ธนันธร มหาพรประจักษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้นำชาติสมาชิกประชาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 42 ที่จัดขึ้นที่เมืองลาบวน บาโจ เมืองท่องเที่ยวขนาดเล็กของอินโดนีเซีย ประกอบด้วย อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเจ้าภาพและประธานอาเซียนในปีนี้ บรูไน กัมพูชา เวียดนาม ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ผู้แทนไทย และติมอร์-เลสเต ในฐานะผู้สังเกตการณ์ บางขุนพรหมชวนคิดจึงขอนำประเด็นที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังค่ะ
สำหรับประเด็นที่ผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนหยิบยกหารือ มีทั้งความคืบหน้าของแนวทางการขับเคลื่อนอาเซียนที่แนวคิดหลักของปีนี้คือ บทบาทอาเซียนที่มีความสำคัญใน “ฐานะศูนย์กลาง สรรค์สร้างความเจริญ” (ASEAN Matters: Epicentrum of Growth) โดยตั้งเป้าให้เศรษฐกิจของชาติสมาชิกอาเซียนเติบโตอย่างรวดเร็ว ครอบคลุม และยั่งยืน ผ่านสามเสาหลักได้แก่ การเมือง-ความมั่นคง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม-สังคม ของประชาคมอาเซียน โดยในปีนี้ได้หารือเกี่ยวกับแนวทางเสริมศักยภาพของอาเซียนเพื่อรับมือปัญหาและความท้าทายต่างๆ ภายใต้ความผันผวนที่มากขึ้นจากบรรยากาศการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีนในภูมิภาค และการคงความสำคัญของอาเซียนในการเป็นศูนย์กลางของการเจริญ เติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยุติการใช้กำลังและความรุนแรงทุกรูปแบบโดยทันที รวมทั้งเน้นย้ำถึงการจัดการผลกระทบจากการขยายตัวของอาชญากรรมข้ามชาติโดยเฉพาะการค้ายาเสพติดและการค้ามนุษย์ในภูมิภาคที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด
ทั้งนี้ ผู้นำอาเซียนได้ร่วมกันรับรองเอกสารสำคัญหลายเรื่องครอบคลุมทั้งการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล ด้านพลังงาน การชำระเงินด้วยระบบดิจิทัล และระบบนิเวศสำหรับการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในภูมิภาค ที่แต่ละ ประเทศจะพึ่งพากัน อาศัยจุดแข็งของแต่ละประเทศ เช่น ไทยมีโครงสร้างพื้นฐาน และห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่พร้อมปรับเปลี่ยน อินโดนีเซียมีทรัพยากรสำคัญอย่างนิกเกิลที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นแบตเตอรี่ EV ได้ เพื่อให้อาเซียนเป็นจุดศูนย์กลางการผลิต EV ในระดับโลก โดยส่งเสริมให้เกิด การกระจายตัวของการลงทุน การส่งเสริมการลงทุนที่ยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือและประสานงานทั้งจากภายในประเทศสมาชิก ภาคีภายนอกและภาคเอกชน เช่น การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ความร่วมมือระยะยาว ในการวิจัยและพัฒนา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
นอกจากนี้ มีการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนอาเซียน ทั้งการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน ร่วมกับลาว และเมียนมาด้วย “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส” ที่เสนอโดยไทย โดยมุ่งลดจุดความร้อนตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมกลไกความร่วมมือทุกระดับ แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ สร้างเครือข่ายตรวจวัดคุณภาพอากาศ และการตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นแนวทางของอาเซียนในการจัดการกับปัญหาหมอกควันข้ามแดน การผลักดันความตกลงด้านการให้ความช่วยเหลือคนอาเซียนในต่างแดน ระหว่างประเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจาที่มีศักยภาพ และการรักษาความเป็นกลางของอาเซียนท่ามกลางสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ และมีปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจทุกฝ่ายอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ ติมอร์-เลสเต จะลงนามในเอกสารต่างๆ ประกอบแผนการดำเนินการสำหรับการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนลำดับที่ 11
ด้วยความมุ่งมั่นร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดของประเทศสมาชิก เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองและขีดความสามารถการแข่งขันของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศ จะก่อให้เกิดประโยชน์กับแต่ละประเทศและภูมิภาคโดยรวม ซึ่งจะช่วยให้อาเซียนมีความแข็งแกร่ง มีภูมิต้านทานที่ดีในการรับมือกับปัญหาใหม่ๆระดับโลก รวมถึงเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปค่ะ.