ไทยยังไม่จบยุค “ดอกเบี้ยขาขึ้น” กนง.ขึ้นต่อ 0.25% ปรับลดเศรษฐกิจปีนี้โต 3.6%

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ไทยยังไม่จบยุค “ดอกเบี้ยขาขึ้น” กนง.ขึ้นต่อ 0.25% ปรับลดเศรษฐกิจปีนี้โต 3.6%

Date Time: 30 มี.ค. 2566 06:30 น.

Summary

  • กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่ออีก 0.25% ยันยังไม่จบวงจร “ดอกเบี้ยขาขึ้น” ชี้เงินเฟ้อยังมีโอกาสสูงกว่าคาด ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงที่ 3.6%

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่ออีก 0.25% ยันยังไม่จบวงจร “ดอกเบี้ยขาขึ้น” ชี้เงินเฟ้อยังมีโอกาสสูงกว่าคาด ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงที่ 3.6% มองเศรษฐกิจไทยยังคงโตต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวเป็นหลัก ยืนยันผลตรวจระบบแบงก์ไทยไม่กระทบวิกฤติสถาบันการเงิน

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง.วันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา โดย กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ต่อปี เป็น 1.75% ต่อปี โดยให้มีผลทันที เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การส่งออกสินค้าเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวจากที่หดตัวในช่วงก่อนหน้า และคาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

ลดโตเศรษฐกิจปีนี้เหลือ 3.6%

ทั้งนี้ กนง.ได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.6% ใกล้เคียงกับประมาณการครั้งก่อนหน้าที่คาดไว้ 37% ขณะนี้คาดว่าจะเติบโตที่ 3.8% ในปี 2567 ซึ่งใกล้่เคียงกับประมาณการเดิมที่ 3.8% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากแนวโน้มเงินเฟ้อและสถานการณ์ปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบทุกสัญชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย ธปท.ปรับเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้เป็น 28 ล้านคนจาก 22 ล้านคนในครั้งก่อนหน้า ซึ่งส่งผลบวกต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน รวมถึงเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชน

การส่งออกสินค้าในไตรมาสแรกเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวจากที่หดตัวในช่วงก่อนหน้า โดยคาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลาง โดย ธปท.ได้ปรับลดประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ลงจาก 3% เล็กน้อยอยู่ที่ 2.9% และคาดว่าในปี 2567 จะอยู่ที่ 2.4% ในปี 2567 เพิ่มขึ้นจาก 2.1% ที่คาดไว้ก่อนหน้า ขณะที่ปรับลดอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้มาอยู่ที่ 2.4% จาก 2.5% และอยู่ที่ 2.0% ในปี 2567 ทั้งนี้ ธปท.ยังต้องติดตามอัตราเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด เนื่องจากผู้ประกอบการเผชิญภาวะต้นทุนสูงต่อเนื่องยังพร้อมส่งผ่านต้นทุนที่สูงไปยังราคาสินค้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจที่ขยายตัวดี การใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอาจจะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อ

ตรวจเข้มแบงก์ป้องกันวิกฤติลาม

“กรณีที่เกิดปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรปในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้มีการหารือกับธนาคารพาณิชย์อย่างใกล้ชิด และได้มีการทำแบบทดสอบความเข้มแข็งของสถาบันการเงินไทยในการรองรับวิกฤติที่เกิดขึ้น โดยพบว่า สถาบันการเงินไทยยังมีความเข้มแข็ง มีกองทุนในระดับสูง และวิกฤติสถาบันการเงินต่างประเทศส่งผลต่อระบบการเงินไทยต่ำมาก เนื่องจากสถาบันการเงินและภาคธุรกิจไทยมีความเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินและสินทรัพย์เสี่ยงที่เกิดปัญหาในวงจำกัด”

นายปิติกล่าวต่อว่า สำหรับผลระทบในตลาดทุน การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีปัญหาต่อสินทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนทุกกลุ่มเป็นสัดส่วนต่ำมาก และที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นไทยลดลงน้อยกว่าประเทศอื่น อย่างไรก็ดี สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงต้องติดตามพัฒนาการและผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ธปท.ติดตามฐานะการเงินของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และครัวเรือนที่เปราะบางอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น ด้านต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชน และประชาชนสูงขึ้นบ้างจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่ยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดย ธปท.จะคำนึงถึงผลกระทบต่อภาระหนี้สินของคนไทย

ค่าเงินบาทผันผวนมากกว่าภูมิภาคตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีความไม่แน่นอน และตลาดการเงินโลกที่ผันผวนขึ้นจากปัญหาวิกฤติสถาบันการเงิน ทำให้ต้องติดตามตลาดการเงินโลกและผลกระทบต่อตลาดการเงินไทย รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด

ยังไม่หยุดวงจร “ดอกเบี้ยขาขึ้น”

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้า ประกอบด้วย 1.เงินเฟ้อไทยอาจอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด เกิดการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการมาที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจจะกดดันให้เงินเฟ้อลดลงช้ากว่าที่คาด ขณะที่มองว่าเงินที่ใช้จ่ายในช่วงการเลือกตั้งเพิ่มขึ้นไม่กระทบต่อเงินเฟ้อมากนัก ปัจจัยที่ 2. เศรษฐกิจและการเงินโลกมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น และผลกระทบปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรป

“กนง.เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทย เนื่องจากเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่สะดุดและมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เข้าสู่ภาวะปกติยังต้องดำเนินต่อไป นโยบายการเงินยังคงต้องมีการ “ถอนคันเร่ง” แต่จะไปจบที่ไหนนั้น จะต้องพิจารณาเศรษฐกิจไทย และความเสี่ยงของระบบการเงินโลกที่มีมากขึ้นประกอบกันด้วย”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ