แบงก์ชาติจับมือภาคการเงินร่วมคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมครบวงจร

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

แบงก์ชาติจับมือภาคการเงินร่วมคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมครบวงจร

Date Time: 25 มี.ค. 2566 06:22 น.

Summary

  • ในช่วงปีก่อน แบงก์ชาติได้ออกเอกสารทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย และเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ได้ออกแนวนโยบายเพิ่มเติม

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

ธนันธร มหาพรประจักษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

ในช่วงปีก่อน แบงก์ชาติได้ออกเอกสารทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย และเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ได้ออกแนวนโยบายเพิ่มเติม เพื่อให้สถาบันการเงินดำเนินงานโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จึงขอสรุปประเด็นที่น่าสนใจของแนวทางดังกล่าวให้กับท่านผู้อ่านค่ะ

ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ เนื่องจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงขึ้น และจะนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจรวมถึงไทยได้ โดยไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่จะเผชิญความเสี่ยงจากภัยทางธรรมชาติรุนแรงในระดับต้นของโลก ภาคธุรกิจจึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบ และดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน ภาคการเงินในฐานะตัวกลางจัดสรรเงินทุนให้ไปสู่ภาคธุรกิจ จำเป็นต้องปรับการดำเนินงานให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเช่นกัน อย่างไรก็ดี การดำเนินงานที่ผ่านมาในเรื่องนี้เป็นไปแบบต่างคนต่างทำ และไม่มีแรงผลักดันให้ต้องเร่งดำเนินการ แบงก์ชาติจึงกำหนดแนวนโยบายการดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินโดยคำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐานเดียวกัน

ภายใต้แนวนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมนี้ แบงก์ชาติจะกำหนดกรอบหลักการให้ภาคการเงินโดยเฉพาะแบงก์และบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ใช้เป็นแนวทางอ้างอิงในการประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม และผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ตามหลักการกำกับดูแลที่สอดคล้องกับระดับความเสี่ยง เพื่อให้ภาคการเงินมีผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์ สนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงยกระดับการดำเนินงานของภาคการเงินให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านความยั่งยืนในระดับสากล ซึ่งครอบคลุม 4 ด้าน

ด้านแรก โครงสร้างการกำกับดูแลกิจการ จะว่าด้วยบทบาทของคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงในการผลักดันการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมภายในองค์กร โดยคณะกรรมการต้องให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมในการกำหนดกลยุทธ์หรือนโยบายสำคัญ การกำกับดูแล รวมทั้งกำหนดหน่วยงานในองค์กรเพื่อผลักดันการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงต้องผลักดันและติดตามความคืบหน้าการนำนโยบายไปใช้ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง

ด้านที่สอง การกำหนดกลยุทธ์ โดยผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดแผนกลยุทธ์ และแผนการดำเนินงานต่างๆ เพื่อนำไปสู่การปรับกระบวนการทำงานที่คำนึงถึงโอกาสและความเสี่ยงจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม กำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดความสำเร็จ เช่น กำหนดเป้าสินเชื่อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในกรอบเวลาที่กำหนด สนับสนุนระบบเศรษฐกิจในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน สินเชื่อสีเขียว

ด้านที่สาม การบริหารความเสี่ยง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจการเงิน โดยผนวกความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมในการบริหารความเสี่ยงขององค์กร เช่น มีการจัดการความเสี่ยงตามหลักการควบคุม กำกับและตรวจสอบ กำหนดนโยบายและกระบวนการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งมีเครื่องมือที่สามารถระบุ ประเมิน ลด และติดตามความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ด้านที่สี่ การเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจุบัน และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อเป็นการสื่อสารและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและสาธารณชนทราบแนวทางและความคืบหน้าการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างโปร่งใส

แนวนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมนี้ จะช่วยให้ภาคการเงินมีแนวปฏิบัติมาตรฐาน หรือ “ไม้บรรทัด” ใช้อ้างอิงในการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรโดยคำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้นต่อไปค่ะ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ