สร้างโดยไม่ทำลาย : Creative Destruction สู่ Nondisruptive Creation

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

สร้างโดยไม่ทำลาย : Creative Destruction สู่ Nondisruptive Creation

Date Time: 6 พ.ค. 2566 07:06 น.

Summary

  • ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคม ที่ดูจะเกิดขึ้นด้วยความเร็วและความแรงมากกว่าที่เคยคาดไว้ นวัตกรรมจำนวนมากเกิดขึ้นภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดที่เรียกกันว่า Disruption

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

ดร.นครินทร์ อมเรศ ฝ่ายยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างองค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคม ที่ดูจะเกิดขึ้นด้วยความเร็วและความแรงมากกว่าที่เคยคาดไว้ นวัตกรรมจำนวนมากเกิดขึ้นภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดที่เรียกกันว่า Disruption จนอาจก่อให้เกิดความสงสัยว่าเราจะต้องทำลายเสียก่อนจึงจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆได้เท่านั้นหรือไม่

ตามทฤษฎี Creative Destruction ของ Joseph Schumpeter ที่เผยแพร่ตั้งแต่ปี 1942 โดยอรรถาธิบายว่า นวัตกรรมจะสร้างตลาดใหม่ขึ้นมาทำลายและเปลี่ยนผ่านตลาดเก่า น่าสังเกตว่า แนวคิดนี้ไม่ได้มองโลกในแง่ร้ายจนเกินควร เพราะยังได้ต่อขยายให้ว่าผู้เล่นเดิมๆ ในตลาดเดิมๆจะสามารถถ่ายเททรัพยากรมาร่วมด้วยช่วยกันผลิตนวัตกรรมใหม่ได้ กระนั้นแล้วจำเป็นด้วยหรือที่เราต้องสรรค์สร้างด้วยการทำลายสิ่งอื่นๆลง เพื่อตอบคำถามนี้จะขอแลกเปลี่ยนมุมมองอีกด้าน คือ Nondisruptive Creation

ในบทบรรณาธิการของวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือน พ.ค.-มิ.ย.2023 อ้างอิงหนังสือใหม่ที่เพิ่งวางตลาด 2 พ.ค.นี้ “Beyond Disruption: Innovate and Achieve Growth without Displacing Industries, Companies, or Jobs” โดยสองอาจารย์ W.Chan Kim และ Renée Mauborgne เจ้าของหนังสือขายดีเรื่อง Blue Ocean Strategy ที่ลือลั่นกับการแนะนำให้ก้าวข้ามท้องน้ำสีแดงที่แข่งขันกันดุเดือดไปยังมหาสมุทรแห่งโอกาสสีฟ้า ผลการศึกษาในหนังสือเล่มใหม่กำหนดคุณสมบัติสามข้อของนวัตกรรมที่สร้างโดยไม่ทำลาย หรือ Nondisruptive Creation ซึ่งสร้างกิจกรรมใหม่ โดยไม่ทำให้บริษัทเก่าล้มลง ไม่ทำให้คนตกงาน และไม่ทำลายตลาดสินค้าและบริการเดิม

ประการแรก ไม่ได้เกิดขึ้นจำเพาะกับเพียงการค้นพบเทคโนโลยีใหม่ แต่อาจเกิดจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ก็ได้ ประการที่สอง เกิดขึ้นได้กับทั้งการค้นพบเป็นครั้งแรกของโลก หรือการนำเสนอสิ่งเก่าจากที่อื่นมาเป็นสิ่งใหม่ และประการสุดท้าย เกิดได้ในหลากหลายภูมิภาคทั่วโลก ทุกระดับการพัฒนาไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและสังคม

ตัวอย่างหนึ่งที่ถูกนำมาอธิบายนวัตกรรมประเภทนี้ คือ Microfinance หรือกลไกการปล่อยกู้รายย่อยโดยไม่ได้อาศัยหลักประกันตามปกติ ซึ่งได้ช่วยเหลือผู้คนในโลกไปแล้วกว่า 700 ล้านคนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น Muhammad Yunus เจ้าของแนวคิดดังกล่าว พบว่าคนยากจนขาดโอกาสในการเข้าถึง หรือได้รับโอกาสทางการเงินไม่เพียงพอ ไม่ได้รับสินเชื่อจากภาคการเงินในระบบที่ต้องมีการวิเคราะห์ผลตอบแทนตามต้นทุนความเสี่ยงอย่างเข้มงวด จึงได้ทำการจัดตั้ง Grameen Bank ธนาคาร microfinance อย่างเป็นทางการเป็นแห่งแรกของโลกในปี 1983 สร้างตลาดใหม่ให้ลูกค้าใหม่ คือ คนจนที่ไม่ได้รับโอกาสทางการเงินอย่างเพียงพอ โดยไม่ได้แข่งกับผู้ให้บริการทางการเงินในระบบเดิมแต่อย่างใด

ตัวอย่างอื่นๆ ที่สามารถนำมาพิจารณาต่อยอดได้อีกมาก อาทิ การสร้างตลาดให้กับลูกค้าคนสูงวัยที่กำลังจะกลายมาเป็นคนส่วนใหญ่ของหลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยในอีกไม่ช้าไม่นานนี้ หรือผู้ใช้บริการด้านดิจิทัลโดยเฉพาะข้อมูลซึ่งต้องการระบบรักษาความปลอดภัยและกำหนดสิทธิส่วนบุคคลเพิ่มมากขึ้นในโลกยุคใหม่ รวมถึงตลาดพลังงานทางเลือกในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานที่ไม่สะอาดไปเป็นพลังงานที่บริสุทธิ์ขึ้น

เมื่อวางหนังสือลงและเงยหน้าขึ้นจากโลกสวยๆ อันน่าตื่นเต้น เพื่อมาพบกับโลกจริงที่มีข้อเสนอมาตรการทางการเมืองในช่วงเลือกตั้งแล้ว หวังใจเป็นที่ยิ่งว่าจะมีพรรคการเมืองนำเสนอนโยบายที่ให้ผลลัพธ์ สร้างโดยไม่ทำลายเช่นกัน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ