ไม่มีงานเลี้ยงใดที่ไม่มีวันเลิกรา ต้นไม้ที่ผลัดใบแล้ว ย่อมต้องผลิดอกออกใบใหม่ การเปลี่ยนแปลงถือเป็นสัจธรรมของโลก เมื่อสวมหัวโขนอยู่ในตำแหน่ง ก็ต้องทำเต็มหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เมื่อจะจากลาไปก็ถึงเวลา “ส่งไม้ต่อ” ให้คนอื่นมาทำหน้าที่แทน
ตลอดช่วงเวลาหลายปีของ “รัฐบาล” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เผชิญหน้าวิกฤติทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง ทั้งวิกฤติโควิด ซึ่งรุนแรงกว่าทุกวิกฤติที่เคยพบมา ซ้ำด้วยวิกฤติราคาพลังงาน จากสงครามยูเครน-รัสเซีย รวมทั้งวิกฤติเงินเฟ้อ ที่ทำให้ต้นทุนสินค้าและอัตราดอกเบี้ยแพงขึ้น ขณะที่ด้านโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศก็จำต้องเปลี่ยนให้ทันโลกสมัยใหม่อย่างเร่งด่วน
เมื่อการเลือกตั้งผ่านไป “ภารกิจหนักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาสดใส” กำลังจะตกเป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ “ทีมเศรษฐกิจ” จึงได้รวบรวมประเด็นร้อน ปัญหาร้ายแรงที่ซ่อนอยู่ใต้พรม รวมทั้งโครงการที่เป็นหัวใจพัฒนาประเทศไทยในระยะต่อไป ...จาก “รัฐบาลรักษาการ” ในวันนี้ มีอะไรจะฝาก “ส่งไม้ต่อ” ให้ “รัฐบาลใหม่” ให้ทำหน้าที่บริหารประเทศต่อไป เพื่อให้เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพเพียงพอที่ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจร้ายๆได้ในอนาคต
เริ่มต้นกันที่ “กระทรวงพาณิชย์” ซึ่งฝากงานสำคัญที่ต้องดำเนินการต่อทันทีหลังจากมีรัฐบาลใหม่แล้ว ซึ่งหนีไม่พ้น “การแก้ปัญหาค่าครองชีพ และดูแลปากท้องประชาชน” เพราะที่ผ่านมา ค่าครองชีพคนไทยสูงมาก จากราคาพลังงาน และวัตถุดิบที่ใช้ผลิตสินค้าในตลาดโลกสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าต่างๆ รวมอาหารสด อาหารสำเร็จรูป ข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ ค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง-ก๊าซหุงต้มสูงขึ้นตาม ในขณะที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ประชาชนมีรายได้ไม่พอจ่าย อีกทั้งยังต้องสร้างความเป็นธรรมให้ผู้บริโภคไม่ถูกผู้ค้าเอาเปรียบ
นอกจากนี้ ต้องเร่งดูแลเกษตรกร และราคาสินค้าเกษตร เพราะแม้ราคาสินค้าบางรายการปรับขึ้นตามราคาโลก เช่น ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง แต่ยังมีหลายสินค้าที่ราคายังลุ่มๆ ดอนๆ เช่น ข้าวเปลือก ยางพารา เช่นเดียวกับราคาปศุสัตว์ อย่างสุกร เนื้อไก่ และสัตว์น้ำ ขณะที่ต้นทุนผลิตปรับขึ้นทั้งหมด ไม่ว่าปุ๋ยเคมี ยากำจัดและปราบศัตรูพืช ส่งผลให้เกษตรกรขาดทุน เลิกอาชีพไปก็มาก แล้วยังจะมีเอลนีโญ หรือภาวะแห้งแล้งมาซ้ำเติมอีก ซึ่งตามสถิติของไทยจะเกิดติดต่อกัน 2-3 ปี หากรัฐบาลไม่มีแผนรองรับสถานการณ์เกษตรไทยน่าจะไปไม่รอด
และอีกที่ประเด็นสำคัญมาก ต้องเร่งรัดผลักดันการส่งออก ที่ปีนี้จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างชัดเจน และไม่ได้เป็นพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอีกแล้ว โดยเอกชนคาดว่า มูลค่าส่งออกปีนี้โตได้ 0-1% เทียบปีก่อน ก็ถือว่าเก่งแล้ว แต่กระทรวงพาณิชย์จะผลักดันให้โตได้ 1-2% ตามเป้าหมาย อีกทั้งยังต้องเร่งรัดเจรจาความตกลงการค้า (FTA) ใหม่ๆให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อขยายโอกาสและเพิ่มมูลค่าการค้า การลงทุนของไทย รวมถึงต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งของผู้ประกอบการ ทั้งรายกลาง รายเล็ก และรายย่อยให้แข่งขันกับรายใหญ่ และยืนหยัดทำธุรกิจต่อไปได้ รวมทั้งต้องค้าขายผ่านออนไลน์ให้ได้ ซึ่งจำเป็นมากในโลกปัจจุบัน
ต่อมาเป็นภารกิจของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่รอรัฐบาลใหม่เข้ามาสานต่อ ประกอบด้วย 3 งานหลัก ได้แก่ 1.งานด้าน “โครงสร้างพื้นฐาน” ที่รอการเข้ามาขับเคลื่อนต่อ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเน็ตประชารัฐ ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมแล้วกว่า 70,000 จุดทั่วประเทศ และต้องขยายต่อไปยังชุมชนและบ้านเรือน การใช้ประโยชน์จากเครือข่าย 5G โดยผลักดันให้เอกชนใช้งานมากขึ้น รวมทั้งการขับเคลื่อนบริการ 5G ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT รัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดดีอีเอส ซึ่งเข้าประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz เพื่อให้บริการ 5G มากว่า 3 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้ให้บริการ กลายเป็นความสูญเปล่าเพราะต้องจ่ายเงินค่าคลื่นทุกปี
ตลอดจนงานกิจการดาวเทียม การวางท่อร้อยสายรองรับการนำสายไฟและสายโทรคมนาคมลงดิน การขยายโครงการคลาวด์ภาครัฐที่มีความต้องการใช้มาก แต่งบประมาณไม่เพียงพอต่อการลงทุนเพิ่ม รวมทั้งการใช้ดิจิทัล ไอดี (Digital ID) ที่ช่วยพิสูจน์ยืนยันตัวตนในโลกออนไลน์ ซึ่งหวังให้ รมต.ดีอีเอสคนใหม่เข้ามาสนับสนุน
2.งานด้านป้องกัน ปรามปราบการฉ้อโกงออนไลน์ ซึ่งได้ออกกฎหมายใหม่ๆมาแล้ว เช่น พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่ช่วยรับมือโจรออนไลน์ได้ดีขึ้น และที่รอให้มีผลบังคับใช้ คือ พ.ร.ฎ.ควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่จะช่วยจัดระเบียบแพลตฟอร์มต่างชาติขนาดใหญ่ ที่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับภาครัฐ และ 3. การสังคายนากฎหมายที่ล้าสมัย เช่น กฎหมายเกี่ยวกับดิจิทัลเกือบทั้งหมดที่ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการออกกฎหมายใหม่ครอบคลุมเทคโนโลยีแขนงต่างๆ เช่น กฎหมายปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นต้น
มาถึงกระทรวงอุตสาหกรรมที่ถูกลดชั้นเป็นกระทรวงเกรดซี ในสายตาพรรคร่วมรัฐบาล แต่ยังมีพันธกิจใหญ่ที่รอ รมว.อุตสาหกรรม คนใหม่ มาสานต่อนโยบายที่ยังคั่งค้าง โดยต้องดำเนินการให้สอดรับเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG เร่งปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมวิถีใหม่ อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (S-curve) โดยให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นรากฐานความแข็งแกร่งของประเทศและมีศักยภาพไปต่อได้ในอนาคต เช่น เกษตรอุตสาหกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ ยานยนต์แห่งอนาคต และ Soft-power
ขณะที่วาระสำคัญของกระทรวง คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแบบครบวงจรให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีกว่า 3 ล้านราย ด้วยการนำแผนยุทธศาสตร์ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) มาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ บนพื้นฐานขององค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา เชื่อมโยงกับทุนทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่
ซึ่งจุดนี้ต้องรอ รมว.อุตสาหกรรมคนใหม่ มาสานต่อ เพื่อพลิกโฉมหน้าเอสเอ็มอีให้เติบโตแข็งแกร่ง หลังจากที่รัฐบาลชุดนี้ ได้ให้ความสำคัญโดยกำหนดให้เอสเอ็มอีเป็น “วาระแห่งชาติ”
ส่วนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย รอติดตามนโยบายรัฐบาลใหม่ใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.ค่าแรงขั้นต่ำจะปรับเพิ่มเป็น 450 บาทต่อวันหรือไม่ อย่างไร ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนการตัดอ้อยและการหีบอ้อยมาก 2.ระบบการขนส่งอ้อยในเรื่องของน้ำหนักบรรทุก และ 3.ส่งเสริมปัจจัยการผลิตต่างๆ เช่น การตัดอ้อยสดที่รัฐจะสนับสนุนเงินช่วยเหลือ 120 บาทต่อตัน ฯลฯ
เลาะเลียบมายังเกรด A++ กระทรวงพลังงานที่แม้จะมีงบประมาณเพียงปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท แต่มากไปด้วยขุมทรัพย์ทางพลังงาน ที่ไม่ว่าจะแตะเรื่องใดก็ “เอกอุ” เพราะมีมูลค่านับล้านล้านบาท ยิ่งกว่า “ขุมทรัพย์” ใน “เพชรพระอุมา” เป็นไหนๆ ซึ่ง โจทย์ใหญ่ที่รอวัดใจจาก รมว.พลังงานคนใหม่ ที่ไม่มีเวลาขี่ม้าเลียบค่ายศึกษางาน ก็คือ ค่าไฟฟ้าของคนไทยทั้งประเทศในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566
เพราะจากเดิม ปี 2562 ค่าไฟฟ้าที่คนไทยจ่ายอยู่ที่ 3 บาทกว่าๆต่อหน่วย แต่ล่าสุดงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.นี้ กระโดดไปอยู่ที่ 4.70 บาทต่อหน่วย และมีแนวโน้มว่างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.นี้อาจดีดขึ้นไปอีก ล่าสุด แม้มีสัญญาณจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกมาว่า ค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.นี้ลดลงได้ แต่บางคนก็ยังสงสัยว่า การออกประชาสัมพันธ์เรื่องนี้เกิดขึ้นจากอะไร เกิดจาก “ใบสั่ง” เพื่อลดกระแสโจมตีจากผู้ใช้ไฟฟ้า หรือเป็นเพราะอะไรกันแน่ เพราะที่สุดแล้ว ราคาพลังงานในตลาดโลกยังคงผันผวนจึงต้องฝาก รมว.พลังงานคนใหม่ เข้ามาคลี่ไส้ในดูอย่างละเอียดว่า ค่าไฟฟ้าจะปรับลงได้จริง ตามที่ทุกพรรคการเมืองหาเสียงว่า จะลดค่าไฟฟ้าเป็นของขวัญให้กับคนกาบัตรเลือกหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่า จนถึงขณะนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังแบกรับภาระค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) กว่า 120,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ยังต้องพิจารณานโยบายดูแลราคาพลังงาน เช่น น้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม ว่าจะมีแนวทางอุดหนุนอย่างไร ในระดับราคาใดให้เหมาะสม เพื่อลดภาระการอุดหนุนราคาของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ใช้งบมาอุดหนุนนับหมื่นล้านบาทต่อปี รวมถึงการจัดทำแผนพลังงานชาติ 5 แผนหลัก และสิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยหรือพีดีพี 2023 (ปี 2566-80)
โดยเบื้องต้นแผนนี้จะไม่มีการบรรจุโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ๆ ทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศจะเหลือเพียงโรงไฟฟ้าแม่เมาะของ กฟผ.ที่ดำเนินการอยู่ขณะนี้เท่านั้น ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ยังคงบรรจุไว้ในช่วงปลายแผนพีดีพี 2023 แต่จะปรับขนาดโรงไฟฟ้าให้เล็กลงตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงแผนพีดีพี 2023 ที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนให้มากขึ้น ซึ่งต้องคิดให้ดีว่า จำนวนเท่าใดจึงจะเหมาะสม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเผือกร้อนในมือ รมว.พลังงาน ท่ามกลางกระแสข่าวการแย่งชิงมาคุมกระทรวงพลังงาน “ที่รู้ว่าเสี่ยงแต่ก็คงขอลอง”
มาถึงอีกกระทรวง ซึ่งถือว่าเป็น “คลังสมบัติ” เป็น “ผู้คุมกฎ” คุมเงินของประเทศ ภารกิจที่รอ “รัฐบาลชุดใหม่” มาตัดสินใจ แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ต้องการความ “ใจเด็ด” ในการตัดสินใจ ซึ่งไม่ใช่การใช้เงิน หรือใช้จ่ายที่หลายๆพรรคหาเสียงไว้ แต่เป็นการตัดสินใจเพื่อนำมาซึ่งรายได้ของแผ่นดิน โดยเฉพาะการ “ปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบ” ซึ่งทุกรัฐบาลที่ผ่านมาพยายามทำ แต่ก็ทำได้บางส่วน และสุดท้ายจะทนแรงคัดค้านไม่ไหว
เริ่มจากการจัดเก็บภาษีขายหุ้น ซึ่งจะเก็บจากนักลงทุนเมื่อมีการขายหุ้นออกมา ไม่ว่าผู้ขายจะได้กำไร หรือขาดทุน จำเป็นต้องเสียภาษีในอัตรา 0.11% ของมูลค่าที่ขาย จากเดิมจะจัดเก็บในปีนี้ แต่สุดท้ายเลื่อนไปไม่มีกำหนด ตามด้วยจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดรับเป้าหมาย NET ZERO ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกเริ่มจัดเก็บตามหลักการ “ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่ายภาษี” ซึ่งกรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างศึกษาการจัดเก็บภาษีคาร์บอนเครดิต ภาษีแบตเตอรี่ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีการจัดเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์ ภาษีที่ดิน เป็นต้น
ตามด้วยการเร่งแก้ “ปัญหาหนี้ครัวเรือน” ที่สูงมากของประชาชน ภาระหนี้สาธารณะ และหนี้ตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง โดยขณะนี้หนี้สาธารณะอยู่ที่ 10.89 ล้านล้านบาท สูงถึง 61.56% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งหนี้ส่วนใหญ่เป็นการกู้ช่วงโควิด ด้วยการออก พ.ร.ก.เงินกู้ 2 ฉบับวงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท ณ ขณะนี้ ใช้หนี้ไปเพียง 94,000 ล้านบาทเท่านั้น “หนี้ที่เหลือ” จึงเป็นหนี้ที่รัฐบาลใหม่ต้องเข้ามาสะสางปัญหา
ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหาที่ซ่อนไว้ คือ การใช้เงินงบประมาณรัฐอย่างคุ้มค่าหรือไม่ โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ที่เป็นหน่วยงานในการหารายได้ แต่กลับใช้เงินงบประมาณไม่คุ้มค่า จุดเล็กๆ ที่สะท้อนปัญหา คือ การก่อสร้างอาคารกระทรวงการคลัง ที่ก่อสร้างมาหลายปีด้วยงบประมาณหลักพันล้านบาท แต่จนถึงขณะนี้ยังตรวจรับไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดใหม่ จะเข้ามาสะสางปัญหาที่คาราคาซังนี้
ต่อด้วย “กล่องดวงใจ” ของเศรษฐกิจยุคหลังโควิด “กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา” ซึ่งการกลับมาของการท่องเที่ยวถือเป็นแรงขับเคลื่อน และเป็นรายได้หลักของประเทศ โดยพันธกิจของ “รัฐบาลใหม่” ในปี 2566 จะต้องสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ได้ถึง 80% จากปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 หรือต้องทำให้ได้ 2.38 ล้านล้านบาท เพื่อเป็นแรงส่งไปถึงปี 2567 ที่ตั้งเป้าหมายจะกลับไปสู่รายได้ 100% เท่าปี 2562 ที่ 3 ล้านล้านบาท
มาตรการเชิงนโยบายภาครัฐ ที่รอการตัดสินใจของรัฐบาลอีกครั้ง มี 2 เรื่องหลัก คือ 1.จะยังคงนโยบายการจัดเก็บค่าเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 300 บาท/คน/ครั้งหรือไม่ และจะเริ่มดำเนินการเมื่อใด โดยเงินที่เก็บได้ส่วนหนึ่งจะนำมาซื้อประกันภัยให้นักท่องเที่ยว อีกส่วนนำมาเข้ากองทุนพัฒนาการท่องเที่ยว ซึ่งในแต่ละปีจะเก็บเงินก้อนนี้ได้ร่วมหมื่นล้านบาท 2.การพัฒนาตลาดท่องเที่ยวเมืองรองอย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้จาก 10% เป็น 20% เพื่อสร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำ
และยังมีอีก 4 โจทย์สำคัญ คือ 1.การปลดล็อกอุปสรรคการเดินทางเข้าประเทศ โดยเฉพาะตลาดจีนที่ปรับไปใช้ระบบอี-วีซ่า ซึ่งมีข้อจำกัดการอนุมัติจำนวนของกรุ๊ปทัวร์ได้เพียงเดือนละ 84,000 คน กดดันให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนปีนี้ทำได้ไม่เกิน 5 ล้านคน แทนที่จะเป็น 7 ล้านคน 2.ต้องช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยวเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี 3.สร้างเครื่องมือที่รัฐบาลใหม่จะนำมาใช้ส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยต้องพิจารณาถึงสาเหตุและความต้องการที่แท้จริง เช่น ต้นทุนการพัฒนาธุรกิจ ภาวะขาดแคลนแรงงาน การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ที่สนใจท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมรับผิดชอบใส่ใจสิ่งแวดล้อม 4.ทบทวนนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งไทยตั้งเป้าหมายเป็นประเทศจุดหมายปลายทางตลาดคุณภาพสูงต้อนรับนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีประสิทธิภาพ และการเริ่มประเทศไทยเข้าสู่ Net Zero Tourism
มาถึงกระทรวงคมนาคมบ้าง ต้องบอกว่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากระทรวงอื่น เพราะเตรียมความพร้อมเสนอ “โครงการเมกะโปรเจกต์” ร้อนๆ รวมทั้งงานอื่นๆที่รอให้เจ้ากระทรวงคนใหม่เข้ามาสานต่อ
ที่เด็ดๆ เห็นจะเป็นเรื่อง “ตั๋วร่วม” ที่หากรัฐมนตรีคนไหน ผลักดันให้เกิดได้ จะได้รับเสียงชื่นชม เพราะจะเชื่อมระบบการเดินทาง ทั้งทางบก น้ำ ระบบราง ได้แบบไร้รอยต่อ แถมประชาชนจะได้การเดินทางที่แสนถูกกว่าในปัจจุบัน ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน โดยขั้นตอนล่าสุด พ.ร.บ.ตั๋วร่วม เหลือแค่รอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายตั๋วร่วม (คนต.) ที่มี รมว.คมนาคม เป็นประธาน หากเห็นชอบก็เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป
ขณะที่ “การเดินทางทางบก” ก็มีโครงการทางหลวงพิเศษ ระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ของกรมทางหลวง ที่เตรียมจัดระเบียบพร้อมที่เสนอให้ “รัฐบาลใหม่” สานต่อทันที 2 โครงการ ประกอบด้วย มอเตอร์เวย์ หมายเลข 5 สายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (โครงการ) ส่วนต่อขยายของทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ซึ่งจะช่วยแก้จราจรติดขัดถนน “พหลโยธินและวิภาวดีรังสิต” และโครงการมอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ ที่คาดว่าจะเปิดคัดเลือกเอกชนได้ และเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567
ส่วน “ทางอากาศ” ก็ไม่น้อยหน้า มีแผนขยายขีดความสามารถสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งพร้อมเดินหน้าทันทีเพื่อรองรับการขยายตัวการเดินทางทางอากาศที่กลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับ “ทางน้ำ” พร้อมส่งโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ให้รัฐมนตรีคนใหม่พิจารณาภายในปีนี้เช่นกัน หากได้รับความเห็นชอบจาก ครม. สามารถโรดโชว์ต่าง ประเทศชักชวนมาลงทุน จากนั้นจะเปิดประมูลให้เอกชนมาร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP เริ่มก่อสร้างภายในปี 2568 ใช้เวลาก่อสร้าง กว่า 2 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2570
ท้ายที่สุด “หน่วยงานทางเศรษฐกิจ” อีกแรงขับเคลื่อนหลัก ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเก่าหรือใหม่ โดยเรื่องใหญ่สุดที่ 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ ประกอบด้วย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงบประมาณ ต้องเร่งหารือรัฐบาลชุดใหม่และหาข้อสรุปให้ได้คือ การจัดทำร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ซึ่งแน่นอนแล้วว่าจะเริ่มได้ล่าช้ากว่าวันที่ 1 ต.ค.2566 แน่นอน
แต่จะช้าไปจากกำหนดเพียงใด ขึ้นอยู่กับการรื้อ “งบประมาณฐานศูนย์” จะใช้เวลานานเท่าใด แต่เท่าที่ 4 หน่วยงานกำหนดปฏิทินเอาไว้ การเริ่มใช้ไม่ควรเกินเดือน มี.ค.2567
ส่วนการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2566 สศช.ฝากให้ความสำคัญกับ 5 ประเด็นคือ 1.การเร่งรัดขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า 2.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน 3.การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง 4.การดูแลภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และ 5.การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองช่วงหลังเลือกตั้ง
ขณะที่สำนักงานนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรืออีอีซี) มีเรื่องติดค้างคือ การแก้ไขสัญญารถไฟฟ้าเชื่อมสามสนามบินของบริษัท เอเชีย เอราวัณ จำกัด ของกลุ่มซีพี ที่ร้องขอว่าได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 แม้บริษัทกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะคู่สัญญาเจรจากันลงตัวแล้ว แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่กล้าตัดสินใจอนุมัติให้
นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่ยังต้องเร่งตัดสินใจมาตรการสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ออกมาตรการรอบแรก หรืออีวี 3.0 จนค่ายรถยนต์หลายประเทศตัดสินใจลงทุนในไทยเมื่อปี 2565 พอมาปี 2566 บอร์ดอีวีตัดสินใจออกมาตรการรอบสอง อีวี 3.5 แต่รัฐบาลยุบสภาเสียก่อน
@@@@@@@@
“งานฝาก” ทั้งหมดนี้ ทำให้เห็นว่า “ประเทศไทย” อยู่ในช่วงที่ ต้องการการเปลี่ยนแปลง เพื่อยกระดับไปสู่ “โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่” ที่ทำงานง่าย มีประสิทธิภาพ และศักยภาพ เพื่อขยายมูลค่าทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้นอีกระดับ จึงมีงานหนัก ยาก และท้าทายมากมายที่รอ “รัฐบาล ใหม่” ริเริ่ม และสานต่อ หากของเก่าไม่ไหว ก็รื้อโละกันไป แต่ถ้าของเก่าดีอยู่แล้ว อยากให้ต่อยอดต่อไป เพราะโลกวิ่งไว ทุกวินาทีในโลกเศรษฐกิจยุคใหม่ ประเทศไทยต้องตามให้ทัน.
ทีมเศรษฐกิจ