ศูนย์วิจัยกสิกร คาด GDP ไทยโต 3.7% ชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฉุดส่งออกไทย แต่ได้ท่องเที่ยวชดเชย

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ศูนย์วิจัยกสิกร คาด GDP ไทยโต 3.7% ชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฉุดส่งออกไทย แต่ได้ท่องเที่ยวชดเชย

Date Time: 24 มี.ค. 2566 11:00 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • ศูนย์วิจัยกสิกร คาดการณ์เศรษฐกิจไทยเติบโต 3.7% ท่ามกลางวิกฤติธนาคารโลก แต่ภาคการส่งออกไม่สดใสจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงมากกว่าเดิม

Latest


ศูนย์วิจัยกสิกร เผยมุมมองทิศทางเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางวิฤตการณ์ธนาคารโลก โดยยังคงประมาณการ GDP ปีนี้ที่ 3.7% แต่ปรับลดตัวเลขการส่งออกจากเดิม -0.5% เหลือ -1.2% ด้านการท่องเที่ยวขยับดีขึ้น ตามสถานการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี ประเมินวิกฤติธนาคารชาติตะวันตกต่อไทยอยู่ในกรอบจำกัด

วิกฤติแบงก์สหรัฐฯ ยังยืดเยื้อ แต่ไม่วิกฤติขั้นซับไพรม์

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า จากข้อมูลที่มี ณ ขณะนี้วิกฤติธนาคารขนาดกลางและเล็กของสหรัฐฯ คงจะยืดเยื้อ เนื่องจากประเด็นแรกธนาคารที่ถูกจับตามองยังไม่ได้แก้ไขปัญหางบดุล อาทิ การกระจุกตัวของเงินฝาก หรือการบริหารความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ย ก็จะยังทำให้ผู้ฝากเงินขาดความมั่นใจ ประเด็นที่สองธนาคารที่จะเข้ามาซื้อกิจการธนาคารที่ประสบปัญหาใช้เวลาในการตัดสินใจนาน ธนาคารที่ประสบปัญหาจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการปิดตัวได้ อีกทั้งทางการสหรัฐฯ มีความพยายาม ที่จะเพิ่มความเข้มงวดการกำกับดูแลธนาคารขนาดกลาง หากทำได้จะส่งผลต่อการปล่อยสินเชื่อ และผลประกอบการของธนาคาร เนื่องจากต้องชะลอการทำธุรกิจเพื่อปรับโครงสร้าง

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางชาติอื่นๆ เข้าดูแลสภาพคล่องของระบบอย่างรวดเร็ว น่าจะช่วยยับยั้งสถานการณ์ไม่ให้ลุกลามจนกลายเป็นวิกฤติการเงินโลกได้ เพราะปัญหาครั้งนี้เกิดจากความไม่สมดุลของงบดุล และการผ่อนคลายกฎหมายในการตรวจสอบ การดำเนินงานของธนาคารขนาดกลาง ซึ่งเป็นปัจจัยเฉพาะตัวที่แตกต่างจากวิกฤติ Subprime ในช่วงปี 2551 ที่เกิดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน ทำให้ธนาคารขนาดใหญ่ประสบปัญหา จนต้องปิดตัวลง

ส่วนในระยะถัดไปประเด็นติดตามอยู่ที่ทางการสหรัฐฯ จะปรับปรุงกฎหมายการกำกับดูแลภาคธนาคาร สหรัฐฯ ให้เข้มงวดขึ้นสำหรับธนาคารขนาดกลางและเล็กหรือไม่ ซึ่งหากมีการดำเนินการได้จริงในทางปฏิบัติ ก็อาจทำให้ธนาคารระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น กระทบผลประกอบการธนาคารกลุ่มดังกล่าวในระยะกลาง

เศรษฐกิจสหรัฐฯ โตต่ำกว่าคาด ฉุดภาคการส่งออกไทย

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่าปัญหาภาคธนาคารจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากกว่าเดิม และมีแนวโน้มสูงขึ้นที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยบางไตรมาสในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งสะท้อนผ่านการปรับดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการประชุมครั้งล่าสุด (วันที่ 21-22 มีนาคม) ที่ผ่อนคลายลง โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.25% จากช่วงก่อนเกิดปัญหาภาคธนาคารที่ตลาดมองว่าจะปรับขึ้นถึง 0.50%

สำหรับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าสำคัญที่ส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ ซึ่งจะได้รับผลกระทบประมาณ 30% ขณะที่แรงกดดัน เงินเฟ้อของไทยทยอยปรับตัวลดลง ตามทิศทางราคาพลังงานที่ลดลงตามการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงปรับลดประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 ลงมาที่ 2.8% จากเดิมที่ 3.2%

แม้ภาคการส่งออกจะได้รับผลกระทบ แต่ไทยมีภาคการท่องเที่ยวที่เป็นปัจจัยบวกช่วยชดเชย ผลกระทบข้างต้น จะเห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2566 ที่อาจสูงกว่าการคาดการณ์เป็น 28.5 ล้านคน จากเดิมที่ 25.5 ล้านคน ทำให้ในภาพรวมยังสามารถคงประมาณการ GDP สำหรับทั้งปี 2566 ไว้ที่ 3.7% ทั้งนี้ ทิศทางเศรษฐกิจไทยยังเต็มไปด้วยปัจจัยความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังต้องติดตามต่อไป

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทยังมีความผันผวนค่อนข้างมากต่อเนื่องไปในไตรมาส 2/65 ท่ามกลางสถานการณ์ในต่างประเทศที่ยังไม่นิ่ง และการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ชะลอความแรงลง มีโอกาสทำให้เงินบาทแกว่งตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอยู่ที่ประมาณ 33.5 บาทโดยคาดว่าประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบนี้จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25%  


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์