"อุตสาหกรรมเหล็กไทย" เข้าขั้นวิกฤติ เปิดเบื้องลึก "จีนทุ่มตลาด-ทุบกำลังการผลิตในประเทศ"

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

"อุตสาหกรรมเหล็กไทย" เข้าขั้นวิกฤติ เปิดเบื้องลึก "จีนทุ่มตลาด-ทุบกำลังการผลิตในประเทศ"

Date Time: 10 ก.ค. 2566 06:18 น.

Summary

  • แม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกมายืนยันว่า มูลค่าของเศรษฐกิจไทยของเราได้ กลับขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับก่อนการเกิดวิกฤติโควิด-19 แล้ว และเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

แม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกมายืนยันว่า มูลค่าของเศรษฐกิจไทยของเราได้ กลับขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับก่อนการเกิดวิกฤติโควิด-19 แล้ว และเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไส้ในยังเต็มไปด้วยความเปราะบางและปัญหา

วันนี้ “ความไม่เท่าเทียมในการฟื้นตัว” กำลังกลับข้างการท่องเที่ยวกลายเป็นภาคที่ฟื้นตัว ขณะที่ภาคการผลิต การส่งออก กลับมีทิศทางที่ชะลอตัวจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวลดลง โดยล่าสุด คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดว่าการส่งออกไทยปีนี้มีโอกาสจะติดลบ 2% ส่งผลต่อเนื่องถึงภาคการผลิต ซึ่งแม้กระทั่ง “อุตสาหกรรมเหล็ก” ที่ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมต้นน้ำ เป็นพื้นฐานของอีกหลายอุตสาหกรรมไทยก็ไม่ถูกละเว้น

ยิ่งเมื่อเจาะลึกลงไป เรายังพบ “ปัญหาที่ถูกขมวดปมไว้” จนทำให้การใช้กำลังการผลิตเหล็กของผู้ประกอบการไทยลดต่ำลงจนน่าใจหาย และยังมีผลต่อผู้ค้าเหล็กรายเล็กใหญ่ในไทยให้ทำธุรกิจอย่างยากลำบาก

“ทีมเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์ “นาวา จันทนสุรคน” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงของ “อุตสาหกรรมเหล็ก” ซึ่งอยู่ในสถานการณ์ที่เข้าขั้นวิกฤติในขณะนี้ ว่าเป็นอย่างไร มี “ทางออก ทางรอด” หรือไม่ให้กับผู้ประกอบการไทย ขณะที่นโยบายจากภาครัฐจะมีส่วนช่วยได้อย่างไร เพื่อลดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็กไทย และช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัว

เศรษฐกิจโลกป่วนตลาดการค้าชะลอ

ทั้งนี้ เป็นที่รู้กันว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้ค่อนข้างชะลอตัวลงจากปีที่ผ่านมา ขณะที่บางประเทศมีโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งถือเป็นปัจจัยลบของตลาดการค้า การส่งออก และการลงทุนทั่วโลก

“ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก” จึงได้เริ่มจากการปูภาพ เศรษฐกิจโลกก่อน เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงทั้งระบบ โดยจากการขยายตัวในปี 65 ที่เติบโต 3.4% แต่ในปี 66 นี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตเหลือเพียง 2.8% ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งเติบโต 5.7% ในปี 65 จะเติบโตลดลงเหลือเพียง 4.6% ในปีนี้ โดยฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่เติบโตมากสุด 6.0% รองลงมาเป็นเวียดนามเติบโต 5.8% เท่ากับกัมพูชา ด้านอินโดนีเซีย เติบโต 5.0% เท่ากับมาเลเซีย ตามมาด้วยลาวเติบโต 4.0% ขณะที่ไทยตามมาเป็นอันดับ 7 เติบโต 3.4% ดีกว่าเมียนมาที่เติบโต 2.6% และสิงคโปร์ ที่โตต่ำสุด 1.0%

สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดว่าจะเติบโตอยู่ 3.0-3.5% เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนถูกกดดันจากค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ขณะที่ภาคการผลิตมีแนวโน้มชะลอตัว และการส่งออกหดตัวมากยิ่งขึ้น

และผลกระทบการฟื้นตัวที่ยังไม่ชัดเจนของเศรษฐกิจโลก อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่สูงในประเทศส่วนใหญ่เหล่านี้ จะจำกัดการฟื้นตัวของอุปสงค์เหล็กโลก โดยสมาคมเหล็กโลก (World Steel Association) คาดการณ์ว่าในปี 2556 ความต้องการใช้จะฟื้นตัวเพียง 2.3% เป็น 1,822.3 ล้านตัน แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกการปรับตัวของยุโรปที่แก้ปัญหาขาดแคลนพลังงาน และการผ่อนคลายปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งการเติบโตของอุปสงค์ได้รับแรงหนุนจากภูมิภาคต่างๆ ยกเว้นจีนซึ่งความต้องการใช้เหล็กในประเทศจะทรงตัว

ขณะที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งอาเซียน (South East Asian Iron & Steel Council : SEAISI) คาดการณ์ความต้องการใช้เหล็กใน 6 ประเทศอาเซียน ปี 66 รวม 77.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3.3% จากปี 65 อันดับ 1 คือ เวียดนาม 22.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.9% อินโดนีเซีย 17.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.8% ไทย 16.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3.7% ฟิลิปปินส์ 10.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5.9% มาเลเซีย 7.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.0% และ สิงคโปร์ 2.5 ล้านตัน ทรงตัว 0%

สถานการณ์ “เหล็กไทย”เข้าขั้นวิกฤติ

เจาะลงมาที่สถานการณ์ในไทย ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่นำเข้าสุทธิ “สินค้าเหล็ก” มากสุดเป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ซึ่งจุดนี้ การพึ่งพิงสินค้าเหล็กนำเข้ามากจนเกินไป ย่อมเป็นความเสี่ยงในแง่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

“จุดที่น่าเป็นห่วงคือ แม้ความต้องการใช้เหล็กของประเทศไทยมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นในปี 66 แต่การผลิตสินค้าเหล็กภายในประเทศกลับสวนทางกัน โดยช่วงแรกของปีปริมาณการผลิตเหล็กในไทยลดลงกว่า 10% โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงไตรมาสสองที่มีปริมาณการผลิตลดลงกว่า 36% ส่งผลให้ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศมีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำกว่า 30% ซึ่งถือเป็นระดับวิกฤติแล้ว เทียบกับการใช้กำลังการผลิตเหล็กของโลกเฉลี่ยที่ 75%”

สาเหตุหลักเพราะปริมาณสินค้าเหล็กนำเข้าของประเทศไทยได้เพิ่มมากขึ้นถึง 19% โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเหล็กทุ่มตลาดจากจีน เพราะความต้องการใช้เหล็กในประเทศจีนทรงตัว แต่โรงงานเหล็กในประเทศจีนได้เพิ่มปริมาณการผลิตเหล็กอย่างมากเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี จึงมีการส่งออกสินค้าเหล็กทุ่มตลาดจำนวนมากจากจีนไปยังภูมิภาคต่างๆ รวมถึงอาเซียนและประเทศไทยด้วย ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าเหล็กจากจีนในช่วงต้นปี 66 มากถึง 36.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 41% จากปีก่อน ส่งผลให้อุตสาหกรรมเหล็กในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นเป้าส่งออกหลักของจีนต้องเผชิญปัญหาการใช้กำลังการผลิตในประเทศถดถอยลง

ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบการค้าสินค้าเหล็กจากจีนในช่องทางอื่นๆ ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษอีก 2 ช่องทาง คือ 1.การเพิ่มและกระจายโกดังสินค้าในประเทศไทย โดยตั้งแต่ปี 65 เราจะเห็นนักลงทุนชาวจีนเข้ามาทำธุรกิจโกดังสินค้ามากขึ้นเรื่อยๆ และจากการสำรวจ โดยผู้ประกอบการเหล็กเบื้องต้น พบว่า โกดังเหล็กที่ระบายสินค้าจากจีนมาขายในไทยน่าจะมีกว่า 10 แห่งแล้ว โดยใช้วิธีการเลือกนำสินค้าที่สามารถทดแทนสินค้าที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) หรือ ก็สินค้าหลบเลี่ยงมาตรการ AD นั่นเอง รวมทั้งสินค้าที่ยังไม่มีมาตรฐาน มอก.ประเภทบังคับ เข้ามาก่อน แล้วใช้คนจีนขายโดยตรงถึงมือผู้ใช้ในราคาทุ่มตลาด ตัดตอนตัวแทนขายคนไทย ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ค้าเหล็กในหลายระดับไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

2.การขายผ่านแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ต่างๆ โดยผู้ประกอบการจีน ซึ่งจะแสดงข้อมูลเสมือนว่าเป็นโรงงานผู้ผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีภาพประกอบให้เห็นทั้งเครื่องจักรและสินค้า แต่ในความเป็นจริง คือ เป็นโกดังสินค้าพร้อมขายเท่านั้น ทำให้ไม่ต้องถูกควบคุมภายใต้กฎหมายข้อบังคับต่างๆของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

เร่งสกัดต่างชาติ “ทุ่มตลาดสินค้าเหล็ก”

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti Dumping) หรือ AD สินค้าเหล็กอยู่แล้ว โดยล่าสุด มาตรการ AD ที่ได้พิจารณาทบทวนเพื่อต่ออายุมาตรการแล้ว คือ 1.สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจาก บราซิล อิหร่าน ตุรกี โดยเมื่อ 1 มิ.ย.66 คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาด และอุดหนุน (ทตอ.) ได้มีประกาศต่ออายุมาตรการอีก 5 ปี 2.สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจากจีนและมาเลเซีย และ 3.สินค้าท่อจากจีนและเกาหลีใต้ ซึ่งล่าสุดร่างผลการทบทวนมีมติให้ต่ออายุมาตรการอีก 5 ปีทั้งสองรายการ ซึ่งน่าจะมีประกาศให้ต่ออายุเร็วๆนี้

แต่กระนั้น “ปัญหารุนแรง” ที่พบมากในระยะหลังนี้ คือ การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้าด้วยเล่ห์กลต่างๆ เช่น การเจือสารอัลลอยเพียงเล็กน้อย หรือ การปรับรูปแบบการเคลือบผิวเหล็กเพื่อเปลี่ยนแปลงพิกัดศุลกากรไม่ให้อยู่ในข่ายของมาตรการ AD ซึ่งไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศไทยที่ถูกทุ่มตลาด

และหากกระทรวงพาณิชย์สามารถขยายและเร่งมาตรการตอบโต้ทางการค้าโดยทันต่อการหลบเลี่ยงจากประเทศทุ่มตลาด จะบรรเทาและลดการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น

โดยเฉพาะการใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (Anti Circumvention: AC) ซึ่งประเทศไทยยังไม่เคยใช้ดำเนินการเลย แม้เป็นมาตรการตามกฎหมายที่ดำเนินการได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที และครอบคลุมผู้หลบเลี่ยงทั้งหมด หรือผู้ที่มีแนวโน้มจะหลบเลี่ยงได้ในอนาคตด้วยจะสามารถป้องกันความเสียหายต่ออุตสาหกรรมเหล็ก และเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมได้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ประเมินว่าสินค้าเหล็กจากประเทศจีนที่ได้หลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ทำให้ประเทศไทยสูญเสียรายได้จากอากรกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี

ฝาก 5 ข้อถึงรัฐบาลใหม่ช่วยดูแล

และท้ายที่สุด แม้ว่า ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ จะเร่งนำแนวคิดเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กไทยอย่างยั่งยืนมาใช้ โดยเสนอแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0 เน้นการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต และแนวทางการทำธุรกิจมาตลอด แต่อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศยังต้องอาศัยการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐใน 5 เรื่อง

เรื่องที่ 1 คือ การแก้ไขปัญหาการค้าที่ไม่เป็นธรรม ปัจจุบันการค้าเหล็กมีการแข่งขันที่เสรี ทั้งจากผู้ผลิตในประเทศ และสินค้านำเข้า แต่จำเป็นต้องควบคุมไม่ให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เช่นการทุ่มตลาด หรือการหลบเลี่ยงมาตรการทุมตลาดจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดจากทั่วโลก

เรื่องที่ 2 การแก้ปัญหา Overcapacity ของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ เพื่อให้ระดับความต้องการใช้และผลผลิตสมดุลกัน โดยควรมีการกำหนดแนวทางควบคุมการขอทราบกำลังผลิต (Production Capacity) เหล็กประเภทต่างๆในประเทศไทย และอัตราการใช้กำลังการผลิตจริง (Utilization) โดยในปัจจุบัน โรงงานผลิตเหล็กทรงยาวในประเทศ เช่น เหล็กเส้น เหล็กข้ออ้อย เหล็กลวด เหล็กเอชบีม เหล็กไอบีม มีกำลังการผลิตทุกโรงงานรวม 14.6 ล้านตันต่อปี แต่ใช้กำลังการผลิตเพียง 33% ขณะที่โรงงานผลิตเหล็กทรงแบน เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบต่างๆ มีกำลังการผลิตทุกโรงงานรวม 9.0 ล้านตันต่อปี แต่ใช้กำลังการผลิตเพียง 24% เท่านั้น

เมื่อเทียบกับภาพรวมทุกประเทศทั่วโลกมีกำลังการผลิตเหล็ก 2,463 ล้านตัน แต่มีการใช้กำลังการผลิตจริง (Utilization) เฉลี่ย 74.3% ถือว่าเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิตของไทยค่อนข้างต่ำมาก อัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กไทย ซึ่งเหลือเพียง 24-33% ถือว่าอยู่ในระดับวิกฤติ

จึงต้องเร่งหามาตรการทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ช่วยเพิ่มการใช้กำลังการผลิตในอัตราที่สูงขึ้น เพื่อความอยู่รอดและมั่นคงของอุตสาหกรรมเหล็กที่เสมือนกระดูกสันหลังของอุตสาหกรรมประเทศ เนื่องจากเหล็กเป็นวัตถุดิบที่จำเป็น อาทิ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น หากอุตสาหกรรมเหล็กไม่สามารถอยู่ได้ ย่อมมีผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

สำหรับ เรื่องที่ 3 หนีไม่พ้นต้นทุนด้านพลังงาน โดยเฉพาะ การแก้ปัญหาต้นทุนค่าไฟฟ้า เนื่องจากไฟฟ้าเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในอุตสาหกรรมเหล็ก ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นเกินควรจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศ

เรื่องที่ 4 การเร่งสนับสนุนหรือผลักดันการกำหนดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกคือ การเตรียมตัวรับมาตรการของต่างประเทศ เช่น กลไกการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนสหภาพยุโรป (EU Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM)

โดยต้องมีการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนและพัฒนากระบวนการผลิต จากปัจจุบันที่ไทยมีเพียงโรงงานผลิตเหล็กต้นน้ำจากการหลอมเศษเหล็ก ด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า (Electric Arc Furnace) และเตาเหนี่ยวนำ (Induction Furnace) ให้มีทางเลือกใช้ไฟฟ้าสีเขียว (Green Power) ซึ่งผลิตมาจากแหล่งพลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิล หรือส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอื่นที่ทันสมัยยิ่งขึ้น เช่น การผลิตเหล็กจากพลังงานไฮโดรเจน เป็นต้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้สามารถส่งออกไปสหภาพยุโรป หรือสหรัฐฯที่กำลังจะมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในลักษณะเดียวกันได้

ขณะที่ส่วนที่ 2 ที่ต้องทำควบคู่กันคือ การกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันสินค้าที่หลบเลี่ยงมาตรการ CBAM ที่จะเข้ามายังประเทศไทย โดยหากไม่รีบดำเนินการ ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าจากประเทศต่างๆอย่างรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในระยะเวลาอันใกล้

และ เรื่องที่ 5 การผลักดันโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) ให้ใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand) เนื่องจากโครงการ PPP มีมูลค่าการลงทุนที่สูงมาก โดยแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุนจนถึงปี 2570 มีโครงการที่ประสงค์จะร่วมลงทุนทั้งหมดรวม 110 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 1.12 ล้านล้านบาท ซึ่งหากสามารถสนับสนุนให้ใช้สินค้าในประเทศได้จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในประเทศได้อย่างมหาศาล

“ขอให้รัฐบาลใหม่เร่งทำงานโดยเร็ว ตามให้ทัน และกล้าตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติในระยะยาว โดยคาดหวังทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยในครึ่งหลังของปี 2566 และปีถัดไปดีขึ้นเรื่อยๆ” นายนาวากล่าวทิ้งท้าย.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ