เศรษฐกิจรอรัฐบาลใหม่ ชี้วัดถอยหลัง-เดินหน้า

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เศรษฐกิจรอรัฐบาลใหม่ ชี้วัดถอยหลัง-เดินหน้า

Date Time: 22 มิ.ย. 2566 06:44 น.

Summary

  • สถานการณ์แนวโน้ม “เศรษฐกิจยัง อยู่ช่วงเปราะบาง” จากโรคระบาดโควิด–19 บวกกับความไม่แน่นอนสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อขยายตัวกระทบเป็นลูกโซ่ต่อค่าครองชีพปรับตัวสูงต่อเนื่อง

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

สถานการณ์แนวโน้ม “เศรษฐกิจยัง อยู่ช่วงเปราะบาง” จากโรคระบาดโควิด-19 บวกกับความไม่แน่นอนสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อขยายตัวกระทบเป็นลูกโซ่ต่อค่าครองชีพปรับตัวสูงต่อเนื่อง

แม้ว่า “เศรษฐกิจไทยปีนี้กำลังฟื้นตัว” ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากภาคบริโภคปรับตัวดีขึ้น และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องแต่ “เศรษฐกิจทั่วโลก” ก็มีความเสี่ยงชะลอตัวที่อาจกระทบการส่งออกไทยได้เช่นกัน

ความไม่แน่นอนนี้ถูกสะท้อนผ่านเวทีเสวนา “ปัญหาเศรษฐกิจที่รอรัฐบาลใหม่” โดยมูลนิธิคึกฤทธิ์ฯที่ “สกู๊ปหน้า 1” ได้ร่วมรับฟังเก็บเนื้อหามาบางช่วงบางตอนจาก ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีต รมว.พลังงาน บอกว่าตอนนี้ประเทศไทยเจอปัญหาเศรษฐกิจอยู่แล้ว “กว่าจะได้รัฐบาลใหม่อีก 2 เดือน” ทำให้ช่วงนี้ต้องทำอะไรหลายอย่าง

ถ้าย้อนไปช่วง “รัฐประหารปี 2557” คสช.มอบหมายให้เตรียมวาระประเด็นว่า “เมื่อมีรัฐบาล คสช.ต้องทำอะไรบ้าง” สุดท้ายทำได้บางส่วนถ้าทำครบปัญหาน่าจะน้อยกว่านี้ เพราะเศรษฐกิจไม่แย่มากอย่างตัวชี้วัดดอกเบี้ยนโยบาย 1-2%ต่อปี น้ำมันดิบก่อนปี 2557 ราคา 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลหลังรัฐประหารลงเหลือ 60 ดอลลาร์

กระทั่งต้นปีนี้ปรับสูงขึ้นเกินกว่า 100 ดอลลาร์ เพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก่อนที่จะขยับลงมาเหลือ 70-80 ดอลลาร์ ส่วนภาคการท่องเที่ยวในปี 2557 มีนักท่องเที่ยว 26 ล้านคน เพิ่มขึ้นมาช่วงก่อนโควิดเป็น 39 ล้านคน “พอเจอโควิดนักท่องเที่ยวหายหมด” จนต้นปีนี้เริ่มฟื้นมีมา 6.5 ล้านคน ทำให้บัญชีเดินสะพัดขยับเป็นบวก

แต่คงต้องเผชิญเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยสูง ค่าเงินบาทผันผวน ภาวะการมีงานทำหลังโควิด และค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่รู้ว่าจะปรับทันค่าเงินเฟ้อหรือไม่ สิ่งนี้ล้วนเป็นประเด็นของประชาชน ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็ถือเป็นเรื่องสำคัญต้องพิจารณาในปัจจุบัน ส่วนข้อสัญญาพรรคการเมืองจะปรับค่าจ้างนั้นเรื่องนี้เป็นไปได้ยากต้องมีวิธีกำหนดต่างหาก

เช่นนี้ทำให้พยากรณ์สถานการณ์ได้ว่า “สินค้าแพงจะทรงตัวไม่ปรับลง” เพราะในช่วงที่ผ่านมาสินค้าบางประเภทไม่ได้ขึ้นก่อนหน้านั้น “จำเป็นต้องปรับราคาขึ้นกัน” แล้วเงินเฟ้อคงจะเพิ่มเล็กน้อย 2-3% ถ้าบวกกับเงินเฟ้อปีที่แล้ว 6% ก็เท่ากับปีนี้รวมเป็น 9% นั้นแปลว่าค่าครองชีพยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างชัดเจน

ส่วน “อัตราดอกเบี้ย” ปีนี้ขยับขึ้นเล็กน้อย 1% ดอกเบี้ยนโยบาย 1.75% คาดว่าอาจจะปรับเพิ่มอีกรอบเดียว 0.25% รวมเป็น 2% ทำให้ผู้กู้เงินต้องมีภาระแบกรับดอกเบี้ยเล็กน้อยไม่โหดร้ายมากเกินไป

สรุปว่า “ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้น” ทำให้เกิดการเรียกร้องรัฐบาลเร่งแก้ไขด้วยการช่วยเหลือความเดือดร้อน และคุมราคาสินค้า “อันจะกลายเป็นยิ่งทำยิ่งพัง” เพราะประเทศไทยไม่สามารถคุมราคาได้

เหตุนี้ประเมินว่า “รัฐบาลจะสนองได้แค่ไหน” ต้องขึ้นอยู่กับฐานะทางการคลังของรัฐบาลและของทั้งประเทศ เมื่อดูตอนนี้พบว่า “ประเทศมีเงินแต่รัฐบาลไม่มี” เพราะฐานะการคลังไม่ดีมีหนี้สาธารณะชนเพดานจากเดิมไม่เกิน 60% ของ GDP ขยายเป็น 70% ในช่วง 10 ปีต้องกลับมาที่ 60% ดังนั้นรัฐบาลบอกจะให้นั่นให้นี่อาจไม่มีเงินพอ

หากย้อนดู “ฐานะการเงินประเทศกลับดีขึ้น” มีเงินทุนสำรองเกิน 2 แสนล้านดอลลาร์ แล้วหนี้ระยะสั้นมีนิดเดียวแต่หนี้ต่างประเทศมีพอสมควรส่วนใหญ่เป็นหนี้เอกชน และสภาพคล่องส่วนเกินก็มีค่อนข้างเยอะอันมีหลักฐานจาก “ดอกเบี้ยเงินฝากยังนิดเดียว” เพราะหลายคนไม่อยากได้เงินเรา

ฐานะการเงินประเทศดีมากแบงก์มีเงินทุนสำรอง 19% เกินเกณฑ์ 8.5% และแบงก์ชาติออกพันธบัตรดูดซับสภาพคล่อง 2.3 ล้านล้านบาท ส่วนตลาดทุนไทยนับว่าดีมากมูลค่าตลาด 18-19 ล้านล้านบาท ตลาดพันธบัตรมีมูลค่า 16 ล้านล้านบาท เป็นพันธบัตรรัฐบาล 11 ล้านล้านบาท และภาคเอกชนออกพันธบัตรได้ถึง 4.5 ล้านล้านบาท

ในส่วน “หนี้ประชาชนเยอะจะลำบาก” เชื่อไม่ทำให้เศรษฐกิจพัง “แต่อาจทำให้หงอย” ยกเว้นสถาบันการเงินหรือการคลังพังจะส่งผลให้เศรษฐกิจพังได้ เหตุนี้รัฐบาลจะทำอะไรต้องใช้มาตรการให้เงินหมุนเวียน

ประเด็นระยะยาวแน่นอน “รัฐบาลชุดใหม่” ควรปรับโครงสร้างเศรษฐกิจต้องพิจารณาภาพรวมของโลก ขณะนี้ที่มีปัญหาใหญ่ของโลกคือ ความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มขึ้น ปัญหาโลกร้อน และความเสี่ยงทางการเมืองโลก เพราะโลกกำลังทะเลาะกันอย่างกรณีระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ส่งผลกระทบต่อตลาดทั้งโลก

ถัดมา “เปิดโอกาสใหม่ให้ประเทศไทย” ด้วยเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจระหว่างเอเชีย-ตะวันออกกลาง ทั้งในด้านการเป็นซัพพลายเชน และโลจิสติกส์ รวมถึงสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนรองรับความเสี่ยงในโลก ทั้งต้องผลักดันไอทีระดับชุมชนที่จะช่วยในเรื่องการศึกษา สุขภาพ และการประกอบอาชีพ

ต่อมาคือ “จัดการปัญหาคอร์รัปชัน” ถ้าบรรเทาปัญหาคอร์รัปชันจะช่วยทุกเซ็กเตอร์ของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแย่งตำแหน่งต้องจ่ายเงินกัน ดังนั้นควรทำทุกอย่างให้โปร่งใส เป็นธรรม ที่จะช่วยแก้ปัญหาทุกเรื่องได้

เช่นเดียวกับ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร บอกว่า การเลือกตั้ง 2566 เสียงประชาชนสะท้อนถึงเศรษฐกิจที่ผ่านมาไม่ดี ดั่ง มักพูดกันว่า “รวยกระจุก...จนกระจาย” กลายเป็นกระแสการเปลี่ยนแปลง “จนผลการเลือกตั้งผิดคาด” นำมาซึ่งพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้

คำถามว่า “แกนนำจัดตั้งรัฐบาล” มีนโยบายอย่างไรที่เป็นตัวชี้นำว่า “เศรษฐกิจจะไปทางไหน” โดยภาพรวมสรุป 2 เรื่อง คือ 1.ทลายระบบทุนผูกขาด 2.ทำรัฐสวัสดิการ โดยเก็บภาษีจากคนรวยไปให้คนจน

เรื่องนี้มุมมองแบบนักเศรษฐศาสตร์ “การทำรัฐสวัสดิการ” พิจารณารายจ่าย 6.5 แสนล้านบาท พบว่า รายจ่ายสำหรับคนแก่ 4.2 แสนล้านบาท สำหรับเด็ก 1 แสนล้านบาท ถ้าดูตัวเลขสวัสดิการคนแก่มากกว่าเด็ก 4 เท่า ทำให้ต้องเก็บภาษีมากขึ้น เน้นคนรวยเป็นส่วนใหญ่ เช่น ภาษีความมั่งคั่ง ภาษีที่ดินรายแปลง ภาษีบุคคลทุนใหญ่

ปัญหามีว่ายุคนี้ “ต้องการฟื้นเศรษฐกิจให้ต่อเนื่อง” ต้องเก็บภาษีจากบริษัทใหญ่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ การเก็บภาษีซื้อขายหุ้น ภาษีจากผลกำไรการขายหุ้น และการเก็บภาษีความมั่งคั่ง “จะมีผลกระทบต่อการลงทุน” ในยุคต้องการให้เศรษฐกิจฟื้นนี้มักเป็นการแลกเปลี่ยนที่ไม่มีอะไรฟรีในโลกนี้

ขณะที่ปัจจุบัน “ธนาคารกลางสหรัฐฯ” ปรับดอกเบี้ยขึ้นเร็วแรงในช่วง 1 ปีมานี้ “ดอกเบี้ยอยู่ที่ 5.25%” แล้วตัวเลขดัชนีการใช้จ่ายส่วนบุคคล (Personal Consumption Expenditure-PCE) เดือน เม.ย.สูงเกินคาดทำให้วันที่ 13-14 มิ.ย.2566 คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯจะประชุมอาจปรับดอกเบี้ยขึ้นอีกรอบ

ดังนั้นในยุคที่ “ทุนมีราคาแพงขึ้นจะเก็บภาษีเพิ่ม” ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนลดลง และยิ่งบอกว่าจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นย่อมส่งผลให้ต้นทุนค่าแรงเพิ่มตาม อีกทั้งถ้าราคาน้ำมันแพงแบบนี้ต้นทุนพลังงานก็สูง คำถามการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยมั่นใจได้หรือไม่ว่า “จะเดินต่อไปได้” ตอนนี้แบงก์ขนาดใหญ่เริ่มไม่ปล่อยสินเชื่อด้วย

ตอกย้ำความท้าทายไทยต้องเผชิญในอนาคต ปี 2050 แรงงานจะหาย 11 ล้านคน ดังนั้นต้องทำให้แรงงานมีประสิทธิภาพด้วยการปฏิรูปการศึกษาคู่กับ upskill reskill ส่วน “ความเหลื่อมล้ำทางธุรกิจ” เห็นด้วยกับการจัดการทุนผูกขาด เพราะบริษัทใหญ่ 5% ทำรายได้ 85% ของรายได้ทั้งหมดและครองกำไรถึง 60% ของกำไรภาคธุรกิจ

อีกทั้งอุตสาหกรรมไทยถูกดิสรัปจากรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แม้ว่านักลงทุนเข้ามาตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ EV ก็จะส่งผลต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ถัดมาเรื่องเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ต้องแย่งกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะภาคบริการจากการท่องเที่ยวต้องยกระดับเป็น medical tourism เลื่อนชั้นเป็น healthcare เพียงแต่ต้องแก้ไข PM 2.5

ย้ำสิ่งน่าสนใจที่สุดคือ “ประเทศไทย” ค่อนข้างมีศักยภาพสูงมากหลายด้านแถมยังมีจุดแข็งทำเลที่ตั้งเป็น “ศูนย์กลางการโตของภูมิภาค” เพียงแต่ต้องทำการบ้านให้ตัวเอง เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ