3 กูรูฝากข้อคิดรัฐบาลใหม่ เก็บภาษีทุนใหญ่กระทบลงทุน-ฟื้นเศรษฐกิจ

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

3 กูรูฝากข้อคิดรัฐบาลใหม่ เก็บภาษีทุนใหญ่กระทบลงทุน-ฟื้นเศรษฐกิจ

Date Time: 30 พ.ค. 2566 06:30 น.

Summary

  • 3 กูรูเศรษฐกิจฝากปัญหา และข้อคิดต่อรัฐบาลใหม่ ตั้งคำถามลดค่าครองชีพ เก็บภาษีทุนใหญ่ ส่งเสริมการลงทุน โครงสร้างพลังงาน แนะคิดดีๆ ฟื้นเศรษฐกิจไทยทำอย่างไรจะต่อเนื่อง

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

3 กูรูเศรษฐกิจฝากปัญหา และข้อคิดต่อรัฐบาลใหม่ ตั้งคำถามลดค่าครองชีพ เก็บภาษีทุนใหญ่ ส่งเสริมการลงทุน โครงสร้างพลังงาน แนะคิดดีๆ ฟื้นเศรษฐกิจไทยทำอย่างไรจะต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันคึกฤทธิ์ 80 ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดเสวนาเรื่อง “ปัญหาเศรษฐกิจที่รอรัฐบาลใหม่” โดยนายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ และนายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย ร่วมเสวนา โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ดำเนินการเสวนา ซึ่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวถึงช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาว่า ไทยประสบ 2 ปัญหาหนักคือ วิกฤติโควิด-19 และวิกฤติราคาน้ำมันจากผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน แม้ 2 ปัญหาเริ่มดีขึ้น และบางกลุ่มมองว่า เมื่อนักท่องเที่ยวกลับมา เศรษฐกิจไทยจะไปต่อได้ แต่จริงๆ แล้ว ยังมีปัญหาอีกหลายข้อที่รอรัฐบาลใหม่แก้ไข ทั้งวิกฤติราคาน้ำมันและเงินเฟ้อที่ยังอยู่ เศรษฐกิจโลกผันผวน และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่กดดันเศรษฐกิจ

ค่าครองชีพสูงแต่รัฐถังแตก

ขณะที่นายณรงค์ชัย กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ตนให้ความสำคัญที่สุดคือค่าครองชีพสูง และลดลงไม่ได้ เงินเฟ้อ 2-3% ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย คาดว่าหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 31 พ.ค.นี้ จะเพิ่มอีก 0.25% และจะเริ่มหยุด “ค่าครองชีพที่สูงมาก ประชาชนขอให้รัฐบาลใหม่ช่วยแก้ไขและคุมราคาสินค้าบางประเภท แต่คงช่วยเหลือไม่ได้มาก เพราะฐานะการคลังไม่ดี รัฐบาลไม่มีสตางค์ หากใช้มากหนี้สาธารณะจะชนเพดาน 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) รัฐบาลที่บอกว่าให้โน่น ให้นี่ ให้ไม่ได้หรอกอย่าเชื่อมาก”

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อดีคือสภาพคล่องในประเทศมีมาก เงินสำรองระหว่างประเทศมีสูง ธนาคารพาณิชย์เข้มแข็ง ภาคธุรกิจยังดี สิ่งที่รัฐบาลทำได้คือ ทำโครงการให้เงินที่มีอยู่หมุนเวียนให้มากขึ้น และมีเงินกลับเข้ารัฐด้วย เช่น ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยเสริมสร้าง ลดอุปสรรค และอำนวยความสะดวกในการประกอบอาชีพ ในด้านการลงทุน การส่งออก อำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว เร่งรัดโครงการขยายใหญ่ของรัฐ

ดีเซลพุ่ง–โครงสร้างพลังงานไม่บิดเบี้ยว

ต่อข้อถามที่ว่า โครงสร้างราคาพลังงานของไทยบิดเบี้ยวหรือไม่ และต้องแก้ไขอย่างไร นายณรงค์ชัย กล่าวว่า คนจะซื้อพลังงานราคาถูกอย่างเดียว คงทำไม่ได้ ซึ่งโครงสร้างพลังงาน แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ค่าไฟฟ้า ซึ่งเราใช้ราคาพลังงานเดียวทั้งประเทศ ไม่ว่าผลิตจากพลังงานอะไร หากต้องการให้มีเอกชนมาช่วยผลิต เราต้องการันตีราคากับเขา ต้องมีสัญญา แต่สัญญามีอายุ ถ้าหมดอายุค่อยว่ากัน สัญญาเดิมแก้ไม่ได้ ถ้าแก้ไข โลกก็ต้องตั้งคำถามว่า สัญญาของไทยไม่แน่นอน แต่ถ้าหมดอายุ สามารถปรับใหม่ได้ก่อนต่ออายุ และอีกส่วนคือ ต้องมีพลังงานทดแทน

ส่วนราคาน้ำมัน เราต้องใช้ราคาตลาดโลก เพราะเราไม่ใช่แหล่งผลิตน้ำมัน และราคาสำเร็จรูปต้องอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ ถ้าปล่อยให้ตั้งราคาตามที่ประชาชนเรียกร้อง ก็ไม่มีใครมาลงทุน ส่วนก๊าซธรรมชาติเราใช้ราคาตลาดโลก ยกเว้นที่มีในอ่าวไทย ที่เป็นปัญหาขณะนี้คือ เราใช้ก๊าซในอ่าวไทยมากกว่าที่นำเข้า แต่ก๊าซที่มีเริ่มลดลง จึงต้องซื้อในตลาดโลกในช่วงที่เขารบกัน และราคาพุ่ง ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ต้องขึ้นด้วย และที่รัฐบาลใหม่ต้องดูคือ เราอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลมาตลอด แต่วันที่ 20 ก.ค.นี้ ภาษีสรรพสามิตดีเซลจะกลับมาเก็บลิตรละ 5 บาท และรัฐบาลรักษาการต้องขออนุญาตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการดำเนินการ ซึ่งจะใช้กองทุนน้ำมันช่วยเหลือประชาชนต่อ หรือปล่อยไป ต้องดูอีกที แต่เห็นว่าราคาน้ำมันที่เป็นธรรมคือใครใช้คนนั้นก็ต้องจ่าย

เก็บภาษีทุนใหญ่ฉุดลงทุน-ฟื้นเศรษฐกิจ

นายศุภวุฒิ กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งสะท้อนว่า คนไทยมองว่าเศรษฐกิจไทยโตช้า คนรวยกระจุก คนจนกระจาย ความเหลื่อมล้ำสูง ซึ่งนโยบายเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกล สรุปได้ 2 ข้อคือ 1.ทลายระบบทุนผูกขาด และ 2.ทำรัฐสวัสดิการ โดยเก็บภาษีคนรวยไปให้คนจน ลดความเหลื่อมล้ำ โดยใช้งบประมาณ 650,000 ล้านบาท ในขณะที่ไทยต้องการฟื้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง การเก็บภาษีจากกำไร เช่น ภาษีจากบริษัทขนาดใหญ่ ภาษีซื้อขายหุ้น ภาษีความมั่งคั่ง ส่วนหนึ่งจะกระทบผลตอบแทนการลงทุน และความอยากหรือไม่อยากลงทุน อีกทั้งขณะนี้โลกเป็นยุคดอกเบี้ยขาขึ้น แต่จะเก็บภาษีสูงขึ้น เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และราคาน้ำมันยังสูง จะกระทบความสามารถการลงทุน และการฟื้นเศรษฐกิจ
“นอกจากนั้น เศรษฐกิจต่างประเทศยังผันผวน โดยสหรัฐฯยังสู้กับเงินเฟ้อทำให้เร่งขึ้นดอกเบี้ย จนเศรษฐกิจถดถอย ยูเครนมีข่าวจะเตรียมยึดคืนพื้นที่ในยุโรปยังไม่รู้จะเป็นอย่างไร จีนเศรษฐกิจโตช้ากว่าที่คิด ไทยพึ่งพาการส่งออก หากความต้องการซื้อของโลกลดลง เราจะฟื้นตัวยากเช่นกัน ขณะที่เราต้องการการลงทุนใหม่ๆ การดูแลภาคเกษตร ภาคบริการ และการท่องเที่ยว ที่ช่วยฟื้นเศรษฐกิจแทนภาคอุตสาหกรรม และการส่งออก หากรัฐบาลต้องการเงินเพิ่มจริงๆ ก็มีวิธี แต่การเมืองไม่ชอบ คือ ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จริงๆ แวตไทยอยู่ที่ 10% แต่ลดมาที่ 7% ถ้าขึ้น 1% รัฐบาลจะได้เงินเพิ่ม 80,000 ล้านบาททันที”

3 กูรู แนะ 5 นโยบายควรทำทันที

ต่อข้อถามที่ว่า หากให้เลือกนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่ควรทำทันที นายณรงค์ชัยกล่าวว่า ข้อที่ 1 ลดค่าครองชีพ ซึ่งคงทำไม่ได้ จึงขอเปลี่ยนเป็นเพิ่มความสะดวกให้คนไทยทำมาหากินได้สะดวกขึ้น มีรายได้ที่จะลดหนี้ ข้อที่ 2 นำเทคโนโลยีใหม่ๆมาสร้างความสะดวกในการทำงานของเอกชน ข้าราชการ ช่วยให้มีความรู้ มีโอกาสประกอบอาชีพมากขึ้น

ข้อที่ 3 นายศุภวุฒิ กล่าวว่า ปฏิรูปกฎระเบียบราชการ และกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากิน และข้อ 4 เร่งปฏิรูปการศึกษา เพิ่มจำนวนครูให้เพียงพอ ทำให้ครูมีรายได้เพิ่มขึ้น และลดหนี้ครู

สำหรับข้อ 5 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า แก้ไขจำนวนแรงงานที่จะลดลงมากใน 10 ปีข้างหน้า ปรับปรุงกฎเกณฑ์การเข้ามาของแรงงานต่างด้าวให้สะดวกและง่ายขึ้น เพื่อคงการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ทั้ง 3 ท่านเห็นด้วยกับการทลายทุนผูกขาด แต่ต้องทำอย่างเหมาะสม โดยเพิ่มความสามารถของ รายเล็ก และเพิ่มการแข่งขัน ส่วนสิ่งที่ฝากไว้คือ จัดทำงบประมาณฐานศูนย์ แม้เป็นเรื่องดี แต่ไม่อยากให้ทำปีนี้ เพราะงบประมาณจะพังหมด ควรเริ่มปีหน้า.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ