นักวิชาการค้านแจกเงินดิจิทัล เหตุได้ไม่คุ้มเสียทำรัฐเสียโอกาสลงทุน

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

นักวิชาการค้านแจกเงินดิจิทัล เหตุได้ไม่คุ้มเสียทำรัฐเสียโอกาสลงทุน

Date Time: 7 ต.ค. 2566 06:44 น.

Summary

  • นักวิชาการ 99 คน นำโดย 2 อดีตผู้ว่า ธปท. “วิรไท-ธาริษา” ออกแถลงการณ์ค้านแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท เรียกร้องรัฐบาลยกเลิก เหตุได้ไม่คุ้มเสีย แต่โพลมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยชี้ชัด ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ แต่กำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัด เพื่อเจียดเงินไปแก้ปัญหาน้ำ-ลงทุน

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิรไท สันติประภพ และนางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลงชื่อร่วมกับอดีตคณบดี และคณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวม 99 คน ในแถลงการณ์คัด ค้านและเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก “นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” เพราะได้ไม่คุ้มเสีย โดยระบุว่า 1.เศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัว สำนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.8% ในปีนี้ และ 3.5% ในปี 67 จึงไม่จำเป็นที่รัฐต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ

นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ผ่านมา มีการบริโภคส่วนบุคคลเป็นตัวจักรสำคัญ จึงไม่จำเป็นต้องกระตุ้นการบริโภคส่วนบุคคล แต่ควรเน้นการใช้จ่ายภาครัฐในการสร้างศักยภาพในการลงทุนและการส่งออกมากกว่า อีกทั้งการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศยังอาจเป็นปัจจัยให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นอีก และอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด

2.งบประมาณของรัฐที่มีจำกัดย่อมมีค่าเสียโอกาสเสมอ โดยเงินมากถึง 560,000 ล้านบาท ทำให้รัฐเสียโอกาสที่จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ บริหารจัดการน้ำ เป็นต้น เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งล้วนสร้างศักยภาพในการเจริญเติบโตในระยะยาวแทนการใช้เงินกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นที่ไม่สมเหตุสมผลต่อการสร้างหนี้สาธารณะให้เป็นภาระแก่คนรุ่นต่อไป ค่าเสียโอกาสสำคัญคือ การใช้เงินสร้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชน

3.การกระตุ้นเศรษฐกิจให้รายได้ประชาชาติ (จีดีพี) ขยายตัว โดยรัฐแจกเงิน 560,000 ล้านบาทเข้าไปในระบบเป็นการคาดหวังที่เกินจริง เพราะ ปัจจุบัน นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal mutiplier) ที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐในลักษณะเงินโอน หรือการแจกเงิน มีค่าต่ำกว่า 1 และต่ำกว่าตัวทวีคูณทางการคลังสำหรับการใช้จ่ายโดยตรงและการลงทุนของรัฐ การที่ผู้กำหนดนโยบายหวังว่า นโยบายนี้จะกระตุ้น เศรษฐกิจ จึงเลื่อนลอย ไม่มีใครเสกเงินได้ ไม่มีเงินที่งอกจากต้นไม้ ไม่มีเงินที่ลอยมาจากฟ้า สุดท้ายประชาชนจะต้องจ่ายคืนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าแพงขึ้น เพราะเงินเฟ้อจากการเพิ่มปริมาณเงิน

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหา วิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวถึงผลสำรวจทัศนะต่อนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทว่า ประชาชนส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ทั้งในเรื่องการเริ่มใช้เดือน ก.พ.67 การใช้ซื้อสินค้าออนไลน์ไม่ได้ และระยะเวลาการใช้ 6 เดือน แต่สิ่งที่ไม่เห็นด้วย คือ การใช้เงินในรัศมี 4 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังพบอีกว่า 76.4% จะใช้เงินในนโยบายดิจิทัลซื้อของใช้ในครัวเรือน อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ และ 15.6% ไม่ใช้ และ 8% ไม่แน่ใจ

นอกจากนี้ยังได้สำรวจผู้ประกอบการ พบว่า ร้านค้า 66.2% ไม่แน่ใจที่จะเข้าร่วมและไม่เข้าร่วม เพราะกังวลเรื่องภาษี ยังไม่รู้หลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการ และคิดว่าจะได้รับเงินช้ากว่าการขายปกติ อีก 33.8% จะเข้าร่วม เพราะทำให้ขายสินค้าได้มากขึ้น ส่วนเมื่อถามนโยบายเงินดิจิทัลจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่หรือไม่ ส่วนใหญ่ 48.3% คิดว่ากระตุ้นได้มาก อีก 35.6% กระตุ้นได้ปานกลาง มีเพียง 0.7% ที่คิดว่ากระตุ้นได้น้อยมาก

ส่วนนายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การนำงบประมาณ 560,000 ล้านบาท มากระตุ้นเศรษฐกิจ คาดจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว 1.14-3.3% และไม่เกิดการรั่วไหลของเม็ดเงิน แต่ควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการแจกเงินด้วย และนำงบประมาณบางส่วนใช้แก้ปัญหาน้ำและลงทุนต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ส่วนแหล่งที่มาของงบที่จะใช้ เชื่อว่ารัฐบาลจะกู้เงินจากธนาคารของรัฐ เพื่อไม่ให้กระทบต่องบประมาณ ซึ่งปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 61% ต่อจีดีพี และยังไม่เกินเพดานที่ 70% ดังนั้น รัฐบาลต้องมีวินัยการเงิน การคลัง และต้องระวังความเสี่ยง.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ