นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยหลังหารือร่วมกับภาคเอกชน คือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยคาดว่าปีนี้การส่งออกอาหารไทยจะมีมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.1% จากปีที่ผ่านมา และเป็นสถิติสูงสุดครั้งใหม่ โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลัก คือ ความต้องการของทั่วโลกที่สูงขึ้น จากการเปิดประเทศหลังโควิด-19 การฟื้นฟูเศรษฐกิจ การขาดแคลนอาหาร ความกังวลเรื่องความมั่นคงอาหาร ทำให้หลายประเทศสำรอง อาหารเพิ่มมากขึ้น เพราะอาหารของไทยมีคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัย เมื่อจีนเปิดประเทศและยกเลิกมาตรการซีโร่ โควิด ทำให้ปริมาณการค้าสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้า ที่มีตลาดทางตอนใต้ของจีน เช่น ไก่แช่แข็ง
สำหรับปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จากราคาพลังงาน อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าแก๊ส จึงขอเสนอให้รัฐบาลใหม่พัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร เพราะเป็นรากฐานและเป็นซอฟต์เพาเวอร์ หากได้รับการสนับสนุน จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนฐานราก ช่วยยกระดับประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มรายได้สูงได้
“ไตรมาส 1 ปีนี้พบว่า ไทยส่งออกอาหารได้ 346,379 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สินค้าที่การส่งออกขยายตัวดี ได้แก่ น้ำตาลทราย เพิ่มขึ้น 37%, ข้าว เพิ่มขึ้น 29%, ไก่ เพิ่มขึ้น 14%, ผลไม้สด เพิ่มขึ้น 59% แต่ยังมีสินค้าที่หดตัว เพราะวัตถุดิบลดลง ราคาสูงขึ้น เช่น แป้งมันสำปะหลัง กุ้ง สับปะรด และคาดว่าไตรมาส 2 การส่งออกจะหดตัว และกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง”.