ตั้งรัฐบาลช้าทำเศรษฐกิจพัง เอกชนขอนายกฯโปร่งใส เป็นผู้นำ เข้าใจเศรษฐกิจ

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ตั้งรัฐบาลช้าทำเศรษฐกิจพัง เอกชนขอนายกฯโปร่งใส เป็นผู้นำ เข้าใจเศรษฐกิจ

Date Time: 7 ส.ค. 2566 06:40 น.

Summary

  • หากนับตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.66 ซึ่งเป็นวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ มาจนถึงวันนี้ (7 ส.ค.) ผ่านไปแล้ว 4 เดือนกับอีก 18 วัน

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

หากนับตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.66 ซึ่งเป็นวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ มาจนถึงวันนี้ (7 ส.ค.) ผ่านไปแล้ว 4 เดือนกับอีก 18 วัน

แต่ประเทศไทยก็ยังไม่มีความคืบหน้าที่เห็นชัดเจนว่า จะสามารถจัดตั้ง “รัฐบาลใหม่” ได้ในเร็ววัน

โดยความล่าช้านี้กำลังเป็นเหมือน “ยาพิษ” ที่บั่นทอนเศรษฐกิจ กระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ทำให้เศรษฐกิจไทยคล้ายเรือที่ไร้หางเสือ เครื่องยนต์ติดขัด จนไม่สามารถแล่นถูกทิศทางได้

อย่างไรก็ตาม แม้เราจะยังไม่รู้ว่า “นายกรัฐมนตรี คนใหม่” จะเป็นใคร แต่เราสามารถตั้งเป้าถึงคุณสมบัติ ของผู้ที่จะเข้ามาเป็น “นายกรัฐมนตรี” ได้ ว่านายกฯ คนใหม่ที่เหมาะสมควรมีคุณสมบัติอย่างไร

“ทีมเศรษฐกิจ” เสาะหาความคิดเห็นจากภาคเอกชนสำคัญใน 3 ด้าน ช่วยกันวางพิมพ์เขียวคุณสมบัติ “นายกรัฐมนตรีในฝัน” รวมทั้งคาดการณ์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าไปกว่าที่คาด

@@@@@@@@@@

เกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ผมมองว่า นายกรัฐมนตรีท่านใหม่ ที่จะบริหารประเทศภายใต้แรงกดดันทางเศรษฐกิจในช่วงเวลานี้ ควรต้องมีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ เข้าใจสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง กล้าปรับเปลี่ยนกระบวนการ หรือรูปแบบเดิมๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

เกรียงไกร เธียรนุกุล
เกรียงไกร เธียรนุกุล

อีกทั้งยังต้องทำให้เกิดความร่วมมือทั้งในประเทศและต่างประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกัน และต้องสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างเท่าเทียม และถือประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ

“สำคัญที่สุดคือ ต้องเข้าใจ และรู้ว่าประเทศไทยต้องแสดงจุดยืนอย่างไรภายใต้ปัญหา และวิกฤติที่โลกกำลังเผชิญ เพื่อรักษาบทบาทในเวทีโลก หากได้นายกรัฐมนตรีที่มีคุณสมบัติดังที่กล่าวมาแล้ว เชื่อมั่นว่า จะขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนแน่นอน”

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนยังอยากเห็นนายกรัฐมนตรีท่านใหม่ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในทุกมิติ ตั้งแต่การปฏิรูปกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็น ล้าสมัย ไม่สะดวก นำเทคโนโลยีดิจิทัลหรือการใช้แพลตฟอร์มต่างๆมาช่วยอำนวยความสะดวกในการอนุมัติอนุญาตของราชการ ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ

รวมถึงส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและส่งเสริมระบบนิเวศที่จะทำให้ SME เติบโตและแข่งขันได้ สนับสนุน Soft Power และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พัฒนากำลังคนให้ตอบโจทย์ความต้องการในอนาคต ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับการเปลี่ยนแปลง และใช้จุดแข็งประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ส่วนนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่เร่งดำเนินการ คือ แก้ปัญหาปากท้อง และหนี้ครัวเรือน โดยเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบมุ่งเป้า เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจหลายรอบ สร้างเงินสร้างอาชีพ ยกระดับแก้ปัญหาหนี้ให้เป็น “วาระแห่งชาติ” เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหนี้ครัวเรือน และหนี้ SME อย่างแท้จริง โดยมีมาตรการที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ในภาคธุรกิจ ต้องออกมาตรการช่วยเหลือ SME ที่ขาดสภาพคล่องและเสี่ยงเป็นหนี้เสีย แก้ปัญหาส่งออกที่ชะลอตัว โดยเร่งหาตลาดส่งออกใหม่ๆ และเจรจาความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ (FTA) ปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนพลังงานและ การบริหารจัดการพลังงานทั้งระบบ เพื่อลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ

สำหรับความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่นั้น ทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก โดยทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่ย้ายฐานการผลิตออกจากจีน หรือหนีสงครามรัสเซียและยูเครน มาอาเซียน และไทย ทำให้ไทยเสียโอกาสดึงดูดการลงทุน และอาจถึงขั้นสูญเสียความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ

นอกจากนี้ ยังทำให้การแก้ปัญหาต่างๆไม่ดีเท่าที่ควร อย่างภาคส่งออกที่ชะลอตัว รายได้หายไปมาก อีกทั้งการชุมนุมประท้วงทางการเมือง อาจกระทบต่อการท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัวได้ดี และเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ รวมถึงมีความเสี่ยงเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 ที่ล่าช้า และอาจกระทบโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ที่ถือเป็นอีกเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้

“ภาคการเมืองต้องหันหน้าคุยกันให้มาก หาจุดตรงกลางเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ หากจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว และช่วยกันรักษาบรรยากาศทางการเมืองให้ดี เศรษฐกิจจะก้าวเดินได้แข็งแกร่งกว่าที่เคย”

สนั่น อังอุบลกุล

ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้า แห่งประเทศไทย

หอการค้าไทยอยากเห็นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ที่มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ยึดประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นหลักสำคัญในการบริหาร ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้ประชาชนเชื่อมั่น และมั่นใจในการเข้าไปบริหารประเทศ

สนั่น อังอุบลกุล
สนั่น อังอุบลกุล

อีกทั้งต้องแสดงบทบาทความเป็นผู้นำสูง ดึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อบูรณาการการทำงานของรัฐบาลชุดใหม่ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ต้องได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นจากรัฐสภา โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะนำพาคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดินหน้าครบเทอมอย่างมีเสถียรภาพ ทั้งในเรื่องนโยบาย รูปแบบการบริหาร หรือจัดสรรตำแหน่งต่างๆ มีความรู้ความสามารถนำพาเศรษฐกิจ ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน โดยเฉพาะนโยบายการลดภาษี ลดกฎระเบียบและขั้นตอนดำเนินธุรกิจ ที่จะทำให้เกิดผลดีต่อการลดเงินเฟ้อ เพิ่มการจ้างงาน โดยต้องดำเนินการควบคู่ไปกับนโยบายการเงิน การคลัง ที่เหมาะสม

“ภาวะเศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัว ท่ามกลางความผันผวน และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ในระยะสั้น นโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่ต้องทำ คือ ฟื้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและเข้มแข็ง โดยเฉพาะเร่งฟื้นการท่องเที่ยวให้โดดเด่น ดูแลค่าครองชีพประชาชน ทำให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้ง่าย ดูแลราคาพลังงาน และต้นทุนของภาคธุรกิจ เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวและเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น”

ส่วนระยะกลาง ต้องวางแผนและป้องกันความเสี่ยงจากภัยแล้ง ซึ่งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินว่าภัยแล้ง น่าจะสร้างความเสียหายกับเศรษฐกิจราว 53,000 ล้านบาท ตลอดจนสานต่อข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเร่งขยายตลาดใหม่ๆ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของไทยในเวทีโลก

และระยะยาว การเติบโตอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะรูปแบบการค้าของโลกจะเปลี่ยนไป โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไทยต้องเร่งปรับตัวให้ทัน โดยเฉพาะการส่งเสริมแนวทาง BCG ให้มี รูปแบบและมาตรฐานที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนหวังให้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้เร็วที่สุด เพราะยิ่งล่าช้า ยิ่งไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจประเทศ และจะเกิดผลกระทบโดยตรงหลายด้าน คือ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 67 ที่หากจะล่าช้าออกไป 6 เดือน จากเดิมที่จะประกาศใช้วันที่ 1 ต.ค.66 ไปเป็นภายในไตรมาส 1 ปี 67 จะกระทบงบลงทุนใหม่ๆ 5-6 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ จะลงสู่ระบบเศรษฐกิจล่าช้า

2.การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง ที่จะทำให้มีความยุ่งยากและมีกระบวนการขออนุมัติทั้งจาก ครม.รักษาการ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งผลให้นโยบายและการขับเคลื่อนงานในระบบราชการล่าช้า 3.การแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน โดยเฉพาะนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายลดค่าครองชีพของประชาชน ตลอดจนปัญหาต้นทุนภาคเอกชน ทั้งค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับภาคการส่งออกที่ชะลอตัว

4.ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพราะการตั้งรัฐบาลช้า กระทบกับความมั่นใจการลงทุน ทำให้ประเทศเสียโอกาสจากเม็ดเงินใหม่ๆ ที่ควรจะเข้ามาลงทุนในระหว่างนี้ โดยมองว่า การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าไป 9-12 เดือน จะทำให้เศรษฐกิจไทยลดลง 1-2%

“นายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องมองเกมความท้าทายของเศรษฐกิจประเทศให้ขาด และใช้ความรู้ความสามารถในการพลิกเศรษฐกิจ ให้กลับมาเติบโตอย่างรวดเร็วอีกครั้ง”

ไพบูลย์ นลินทรางกูร

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้

นายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไทย

“สเปกนายกรัฐมนตรีที่อยากได้คือ เข้าใจเศรษฐกิจ และมีภาวะผู้นำสูง” นายไพบูลย์กล่าวและว่า เพราะเศรษฐกิจไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในเกือบจะทุกมิติอย่างจริงจังและเร่งด่วน ไม่เช่นนั้น เรามีความเสี่ยงที่จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

ไพบูลย์ นลินทรางกูร
ไพบูลย์ นลินทรางกูร

ดูได้จากช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวโดยเฉลี่ยต่ำเกือบที่สุดในอาเซียน สะท้อนถึงความเชื่องช้าในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่ยังเน้นทำในสิ่งเดิมๆ โครงการใหม่ๆ ที่มีการริเริ่มขึ้นก็มีอุปสรรคมากมาย เช่น เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทำให้ล่าช้าไปกว่าแผนมาก

ที่สำคัญที่สุด การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ยุคเทคโนโลยีสมัยใหม่ยังทำได้ช้า ทำให้ประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้ดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง และปัญหาทุกอย่างถูกสะท้อนอย่างชัดเจนในดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ยังเคลื่อนไหวในระดับใกล้เคียงกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

นอกจากนั้น นายกฯคนใหม่ ต้องมีภาวะผู้นำสูง เพราะต้องทำงานร่วมกับคณะรัฐมนตรีที่มาจากหลากหลายพรรค ดังนั้นต้องเป็นคนที่มีความน่าเชื่อถือและสามารถตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผล

“ที่ผ่านมา เราได้ผู้นำด้านความมั่นคง ซึ่งอาจจะเหมาะกับประเทศในเวลานั้น แต่จากนี้ไป เราต้องเอาเศรษฐกิจเป็นตัวนำ เพราะถ้าเศรษฐกิจดีขึ้น ปัญหาสังคมหลายๆ อย่างจะถูกแก้ไขด้วยตัวเอง”

ทั้งนี้ ผมอยากเห็นเศรษฐกิจไทยกลับไปขยายตัวระดับ 4-5% ซึ่งน่าจะเป็นเป้าหมายที่ไปถึงได้ แต่ไม่ง่าย ดังนั้น โจทย์ของรัฐบาลใหม่ คือ จะทำอย่างไรให้เรากลับมาเป็นเศรษฐกิจที่มีความสำคัญในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ส่วนนโยบายเร่งด่วนที่อยากให้รัฐบาลทำทันที คือ ต้องเร่งกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวให้ขยายตัวสูงกว่านี้ด้วยนโยบายเชิงรุก เพราะการท่องเที่ยว คือ เครื่องยนต์เศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงที่สุดในช่วงนี้ เร่งกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ โดยใช้นโยบายภาษีเป็นตัวกระตุ้น ซึ่งจะเห็นผลทันที และใช้งบประมาณน้อยกว่านโยบายแจกเงิน

นอกจากนี้ ต้องเร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เพราะเป็นตัวบั่นทอนกำลังซื้อ และอาจก่อปัญหาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจในระยะยาว ขณะเดียวกัน ต้องเร่งกระตุ้นการลงทุน เพราะที่ผ่านมาการลงทุนภาคเอกชนเริ่มชะลอ

“การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในหลายมิติ การจะวัดเป็นมูลค่าผลเสียหายทั้งหมดทำได้ยาก แค่ผลกระทบจากการไม่มีงบประมาณปี 67 ก็เสียหายหลายแสนล้านบาทแล้ว”

และยังมีผลกระทบทางอ้อมอีกมากมาย เช่น การชะลอลงทุน ซึ่งวัดมูลค่าได้ยาก แต่ก็น่าจะเป็นหลักแสนล้านบาท หรือมูลค่าตลาดหลักทรัพย์ที่ลดลงหลายแสนล้านบาทในปีนี้

สรุปคือ ยิ่งจัดตั้งรัฐบาลช้า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็ยิ่งทวีคูณขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้!!

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปเศรษฐกิจ" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ