ถก 4 เสาหลักโวแก้เศรษฐกิจถูกทาง ครม.เตะสกัดคู่แข่งไม่มีเงินให้ "หว่าน"

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ถก 4 เสาหลักโวแก้เศรษฐกิจถูกทาง ครม.เตะสกัดคู่แข่งไม่มีเงินให้ "หว่าน"

Date Time: 12 เม.ย. 2566 06:29 น.

Summary

  • สถานการณ์เศรษฐกิจ รวมทั้งให้คณะรัฐมนตรีซักถามถึงนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆที่นำเสนอในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะนโยบายใหม่ๆ ว่าจะส่งผลต่อประเทศอย่างไร มีงบประมาณมาดำเนินการได้หรือไม่

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เรียก 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ ประกอบด้วย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงบประมาณ มารายงานสถานการณ์เศรษฐกิจ รวมทั้งให้คณะรัฐมนตรีซักถามถึงนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆที่นำเสนอในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะนโยบายใหม่ๆ ว่าจะส่งผลต่อประเทศอย่างไร มีงบประมาณมาดำเนินการได้หรือไม่

นายอนุชา บูรพชัยศรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สศช.ได้รายงานภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวในปี 2566 ถึง 2567 จึงต้องเฝ้าระวังว่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลซึ่งจะต้องกระตุ้นการส่งออก ส่วนภาวะเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก โดยอยู่ในอันดับ 20 ของโลกและอันดับที่ 2 ของอาเซียน จึงไม่เป็นข้อกังวล ทั้งนี้ ธปท.ได้รายงานว่าประเทศขณะนี้ไม่มีความเสี่ยงเรื่องเสถียรภาพทางการเงินการคลังเลย โดยหนี้ต่างประเทศไม่อยู่ในอัตราที่สูงเกินไป เงินคงคลังอยู่ในระดับที่เหมาะสม สถาบันการเงินของไทยมีความเข้มแข็ง และการกู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาทในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 เพื่อนำมาดูแลสุขภาพประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นนโยบายที่เหมาะสมในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในที่ประชุม ครม.ได้มีการหยิบยกตัวอย่างต่างประเทศที่ดำเนินการให้เศรษฐกิจดีขึ้นแต่สุดท้ายไม่เป็นผล เห็นได้จากที่ทั่วโลกคุมอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำนานพอสมควร แต่เมื่อต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินไปทำให้เกิดภาวะช็อก มีสถาบันการเงินล้มละลายในสหรัฐฯ และยุโรป เป็นตัวอย่างของการดำเนินนโยบายการคลังที่ทำให้เกิดปัญหา แต่ไม่ได้เป็นปัญหาของประเทศไทย โดยตัวเลขที่ ธปท.คาดการณ์ภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ของรัฐบาลสิ้นปีงบประมาณ 2566 จะขยับไปอยู่ที่ 8.75% แต่ยังไม่เกินมาตรฐานสากลที่ 10% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทำให้สถาบันจัดอันดับเครดิตต่างๆจับตามองและทบทวนลดอันดับเครดิตและจะทำให้การกู้เงินมีภาระดอกเบี้ยสูงขึ้น

นายอนุชากล่าวด้วยว่า สศค.ได้รายงานผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วงห้าเดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.2565-ก.พ.2566) จัดเก็บรายได้ได้สูงกว่าประมาณการ โดยจัดเก็บได้ 990,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้า 10% โดยกรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากนโยบายลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท ทำให้สูญเสียรายได้เดือนละ 10,000 ล้านบาท และรวมไม่ได้จัดเก็บรายได้จากส่วนนี้นับ 100,000 ล้านบาท แต่การช่วยลดภาระของประชาชนและรัฐบาลก็จะดำเนินการเรื่องนี้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ สำนักงบประมาณได้รายงานถึงกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ตามที่ตั้งวงเงินไว้ 3.35 ล้านล้านบาท เป็นงบประจำ งบตามสิทธิ และงบผูกพัน 2.9 ล้านล้านบาท และงบลงทุน 400,000 ล้านบาท ถ้าหักนโยบายสวัสดิการต่างๆ ตั้งแต่แรกเกิด ผู้สูงอายุ ก็คงเหลืองบที่เป็นรายจ่ายของราชการอยู่ 220,000 ล้านบาท ดังนั้น หากจะต้องนำงบประมาณมาดำเนินการตามนโยบายที่หลายส่วนมีการนำเสนออยู่ตอนนี้ ก็จะต้องมีการปรับใช้ ซึ่งสำนักงบประมาณรายงานต่อที่ประชุม ครม.ว่าเป็นไปได้ยาก การทำโครงการใหม่อาจจะลำบาก

“นายกรัฐมนตรีได้สรุปว่า ขณะนี้นโยบายการเงินการคลังของประเทศมีเสถียรภาพ ที่ประชุมได้สอบถามเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจว่าการดำเนินการ สิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันกำลังถามในเรื่องของเสถียรภาพถูกต้องหรือไม่ทั้ง 4 หน่วยงานเศรษฐกิจเห็นพ้องต้องกันว่าการดำเนินนโยบายในปัจจุบัน ที่ทำให้มีเสถียรภาพทางการเงินการคลัง ถูกต้องเหมาะสม ส่วนในอนาคตที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ควรเป็นนโยบายที่พุ่งเป้าโดยตรงไปถึงประชาชนในกลุ่มต่างๆ ไม่ใช่การเหวี่ยงแหให้กับทุกกลุ่มทุกคน ซึ่งจะมีข้อจำกัดต่องบประมาณและส่งผลกับวินัยการเงินการคลังด้วย”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ