เมื่อวานผมเขียนถึงโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) พร้อมกับตั้งข้อสังเกตด้วยความไม่แน่ใจว่า รัฐบาลจะเอาจริงเอาจังมากน้อยแค่ไหน
เพราะการเมืองบ้านเราเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ รัฐบาลชุดไหนเข้ามาก็มักจะทุ่มเทให้กับยุทธศาสตร์ชูจุดขายนโยบายของตัวเอง ดังที่ผมยกตัวอย่างโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor-EEC)
ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผุดขึ้นมาหวังปลุกความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ พยายามเดินสายโรดโชว์ทุกเวทีระดับโลกที่มีโอกาสเข้าร่วม ทุ่มเททุกสรรพกำลังและงบประมาณลงไปไม่ใช่น้อย แต่พอเปลี่ยนรัฐบาลก็อย่างที่เห็น ถูกปล่อยให้ลอยเคว้งคว้างไปตามมีตามเกิด เดินหน้าผุดอภิเมกะโปรเจกต์ใหม่ เสมือนว่าให้เป็นโครงการสัญลักษณ์ของรัฐบาลนั้นๆ
มีข้อมูลอีกด้านของ คุณพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ที่ยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้ยังคงเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (จ.ชุมพร จ.ระนอง) ที่ริเริ่มมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจภาคใต้ และเศรษฐกิจประเทศ
จากการหารือกับภาคเอกชนในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ ทั้ง สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สภาหอการค้าจังหวัด รวมถึง สภาเกษตรกรจังหวัด ล้วนแต่สนับสนุนโครงการนี้ จึงสั่งการให้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เร่งศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ เพื่อรองรับแลนด์บริดจ์และสอดรับกับระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือเอสอีซี (SEC) ได้แก่ จ.ชุมพร, ระนอง, สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช
เน้นไปที่ 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ขณะที่การขับเคลื่อนกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย กระทรวงอุตสาหกรรมจะมุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.การปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับเหมืองแร่และป่าไม้ เพราะแร่บางชนิดอยู่ในพื้นที่ป่าเขา
2.การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในพื้นที่
และ 3.การเพิ่มมูลค่าและแก้ไขปัญหาของปาล์มน้ำมันและยางพารา โดยเฉพาะภัยแล้งในพื้นที่ที่ส่งผลต่อคุณภาพของวัตถุดิบ
รวมถึงจะเร่งส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการ ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยการสร้างนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะทุกจังหวัดทั่วประเทศ
“เอกชนได้สะท้อนถึงอุปสรรคกฎหมายต่อการประกอบธุรกิจ ดังนั้นจะเร่งแก้ไขอุปสรรคต่างๆ อาทิ กฎระเบียบ การเข้าถึงแหล่งทุน โดยให้ความสำคัญในกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นสำคัญ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงการเพิ่มทักษะการประกอบการให้เป็นมืออาชีพ โดยการปั้นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ”
แน่นอนว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพิ่มเติม ที่ผ่านมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้ขับเคลื่อนอีอีซี เพื่อต่อยอดการลงทุนในพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) ยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้ขับเคลื่อนด้วยธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่วนแลนด์บริดจ์จะเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน เป็นการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ
เพียงแต่ต้องชั่งน้ำหนักผลดีผลเสีย โดยเฉพาะด้านความคุ้มค่ากับงบประมาณที่มากมายมหาศาลถึง 1.4 ล้านล้านบาท ถ้ามันคุ้มค่าจริงก็เดินหน้าไปเลย.
เพลิงสุริยะ
คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม