“เอ็กซิม” พร้อมรับประกันส่งออก หนุนเอกชนฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกชะลอ

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“เอ็กซิม” พร้อมรับประกันส่งออก หนุนเอกชนฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกชะลอ

Date Time: 22 มิ.ย. 2566 06:11 น.

Summary

  • “เอ็กซิมแบงก์” เผยเศรษฐกิจไทยปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน แรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคของภาคเอกชนที่เติบโตตามการจ้างงาน

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

“เอ็กซิมแบงก์” เผยเศรษฐกิจไทยปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน แรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคของภาคเอกชนที่เติบโตตามการจ้างงาน แต่เศรษฐกิจโลกดูไม่สดใสและเต็มไปด้วยความเสี่ยง ทำให้การเติบโตของภาคการส่งออกของไทยชะลอตัวลง แนะผู้ส่งออกเจาะตลาดกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ชดเชยตลาดที่ลดลง

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ (EXIM BANK) เปิดเผยว่า จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากผลกระทบของสงครามรัสเซียและยูเครน ทำให้ภาวะเงินเฟ้อลุกลามไปทั่วโลก อัตราดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้น นอกจากนั้น ยังเกิดปัญหาการแบ่งขั้วที่ชัดเจนระหว่างสหรัฐฯ และชาติตะวันตกกับขั้วของจีนและรัสเซีย กดดันบรรยากาศการค้าการลงทุน ประกอบกับการเกิดปัญหาความเปราะบางของภาคธนาคารในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (อียู) ปัจจัยเหล่านี้บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ส่งผลให้กำลังซื้อชะลอตัวลง

“การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะคู่ค้าของไทย ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ทั้งในสหรัฐฯ อียู และญี่ปุ่น โดยสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P Global Market Intelligence ระบุว่า ในช่วง 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ของปี 66 บริษัทในสหรัฐฯยื่นขอล้มละลายแล้ว 236 บริษัท และเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ปี 54 โดยธุรกิจสินค้าฟุ่มเฟือยยื่นล้มละลายมากที่สุด รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการผลิต ดังนั้น ผู้ประกอบการที่มีฐานทุนน้อย อย่างผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จะมีความเปราะบางต่อความเสี่ยงทางธุรกิจมากกว่ารายใหญ่ หากค้าขายกับคู่ค้าเหล่านี้ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า จนอาจทำให้ขาดสภาพคล่อง”

แนะผู้ส่งออกทำประกันความเสี่ยง

นายรักษ์กล่าวต่อว่า ในฐานะที่เอ็กซิมแบงก์ถือเป็นผู้ให้บริการประกันการส่งออกรายแรกและรายเดียวของไทย นับตั้งแต่เปิดให้บริการนี้ในปี 2538 นับเป็นเวลา 28 ปี ได้ให้บริการคุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้ากับผู้ส่งออกไทยมาต่อเนื่อง และพบว่าผู้ส่งออกไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs มักไม่ทำประกันการส่งออก เพราะคิดว่ายุ่งยากและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย แต่ในความจริง การทำประกันการส่งออกเป็นต้นทุนเพียงน้อยนิดที่มีประโยชน์อย่างมาก ช่วยให้  SMEs สามารถกำหนดเงื่อนไขและมูลค่าการค้าแต่ละครั้งได้อย่างมั่นใจและเป็นมืออาชีพ ทำให้ผู้ประกอบการ  SMEs สามารถทุ่มเทเวลาและทรัพยากรไปใช้ปรับปรุงกิจการให้แข่งขันได้เพิ่มมากขึ้นโดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าและนำมาซึ่งปัญหาขาดสภาพคล่องในที่สุด

สำหรับบริการประกันการส่งออกของเอ็กซิมแบงก์ นับตั้งแต่ปี 2538-2565 มีมูลค่าการส่งออกของไทยที่อยู่ภายใต้การรับประกันรวม 1.82 ล้านล้านบาท มีมูลค่าการจ่ายสินไหมทดแทนทั้งสิ้น 1,430.90 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนผู้ซื้อที่ไม่ชำระค่าสินค้าทั้งหมด 266 ราย แบ่งเป็นสาเหตุมาจากผู้ซื้อปฏิเสธการชําระเงินจํานวน 181 ราย มูลค่า 1,085.10 ล้านบาท คิดเป็น 75% ของการจ่ายค่าสินไหมทั้งหมด สาเหตุจากผู้ซื้อล้มละลายจํานวน 65 ราย มูลค่า 334.63 ล้านบาท คิดเป็น 23% ของการจ่ายค่าสินไหมทั้งหมด และผู้ซื้อปฏิเสธการรับมอบสินค้าจํานวน 20 ราย มูลค่า 11.17 ล้านบาท คิดเป็น 2% ของการจ่ายค่าสินไหมทั้งหมด

เปิดทางเลือกรับสถานการณ์วิกฤติ

นายรักษ์กล่าวต่อว่า จากการดำเนินการที่ผ่านมา ในจำนวนคู่ค้าที่ธนาคารต้องจ่ายเงินค่าสินไหมให้ จะเป็นผู้ซื้อที่อยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 28.46% รองลงมาได้แก่ สหรัฐฯ 25.53% และสิงคโปร์ 14.24% แสดงให้เห็นว่าการค้าขายกับผู้ซื้อแม้ในตลาดขนาดใหญ่ก็ยังมีความเสี่ยง ดังนั้น การทำประกันการส่งออกจะช่วยลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการได้โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ส่งออก เอ็กซิมแบงก์มีบริการประกันการส่งออกที่ได้รับการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ของผู้ประกอบการในทุกขนาดธุรกิจ อาทิ EXIM for Small Biz สำหรับผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นส่งออก ค่าเบี้ยเริ่มต้นเพียง 600 บาท บริการ EXIM Smart SMEs สําหรับผู้ที่มีมูลค่าการส่งออกไม่เกิน 500 ล้านบาท และบริการประกันส่งออกสำหรับผู้ประกอบการทุกขนาดธุรกิจคือ EXIM Flexi ซึ่งบริการดังกล่าวคุ้มครองความเสี่ยงของผู้ซื้อหรือความเสี่ยงทางการค้า ได้แก่ ผู้ซื้อล้มละลาย ผู้ซื้อปฏิเสธการชําระเงินค่าสินค้า และผู้ซื้อปฏิเสธการรับมอบสินค้า รวมถึงความเสี่ยงของประเทศผู้ซื้อหรือความเสี่ยงทางการเมือง ได้แก่ การควบคุมการโอนเงินจากประเทศผู้ซื้อมายังประเทศไทย การห้ามนําเข้าสินค้า หรือยกเลิกสิทธิการนําเข้า การเกิดสงคราม จลาจล ปฏิวัติ และรัฐประหาร

ชี้ครึ่งปีหลังการค้า-ลงทุนผันผวน

สำหรับครึ่งหลังปี 2566 สถานการณ์การค้าการลงทุนยังมีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้น การบริหารความเสี่ยงในการทำธุรกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญ และหากผู้ประกอบการไทยต้องการเริ่มต้นธุรกิจระหว่างประเทศ อาจลองเริ่มต้นจากตลาดใหม่ที่น่าสนใจในแถบลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเศรษฐกิจโตสูง โดยคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2567-2571) เศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 6.7% กัมพูชา 6.3% สปป.ลาว 4.2% ไทย 3.2% และ CLMVT (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) เป็นตลาดที่มีประชากรรวมกันกว่า 250 ล้านคน ประชากรอยู่ในวัยทำงานจำนวนมาก อาทิ กัมพูชา มีประชากรอายุ 15-64 ปีเป็นสัดส่วน 68% ของประชากรทั้งหมด เวียดนาม 67% สปป.ลาว 66% และแต่ละประเทศได้จัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ร่วมกับประเทศคู่ค้าเป็นจำนวนหลายฉบับ ถือเป็นแรงส่งสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้การส่งออกของประเทศเติบโต เช่น เวียดนามมี FTA 15 ฉบับ ส่งออกปี 2565 โต 10.4% กัมพูชามี FTA 10 ฉบับ ส่งออกปี 2565 โต 9.2% ขณะที่ไทยมี FTA 14 ฉบับ ส่งออกปี 2565 โต 5.5%

อย่างไรก็ตาม แต่ละตลาดมีความโดดเด่นและความยากง่ายที่แตกต่างกัน การเจาะตลาดใหม่อาจเริ่มต้นจากตลาดกัมพูชา ซึ่งมีกำแพงทางการค้าต่ำ กฎระเบียบค่อนข้างยืดหยุ่น มีการขยายตัวของสังคมเมืองอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกรุงพนมเปญและเสียมราฐ ขณะที่เวียดนามเป็นตลาดดาวรุ่งที่เชื่อมโยงกับ Global Supply Chain หลากหลาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิต และให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมสีเขียวและความยั่งยืน รวมถึงพลังงานทดแทน การเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจเข้าไปยังตลาดใหม่ๆนี้ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจเครือข่ายธุรกิจ และเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายและครบวงจร ผู้ประกอบการไทยควรปรึกษาสถาบันการเงิน เช่น เอ็กซิมแบงก์ ในการเติมความรู้ เติมโอกาส และเติมเงินทุน รวมถึงเครื่องมือทางการเงินต่างๆ ที่ช่วยให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ