บทพิสูจน์เศรษฐกิจโลก  Resilience

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

บทพิสูจน์เศรษฐกิจโลก  Resilience

Date Time: 8 ก.ค. 2566 06:42 น.

Summary

  • ปี 2023 ผ่านมาครึ่งปี เศรษฐกิจโลกเจอดราม่าเข้าหลายเรื่อง เช่น เหตุการณ์สั่นคลอนความเชื่อมั่นในระบบธนาคารของสหรัฐฯ และยุโรป จนธนาคารกลางต้องออกเครื่องมือเพิ่มเพื่อให้กู้เสริมสภาพคล่องได้

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

ดร.ฐิติมา ชูเชิด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์

ปี 2023 ผ่านมาครึ่งปี เศรษฐกิจโลกเจอดราม่าเข้าหลายเรื่อง เช่น เหตุการณ์สั่นคลอนความเชื่อมั่นในระบบธนาคารของสหรัฐฯ และยุโรป จนธนาคารกลางต้องออกเครื่องมือเพิ่มเพื่อให้กู้เสริมสภาพคล่องได้ ขณะที่รัฐบาลก็ขยายแนวทางรับประกันเงินฝากเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ฝากเงินหรือเหตุการณ์เฉียดเกิดวิกฤติเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่ทำให้ตลาดการเงินโลกผันผวนตาม

หลายสถาบันเคยมองภาพเศรษฐกิจโลกปีนี้ไว้แต่แรกว่าน่าจะแย่กว่านี้มาก เศรษฐกิจหลักบางประเทศจะเข้าข่ายเจอเศรษฐกิจถดถอย เพราะพิษเงินเฟ้อสูงกดดันค่าครองชีพ ดอกเบี้ยขาขึ้นแรงและเร็วเริ่มแผลงฤทธิ์ส่งผลเบรกเศรษฐกิจให้เกิด hard-landing สำหรับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ก็เคยถูกมองว่าเตรียมโดนหางเลขจากสภาพคล่องโลกตึงตัวไว้ให้ดี เพราะจะเห็นเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลออกกลับประเทศต้นทาง กดดันค่าเงินให้อ่อนค่า ระดับเงินสำรองทางการจะถูกนำมาใช้ดูแลค่าเงินจนพร่องลง เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพต่างประเทศตามมา

แต่ถึงแม้ว่าโลกจะเจอปัญหาใหม่ๆ รุมเร้าตั้งแต่ต้นปี เศรษฐกิจโลกก็ยังดู resilient ไม่ได้แย่มากนัก หลายหน่วยงานมองว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะเติบโตชะลอลงจาก 3% ในปีก่อน เหลือกว่า 2% เพราะตลาดแรงงานยังดูแข็งแกร่ง ค่าจ้างเติบโตดี อัตราว่างงานต่ำ แถมยังมีเงินออมส่วนเกิน ที่สะสมจากช่วงโควิดเหลืออยู่ ช่วยหนุนการบริโภคได้ตลอดปี การฟื้นตัวยังดูไม่เท่ากันโดยเฉพาะภาคบริการที่ฟื้นได้ดีต่างจากภาคอุตสาหกรรม พร้อมความหวังเศรษฐกิจจีนกลับมาเปิดประเทศที่จะช่วยเศรษฐกิจโลกปีนี้ได้ดีกว่าปีก่อน

นอกจากนี้ ปัญหาอุปทานคอขวดโลกบรรเทาไปเยอะ ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกปรับลดลงมากช่วยให้ไม่เกิดวิกฤติพลังงานในยุโรปได้ และยังช่วยให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของประเทศส่วนใหญ่ผ่านจุดสูงสุดมาได้ แม้ว่าเงินเฟ้อพื้นฐานจะยังลงยาก โดยเฉพาะราคาหมวดบริการที่ยังมีความต้องการสูงหลังโควิดผ่านไป

ในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจและระบบการเงินโลกจะต้องเผชิญความเสี่ยงอีกหลายเรื่อง มองไปข้างหน้าเงินเฟ้อพื้นฐานจะยังอยู่ในระดับสูง ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายจะสูงขึ้นอีกและสูงนานขึ้น นโยบายการเงินตึงตัวจะเริ่มเห็นผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และระบบการเงินโลกมากขึ้นอีก กลไกระบบธนาคารจะเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ขณะเดียวกันธนาคารกลางสำคัญปรับลดมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเป็น Quantitative tightening ทำให้ภาวะการเงินโลกตึงตัวเพิ่มอีกทาง นอกจากความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจการเงินที่กล่าวมา ยังมีความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกหลายคู่กรณีที่คุกรุ่นต่อไป

มองความท้าทายเศรษฐกิจโลกในระยะสั้น นโยบายการเงินจะเน้นดึงเงินเฟ้อกลับเข้าเป้าอย่างยั่งยืน พร้อมดูแลความเปราะบางในระบบการเงินที่อาจเกิดขึ้นได้อีกจากหลายภาคส่วน เช่น ภาคสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร ภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือน ภาคการคลัง ภาคอสังหาริมทรัพย์ ด้านนโยบายการคลังเน้นบทบาทลดการขาดดุลการคลังหลังก่อหนี้ไว้มากในช่วงโควิดและด้านนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจเน้นบทบาทแก้แผลเป็นโควิดที่ฝากไว้

มองความท้าทายเศรษฐกิจโลกในระยะยาว เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตต่ำลงจากอดีตเหลือแค่ 3% ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกจะทำให้การกีดกันการค้าและการปรับห่วงโซ่อุปทานโลกแรงขึ้น เศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่จะโตต่ำลงเช่นกัน ขณะที่อัตราการเติบโตของประชากรโลกจะต่ำลงเพราะหลายประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัย สิ่งเหล่านี้จะเป็นบทพิสูจน์เศรษฐกิจโลกจะ resilient แค่ไหนบนความไม่แน่นอนอีกมากที่ยังรออยู่ค่ะ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ