ปัญหาการขาดสภาพคล่องของ SVB จะลุกลามไหม

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ปัญหาการขาดสภาพคล่องของ SVB จะลุกลามไหม

Date Time: 28 มี.ค. 2566 16:57 น.

Video

ดร.พิพัฒน์ KKP กระเทาะโจทย์เศรษฐกิจไทย บุญเก่าเจอความเสี่ยง บุญใหม่มาไม่ทัน

Summary

  • Will SVB meltdown cause any contagion risk : ปัญหาการขาดสภาพคล่องของ SVB จะลุกลามไหม

Latest


Will SVB meltdown cause any contagion risk : ปัญหาการขาดสภาพคล่องของ SVB จะลุกลามไหม

ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นที่ตลาดการเงินกังวลอย่างมากคงหนีไม่พ้นเรื่องของปัญหาการขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ โดยจุดเริ่มต้นของความกังวลดังกล่าวเกิดจากการที่ Silicon Valley Bank หรือ SVB ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 16 ของสหรัฐฯ ด้วยสินทรัพย์รวมประมาณ 2.09 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ออกมาเปิดเผยในวันที่ 8 มีนาคม 2566 ว่าได้ขายพันธบัตรมูลค่า 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวก่อนครบกำหนดอายุ จนทำให้เกิดผลขาดทุน 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และต้องเสนอแผนระดมทุนจากนักลงทุนราว 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อนำไปพยุงผลขาดทุนดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดเกิดความกังวลต่อปัญหาสภาพคล่องของ SVB และได้เทขายหุ้น SVB จนทำให้ราคาหุ้น SVB ดิ่งลงทันที 60%

ขณะที่ผู้ฝากเงินแห่มาถอนเงินราว 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐออกจาก SVB จนสุดท้ายทางการสหรัฐฯ ได้ประกาศปิด SVB พร้อมกับแต่งตั้งให้หน่วยงานรักษาเสถียรภาพสถาบันการเงินสหรัฐฯ (Federal Deposit Insurance Corporation) เข้ามาดูแลจัดการสินทรัพย์ที่เหลืออยู่ของ SVB เพื่อปกป้องผู้ฝากเงินต่อไป

สาเหตุที่ทำให้ SVB ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก

1. SVB มีโครงสร้างฐานลูกค้าที่มีการกระจุกตัว (A poorly diversified customer base) ฐานเงินฝากส่วนใหญ่ของ SVB กระจุกอยู่ในลูกค้ากลุ่มเทคโนโลยี ทั้งธุรกิจร่วมลงทุน (Venture Capital) และ Startups ซึ่งเฟื่องฟูอย่างมากในช่วงโควิดเนื่องจากสามารถระดมทุนได้ง่าย โดยจากข้อมูลพบว่าเงินฝากของ SVB ขยายตัวสูงถึง 200% ในระหว่างปี 2563-2564 อย่างไรก็ดี ในปี 2565 ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เริ่มใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวเพื่อควบคุมเงินเฟ้อผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและลดขนาดงบดุล

ส่งผลให้การระดมทุนของกลุ่ม Tech startups ทำได้ยากขึ้น ประกอบกับต้นทุนทางการเงินและต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้นส่งผลให้ธุรกิจ Tech startup เกิดภาวะ Cash burn จนต้องถอนเงินฝากจาก SVB ออกมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับพบว่ามีลูกค้ารายใหญ่ถอนเงินออกจาก SVB ส่งผลให้ SVB มีสภาพคล่องไม่เพียงพอจนต้องขายพันธบัตรระยะกลาง-ยาวที่ถือครองอยู่เพื่อมาเสริมสภาพคล่อง

2. SVB มีการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินที่ผิดพลาด (Asset-Liability Mismatch) ในปี 2563-2564 ซึ่งเป็นยุคดอกเบี้ยต่ำ SVB นำเงินฝากที่ได้มาจำนวนมากไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวที่ให้ผลตอบแทนคงที่ ซึ่งแตกต่างจากในฝั่งของหนี้สินที่ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากระยะสั้นและจ่ายดอกเบี้ยลอยตัว

โดยพบว่าสินทรัพย์กว่า 50% ของ SVB เป็นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางถึงยาว (ขณะที่สถาบันการเงินอื่นในสหรัฐฯ มีการลงทุนในลักษณะดังกล่าวเพียง 20-30% ของสินทรัพย์) ดังนั้น เมื่อต้องเผชิญกับภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ราคาพันธบัตรที่ SVB ถือครองอยู่จึงปรับลดลง ส่งผลให้ SVB จำเป็นต้องขายพันธบัตรในราคาที่ขาดทุนกว่า 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงที่สถานการณ์จะลุกลามมากขึ้นจนเกิด Domino effect ในสถาบันการเงินสหรัฐฯ หรือเกิดเป็นวิกฤติการเงินเหมือนในปี 2551 มีจำกัด เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเฉพาะตัว (Idiosyncratic risk) ของ SVB ที่มีฐานเงินฝากขยายตัวอย่างรวดเร็วและกระจุกตัวอยู่ใน Tech sector ประกอบกับมีการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินที่ผิดพลาด

ต่างจากสถาบันการเงินส่วนใหญ่ที่มักจะมีฐานลูกค้าและฐานเงินฝากที่หลากหลายและกระจายตัวกว่ามาก นอกจากนี้ ทางการสหรัฐฯ ได้ออกมาคุ้มครองเงินฝากทั้งในส่วนที่มีประกันเงินฝาก (บัญชีละ 2.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ) และไม่มีประกันเงินฝาก (เกิน 2.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ)

รวมถึง Fed ออก Bank Term Funding Program วงเงิน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ มาดูแลปัญหาสภาพคล่องที่อาจจะเกิดขึ้นกับสถาบันการเงินอื่นในอนาคตยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ฝากเงินในสหรัฐฯ และป้องกันไม่ให้สถานการณ์ลุกลามจนกลายเป็นปัญหา Bank run ในระบบสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ได้

นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่เหตุการณ์ขาดสภาพคล่องจะลุกลามไปยังระบบการเงินโลกก็อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากมาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงินของประเทศอื่นนอกสหรัฐฯ มีความเข้มงวดมากกว่า โดยแม้ว่า SVB จะเป็นสถาบันการเงินขนาดใหญ่อันดับที่ 16 ของสหรัฐฯ แต่ SVB ไม่ได้อยู่ภายใต้การทำ Stress test ที่เข้มงวดของ Fed

โดยครอบคลุมธนาคารประมาณ 10 แห่งที่มีขนาดสินทรัพย์คิดเป็น 50% ของมูลค่าสินทรัพย์สถาบันการเงินทั้งหมด ขณะที่การทำ Stress test ในยุโรปมีความครอบคลุมมากถึง 75% และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Common Equity Tier 1 ratio : CET1 ratio) ของสถาบันการเงินในยุโรปก็สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำถึง 400 Basis point ขณะที่สถาบันการเงินในสหรัฐฯ โดยเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำราว 200 Basis point

สำหรับผลกระทบของเหตุการณ์ดังกล่าวต่อระบบสถาบันการเงินในประเทศไทยยิ่งมีจำกัด เนื่องจากสถาบันการเงินไทยไม่ได้มีความเชื่อมโยงหรือความเสี่ยงโดยตรงกับ SVB หรือสถาบันการเงินอื่นที่ถูกทางการสหรัฐฯ สั่งปิด

นอกจากนี้ เสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินไทยมีความแข็งแกร่งมาก ทั้งในด้านเงินกองทุนและสภาพคล่อง ซึ่งถูกกำกับดูแลอย่างเข้มงวดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ประกอบกับโครงสร้างสินทรัพย์และเงินฝากของสถาบันการเงินไทยก็มีการกระจายตัวกว่าของสหรัฐฯ มาก ดังนั้น ผู้ฝากเงินและนักลงทุนจึงมั่นใจได้ว่าระบบสถาบันการเงินของไทยจะไม่เผชิญปัญหาคล้ายที่เกิดขึ้นกับ SVB อย่างแน่นอน

บทความโดยณิชนันท์ โลกวิทูล
นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)
eic@scb.co.th | EIC Online : www.scbeic.com 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ