คุณดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เปิดเผยถึง รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2566 (Global Risks Report 2023) ของ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) จากการสำรวจความเห็นของผู้เชี่ยวชาญภาคเอกชนที่คาดว่า ความเสี่ยงโลกจะเกิดขึ้นในระยะสั้นและระยะยาวใน 5 มิติ ได้แก่ มิติเศรษฐกิจ มิติสังคม มิติสิ่งแวดล้อม มิติภูมิรัฐศาสตร์ และ มิติเทคโนโลยี และพบว่า ความเสี่ยงที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในไม่เกิน 2 ปี ก็คือ วิกฤติค่าครองชีพสูง เงินเฟ้อ ภัยพิบัติทางธรรมชาติและสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว การเผชิญหน้าทางภูมิรัฐศาสตร์ และ การแตกความสามัคคีในสังคมและการแบ่งขั้วในสังคม
มองดูความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดในอนาคตอันใกล้นี้แล้วก็น่าเป็นห่วงนะครับ
รายงานความเสี่ยงโลกระบุว่า ความเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นในระยะยาวช่วง 10 ปี ข้างหน้า ส่วนใหญ่จะเป็น วิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งเกิดจากความไม่สามารถจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ ประกอบกับแรงหนุนจากแนวโน้มภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ จะนำไปสู่ความเสี่ยงจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และ การล่มสลายของระบบนิเวศ (Biodiversity loss and ecosystem Collapse) อาชญากรรมและความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ (Widespread cybercrime and cyber insecurity) รวมถึง การย้ายถิ่นฐานขนาดใหญ่โดยไม่สมัครใจ (Large-scale involuntary migration) จะกลายเป็นภัยคุกคามใหม่ต่อเสถียรภาพของโลก
ไปดู 5 ความเสี่ยงโลก ที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของโลกในอนาคตอันใกล้กันครับ
1.ระบบเศรษฐกิจที่ผันผวน ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ส่งผลให้เกิดวิกฤติค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือน ความเสี่ยงนี้คนไทยกำลังเจอเต็มๆ วิกฤติค่าครองชีพจากค่าไฟแพง นํ้ามันแพง ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งขึ้นไปกว่า 90% ของจีดีพี คนไทย 68 ล้านคนมีหนี้รวมกว่า 14.3 ล้านล้านบาท คนจนเพิ่มขึ้นกว่า 14 ล้านคนจากผู้รับบัตรคนจน ไม่นับผู้ลงทะเบียนคนจนอีกหลายล้านคน ผลงานบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใน 9 ปีที่ผ่านมา วันนี้นายกฯใหม่ คุณเศรษฐา ทวีสิน ตัดสินใจลดค่าไฟฟ้านํ้ามันดีเซลทันที ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากค่าครองชีพแพงได้มากทีเดียว
2.ทรัพยากรขาดแคลน วิกฤติด้านอาหาร เชื้อเพลง และต้นทุน ทำให้เกิดความเปราะบางทางสังคมรุนแรงขึ้น
3.ภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ กระตุ้นให้เกิดสงครามทางเศรษฐกิจและความขัดแย้งต่างๆ ส่งผลให้ Globalization ล่มสลาย กลายเป็น การแบ่งขั้วทางภูมิรัฐศาสตร์ ระหว่างสองมหาอำนาจโลก สหรัฐฯและจีน
4.สังคมเปราะบาง ไม่เท่าเทียม ขาดความสามารถในการฟื้นตัว การลงทุนในมนุษย์ที่ลดลง มีผลต่อการลดลงของความสามารถในการฟื้นตัวของสังคมในอนาคต
5.ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ส่งผลให้เกิด ความไม่เท่าเทียมในสังคมรุนแรงขึ้น การถูกจารกรรมข้อมูลจากระบบที่ไม่ปลอดภัย ส่งผลต่อสังคมที่ทำให้ผู้คนสูญเสียทรัพย์ และส่งผลด้านภูมิรัฐศาสตร์ในด้านการก่อการร้าย
การรับมือกับความเสี่ยงโลกเหล่านี้ เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุว่า ต้องเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่โมเดลการพัฒนาใหม่ ต้องมุ่งเน้น การพัฒนาเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (lnclusive Growth) และ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green) โดยการ สร้างโอกาสและความเท่าเทียมในสังคม ภายใต้ การบริหารจัดการที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ เงื่อนไขนี้ก็คงต้องฝากความหวังไว้กับ นายกฯใหม่ คุณเศรษฐา ทวีสิน จะกล้าชนกับการทุจริตคอร์รัปชันหรือไม่ หรือจะปล่อยให้โกงกินกันแบบกระทรวงใครกระทรวงมัน เหมือนในรัฐบาลที่ผ่านมาจนประชาชนกรอบเป็นข้าวเกรียบไปหมดแล้ว.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม