ ด้วยวิสัยทัศน์ของนายกเทศมนตรี ผู้บริหารจัดการเมือง และคนในท้องถิ่น จึงได้ก่อตั้งโรงพยาบาลกลางมาตั้งแต่ปี 1944 และพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยมา โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น การระดมเงินในรูปแบบสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ชุมชน ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้เขียนประทับใจเป็นพิเศษ คือ การพัฒนาเทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆที่เพิ่มประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ การพัฒนาเมืองยังตอบโจทย์ให้มีสถานที่ดูแลผู้ป่วยสูงวัยอย่างครบวงจร มีบ้านพักคนชราหลายแห่งในเมือง ทั้งแบบอยู่ประจำและแบบไปเช้าเย็นกลับในราคาที่ผู้สูงวัยเอื้อมถึง ผ่านโครงสร้างสวัสดิการผู้เกษียณอายุ และเงินอุดหนุนจากรัฐ โดยมีมหาวิทยาลัย Saku ผลิตบุคลากรเพื่อดูแลผู้สูงวัยโดยเฉพาะ ซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญมากในสังคมสูงวัย

2.สังคมสูงวัยทำให้เมืองในชนบทท้องถิ่นมักมีปัญหาบ้านร้าง เพราะผู้สูงวัยเสียชีวิต หรือประชากรย้ายครอบครัวไปในเมืองใหญ่ จึงต้องปรับเปลี่ยนฟื้นฟูเมืองและสร้างความเจริญให้กลับมาในพื้นที่ เมืองใดๆ ที่มีแต่ผู้สูงวัยอาศัยอยู่ ย่อมเป็นเมืองที่อยู่อย่างยั่งยืนไม่ได้ เพราะเมืองจำเป็นต้องมีคนทุกรุ่น โดยเฉพาะวัยแรงงานที่มาทำงานหรือเปิดธุรกิจ เมือง Saku ก็เช่นกัน แม้จะมีสัดส่วนผู้สูงวัยมากถึง 30% แต่ก็พยายามดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น โดยการพัฒนาพื้นที่และระบบคมนาคม มีรถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็นเข้าถึงซึ่งใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงกว่าๆ จากโตเกียวก็ถึงเมือง Saku แล้ว ขณะที่วัยแรงงานบางส่วนที่ย้ายมาอยู่ที่เมือง Saku เป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่มีมลพิษ และสามารถ work from anywhere ตามสภาพการทำงานใหม่ที่บริษัทต่างๆ ยอมให้พนักงานทำงานจากที่ไหนก็ได้ตามความเหมาะสม

3.หน้าที่ของการพัฒนาเมือง ไม่ใช่ของภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน บางคนอาจมองว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาฟื้นฟูเมืองเป็นหน้าที่ของรัฐ เพราะใหญ่เกินกว่าหน้าที่ของปัจเจกชน ซึ่งก็เป็นความจริงส่วนหนึ่ง แต่อันที่จริง การพัฒนาเมืองเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน เพราะทุกคนมีส่วนในการดึงความมีชีวิตชีวาของเมืองกลับมาได้ สะท้อนจากตัวอย่างการพัฒนาเมือง Obuse ซึ่งเคยเป็นเมืองที่มีศิลปินชื่อดังอย่าง Hokusai อาศัยอยู่

หันกลับมาที่ประเทศไทย ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า ยังไม่สายเกินไปครับ ด้วยศักยภาพของคนไทย เมื่อภาครัฐและเอกชนร่วมใจกันและมีความตั้งใจที่จะพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนแต่ละแห่งอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเมืองหลักหรือเมืองรอง

เราย่อมสามารถจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสม เพื่อพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้สามารถรองรับสังคมสูงวัยไทยที่จะก้าวเข้าสู่ระดับสุดยอดในอนาคตได้ครับ.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ