แนวโน้มหนี้ครัวเรือนที่ดูเหมือนจะดี

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

แนวโน้มหนี้ครัวเรือนที่ดูเหมือนจะดี

Date Time: 3 พ.ค. 2566 12:05 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Summary

  • ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยจึงไม่ได้ดูน่าวางใจได้อย่างที่แนวโน้มตัวเลขภาพรวมปรับลดลง ที่สำคัญยังไม่ได้สะท้อนอีกมุมหนึ่งของหนี้ที่เกิดจากแหล่งเงินกู้นอกระบบที่ฝังลึกในสังคมไทยมายาวนาน

Latest


ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยจึงไม่ได้ดูน่าวางใจได้อย่างที่แนวโน้มตัวเลขภาพรวมปรับลดลง ที่สำคัญยังไม่ได้สะท้อนอีกมุมหนึ่งของหนี้ที่เกิดจากแหล่งเงินกู้นอกระบบที่ฝังลึกในสังคมไทยมายาวนาน 

การเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 ใกล้เข้ามาทุกขณะ หลายสายตาคงจับจ้องอยู่กับนโยบายที่พรรคการเมืองต่างทยอยนำออกมาหาเสียงโดยเฉพาะช่วงโค้งสุดท้าย แน่นอนว่าหนึ่งในนโยบายที่นำมาพูดถึงมากที่สุดทุกยุคสมัยคงหนีไม่พ้นนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันนับเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและเร่งด่วน

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ณ ไตรมาส 4 ปี 2565 อยู่ที่ 86.9% ปรับลดลงมาต่อเนื่อง 4 ไตรมาสติดต่อกัน จากที่เคยทะยานขึ้นไปอยู่ระดับสูงสุดที่ 90.8% ในช่วงต้นปี 2564 ทำให้ในภาพรวมเมื่อดูผิวเผินคงพอพูดได้ว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยเริ่มคลี่คลายลงบ้างแล้ว

แต่คำถามสำคัญคือตัวเลขที่ปรับดีขึ้นนี้สะท้อนสถานการณ์ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยได้ดีเพียงใด บทความนี้จึงอยากชวนติดตามสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวผ่านพ้นวิกฤติ COVID-19 รวมถึงแนวโน้มและความท้าทายข้างหน้าที่รอรัฐบาล(ใหม่)อยู่

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่ "เหมือน" จะดีขึ้น?

การลดลงของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในช่วงที่ผ่านมาสาเหตุหลักไม่ได้มาจากยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนที่ชะลอตัวลง แต่เป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปัจจัยด้านราคาตามเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น ทำให้มูลค่า GDP เติบโตเร็วกว่าหนี้ครัวเรือน

ในทางตรงกันข้าม หากพิจารณามูลค่าหนี้ครัวเรือนกลับพบว่าเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงราว 15.1 ล้านล้านบาท ในไตรมาส 4 ปี 2565 หรือขยายตัว 3.7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน1 ทั้งนี้แม้สินเชื่อส่วนบุคคลอาจขยายตัวชะลอลงบ้างแต่ถือว่ายังขยายตัวสูง

แนวโน้มการกู้ยืมเพื่อใช้จ่ายทดแทนการขาดสภาพคล่องในภาวะรายได้ฟื้นตัวช้าไม่ทันรายจ่ายที่กล่าวมานี้ สอดคล้องกับผลสำรวจ SCB EIC Consumer Survey 25662 ที่พบว่านับตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด มีผู้บริโภคมากถึง 40% ที่ไม่เคยมีหนี้ในช่วงก่อนหน้ากลับมีภาระหนี้มากขึ้น หรือเรียกได้ว่าเป็น “กลุ่มหนี้หน้าใหม่” อีกทั้งยังพบว่าจากปัญหาค่าครองชีพปรับสูงขึ้นต่อเนื่องในขณะที่รายได้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เพิ่งทยอยฟื้นตัว

ส่งผลให้ผู้บริโภคประมาณ 80% ตอบว่าประสบปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากหากเทียบกับผลสำรวจในปีก่อนที่พบว่า ผู้บริโภคราว 60% ต้องเผชิญกับปัญหาเดียวกันนี้ได้รับผลกระทบต่อเนื่องโดยตรงต่อความสามารถในการออม

โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้เกือบครึ่งหนึ่งไม่สามารถเก็บออมรายเดือนได้เลย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อยไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือนมีเพียงแค่ 7% ที่สามารถเก็บออมได้ทุกเดือน ทำให้ครัวเรือนเหล่านี้มีสภาพคล่องรองรับค่อนข้างน้อย และมีความเสี่ยงที่จะก่อหนี้เพิ่มขึ้นในอนาคต

หนี้นอกระบบยังเป็นโจทย์ท้าทาย

ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยจึงไม่ได้ดูน่าวางใจได้อย่างที่แนวโน้มตัวเลขภาพรวมปรับลดลง ที่สำคัญยังไม่ได้สะท้อนอีกมุมหนึ่งของหนี้ที่เกิดจากแหล่งเงินกู้นอกระบบที่ฝังลึกในสังคมไทยมายาวนาน ถึงแม้เรื่องนี้จะได้รับความสนใจจากหลายภาคส่วน รวมถึงมีข้อเสนอแนวทางแก้ไขมาโดยตลอด แต่ก็ยังคงไม่สามารถจัดการกับปัญหาหนี้ได้อย่างยั่งยืน

ผลสำรวจ SCB EIC Consumer Survey 2566 ชี้ว่าเงินกู้จากแหล่งเงินกู้นอกระบบ3 ยังเป็นแหล่งสำคัญต่อการก่อหนี้ของผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือนที่พึ่งพาหนี้นอกระบบคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของเงินกู้ทั้งหมด นอกจากนั้นยังพบว่าผู้บริโภคที่เป็นหนี้นอกระบบยังมีแนวโน้มก่อหนี้เพิ่มเติมใน 6 เดือนข้างหน้ามากกว่าผู้บริโภคที่พึ่งพาหนี้ในระบบเพียงประเภทเดียวอย่างมีนัยสำคัญ

ยิ่งตอกย้ำความเปราะบางต่อสถานการณ์หนี้ของผู้มีรายได้น้อยในระยะต่อไป สอดคล้องกับข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยในเอกสารแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนในปี 2566 ที่มีความกังวลต่อหนี้นอกระบบของครัวเรือนที่ส่วนใหญ่เป็นผลจากการเข้าไม่ถึงหนี้ในระบบเพราะมีรายได้ไม่แน่นอน โดยระบุว่าราว 42% ของกว่า 4,600 ครัวเรือนทั่วประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือแก้หนี้มีหนี้นอกระบบเฉลี่ยถึงคนละ 54,300 บาท

นอกจากนี้ ผลสำรวจ SCB EIC Consumer Survey 2566 ยังสะท้อนว่าระยะข้างหน้าในช่วง 6 เดือน ผู้บริโภคกว่าครึ่งมีแนวโน้มที่จะก่อหนี้เพิ่มขึ้น แต่วัตถุประสงค์ของการกู้เงินนั้นเปลี่ยนไป โดยตั้งแต่เกิดวิกฤติ COVID-19 การกู้ยืมของผู้บริโภคในภาพรวมส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ชดเชยสภาพคล่องเพื่อจ่ายค่าอาหารและสินค้าจำเป็นเป็นหลัก หรือคิดเป็น 27% ของเงินกู้ทั้งหมด 

อย่างไรก็ดีในระยะ 6 เดือนข้างหน้า ผู้มีหนี้ส่วนใหญ่กลับมีแนวโน้มจะกู้เงินเพื่อมาชำระหนี้เก่าที่มีอยู่มากขึ้นแทนที่จะถูกนำไปใช้ในค่าอาหารและสินค้าจำเป็นเช่นที่ผ่านมา นับเป็นข้อบ่งชี้สำคัญว่า ปัญหารายได้ฟื้นตัวไม่สอดคล้องกับรายจ่ายจะยังเป็นแรงกดดันให้ผู้บริโภคต้องเผชิญกับการก่อหนี้ต่อไป และติดอยู่ในกับดักหนี้ยาวนานผ่านวังวนของการใช้หนี้เพื่อต่อหนี้

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะลดลง แต่คงไม่เร็วนัก

ในระยะต่อไปแม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP น่าจะปรับลดลงแต่คงไม่เร็วนัก เนื่องจากครัวเรือนกลุ่มเปราะบางยังมีอยู่มากและมีแนวโน้มต้องการก่อหนี้สูงขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ผลจากปัจจัยด้านราคาจะทยอยลดลงตามแนวโน้มเงินเฟ้อที่ขยายตัวชะลอลงในปีนี้ นอกจากนี้ หนี้ครัวเรือนต่อ GDP เริ่มปรับตัวลดลงในอัตราที่ช้าลงมากในไตรมาส 4 ปี 2565 ที่ลดลงเพียงแค่ 0.1pp จากไตรมาสก่อนหน้า และนับเป็นการลดลงในอัตราต่ำที่สุดในรอบปี

แม้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป้าหมายหลักของการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน คือ การลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ลง (อย่างน้อยกลับมาอยู่ที่ 80% ได้ตามเป้าหมายตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนของ ธปท. ที่เผยแพร่ ณ เดือน กุมภาพันธ์ ปี 2566)

แต่โจทย์ที่จำเป็นและใหญ่กว่านั้นสำหรับรัฐบาล (ใหม่) และผู้เกี่ยวข้อง คือ ความท้าทายในการดูแลคุณภาพหนี้ให้เป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้มากกว่าเป็นหนี้ที่ถูกนำมาใช้เพื่อชดเชยสภาพคล่องที่เกินจำเป็น พร้อมกับการหาแนวทางสร้างรายได้ครัวเรือนให้เติบโตได้อย่างมั่นคง สามารถดึงหนี้นอกระบบให้กลับมาเป็นหนี้ในระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้แนวทางในการลดหนี้ครัวเรือนของไทยเป็นไปอย่างยั่งยืนและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น "จริงๆ" ได้สักที


บทความโดย ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ หรือ SCB EIC
eic@scb.co.th | EIC Online : www.scbeic.com 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ