จับตารัฐบาลชุดใหม่เงินพอ ทำตามที่หาเสียงหรือไม่ หลังนักวิเคราะห์ชี้งบปี66 เหลือแค่ 9.3 หมื่นล้าน

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

จับตารัฐบาลชุดใหม่เงินพอ ทำตามที่หาเสียงหรือไม่ หลังนักวิเคราะห์ชี้งบปี66 เหลือแค่ 9.3 หมื่นล้าน

Date Time: 17 เม.ย. 2566 10:55 น.

Video

วิธีเอาตัวรอดของ Wikipedia ไม่พึ่งโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แต่อยู่มาได้ 23 ปี | Digital Frontiers

Latest


ใกล้เข้ามาทุกขณะสำหรับการเลือกตั้งทั่วไป ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่หลายพรรคการเมืองเริ่มทยอยออกนโยบายหาเสียงกันอย่างมาก โดยเฉพาะในประชานิยม ทั้งการลดแลกแจกแถมต่างๆ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์กำลังจับตาถึงการขับเคลื่อนนโยบายหลังเลือกตั้ง เพราะล่าสุดบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส ได้เปิดเผยว่า รัฐบาลชุดใหม่จะมีเงินงบประมาณเหลือในปี 2566 ที่จะขับเคลื่อนนโยบายอยู่ที่ 9.3 หมื่นล้านบาท และจะสามารถกู้เงินได้อีกเพียง 1.56 ล้านล้านบาท ตามกรอบนโยบายหนี้สาธารณะที่จะไม่เกิน 70% ของ GDP

บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส เปิดเผยว่า ในช่วงเวลาที่เหลือไม่ถึง 1 เดือน ก็จะถึงกำหนดการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งในช่วงเวลานี้ พรรคการเมืองต่างๆ ก็ได้มีการนำเสนอ แนวนโยบายเชิงรุก เพื่อที่จะดึงฐานเสียงผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้เท่าที่ติดตาม รูปแบบของนโยบายต่างๆ ที่นำเสนอ ค่อนข้างจะโน้มเอียงไปทางประชานิยม โดยมุ่งเน้นไปที่การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่กระเป๋าประชาชนด้วยรูปแบบต่างๆ หรือ เสนอแนวนโยบายเพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ รวมไปถึงการจัดการกับภาระหนี้สินภาคครัวเรือน ทั้งนี้การเลือกเดินนโยบายดังกล่าว จำเป็นต้องมีงบประมาณสนับสนุน ทั้งนี้หากพิจารณาจากสถานะทางการเงิน-การคลังของบ้านเราแล้ว ถือว่ามีข้อจำกัดอยู่มากพอสมควร

ซึ่งจากการที่ ASPS Research ได้ประเมินหน้าตักสำหรับเม็ดเงิน ที่จะใช้ไปเพื่อสนองนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ แล้ว พบว่าในส่วนของงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน พบว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการจัดทำงบประมาณแบบสมดุลเพียง 2 ปี ส่วนอีก 18 ปี เป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล โดยหากนับยอดขาดดุลงบประมาณสะสม พบว่ามียอดสูงถึง 6.6 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นแหล่งที่มาหลักของภาระหนี้สาธารณะในปัจจุบัน ซึ่งมียอดล่าสุดอยู่ที่ 10.7 ล้านล้านบาท


สำหรับงบประมาณที่จะต้องใช้รองรับการใช้จ่ายตามนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ คืองบประมาณปี 2567 (1 ต.ค. 2566-30 ก.ย. 2567) เบื้องต้น ครม.ได้มีมติเห็นชอบงบประมาณ เมื่อ 14 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยเป็นงบประมาณรายจ่ายที่มีเม็ดเงินรวม 3.35 ล้านล้านบาท เป็นการจัดทำงบแบบขาดดุล 5.93 แสนล้านบาท

โครงสร้างดังกล่าว เห็นได้ว่างบประมาณเกือบทั้งหมด มีหน่วยงานที่เป็นผู้รับงบประมาณชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งก็หมายความว่า โอกาสที่จะถูกปรับลดไปเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์อื่น มีช่องทางที่ทำได้จำกัด ทั้งนี้งบประมาณที่อาจถูกเลือกเป็นเป้าหมายเพื่อเอามาดำเนินการตามนโยบายที่รัฐบาลใหม่ได้หาเสียงไว้ ได้แก่ งบประมาณส่วนที่เป็นรายจ่ายงบกลาง ซึ่งมียอดรวมอยู่ที่ 6.02 แสนล้านบาท แต่หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดของรายจ่ายงบกลาง ก็ยังพบว่าส่วนใหญ่มีหน่วยงานที่เป็นผู้รับงบประมาณอยู่แล้วเช่นกัน โดยหากยึดตามโครงสร้างในปีที่ผ่านๆ มา (ค่าเฉลี่ยปีงบประมาณ 2565-2566) พบว่าสัดส่วนของงบกลาง 54% เป็นรายการเบี้ยหวัด บำเหน็ด บำนาญ 13% เป็นค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลข้าราชการฯ อีก 12% เป็นเงินสำรอง เงินสมทบ เงินชดเชยข้าราชการ คงเหลือส่วนที่เป็นงบสำรองจ่ายเพื่อกรณี ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นส่วนที่ยังไม่มีแผนการใช้ หรือหน่วยงานรับงบประมาณที่ชัดเจน ราว 15% (ที่เหลือ 4% เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ) ซึ่งเงินในส่วนนี้สำหรับงบประมาณปี 2567 มียอด 9.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งพออนุมานว่า รัฐบาลสามารถนำไปใช้ เพื่อตอบสนองแนวนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทั้ง 9.3 หมื่นล้านบาท จะถูกนำไปใช้ตามนโยบายได้ทั้งหมด

สำหรับแหล่งเงินอื่น ทำได้ผ่านการจัดหารายได้เพิ่มเติม ซึ่งส่วนใหญ่คือการเก็บภาษีให้ได้เพิ่ม หรือต้องจัดหาจากการกู้ ซึ่งอาจออกเป็น พ.ร.ก.กู้เงินพิเศษฯ หรือปรับเพิ่มงบประมาณรายจ่าย ทำให้ขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อเปิดทางให้สามารถกู้ได้ แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องสัดส่วนการกู้เงินในโครงสร้างงบประมาณ และกรอบวินัยการคลัง ซึ่งกำหนดให้ต้องมีหนี้สาธารณะไม่เกิน 70% ของ GDP จากระดับปัจจุบันที่ 61.13% ซึ่งหากกู้จนเต็มเพดาน 70% ของ GDP (17.54 ล้านล้านบาท) จะกู้เพิ่มได้อีก 1.56 ล้านล้านบาท ซึ่งโดยหลักการแล้ว ไม่ควรใช้จนเต็มเพดาน

สรุป งบประมาณที่สามารถนำมากระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตมีอยู่ 2 ส่วน ได้แก่ 1. งบสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน ซึ่งเป็นส่วนที่ยังไม่มีแผนการใช้ หรือหน่วยงานรับงบประมาณที่ชัดเจน มียอด 9.3 หมื่นล้านบาท 2. การจัดหารายได้เพิ่มเติม อาทิ พ.ร.ก.กู้เงินพิเศษฯ ซึ่งกำหนดให้ต้องมีหนี้สาธารณะไม่เกิน 70% ของ GDP จะกู้เพิ่มได้อีก 1.56 ล้านล้านบาท

ภายใต้การเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามา นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองเป็นประเด็นที่ตลาดให้ความสนใจ สามารถแบ่งเป็น 4 ประเภทหลักๆ ได้แก่ การเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, การเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัล, การดูแลแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งในวันนี้จะนำเสนอใน 2 มาตรการแรก ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องใช้เม็ดเงินจากงบประมาณแผ่นดิน หรือการกู้เงินเพิ่มเติม

1. บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จาก 2 พรรค (พรรคพลังประชารัฐ / พรรครวมไทยสร้างชาติ)

1.1 เพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาท/เดือน ของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งถือเป็นการสานต่อนโยบายเดิมที่มีอยู่แล้วที่ 300 บาท/เดือน โดยเป็นสวัสดิการรูปแบบหนึ่ง ที่รัฐบาลมอบให้กับคนที่มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี สำหรับงบประมาณที่จะนำมาใช้เพื่อเพิ่มวงเงินในบัตรประชารัฐ จะนำมาจากงบประมาณในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของงบประมาณปี 2566 หลังจากได้รับเลือกตั้ง ทั้งนี้ประเมินมีผู้ได้รับสิทธิ์ ประมาณ 21.45 ล้านคน คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณเดือนละ 1.5 หมื่นล้านบาท หรือปีละ 1.8 แสนล้านบาท (เพิ่มเติมจากงบประมาณเดิมบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 300 บาท/เดือน อีก 1.02 แสนล้านบาท) ซึ่งหากอยู่ครบวาระ 4 ปี จะต้องใช้งบประมาณมากถึง 7.2 แสนล้านบาท โดยประชาชนจะได้รับเงินเยียวยาช่วยเหลือ เดือนละ 700 บาท ทันทีหลังจากที่พรรคพลังประชารัฐได้รับการแต่งตั้ง

1.2 เพิ่มบัตรสวัสดิการพลัส 1,000 บาท/เดือน ของพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นนโยบายเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ แต่ให้วงเงินมากกว่าที่ 1,000 บาท/เดือน ทั้งนี้หากประมาณการคนได้รับสิทธิ์เท่ากับนโยบายด้านบนที่ 21.45 ล้านคน คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณเดือนละ 2.1 หมื่นล้านบาท หรือปีละ 2.5 แสนล้านบาท (เพิ่มเติมจากงบประมาณเดิมบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 300 บาท/เดือน อีก 1.80 แสนล้านบาท) ซึ่งหากอยู่ครบวาระ 4 ปี จะต้องใช้งบประมาณมากถึง 1 ล้านล้านบาท

โดยรวมนโยบายดังกล่าวคาดเป็นประโยชน์ต่อหุ้นกลุ่มค้าปลีก กลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค กลุ่มอาหาร และกลุ่มเช่าซื้อ


2. เติมเงินกระเป๋าดิจิทัล 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทย ให้กับประชาชนทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี กำหนดให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน โดยให้ใช้จ่ายภายในรัศมี 4 กม. จากที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน วงเงินที่ต้องใช้ตามนโยบายนี้ มีมูลค่าประมาณ 5 แสนล้านบาท ถึงแม้ผู้ออกนโยบายจะยืนยันว่า ไม่ใช่เงินสกุลใหม่ ไม่กระทบทุนสำรอง ไม่มีความผันผวน และไม่สามารถนำมา Trade ในตลาดการเงินได้ แต่สามารถใช้เสมือนเป็นคูปอง เพื่อแลกซื้อสินค้า-บริการ อย่างไรก็ตาม การที่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทได้ตามจำนวนที่ชัดเจน ในมุมนี้ก็ดูเหมือนกลับไปสร้างภาระทางการคลัง

เนื่องจากต้องมีเงินบาทเป็น Backup และพร้อมจ่ายออก ซึ่งด้วยปริมาณเงินที่สูงถึง 5 แสนล้านบาท ก็อาจเป็นปัจจัยที่จุดเงินเฟ้อให้กลับมาได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากนโยบายดังกล่าวถูกนำมาใช้ได้จริง ก็น่าจะทำให้การบริโภคภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของ GDP ฟื้นตัวกลับขึ้นมาอย่างชัดเจน ทั้งนี้ต้องติดตามขั้นตอนการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นแนวนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือการทำให้ประชาชนทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี สามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วหน้า หุ้นที่ได้ประโยชน์ก็คือ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค กลุ่มอาหาร และกลุ่มท่องเที่ยว

SET Index กับการหาเสียง สู่การเลือกตั้ง
อีกประมาณ 1 เดือน จะเข้าสู่วันเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. 66 ซึ่งในอดีตก่อนการเลือกตั้ง 1 เดือน หุ้นมีโอกาสปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 1.1% และหลังเลือกตั้ง 1 สัปดาห์ มีโอกาสปรับตัวขึ้น 3.8% พร้อมกับ Fund Flow ที่ไหลเข้ามาสนับสนุนเสมอ

จะสังเกตได้ว่า นโยบายต่างๆ เน้นแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนเป็นหลัก ถือเป็น Sentiment เชิงบวกต่อกลุ่ม COMM, FIN, BANK, MEDIA, FOOD และอื่นๆ อย่าง CONMAT, CONS อย่างไรก็ตาม นโยบายหาเสียงต่างๆ ต้องดูข้อมูลงบประมาณประกอบว่า มีเพียงพอหรือไม่? (ตามหัวข้อก่อนหน้า)


ดังนั้น การเลือกสะสมหุ้นที่ได้ประโยชน์จากธีมเลือกตั้ง ต้องเน้นเลือกหุ้นที่ราคา Laggard ตลาดในปีนี้มากๆ หรือยังให้ผลตอบแทน ytd ที่น้อยกว่า SET อาทิ FIN -10.3%ytd, FOOD -8.6%ytd, CONMAT -7.9%ytd, CONS -7.7%ytd, MEDIA -7.6%ytd, COMM -6.2%ytd ขณะที่ SET -4.6%ytd


ดังนั้น ฝ่ายวิจัยฯ แนะนำสะสมหุ้นธีมเลือกตั้งในกลุ่มที่ Laggard กว่าตลาด อาทิ JMT, SINGER, SNNP, CBG, SCC, STEC, CK, CPALL, CRC ส่วนหุ้น Top picks เลือก CPALL STEC จาก Theme ข้างต้น และเลือก PTTEP จากราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูงได้ต่อเนื่อง.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ