"กอบศักดิ์" ห่วงการเมืองไทยต้องนิ่ง ก่อนเข้าสู่โค้งอันตรายเศรษฐกิจโลก

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

"กอบศักดิ์" ห่วงการเมืองไทยต้องนิ่ง ก่อนเข้าสู่โค้งอันตรายเศรษฐกิจโลก

Date Time: 3 ก.ค. 2566 06:30 น.

Summary

  • หน้าเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 10 ต.ค.2565 ได้สัมภาษณ์ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันมีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นในฐานะประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO)

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

หน้าเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 10 ต.ค.2565 ได้สัมภาษณ์ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันมีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นในฐานะประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO)

ในวันนั้น ดร.กอบศักดิ์เตือนประเทศไทยรับมือเศรษฐกิจโลกถดถอย ในปี 2566 จากภาวะเศรษฐกิจของปี 2565 ที่กำลังเผชิญกับ Perfect Strom หรือมรสุมเศรษฐกิจลูกใหญ่จากวิกฤติราคาพลังงาน วิกฤติอาหารโลก ตลาดเงินโลกผันผวน และเศรษฐกิจโลกถดถอย

โดยหยิบยกคำเตือน 5 ข้อของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ว่า ในช่วงเวลาของปี 2565 เศรษฐกิจโลกกำลังทรุดตัวอย่างน่ากังวลใจ ทำให้ระยะต่อไปมีโอกาสของเศรษฐกิจโลกถดถอย (Global Recessions) พร้อมเตือนประเทศต่างๆต้องระวังการเดินนโยบายผิดพลาดหากเงินเฟ้อยังดื้อแพ่งไม่ยอมลดลง ต้องระวังการออกนโยบายการคลังที่ไม่เหมาะสม และมีการเริ่มต้นผิดนัดชำระหนี้ของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets Dept Crisis) กำลังก่อตัว แถมท้ายว่า วิธีที่รอดไปจากปัญหานี้ได้ ทุกประเทศต้องทำงานร่วมกัน

ในช่วงปี 2565 ยังเป็นห้วงเวลาที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต่อสู้อย่างหนักกับเงินเฟ้อ โดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เริ่มจากเดือน มี.ค.2565 จากอัตรา 0.25-0.50% จนถึงเมื่อวันที่ 5 พ.ค.2566 ขึ้นไปแล้ว 10 ครั้ง รวมการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรวม 5.00% ปัจจุบันอยู่ที่ 5.00-5.25% สูงสุดในรอบ 16 ปี

เฟดมีเป้าหมายกดเงินเฟ้อให้ลงมาสู่เป้าหมาย 2% โดยปัจจุบันเงินเฟ้อสหรัฐฯยังอยู่ที่ 5.3% จากที่เคยทะยานขึ้นไปแตะระดับ 8.5% ในเดือน มี.ค.2565 ฉะนั้นการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดยังคงเดินหน้าต่อไป

ช่วงเวลาของปี 2566 ผ่านไปแล้วครึ่งปี ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้ขอสัมภาษณ์ ดร.กอบศักดิ์อีกครั้ง เพื่ออัปเดตสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน

ดร.กอบศักดิ์สรุปรวมให้เห็นภาพที่พอให้เบาใจลงไปได้บ้าง ว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว แต่ปัญหายังไม่จบ ประเทศไทยยังมีโอกาสจากการท่องเที่ยว แต่ต้องรีบทำการเมืองให้นิ่ง เพื่อเตรียมตัวประเทศไทยให้ผ่านโค้งอันตรายของเศรษฐกิจโลกในช่วงปลายปีนี้ไปให้ได้

หนึ่งปีหลายปัญหาคลี่คลาย

ดร.กอบศักดิ์เริ่มต้นการสนทนาว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว แต่ปัญหายังไม่จบ ปีที่แล้วมีเครื่องหมายคำถามเยอะแยะไปหมด แต่ 1 ปีที่ผ่านมาได้คลี่คลายไปเยอะ เช่น จากเดิมกังวลกันว่ากรณีสงครามในยูเครนจะลุกลามบานปลาย กังวลว่าจะเกิดวิกฤติอาหาร ซึ่งตอนนี้คลี่คลายไปเยอะ ราคาพลังงานก็ดีขึ้น วิกฤติน้ำมันได้จบแล้ว

น้ำมันเริ่มส่งจากรัสเซียไปจีนได้ ทำให้เกิดกระบวนการที่เรียกว่า re-cycle จากเดิมมีการส่งจากตะวันออกกลางไปจีน ตอนนี้ย้อนกลับจากรัสเซียไปเมืองจีน พอตะวันออกกลางขาย
ไม่ออกก็ส่งไปประเทศในยุโรปที่หาซื้อไม่ได้ ความสมดุลของพลังงานน้ำมันก็เริ่มกลับมา เห็นได้จากราคาน้ำมันลงมาอยู่ที่ 70 เหรียญต่อบาร์เรลซึ่งไม่ได้ต่างจากก่อนที่จะเกิดวิกฤติด้วยซ้ำ

ส่วนก๊าซธรรมชาติมีความยาวนานกว่าน้ำมันเพราะต้องขนส่งทางท่อ การที่จะเอาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียส่งไปให้จีนแล้ววนเหมือนน้ำมันจะไม่เป็นเช่นนั้น

แต่เมื่อผ่านไป 1 ปี ยุโรปมีการปรับตัวไปเยอะแล้ว และสิ่งที่รออยู่ข้างหน้าก็ไม่ได้แย่กว่าในปีนี้ ราคาก๊าซและราคาไฟฟ้าของยุโรปก็คลี่คลายไปเยอะ ฉะนั้นวิกฤติพลังงานโลกที่เกิดจากความขัดแย้งได้คลี่คลายไปเยอะ

เรื่องอาหารก็เช่นกัน ช่วงหนึ่งทุกคนงงว่าจะทำอย่างไร รวมทั้งเรื่องปุ๋ยก็มีปัญหาอยู่ช่วงหนึ่ง สุดท้ายวันนี้ราคาอาหารโลกไม่ได้แย่ แบบที่คาดการณ์และคลี่คลายลงแล้ว

สงครามในยูเครน จากเดิมไม่รู้จะลุกลามไปยุโรปหรือไม่ แต่ตอนนี้การจำกัดวงของสงครามในยูเครน คนยุโรปก็ใช้ชีวิตปกติ

ส่วนเมืองจีนก็เปลี่ยนไปเยอะ ในเรื่องของการควบคุมโควิด-19 จากเดิมใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ สั่งปิดเมืองต่อสู้กันตลอดเวลาจนการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์เสร็จก็เปิดประเทศอย่างรวดเร็ว ตอนนี้คนจีนใช้ชีวิตตามปกติ ทำให้ความไม่แน่นอนเรื่องของผลกระทบของโควิดต่อเศรษฐกิจจีนได้คลี่คลายลงไป และสิ่งที่รัฐบาลจีนต่อสู้กับบริษัทเทคโนโลยีตอนนี้ก็ผ่อนคลายไป แม้กระทั่งอสังหาริมทรัพย์ก็เริ่มสั่งให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้

แม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกาปัญหาเรื่องเงินเฟ้อก็เปลี่ยนไปเยอะ ทิศทางแล้วแม้จะยังไม่ลดลงเต็มที่แต่มาถูกทางทำให้มองเห็นจุดจบของการขึ้นดอกเบี้ย ตอนนี้ยาเริ่มออกฤทธิ์ เงินเฟ้อก็เริ่มลงและใกล้จะจบแล้ว

สถานการณ์โลกยังไม่สะเด็ดน้ำ

ฉะนั้น สถานการณ์โลกเริ่มคลี่คลาย แต่ยังไม่จบ ยังไม่สะเด็ดน้ำทั้งหมด ปัญหาเงินเฟ้อยังไม่จบ การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดยังคงมีต่อ แต่จากที่เคยขึ้นทุกครั้งที่มีการประชุมเฟดทุก 6 สัปดาห์ ในปีนี้จะขึ้นอีกเพียง 2 ครั้ง ไตรมาสละ 1 ครั้ง ครั้งละ 0.25% จบที่ 5.5-5.75% ส่วนปีหน้าคงดอกเบี้ยไว้อย่างน้อยไปถึงกลางปีแล้วจึงลดลงเหลือ 4.5-4.75% ในช่วงปลายปี 2567

“สถานการณ์โลกยังมีเซอร์ไพรส์อีกเยอะ พอขึ้นดอกเบี้ยภาคอสังหาริมทรัพย์ก็แย่ ธนาคารก็มีปัญหา และมีปัญหาธนาคารขนาดเล็กล้มลง การควบรวมกันจะเกิดขึ้น”

ทางยุโรปเงินเฟ้อก็ยังอยู่ที่ 8% จะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปอีกระยะหนึ่ง การตึงตัวของนโยบายการเงินของทั่วโลกก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจะเห็นการเกิดเศรษฐกิจถดถอยในตลาดเกิดใหม่ นับ 10 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นศรีลังกา ลาว เมียนมา บังกลาเทศ ปากีสถาน ตุรกี เพียงแต่เป็นประเทศเล็กๆ

“ความเสี่ยงที่ต้องกังวลใจคือ เศรษฐกิจโลกถดถอยและความผันผวนในตลาดการเงินในตลาดเกิดใหม่ที่จะเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ”

สำหรับประเทศไทย ไม่สามารถพ้นภัยจากปัญหาการแข่งขันที่เกิดขึ้นได้การส่งออกถูกกระทบแน่ ยิ่งกว่านั้นตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมลงมา 7% จากก่อนโควิด ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 100 ตอนนี้ลงมาเหลือ 93 สัญญาณพวกนี้สำหรับหมอมองว่า คนไข้อาการไม่ค่อยดี

แม้แต่มาเลเซีย อินโดนีเซีย จีนที่เคยส่งออกเป็นบวก และเกาหลี ทุกประเทศมีการส่งออกติดลบ แสดงว่าการชะลอตัวของโลกกำลังส่งผลกระทบกับทุกประเทศ สำหรับไทยแม้จะไม่ติดลบเท่ากับประเทศอื่น เพราะโชคดีที่ยังส่งออกไปจีนได้ ไม่เช่นนั้นจะติดลบมากกว่านี้

นักท่องเที่ยวต่างชาติอุ้มไทย

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 ประเทศจะอยู่ได้ด้วยการบริโภคในประเทศและการท่องเที่ยว และโชคดีที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย ถ้าไม่มีตรงนี้ ไม่รู้จะพูดถึงตัวเลขเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ได้อย่างไร

เพราะขนาดมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 1 ยังขยายตัวได้แค่ 2.7% ส่วนทั้งปีที่สภาพัฒน์คาดขยายตัวได้ 2.7-3.7% โดยมีค่ากลาง 3.2% นั้นมาจากภาคท่องเที่ยวจะมีส่วนทำให้จีดีพีปีนี้เพิ่มขึ้นถึง 4% เพราะทุกๆ จำนวนของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามา 4 ล้านคน จะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 1% จากปีก่อนหน้า โดยคำนวณจากปี 2565 ที่มี 11-12 ล้านคน และปีนี้ที่คาดว่าจะมี 28 ล้านคน

สรุปแล้วท่องเที่ยวที่ดีขึ้นในปีนี้จะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 4% แต่ที่ประมาณการเศรษฐกิจโตได้ 3% แสดงว่าส่วนที่เหลือคือส่งออกและอื่นๆติดลบ ฉะนั้นถ้าไม่มีท่องเที่ยวเลย ในปีนี้จีดีพีต้องติดลบ

ฉะนั้น สิ่งใดที่เป็นอุปสรรคต่อการท่องเที่ยวต้องแก้ไขให้หมด เพราะเมื่อส่งออกไม่ได้ก็ต้องให้นักท่องเที่ยวมาซื้อสินค้า มากินอาหาร มาช็อปปิ้งในประเทศไทย รวมทั้งมาซื้อคอนโดมิเนียม

คนที่ดีที่สุดในโลกตอนนี้คือจีน รวมทั้งรัสเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น ต้องชวนมาประเทศไทยให้หมด และนี่คือครั้งแรกที่ออกมาในรอบ 3 ปี ก็ต้องมีเงินเยอะแยะพอใช้จ่าย

“คนจีนชอบประเทศไทย อะไรที่เป็นอุปสรรคยกเลิกไปก่อน เช่น ยกเลิกวีซ่าชั่วคราว 1 ปี เพื่อให้ในช่วงคับขันที่สุด มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยให้มากที่สุด แล้วค่อยกลับไปใช้วีซ่าในปีหน้า จีนช่วยเรามากถึงขนาดเพิ่มเที่ยวบินมาไทย จาก 100 เที่ยวบิน เป็น 400 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ พอมีเที่ยวบินแล้ว แต่ไปติดเรื่องการอนุมัติวีซ่าของเราเอง ในยามคับขันต้องช่วยประเทศก่อน”

ต้องทำการเมืองให้นิ่งภายใน ก.ย.นี้

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า ความไม่แน่นอนการเมืองในไทย ทำให้ในระหว่างที่ประเทศไทยเข้าสู่ความคับขันทางด้านเศรษฐกิจ เรามีปัญหาเพิ่มเติม เพราะเวลาเข้าโค้งอันตราย เราต้องการคนควบคุมที่ดี ประเทศไทยที่นิ่งพอที่จะผ่านปัญหาไปได้ แต่ขณะนี้เหมือนยังมีปัญหาการเมืองที่ไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร และจะมีเสถียรภาพพอหรือไม่ เป็นปัญหาที่สำคัญ

“เพราะข้างหน้า เรากำลังเข้าโค้งอันตรายของเศรษฐกิจโลก พอถึงจุดนี้การ เมืองที่ยังเอาแน่ไม่ได้ จะทำให้การเข้าสู่จุดนั้นได้ไม่ดีพอ ผมกังวลใจว่าการเมืองจะจบอย่างไร เพราะปัญหาอยู่ข้างหน้าแล้ว ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ มีเวลาอีกไม่กี่เดือนจะถึงจุดนั้น และปลายปีจะเกิดเศรษฐกิจโลกถดถอย”

เมื่อจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว ถ้าจะทำนโยบายต้องใช้เวลา 3 เดือน ฉะนั้นต้องทำการเมืองให้นิ่งให้ได้ภายในเดือน ก.ย.นี้ จึงจะมีแรงส่งพอที่จะผ่านโค้งอันตรายไปให้ได้

สิ่งที่อยากให้ทำคือเรื่องของการท่องเที่ยว ต้องสร้างโมเมนตัมให้ได้ อย่างชาวจีน ไม่ต้องไปรังเกียจเขา ต้องปลดล็อกปัญหาวีซ่าให้ได้ ชาวต่างชาติที่มาซื้อคอนโดมิเนียมมากที่สุด คือจีน รวมทั้งรัสเซีย อินเดีย โจทย์ของเราต้องหมุนเศรษฐกิจให้ได้ ถ้าส่งออกไปไม่ได้ก็เหลือ
ท่องเที่ยว โจทย์ปีนี้ไม่ได้เอาเรื่องเศรษฐกิจโต แต่ประคองตัวให้ผ่านไปให้สำเร็จ นักท่องเที่ยวเข้ามาก็มาซื้อสินค้าในไทย และซื้อคอนโดมิเนียมด้วยซ้ำ จะช่วยภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ด้วย

แก้ไขอุปสรรคดึงดูดการลงทุน

นอกจากนี้ไปอีกเรื่องที่ควรทำคือการลงทุนโดยตรงในประเทศไทย ตอนนี้คนจะมาลงทุนเยอะมาก มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในรอบ 10 ปี ทั้ง จีน ยุโรป อเมริกา เกาหลี ญี่ปุ่น

ในช่วงระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง หลายคนในพรรคการเมืองอยากทำเรื่องกิโยตีนกฎหมาย ขอให้ทำเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่ต้องใช้เงินเลยทั้งเรื่องการยกเว้นวีซ่าชั่วคราวและการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน การเปิดให้เข้าเมืองง่ายขึ้น เพื่อให้ชาวต่างชาติมาทำประโยชน์ให้ประเทศไทย ต้องทำให้เห็นว่าประเทศไทยอ้าแขนต้อนรับทุกคน

กฎเกณฑ์ที่ให้ชาวต่างชาติที่อยู่ในไทยต้องรายงานตัวทุก 90 วัน รัฐบาลใหม่ทุบโต๊ะยกเลิกเลย หรือสตาร์ตอัพที่อยากมาอยู่ไทย ในบริษัทก็ไม่จำเป็นต้องมีคนไทย 4 คน ต่างชาติ 1 คน เขายังเป็นบริษัทเล็กๆยังไม่มีเงินจ้าง อย่างตอนนี้สตาร์ตอัพอยากออกจากซิลิคอน วัลเลย์ ของสหรัฐฯที่มีปัญหาเยอะ และมองหาประเทศในเอเชีย หรือบางคนมาแล้วยังอยู่ใต้ดิน ถ้าไทยปรับกฎเกณฑ์ให้เขามาง่ายขึ้น จะมีเงินลงทุนในไทยอีกเยอะ และยิ่งมีข่าวดีขึ้นเรื่อยๆ สตาร์ตอัพในตะวันออกกลางที่มีเงินมากก็อยากมาประเทศไทย

“ตอนนี้ทุกคนพุ่งมาเอเชีย เพราะในปี 2040 หรือ 2583 เอเชียจะโตที่สุด และอาเซียนจะเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่อันดับ 4 ของโลก รองจากอเมริกา จีน ยุโรป ฉะนั้น ใครๆก็อยากมาอาเซียน แล้วทำไมเราไม่เปิดให้กว้าง”

สำคัญที่สุดต้องทำให้การ เมืองนิ่งพอ อย่าทะเลาะกัน ทั้งหมดนี้ คือ สิ่งที่ตลาดทุนอยากได้ ต้องการการเมืองที่มีเสถียรภาพเพียงพอ ให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้

เพื่อทำให้เมืองไทยมีโมเมนตัมเข้าโค้งอันตรายไปได้ ต้องประคองประเทศให้รอดถึงกลางปีหน้า เมื่อประคองตัวเองได้ ก็จะสามารถหยิบฉวยโอกาสที่จะเกิดขึ้น.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ