“วงจรอุบาทว์” ทำลายข้าวไทย

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“วงจรอุบาทว์” ทำลายข้าวไทย

Date Time: 1 ส.ค. 2566 06:38 น.

Summary

  • หลายสิบปีที่ผ่านมา “ข้าวไทย” ไม่ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นเลย!! ทั้งในด้านการเพิ่มศักยภาพการผลิต การลดต้นทุนการผลิต การวิจัยและพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆออกมาแข่งขันในตลาดและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

หลายสิบปีที่ผ่านมา “ข้าวไทย” ไม่ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นเลย!! ทั้งในด้านการเพิ่มศักยภาพการผลิต การลดต้นทุนการผลิต การวิจัยและพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆออกมาแข่งขันในตลาดและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

เพราะทุกรัฐบาลมักมองแต่ประโยชน์ระยะสั้นที่ทำได้ง่ายๆ เพียงใช้ “เงินฟาดหัว” และไม่สนใจผลประโยชน์ระยะยาว ที่ช่วยสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้กับข้าวไทยและชาวนาไทยเลย

จึงได้แต่เอาใจช่วยชาวนา ฐานเสียงทางการเมืองขนาดใหญ่ของประเทศ ด้วยการ “แทรกแซงตลาด” หรือ “แทรกแซงราคา” ด้วยหลากหลายวิธีการ ไม่ว่าจะเป็นการ “รับจำนำ” หรือ “ประกันรายได้เกษตรกร” ที่หวังผลเพียงทำให้ราคาสูงขึ้นในช่วงรัฐบาลของตนเอง เพื่อหวังคะแนนนิยมจากชาวนา

แต่การแทรกแซง โดยเฉพาะการรับจำนำ สร้างผลเสียหายอย่างใหญ่หลวง เพราะนอกจากจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเรื้อรังของข้าวไทยและชาวนาไทยที่อ่อนด้อยด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนผลิต แล้วยังทำลายศักยภาพการแข่งขันของข้าวไทย และทิ้งความเสียหายจากการทุจริตมโหฬารให้กับประเทศ

จากบทวิเคราะห์ “10 ปี ชาวนาไทย : จนเพิ่ม หนี้ท่วม?” โดยศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ข้าวไทยวนเวียนอยู่ใน “วงจรอุบาทว์” 3 ด้าน มาตลอดหลายสิบปี ส่งผลให้ชาวนาไทย “ยิ่งทำนา ยิ่งเป็นหนี้เพิ่ม”

โดยด้านแรก การปลูกข้าว ชาวนาไทยมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าคู่แข่ง ชาวนาส่วนใหญ่ซื้อปัจจัยการผลิตด้วยเงินเชื่อ ทำให้เป็นหนี้ร้านขายปัจจัยผลิต หรือบางรายกู้เงินจากสถาบันการเงิน สหกรณ์การเกษตร มาใช้เป็นทุนปลูกข้าว โดย 70% ของชาวนาที่เป็นหนี้ มีหนี้สิน 1-3 แสนบาทต่อครัวเรือน

อีกทั้งผลผลิตต่อไร่ต่ำ เพียง 450 กิโลกรัม (กก.) แต่เวียดนาม 1,000 กก. ขาดพันธุ์ข้าวที่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภค น้ำไม่เพียงพอ และซ้ำเติมด้วยภาวะโลกร้อน ขาดการวิจัยและพัฒนา โดยใส่เงินเพียง 200 บาทในการวิจัย แต่เวียดนาม 3,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนอินเดีย จีน ญี่ปุ่น มากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี

ด้านที่สอง เมื่อได้ผลผลิตข้าวแล้วนำไปขาย แต่กลับขายได้ราคาต่ำ จากปัญหาความชื้นสูง คุณภาพข้าวไม่ดี เอกลักษณ์ของข้าวไทยหายไป ทั้งความหอม ความนุ่ม เพราะมุ่งแต่เพาะปลูกให้ได้หลายรอบเพื่อให้ขายได้หลายรอบ (แต่ได้ราคาต่ำ) โดยไม่สนใจปรับปรุงคุณภาพข้าว บำรุงดิน

ด้านที่สาม นำเงินไปใช้จ่าย โดยเมื่อขายข้าวได้แล้ว เงินส่วนใหญ่นำไปใช้หนี้ เหลือส่วนน้อยใช้จ่ายในครัวเรือน ทำให้รายได้ไม่พอรายจ่าย จึงต้องกู้เงินมาใช้จ่ายมาโดยตลอด เกิดหนี้สะสมก้อนใหญ่ ไม่มีวันใช้หนี้หมด

ทางปลดหนี้คือ ขายที่นาของตนเอง แล้วเช่าทำนาต่อ จากนั้นก็เข้าสู่ “วงจรอุบาทว์” เหมือนเดิม ที่ผ่านมา ไม่มีรัฐบาลชุดใดช่วยแก้ปัญหานี้ และปลดหนี้ให้อย่างจริงจัง ส่งผลให้ชาวนาไทยจนที่สุดในเอเชีย และอาเซียน!!

โดยเมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญอย่างอินเดีย เวียดนาม และเมียนมา ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หรือปี 55-65 จากบทวิเคราะห์พบว่า ปี 65 ชาวนาไทยมีรายได้ 3,900 บาทต่อไร่ ลดลงจาก 4,678 บาทต่อไร่ในปี 55 และเงินในกระเป๋า หายไป 1,160 บาทต่อไร่ จากที่มีเหลือ 838 บาทต่อไร่

ส่วนอินเดียมีรายได้ 11,116 บาท จาก 9,298 บาท และเงินเหลือในกระเป๋า 4,122 บาท จาก 4,886 บาท, เวียดนาม รายได้ 8,321 บาท เพิ่มจาก 8,252 บาท เงินเหลือ 3,223 บาท จาก 4,181 บาท และเมียนมารายได้ 5,953 บาท จาก 4,532 บาท และมีเงินเหลือ 1,379 บาท จาก 1,378 บาท

ขณะที่ต้นทุนการผลิตไทย 5,898 บาทต่อไร่ จากปี 55 ที่ 3,839 บาท อินเดีย 6,994 บาท เพิ่มจาก 4,412 บาท, เมียนมา 4,574 บาท เพิ่มจาก 3,154 บาท และเวียดนาม 5,098 บาท เพิ่มจาก 4,070 บาท

ส่วนศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกของข้าวไทยลดลง ส่งออกได้ 6-9 ล้านตัน เพราะถูกข้าวจากอินเดีย เมียนมา เวียดนาม เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด ทำให้การส่งออกจาก 3 ประเทศ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยอินเดียส่งออกได้ 9-17 ล้านตัน เมียนมา 8 แสนถึง 1 ล้านตัน เวียดนาม 5-7 ล้านตัน

สำหรับแนวทางการกำจัด “วงจรอุบาทว์” รัฐบาลต้องปฏิรูปข้าวไทยแบบครบวงจร โดยเอาปัญหาทั้งหมดมาแก้ไข เพื่อให้แก้ไขได้ตรงจุด และเปรียบเทียบกับคู่แข่งว่าประสบความสำเร็จอย่างไร

นอกจากนี้ รัฐบาลอาจให้รางวัลชาวนาที่สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และลดต้นทุนผลิตได้ เพื่อจูงใจให้หันมาปรับปรุง และพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต และรัฐต้องให้ความสำคัญกับแหล่งน้ำด้วย เพราะนับจากนี้ เรื่องน้ำจะเป็นเรื่องใหญ่มากจากสภาวะโลกร้อน

หากรัฐเร่งแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ข้าวไทยมีอนาคตแน่นอน แต่ถ้าไม่ทำ ข้าวไทยจะถดถอยลงเรื่อยๆ ส่วนชาวนาคงต้องทำนาอยู่ต่อไป เพราะไม่รู้จะทำอะไร และยังเป็นหนี้เหมือนเดิม!!

สิริวรรณ พงษ์ไพโรจน์

คลิกอ่านคอลัมน์ "THE ISSUES" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ