TDRI วิพากย์นโยบายหาเสียง 6 พรรคการเมืองใน 4 ปีข้างหน้า สร้างภาระการคลัง ทำงบขาดดุลเพิ่มขึ้น

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

TDRI วิพากย์นโยบายหาเสียง 6 พรรคการเมืองใน 4 ปีข้างหน้า สร้างภาระการคลัง ทำงบขาดดุลเพิ่มขึ้น

Date Time: 8 พ.ค. 2566 18:11 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • TDRI ออกบทวิเคราะห์เรื่องต้นทุนทางการเงินของนโยบายและที่มาของเงิน เพื่อตั้งข้อสังเกตต่อคุณภาพของข้อมูลที่พรรคการเมืองนำเสนอต่อประชาชน โดยวิเคราะห์จากเอกสารที่พรรคการเมืองยื่นเสนอต่อกกต.

Latest


คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เผยแพร่ บทวิเคราะห์เรื่องต้นทุนทางการเงินของนโยบายและที่มาของเงิน เพื่อตั้งข้อสังเกตต่อคุณภาพของข้อมูลที่พรรคการเมืองนำเสนอต่อประชาชน โดยวิเคราะห์จากเอกสารที่พรรคการเมืองยื่นเสนอต่อ กกต. 

โดยเมื่อพิจารณาจากเอกสารของพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 จำนวน 6 พรรค คือ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ (ซึ่งรวมพรรครวมไทยสร้างชาติในปัจจุบันด้วย) พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคก้าวไกล (พรรคอนาคตใหม่เดิม) พบว่ามี 4 พรรคที่มีนโยบายซึ่งต้องใช้งบประมาณมากในระดับ 1 ล้านล้านบาท ตามลำดับดังนี้ พรรคภูมิใจไทย (1.9 ล้านล้านบาท) พรรคเพื่อไทย (1.8 ล้านล้านบาท) พรรคก้าวไกล (1.3 ล้านล้านบาท) และพรรคพลังประชารัฐ (1.0 ล้านล้านบาท) 

นโยบายเกือบทุกพรรคน่าจะทำให้มีการใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นจนขาดดุลอย่างมากในช่วง 4 ปีหน้า ซึ่งนอกจากจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วแล้วยังอาจทำให้เศรษฐกิจขาดเสถียรภาพ เพราะขยายตัวในระดับที่ร้อนแรงเกินไป ภายใต้สภาพที่ความเสี่ยงของเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (Demand-pull inflation) ที่ยังไม่ผ่อนคลาย และหากเงินเฟ้อขยับสูงขึ้นต่อเนื่องจนไม่สามารถควบคุมได้ จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และทำให้ ธปท. ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินของธุรกิจและซ้ำเติมภาวะหนี้ครัวเรือนซึ่งอยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว 

ข้อสังเกตต่อเอกสารของแต่ละพรรคการเมือง

พรรคพลังประชารัฐ – ใช้เงินนอกงบประมาณเสมือนไม่มีต้นทุนที่มาของเงินในการดำเนินนโยบายจะมาจากงบประมาณประจำปีปกติ การเพิ่มประสิทธิภาพ

การจัดเก็บรายได้และการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่ รวมทั้งรายได้ภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้น เศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามพรรคพลังประชารัฐไม่ได้ให้รายละเอียดในส่วนนี้ไว้เลย ทำให้ไม่มีความชัดเจน

นอกจากนี้ยังมีนโยบาย “น้ำมันประชาชน” ซึ่งอ้างว่าจะไม่ใช้งบประมาณของรัฐ แต่จะใช้การลดราคาน้ำมัน โดยงดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ภาษีท้องถิ่น กองทุนน้ำมันและกองทุนอนุรักษ์พลังงานเป็นเวลาไม่เกิน 1 ปี ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด เนื่องจากนโยบายเหล่านี้จะมีผลต่อภาระการคลัง ของรัฐอย่าง ในรูปของการขาดดุลการคลังและการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ โดยการงดจัดเก็บภาษีน้ำมันจะทำให้รัฐเสียรายได้ปีละ1.4 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบันกองทุนน้ำมันติดลบ อยู่แล้วกว่า 8.5 หมื่นล้านบาท ในขณะที่การงดเงินสมทบกองทุนน้ำมัน และกองทุนอนุรักษ์พลังงาน จะทำให้กองทุนไม่สามารถทำหน้าที่ได้

พรรคเพื่อไทย – มองการขยายตัวเศรษฐกิจดีเกินจริง

พรรคเพื่อไทย นำเสนอนโยบาย 70 นโยบาย โดยระบุว่าจะต้องใช้เงินเพิ่มอีก 1.8 ล้านล้านบาท นโยบายที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ การแจกเงินดิจิทัลให้ประชาชนคนละ 1 หมื่นบาท ซึ่งจะใช้เงิน 5.6 แสนล้านบาท โดยมีที่มาของเงินจาก 4 แหล่ง ได้แก่ 

(1) รายรับจากภาษีของรัฐบาลในปี 2567 ซึ่งประมาณการว่าจะเพิ่มขึ้น 2.6 แสนล้านบาท 

(2) การจัดเก็บภาษีที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 1 แสนล้านบาท                                

(3) การบริหารจัดการงบประมาณ 1.1 แสนล้านบาท                                                        

(4) การบริหารงบประมาณสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 9 หมื่นล้านบาท

การใช้แหล่งเงิน (1), (3) และ (4) จะมีผลกระทบต่องบค่าใช้จ่ายอื่นๆ  ส่วนรายได้ภาษีจาก (2) น่าจะมีความเสี่ยงสูงมากเพราะยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะนี้จะส่งผลลัพธ์อย่างไร โดยนักเศรษฐศาสตร์ยังไม่สามารถสรุปขนาดของ “ตัวคูณทางเศรษฐกิจ” (multiplier) ได้เพราะขึ้นกับปัจจัยต่างๆ มากมาย อย่างไรก็ตามพรรคเพื่อไทยน่าจะใช้ค่าตัวคูณทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง ซึ่งมีโอกาสที่จะสูงกว่าความเป็นจริง โดยไม่ได้ระบุถึงความเสี่ยงในการเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้าหมายดังกล่าว 

พรรคก้าวไกล – จัดทำเอกสารดี แต่นโยบายมีความเสี่ยงที่จะถูกต่อต้าน              

นโยบายต่างๆ ของพรรคระบุว่าจะใช้เงิน 1.3 ล้านล้านบาท โดยนโยบายที่ใช้เงินมากที่สุดคือ สวัสดิการสูงอายุ ใช้งบ 5 แสนล้านบาทต่อปี เพิ่มขึ้น 4.2 แสนล้านบาท จากโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุปัจจุบัน  และนโยบายที่ใช้เงินรองลงมาคือ จังหวัดจัดการตนเอง ใช้งบ 2 แสนล้านบาท โดยมีที่มาจากการเกลี่ยงบประมาณของกระทรวงต่างๆ มาให้จังหวัดในส่วนแหล่งที่มาของเงินที่ต้องใช้เพิ่มจะจัดเก็บรายได้ภาครัฐในรูปแบบใหม่และปรับปรุงระบบภาษี ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่ม 6.5 แสนล้านบาทต่อปี รวมถึงปฏิรูปกองทัพซึ่งจะทำให้ประหยัดงบประมาณ และมีรายได้เพิ่ม 5 หมื่นล้านบาทต่อปี   โดยรวมแล้ว พรรคก้าวไกลจัดทำเอกสารที่ค่อนข้างละเอียด แจกแจงต้นทุนและที่มาของแหล่งเงินชัดเจนกว่าพรรคอื่น ใช้ตัวเลขงบประมาณของปี 2570 และไม่ได้ใช้ “เงินนอกงบประมาณ” ทำให้สามารถอุดช่องโหว่ปัญหาวินัยการคลังในอดีต

อย่างไรก็ตามพรรคก้าวไกลยังไม่ได้ให้รายละเอียดที่ชัดเจนในเอกสารที่เสนอต่อ กกต. ว่าจะจัดเก็บรายได้ภาครัฐรูปแบบใหม่และปรับปรุงระบบภาษีอย่างไร

พรรคภูมิใจไทย – รายงานนโยบายไม่ครบ

โดยพรรคมีการระบุวงเงินนโยบายสูงที่สุดที่ 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งใช้เงินสูงที่สุดใน 6 พรรค ส่วนใหญ่เป็นเงินสำหรับลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ซึ่งบางส่วนน่าจะเป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) นอกจากนี้พรรคภูมิใจไทยยังใช้ “เงินนอกงบประมาณ” สูงถึงปีละ 7 แสนล้านบาทจากนโยบาย “เงินกู้ฉุกเฉิน 50,000 บาท” แก่ประชาชน โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์และไม่ต้องค้ำประกัน ซึ่งทางปฏิบัติน่าจะต้องใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ รวมถึงมีนโยบายใช้หาเสียงที่ยังไม่ได้แจ้งต่อ กกต. เช่น นโยบาย “พักหนี้ 3 ปี หยุดต้นปลอดดอกเบี้ย คนละไม่เกิน 1 ล้านบาท”, นโยบาย “เกษตรกรร่ำรวย รู้ราคาก่อนปลูก รับเงินก่อนขาย เสียหายมีประกัน”

พรรคประชาธิปัตย์ – ตั้งกองทุนไม่มีรายละเอียด

นโยบายที่นำเสนอทั้ง 11 ชุดที่จะใช้เงินทั้งสิ้น 6.9 แสนล้านบาทต่อปี โดยเป็นการใช้เงินนอกงบประมาณ 4.6 แสนล้านบาท ทั้งนี้นโยบายที่ใช้เงินมากที่สุดคือนโยบาย “สตาร์ทอัพ-SME มีแต้มต่อ” ซึ่งมีวงเงิน 3 แสนล้านบาท และนโยบาย “ธนาคารหมู่บ้าน-ชุมชน” ซึ่งมีวงเงิน 1.6 แสนล้านบาท โดยทั้งสองนโยบายจะใช้เงินนอกงบประมาณซึ่งไม่ได้ระบุรายละเอียดที่มาของเงิน

และมีการระบุรายได้จาก 3 แหล่งใหญ่คือ (1) การปรับลดงบประมาณบางรายการ (เช่นงบกลาง) ลง 1 แสนล้านบาท (2) การจัดเก็บภาษีใหม่จากกลุ่มผู้มีรายได้สูง 3.2 หมื่นล้านบาท และ (3) การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี 1 แสนล้านบาท

โดยไม่ได้ให้รายละเอียดว่าภาษีใหม่คือภาษีอะไร และจะมีหลักประกันในการจัดเก็บอย่างไร เมื่อพิจารณาจากประสบการณ์ที่ว่ารัฐบาลปัจจุบันสามารถจัดเก็บภาษีมรดกและภาษีที่ดินได้น้อยมาก

พรรครวมไทยสร้างชาติ – ระบุต้นทุนการเงินต่ำกว่าจริง

เป็นพรรคที่ระบุวงเงินนโยบายต่ำที่สุด ในบรรดา 6 พรรค ซึ่งเป็นต้นทุนที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เช่น โยบาย “เพิ่มสิทธิบัตรสวัสดิการพลัสเป็น 1,000 บาทต่อเดือน” จะใช้เงินเพียง 7.1 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งที่หากจะให้ผู้ที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.6 ล้านคน (ตัวเลขในปี 2565) คนละ 1 พันบาทต่อเดือน จะต้องใช้เงินทั้งสิ้น 1.75 แสนล้านบาทต่อปี และการประมาณการต้นทุนของนโยบายลดต้นทุนของเกษตรกร (ช่วยค่าเก็บเกี่ยวของเกษตรกรไร่ละ 2,000 บาทโดยให้ความช่วยเหลือไม่เกินครัวเรือนละ 5 ไร่) ซึ่งระบุว่าจะใช้เงินเพียง 6 พันล้านบาทต่อปี แต่หากพิจารณาเฉพาะครัวเรือนเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปีในปี 2564 ก็มีถึง 4.18 ล้านครัวเรือนแล้ว  ซึ่งหากให้ครัวเรือนละ 1 ไร่ ก็จะต้องใช้เงิน 8.3 พันล้านบาท. 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ