เปิดพันธกิจ “พิมพ์ชนก” ทูตไทยใน WTO ลดอุปสรรคประเทศกำลังพัฒนาผลิตยาต้านโรคระบาด

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เปิดพันธกิจ “พิมพ์ชนก” ทูตไทยใน WTO ลดอุปสรรคประเทศกำลังพัฒนาผลิตยาต้านโรคระบาด

Date Time: 18 พ.ค. 2566 07:33 น.

Summary

  • เปิดภารกิจทูตไทยประจำ WTO/WIPO คนไทยคนแรกที่ได้ตำแหน่งนั่ง “ประธาน” คณะมนตรีความตกลงทรัพย์สินทางปัญญา เดินหน้าเจรจาขยายขอบเขตยกเว้นปฏิบัติตาม TRIPs ชั่วคราวเพื่อให้สมาชิกผลิตสินค้า และผลิตภัณฑ์รักษาและวินิจฉัยโควิด-19 รวมถึงโรคระบาดอื่นได้ แม้มีสิทธิบัตรคุ้มครอง

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

เปิดภารกิจทูตไทยประจำ WTO/WIPO คนไทยคนแรกที่ได้ตำแหน่งนั่ง “ประธาน” คณะมนตรีความตกลงทรัพย์สินทางปัญญา เดินหน้าเจรจาขยายขอบเขตยกเว้นปฏิบัติตาม TRIPs ชั่วคราวเพื่อให้สมาชิกผลิตสินค้า และผลิตภัณฑ์รักษาและวินิจฉัยโควิด-19 รวมถึงโรคระบาดอื่นได้ แม้มีสิทธิบัตรคุ้มครอง

นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WTO และ WIPO) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ นสพ.ไทยรัฐ ว่า ตนได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีสำหรับความตกลงว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (TRIPS Council) ภายใต้ WTO นับเป็นคนไทยคนแรกที่ดำรงตำแหน่งสำคัญนี้

โดยมีหน้าที่กำกับดูแลให้สมาชิกปฏิบัติตามความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPS) และดูแลการเจรจาประเด็นเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา “เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่เป็นคนไทยคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้ และยินดีที่จะรับบทหนักตลอดทั้งปีนี้ หวังว่าจะปฏิบัติหน้าที่ได้ดี แม้จะเป็นงานช้างพอสมควร เพราะงานของคณะมนตรี TRIPS เป็นเรื่องยากที่สุดเรื่องหนึ่งของ WTO”

เร่งหาข้อสรุป TRIPs Waiver

นางพิมพ์ชนก กล่าวว่า ปีนี้มีประเด็นสำคัญที่ต้องเจรจา ได้แก่ ขยายขอบเขตการยกเว้นปฏิบัติตาม TRIPS บางส่วนเป็นการชั่วคราว (TRIPS Waiver) เพื่อให้สมาชิกสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ แม้ยังมีสิทธิบัตรคุ้มครอง ซึ่งเป็นประเด็นที่ทุกประเทศสนใจ และเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั้งโลก

สำหรับการ TRIPS Waiver เป็นผลจากในช่วงโควิดระบาดเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศกำลังพัฒนา และพัฒนาน้อยที่สุด มีข้อจำกัดการเข้าถึงวัคซีน และยาที่จำเป็น ทำให้องค์กรระหว่างประเทศ เช่น WTO, องค์การอนามัยโลก (WHO), องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ฯลฯ พยายามหาทางลดอุปสรรคในการเข้าถึง และการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 12 เดือน มิ.ย.65 มีข้อตกลงให้ยกเว้นการปฏิบัติตาม TRIPS บางส่วนเป็นการชั่วคราว เพื่อให้สามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้แม้มีสิทธิบัตรคุ้มครอง

แต่การเจรจา TRIPS Waiver ยังไม่จบในปีนี้ ต้องเจรจาต่อว่าจะขยายขอบเขตของการยกเว้นปฏิบัติตามพันธกรณีออกไปให้ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ใช้วินิจฉัยและรักษาโรคโควิด รวมถึงโรคระบาดอื่นๆ นอกเหนือจากการผลิตวัคซีนป้องกันโควิดหรือไม่ เพื่อปลดล็อกให้ผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องอ่อนไหวมากสำหรับหลายประเทศ “สมาชิกคาดหวังว่าประธาน TRIPS Council จะทำให้หันหน้าหารือกันอย่างมีเหตุผล เพื่อหาข้อยุติเรื่องขยายขอบเขต waiver ให้ได้เร็วที่สุด สอดคล้องกับท่าทีของไทยที่เน้นการปฏิบัติได้จริง และไม่มีปัญหากับทุกฝ่าย”

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่นที่ค้างการเจรจามา เช่น การฟ้องร้องภายใต้กลไกระงับข้อพิพาทของ WTO กรณีได้รับความเสียหาย หรือเสียประโยชน์จากพันธกรณี แม้ไม่ได้ละเมิดความตกลง บทบาทของทรัพย์สินทางปัญญาในการพัฒนานวัตกรรม การสร้างสรรค์ การพัฒนาประเทศ แก้ปัญหาโลกร้อน เป็นต้น

GI ไทยเป็นเลิศโลกแห่ชื่นชม

สำหรับการดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทยนั้น นางพิมพ์ชนก กล่าวว่า WTO และ WIPO รวมถึงประเทศต่างๆ ล้วนชื่นชมอย่างมาก โดยเฉพาะสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และการยกระดับกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรม

“WIPO ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคเกี่ยวกับ GI ที่ไทยเมื่อปลายปี 65 ทุกประเทศที่เข้าร่วมต่างชื่นชมระบบการบริหารจัดการ และศักยภาพสินค้า GI ไทยอย่างมาก ถึงขนาด WIPO ยกว่าควรให้ไทยเป็นตัวอย่างของประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ”

ส่วนการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา แม้ยังมีอยู่บ้าง แต่ไทยยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันการละเมิดให้ครอบคลุมด้านต่างๆมากขึ้น เช่น อินเตอร์เน็ต อีกทั้งการยกระดับบังคับใช้กฎหมายก็เป็นที่ยอมรับเช่นกัน

นอกจากนี้ มองว่านโยบาย หรือกิจกรรมบางอย่างของ WIPO ที่กำลังดำเนินการขณะนี้ มีประโยชน์สำหรับไทย และน่าจะนำมาเป็นแนวทางดำเนินการ โดยเฉพาะการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปสู่การใช้ประโยชน์โดยกลุ่มต่างๆ ทั้งนักธุรกิจรุ่นใหม่ ผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ด้านดิจิทัล การนำ blockchain มาใช้ในทรัพย์สินทางปัญญา การสนับสนุนให้เกษตรกรรุ่นใหม่ ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก และผู้หญิง มีบทบาทมากขึ้น

หนุนลดบิดเบือนเกษตร-ประมง

ส่วนการเจรจาใน WTO นั้น นางพิมพ์ชนก กล่าวว่า มีเรื่องสำคัญที่ต่อเนื่องจากการประชุมครั้งที่ 12 คือ การเจรจาเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การเจรจาอุดหนุนประมง การเจรจาขยายขอบเขต TRIPS Waiver การเจรจาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการค้าดิจิทัล การปฏิรูป WTO รวมถึงเรื่องที่เพิ่มความสำคัญมากขึ้น คือ การค้ากับสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน การทบทวนกฎเกณฑ์อุดหนุนภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น

“การเจรจาเกษตร ซับซ้อนและยากที่สุด เนื่องจากเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความท้าทายใหม่ๆ โดยเฉพาะโลกยุคหลังโควิด และความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ที่กระทบความมั่นคงอาหาร”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ดูเหมือนว่า การเจรจาเกษตรจะถูกนำไปรวมกับความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งไทยไม่ขัดข้อง แต่ในระยะยาวต้องให้ความสำคัญกับการปฏิรูปกฎเกณฑ์การค้าเกษตร เพื่อลดการอุดหนุนที่บิดเบือนการค้า หรือการใช้มาตรการบางอย่างที่ทำให้บางประเทศได้เปรียบการส่งออกอย่างไม่ยุติธรรม

“ไทยให้ความสำคัญกับการเจรจาเกษตร และประมงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญาที่สำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรม และสาธารณสุข แต่เราก็มีบทบาทสำคัญในเรื่องใหม่ๆ โดยเฉพาะการค้าดิจิทัล การค้ากับโลกร้อน ความมั่นคงทางอาหาร เพราะไทยมีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาในเรื่องเหล่านี้ และสามารถเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดโลกได้ต่อไป”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ