แต่การดำเนินนโยบายการเงินดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดเงินและตลาดเงินโลกผันผวนรุนแรงขึ้น และแน่นอนว่ายังส่งผลต่อต้นทุนในการดำเนินชีวิตของประชาชน และการทำธุรกิจของภาคเอกชน ให้ยากลำบากมากยิ่งขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดีจากวิกฤติโควิด- 19 และภาคการส่งออกได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยยังต้องสะดุดกับปัญหาสุญญากาศทางการเมืองที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ทันทีหลังจากการเลือกตั้งทั่วไป ส่งผลให้แรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจลดถอยลงอีก และล่าสุดเรากำลังเผชิญหน้ากับผลจากการสู้รบระหว่างอิสราเอล-ฮามาส ที่สร้างความเสี่ยง และไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังแสดงความอ่อนแอ อ่อนไหว ส่งผลให้ “กองหน้า” หลายท่านมองว่าจำเป็นต้องทุ่มเทสรรพกำลังและมาตรการเพื่อเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่
แต่ในฐานะ “กองหลัง” ซึ่งทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ตัดสินใจทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และลดปัญหาการก่อหนี้เกินตัวของครัวเรือน
ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดที่ 2.5% ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้แจ้งข่าวดีว่า ดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจแล้ว ซึ่งแปลว่า จะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง
ทั้งนี้ ธปท.มองว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงที่สามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง มูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) กลับมาสูงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงในหลายด้าน ทั้งการส่งออก และท่องเที่ยวที่ฟื้นช้ากว่าที่คาด อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่มีความผันผวนสูงกว่าเพื่อนบ้าน รวมทั้งความเสี่ยงที่ ธปท.กังวลมากที่สุดคือแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำในขณะนี้จะกลับสูงขึ้นได้อีกในอนาคต
และนอกเหนือจากพันธกิจหลักในการดูแลเสถียรภาพด้านราคา และการสร้างความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจให้รองรับความเสี่ยงที่ไม่คาดคิดได้แล้ว ธปท.ยังต้องดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน การลดหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงกว่า 90% ของจีดีพี รวมทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน การสร้างลูกหนี้ และเจ้าหนี้ที่มีคุณภาพ ต่อเนื่องไปจนถึงการผลักดันการปล่อยสินเชื่อสีเขียว สินเชื่อเปลี่ยนผ่านที่คำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม และลดการก่อมลพิษ
ภายใต้ข้อถกเถียงจากนักเศรษฐศาสตร์และภาคประชาสังคมว่า “เศรษฐกิจไทย” ในขณะนี้ต้องการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบไหน และทิศทางของเศรษฐกิจไทยควรจะเป็นอย่างไร เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
เรามาฟังมุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจไทย และทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน และนโยบายสถาบันการเงินของ ธปท.ในระยะต่อไป จาก “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และทีมผู้บริหาร ธปท.เพื่อให้เห็นทิศทางของเศรษฐกิจไทยที่ชัดเจนขึ้น
เปิดแนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจไทย
ผู้ว่าการ ธปท. เริ่มต้นด้วยการมองภาพรวมของเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ “ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกนั้น การเติบโตของโลกไม่ค่อยดี ขณะที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวมากกว่าที่คาด ขณะที่ปัจจัยใหม่ที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจทั่วโลก คือ สงครามอิสราเอล และกลุ่มฮามาส นอกจากนั้น โลกเวลานี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่คาดเดาไม่ได้ หรือ Tail risk เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ”
เช่น ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของ “ห่วงโซ่การผลิต” การขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต หรือวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้นกระทบต่อต้นทุน หรือยกตัวอย่างในช่วงเหตุการณ์ 9/11 ในสหรัฐฯ เมื่อหลายปีก่อน คนกังวลเรื่องการท่องเที่ยว การเดินทางทั่วโลก เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะถดถอย แต่ผลกระทบที่แท้จริงจากเหตุการณ์ 9/11 คือสงครามระหว่างสหรัฐฯและอิรัก เช่นเดียวกับสงครามยูเครน ที่ทำให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบทั่วโลก และคงต้องจับตาดูสงครามอิสราเอลครั้งนี้ เพราะคงไม่มีใครคาดเดาได้ชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ในฝั่งของเศรษฐกิจไทยนั้นภาพใหญ่ปีนี้และปีหน้า การประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจที่คาดไว้ว่า ปีนี้จะขยายตัว 2.8% และปีหน้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.4% คาดว่าบวกลบไม่มาก ใกล้เคียงกับประมาณการเดิม แต่ยอมรับตัวเลขการขยายตัวไตรมาส 3 น่าจะต่ำกว่าที่เราคาดไว้ในระดับหนึ่ง แต่ตัวเลขที่ดีคือการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ยังขยายตัวดี การส่งออกและการท่องเที่ยวอาจจะดีกว่าที่คาดไว้
แต่การผลิตภาคอุตสาหกรรมอ่อนตัวลงกว่าที่คิด ซึ่งส่วนหนึ่งจะสะท้อนถึงกำลังซื้อที่ลดลง ขณะที่ส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาคือ เรื่องการสู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาส ที่ส่งผลต่อการค้าและสถานการณ์ความขัดแย้งของโลก
“ตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจปี 67 ที่สูงถึง 4.4% เป็นเพราะ ธปท.ได้รวมผลจากนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านกระเป๋าสตางค์ดิจิทัลของรัฐบาลไว้แล้วในระดับหนึ่ง และเท่าที่ทราบ ในขณะนี้รัฐบาลกำลังมีการทบทวนเงื่อนไขของโครงการดังกล่าว ซึ่ง ธปท.ก็ติดตามเช่นกัน หากมีการเปลี่ยนแปลงเม็ดเงินที่ใช้โครงการ ลดลงไม่ถึง 560,000 ล้านบาท ตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจปีหน้าก็จะปรับลดลงตามด้วย”
ส่วนกรณีที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า หากเศรษฐกิจจีนชะลอลง 1% เศรษฐกิจเอเชียจะชะลอลง 0.3% ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยมีความสัมพันธ์กับจีนสูง และมีความเชื่อมโยงกันของค่าเงิน แต่ผลกระทบจะมากหรือน้อยนั้น ขึ้นกับว่า การชะลอของเศรษฐกิจจีนมาจากส่วนไหน ต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจไทยในส่วนใดบ้าง
เช็กอัพ “เสถียรภาพ” การเงินการคลัง
มาถึงภาพรวมด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า “ภาพโดยรวมขณะนี้ถือว่าโอเค แต่ชะล่าใจไม่ได้” ตัวเลขที่น่าพอใจ คือเสถียรภาพด้านต่างประเทศ ตัวเลขหนี้ต่างประเทศ ทุนสำรองทางการระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ในระดับที่ดีขณะที่ภาพรวมของระบบสถาบันการเงินของไทยก็อยู่ในระดับที่ดี
อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือนไทยซึ่งสูงถึง 90.7% ในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ แม้จะลดลงจากจุดสูงสุดที่ 94.6% แต่ยังเป็นจุดที่ ธปท.กังวล รวมทั้งตัวเลขหนี้สาธารณะที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 62% ของจีดีพี และยิ่งเมื่อเทียบกับก่อนการเกิดโควิด-19 ซึ่งหนี้สาธารณะอยู่ประมาณ 40% จะเห็นว่าเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
ความกังวลต่อเสถียรภาพทางการคลังยังสะท้อนจากความคิดเห็นของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิต เรตติ้ง) ระดับโลกหลายแห่งที่แสดงความกังวล รวมทั้งการตอบสนองของนักลงทุนในตลาดการเงิน และตลาดพันธบัตร โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้เงินทุนต่างประเทศของไทยไหลออกสุทธิที่ 8,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ค่าเงินบาทผันผวนประมาณ 9% สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ขณะที่ค่าธรรมเนียมป้องกันความเสี่ยงในการซื้อพันธบัตรไทยเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นการเป็น safe haven หรือที่พักปลอดภัยของเงินทุน ของประเทศไทยที่ลดลง
“เรื่องเสถียรภาพที่กังวลมากที่สุด คือหนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะที่สูง แน่นอนว่าเราอยากเห็นการรักษาวินัยการคลัง การขาดดุลการคลังที่ลดลง และตัวเลขหนี้สาธารณะที่ลดลง โดยอาจจะเป็นทิศทางของการหารายได้เพิ่มก็ได้ ซึ่งตรงกับแนวคิดของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้งหลายที่มีความกังวลในเรื่องนี้”
ทั้งนี้ ภายใต้ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่สูงมากขึ้น ผู้ว่าการธปท.มองว่า การมีพื้นที่ในการทำนโยบายเพิ่มเติมเพื่อรองรับ “ช็อก” ที่จะเข้ามาโดยไม่คาดคิดนั้น ในส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ นโยบายการเงินก็ต้องมี policy space เผื่อไว้ เช่นเดียวกับนโยบายการคลังก็ต้องมีช่องว่างรับมือกับความเสี่ยงที่เราไม่รู้เช่นกัน ในขณะที่ความจำเป็นของเศรษฐกิจไทย ที่จะต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคมีไม่มาก เพราะแนวโน้มการบริโภคยังขยายตัวต่อเนื่อง ตลาดแรงงานยังคงอยู่ในภาวะที่ดี ทำให้เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางที่จะขยายตัวต่อเนื่องไปได้
สร้าง Resilience ระบบเศรษฐกิจ
ในส่วนของ ธปท.จะต้องปรับโหมดการทำงานให้เท่าทันสถานการณ์โดยปรับเป้าหมายของการมองจากระยะสั้นเป็นระยะปานกลางระยะยาว เปลี่ยนจากการมองเรื่องการเร่งเครื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไปสู่การสร้าง resilience หรือการสร้างความยืดหยุ่นที่เพียงพอของเศรษฐกิจไทยที่จะรองรับช็อก เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด และฟื้นกลับมาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งมากกว่าการดูแลแค่เสถียรภาพเพียงอย่างเดียว
โดยการสร้างให้เศรษฐกิจไทยและธุรกิจไทยมี resilience ได้นั้น มีองค์ประกอบ 3 อย่าง 1.Macro-prudential หรือนโยบายที่มีเป้าหมายหลักเพื่อลดการก่อตัวของความเสี่ยงเชิงระบบ เช่น เงินเฟ้อไม่สูงเกินไป เศรษฐกิจโตได้อย่างเหมาสมและมีเสถียรภาพทางการด้านการเงิน 2.สนับสนุนให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถทนทานต่อ “ช็อก” ที่จะเข้ามาอย่างไม่คาดคิดได้ เช่น การมีงบการเงินที่แข็งแรง มีกันชนสำหรับรองรับเพียงพอ มีกระสุนในการทำงานต่อในช่วงเวลายากลำบาก
รวมทั้งต้องมีทางเลือกหรือทางออกที่เตรียมความพร้อมไว้ สำหรับการรองรับผลกระทบที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ซึ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆในขณะนี้ เช่น เรื่องระบบการชำระเงิน หากล่มไปต้องดูแลอย่างไร หรือการดูแลการชำระเงินระหว่างประเทศ หรือการค้าขายด้วยเงินสกุลท้องถิ่น สำหรับเป็นทางเลือกในการค้า และ 3.การมีโอกาสใหม่ๆในการค้า การลงทุน การดำเนินธุรกิจ ซึ่งแตกต่างจากเสถียรภาพที่ไม่เน้นการเติบโตเลย แต่ resilience จะเน้นไปสู่โอกาสใหม่ของการเติบโต การเพิ่มศักยภาพของธุรกิจ ทั้งการนำเทคโนโลยีใหม่ๆหรือระบบการเงินดิจิทัลมาใช้ รวมถึงการให้สินเชื่อเพื่อการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่การเข้าสู่วงจรเศรษฐกิจสีเขียว
โดยนโยบายการเงินในขณะนี้เป็นเรื่องของการแลนดิ้ง (landing) หรือปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งการดูจุดที่ “ดอกเบี้ย” จะเข้าสู่สมดุลแล้วหรือยัง มุมมองของกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงแตกต่างกัน บางท่านไม่กังวลแล้ว ขณะที่มีความกังวลในทิศทางเศรษฐกิจข้างหน้า
“กนง.บางท่านกังวลดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งจะมีผลต่อพฤติกรรมของคนกู้ เช่น โดยเฉพาะดอกเบี้ยบ้านเราที่ต่ำมานาน ทำให้บางคนที่เพิ่งเข้ามากู้จะคิดว่า ดอกเบี้ยจะต่ำไปตลอด หรือ กนง.บางคนอาจกังวลอัตราเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นในอนาคต เช่น ผมเองยอมรับว่ากังวล ไม่อยากให้เงินเฟ้อสูง เพราะเงินเฟ้อสูงกระทบประชาชนมากที่สุด”
ทั้งนี้ นโยบายการเงินเป็นนโยบายที่ใช้สำหรับคนทั้งประเทศ แต่ ธปท.เองก็กังวลว่า “กลุ่มเปราะบาง” จะสามารถรับการขึ้นดอกเบี้ยได้หรือไม่ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งของ ธปท.ในด้านนโยบายสถาบันการเงินของ ธปท.ที่มุ่งเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้แบบเฉพาะเจาะจง ให้ครอบคลุมในทุกจุด เพื่อให้การขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท.กระทบน้อยที่สุด
“ดอกเบี้ยเหมือนการตั้งอุณหภูมิของแอร์ ที่อาจจะตั้งที่มองว่าเหมาะสม แต่คนมีความอดทนความร้อนหนาวที่ไม่เท่ากัน ดังนั้น ผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยจึงไม่เหมือนกัน แต่เราจะต้องพยายามให้ทุกคนสามารถอยู่ในอุณหภูมินี้ได้อย่างสบายที่สุดเท่าที่ทำได้” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว
หนุนภาคธุรกิจรับมือความเสี่ยงโลก
ทั้งนี้ นอกเหนือจาก resilience ของเศรษฐกิจ ธปท.มองว่าจะต้องสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเตรียมการให้เกิด resilience ด้วย โดยค่าเงินเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของภาคธุรกิจ ซึ่ง ธปท.พยายามส่งสัญญาณและผลักดันให้ธุรกิจป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น รวมทั้งใช้สกุลเงินท้องถิ่นมากขึ้น โดยให้ข้อมูลต่างๆเพื่อที่จะให้ผู้ประกอบการเลือกลดความเสี่ยงของตัวเอง ทั้งการเลือกป้องกันความเสี่ยงในต้นทุนที่ถูกลง หรือใช้การป้องกันความเสี่ยงโดยใช้สกุลเงินที่มีความผันผวนน้อยกว่าในการค้าขายโดยยอมรับว่า ในช่วงต่อไปค่าเงินบาทจะยังมีความผันผวนสูง
ในขณะเดียวกัน การลดหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ก็เป็นการสร้าง resilience ให้ครัวเรือนเช่นกัน เพื่อให้ไม่มีหนี้เกินตัว และมีเงินออมในยามฉุกเฉิน ซึ่งการดูแลลูกหนี้เดิมเป็นสิ่งที่ ธปท.ทำมาต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังต้องสร้างวิธีในการกระตุกพฤติกรรม หรือ Responsible Lending เพื่อการดูแลผู้กู้ และผู้ให้กู้ ตั้งแต่ต้นน้ำมาจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การสร้างผลิตภัณฑ์และการโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำให้เกิดการกู้เงินจนเกินตัว รวมไปถึงการแก้หนี้เรื้อรัง
“ยอมรับว่าการดูแลหนี้ครัวเรือนของไทย ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยต้องดูปัจจัยแวดล้อม แต่ก็หวังว่า จะสามารถลดหนี้ครัวเรือนได้ต่ำกว่า 80% ของจีดีพี ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานได้ โดยพยายามออกมาตรการต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อให้ครัวเรือนมีความสามารถในการดูแลภาระหนี้ของตัวเองได้ นอกจากนั้นยังมีแนวทางการกำหนดดอกเบี้ยเงินกู้ตามความเสี่ยง เพื่อให้คนส่วนหนึ่งที่อาจจะเข้าไม่ถึงสินเชื่อสามารถที่จะได้รับสินเชื่อในระบบได้”
ทั้งหมดนี้เป็นพันธกิจที่ ธปท.คาดหวังในระยะเวลาต่อไป เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ยั่งยืน.
ทีมเศรษฐกิจ
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่