19 กลุ่มอุตสาหกรรมไทย ระส่ำเศรษฐกิจโลก กกร.ห่วง "ส่งออก" ปีนี้หดตัว -1%

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

19 กลุ่มอุตสาหกรรมไทย ระส่ำเศรษฐกิจโลก กกร.ห่วง "ส่งออก" ปีนี้หดตัว -1%

Date Time: 7 มิ.ย. 2566 16:25 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • กกร. ห่วง เศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลัง ฟื้นตัวแผ่ว สหรัฐฯ-ยุโรป ยังเผชิญ ปัญหาเงินเฟ้อ ดอกเบี้ย ส่งผลคำสั่งซื้อสินค้าไทย ชะลอแรง พบ 19 กลุ่มอุตสาหกรรมไทยกระทบหนัก คาดส่งออกปีนี้อาจติดลบ 1% ขณะหวั่น "เงินเฟ้อ" ยังสูง ทั้งค่าแรง-น้ำท่วม-สิ้นมาตรการรัฐ ฉุดการใช้จ่าย

Latest


นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. แถลงผลการประชุม กกร. ล่าสุด ว่า ในระยะข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงรอบด้าน ซึ่งมีสัญญาณของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โดยประเมินว่า เศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลัง อาจฟื้นตัวได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ หลังจาก เศรษฐกิจจีน ที่ถูกมองว่าเป็นตัวพลิก (Game Changer) จากการกลับมาเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ไม่ได้ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งเหมือนที่คิด โดยเฉพาะภาคบริการมีสัญญาณแผ่วลง ขณะภาคการผลิตยังไม่ฟื้นตัว

ขณะเศรษฐกิจหลัก สหรัฐฯ-ยุโรป ขณะนี้ยังอยู่ภายใต้แรงกดดัน จากปัญหา เรื่องเงินเฟ้อ และ ดอกเบี้ยนโยบายสูง ทำให้เศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปีนี้ เปราะบางชะลอตัว จนกว่าประเทศจีนจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ ออกมา

ส่วนทิศทางเศรษฐกิจไทย แม้ขณะนี้ ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยว และ ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่กลับมาสูงสุดในรอบหลายปี แต่ปัญหา "เงินเฟ้อ" ยังคงเป็นปัจจัยท้าทายการจับจ่ายใช้สอยภายใน ท่ามกลาง ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายล่าสุด ขึ้นมาอยู่ที่ 2% ต่อปี โดยยังคงต้องติดตามว่าในรอบการประชุมครั้งต่อไป คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะยังประกาศขึ้นดอกเบี้ยอีกหรือไม่ จากความกังวลเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับสูง

ล่าสุด เงินเฟ้อไทย ยังได้รับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มเติมขึ้นอีก จากปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร และ ราคาสินค้าเกษตร ในช่วงปีนี้ ซึ่ง กกร.เคยประเมินว่า อาจสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจโลก มากถึง 3.6 หมื่นล้านบาท หวั่นปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง จะกระทบทั้งฝั่งเงินเฟ้อ และ ต้นทุนค่าเสียโอกาสของประเทศ จึงอยากให้รัฐบาลเร่งจัดทำมาตรการรับมือเรื่องดังกล่าว อย่างเป็นระบบและยั่งยืน เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่มีผลกระทบในระดับสูงต่อเศรษฐกิจ

รวมไปถึงปัญหากระทบต่อเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าอีกตัว คือ แนวโน้มค่าแรงขั้นต่ำ ตามนโยบายพรรคก้าวไกล โดยคำนวณเบื้องต้น การปรับขึ้นค่าแรง 450 บาทต่อวัน จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.82% ถ้าไม่มีการพัฒนาทักษะแรงงานให้เพิ่มขึ้นตามค่าแรงไปด้วย เช่นเดียวกับ ปัจจัยด้านราคาน้ำมันดีเซลที่อาจเพิ่มสูงขึ้น หาก 20 ก.ค.นี้ รัฐบาลไม่มีการยืดมาตรการลดภาษีสรรพสามิตลิตรละ 5 บาทต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นต้นทุนด้านขนส่ง กระทบต้นทุนประกอบการ ส่งต่อมายังราคาสินค้าอุปโภค บริโภคได้ โดยเฉพาะในหมวดอาหารที่ยังพบมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

"ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 10% จะมีผลต่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.3% สมมุติปรับค่าแรงรวดเดียว 450 บาท ตามนโยบายพรรคก้าวไกล จะกระทบเงินเฟ้อ ที่ 0.82%"

อย่างไรก็ตาม เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยที่น่าเป็นห่วงมากสุด คือ ภาคการส่งออก โดยวันนี้ ที่ประชุม กกร. มีความกังวล เรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยอย่างมาก ซึ่งติดลบติดต่อกันมาแล้ว 7 เดือน เกิดภาพ คำสั่งซื้อลดลง ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังคงต้องรักษาการผลิตไว้ เพื่อพยุงการจ้างงานในระบบ ไม่ให้ได้รับผลกระทบ ซึ่งจากการสำรวจ มีถึง 19 กลุ่มอุตสาหกรรม จาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรมด้วยกัน ที่กระทบหนัก เช่น ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรกล และ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

"เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ขณะนี้มาจากภาคการท่องเที่ยว กับเป้าหมายต่างชาติ 30 ล้านคนในปีนี้ล้วนๆ รวมไปถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ฟื้นตัวได้ดี แต่อย่างไรก็ตาม การส่งออกยังน่าเป็นห่วง จากคำสั่งซื้อที่ชะลอลง กกร.เชื่อว่า ปีนี้อาจหดตัวจากปีที่ผ่านมา ราว -1% ดีสุด แค่ทรงตัว ภายใต้กรอบจีดีพีเดิม ขยายตัว 3-3.5% ขณะเงินเฟ้อ คำนวณจากตัวแปรใหม่ๆ คาดเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 2.7-3.2%"

นายผยง ระบุทิ้งท้าย ว่า การส่งออกที่ชะลอตัวของไทย มีแค่ 2 ทางเลือกในขณะนี้ คือ การประคองและปรับตัว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออก SME ที่เปราะบางมากที่สุดในระบบ เนื่องจาก เศรษฐกิจโลกที่แผ่วลง อยู่นอกเหนือการควบคุม อย่างไรก็ดี อยากให้รัฐบาล เข้าไปช่วยเหลือดูแล รวมไปถึง ใช้ช่วงจังหวะนี้ ปฏิรูป SME ว่าแต่ละเซกเตอร์ต้องพัฒนาอย่างไร โดยเฉพาะเรื่อง สินเชื่อ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างเรียบร้อย ขณะเดียวกัน มองว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย อาจซ้ำเติมต้นทุนผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ฉะนั้น กนง.ต้องรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งต่อไป


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์