“ทีวี” หนุนเลิก “มัสต์แฮฟ” 3 ช่องย้ำผิดตั้งแต่ติดกระดุมเม็ดแรก

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“ทีวี” หนุนเลิก “มัสต์แฮฟ” 3 ช่องย้ำผิดตั้งแต่ติดกระดุมเม็ดแรก

Date Time: 21 มี.ค. 2566 08:01 น.

Summary

  • ช่องทีวียักษ์ประสานเสียงสนับสนุนยกเลิกกฎมัสต์แฮฟ ช่อง 3 ย้ำผิดตั้งแต่วิธีรับชมที่ส่วนใหญ่ดูผ่านดาวเทียม หากเป็นกล่องรุ่นเก่า ก็ต้องจอดำอยู่ดี เพราะไม่มีเทคโนโลยีป้องกันการละเมิด

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

ช่องทีวียักษ์ประสานเสียงสนับสนุนยกเลิกกฎมัสต์แฮฟ ช่อง 3 ย้ำผิดตั้งแต่วิธีรับชมที่ส่วนใหญ่ดูผ่านดาวเทียม หากเป็นกล่องรุ่นเก่า ก็ต้องจอดำอยู่ดี เพราะไม่มีเทคโนโลยีป้องกันการละเมิด ขณะที่ช่องวันขยี้ประกาศประชานิยม ติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก ควรให้เป็นไปตามกฎหมายลิขสิทธิ์ ไทยรัฐทีวีชี้ปล่อยตามกลไกตลาดดีที่สุด แต่ผู้ชมต้องทำใจ หากต่อไปอาจต้องจ่ายเงินดู

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ที่มี น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ เป็นประธาน ได้มีมติยกเลิกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ.2555 หรือที่เรียกกันว่าประกาศมัสต์แฮฟ (Must Have) ทั้งฉบับ โดยให้ความเห็นว่าการยกเลิกประกาศมัสต์แฮฟ อาจช่วยป้องกันการบิดเบือนกลไกตลาด และอาจช่วยลดค่าลิขสิทธิ์ลงได้นั้น

นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจโทรทัศน์ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด เจ้าของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ให้ความเห็นว่า การออกประกาศนี้ขึ้นมา เป็นความผิดตั้งแต่ต้น และถึงแม้จะมีประกาศนี้ แต่ความเป็นจริงผู้ชมหลายล้านครัวเรือนก็ยังไม่สามารถรับชมได้ เนื่องจากมีประเด็นเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ที่อยู่เหนือกว่ามาเป็นปัจจัย ยกตัวอย่างเช่น ผู้ชมผ่านทีวีดาวเทียมจำนวนไม่น้อย ไม่สามารถรับชมการแข่งขันบอลโลก 2022 ครั้งที่ผ่านมาได้ เพราะกล่องดาวเทียมที่รับชมเป็นแบบเก่าไม่สามารถเข้ารหัส (encrypt) จึงเสี่ยงต่อการถูกแฮ็กสัญญาณนำไปสู่การละเมิดลิขสิทธิ์ ทำให้ต้องจอดำ “สิ่งที่ควรกระทำคือการปล่อยให้เป็นไปตามกฎหมายลิขสิทธิ์ เพราะไม่มีใครเขาทำกัน บังคับให้คนที่ซื้อสิทธิ์มา ต้องออกอากาศในทุกช่องทาง ครั้นจะขายโฆษณา ในยุคปัจจุบันก็ขายไม่ได้ราคานัก ในที่สุดไม่มีเอกชนรายใดอยากซื้อ ต้องใช้เงินจากภาครัฐมาสนับสนุน”

ด้านนายเดียว วรตั้งตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือช่อง ONE เปิดเผยว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก ยกเลิกไปคือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ประกาศฉบับนี้คือการทำประชานิยม เอาใจคน ซึ่งกลายเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด สุดท้ายแล้วเห็นว่าควรปล่อยให้เป็นไปตามกฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งสิทธิ์ในการซื้อแบ่งเป็นประเภทสื่อที่จะนำไปออกอากาศอยู่แล้ว

นายวัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด เจ้าของสถานีโทรทัศน์ช่องไทยรัฐทีวี เปิดเผยว่า ส่วนตัวสนับสนุนกลไกตลาดที่เป็นไปโดยเสรี ขณะที่การซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดรายการกีฬามีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ การต้องปฏิบัติตามกฎมัสต์แฮฟทำให้ทำธุรกิจได้ยากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ชมคงต้องเตรียมทำใจไว้ว่า อาจไม่สามารถได้รับชมกีฬาได้ทุกช่องทาง เช่นเคย โดยเฉพาะการแข่งขันกีฬาที่สำคัญและยอดนิยม ต่อไปอาจต้องมีค่าใช้จ่ายในการรับชม

ทั้งนี้ ประกาศมัสต์แฮฟเป็นประกาศที่กำหนดให้ผู้ถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา 7 ประเภท ได้แก่ 1.การแข่งขันฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final) 2.การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ (SEA Games) 3.การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ (Asian Games) 4.การแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ (ASEAN Para Games) 5.การแข่งขันเอเชียนพาราเกมส์ (Asian Para Games) 6.การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (Olympic Games) 7.การแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก (Para lympic Games) จำเป็นต้องนำรายการถ่ายทอดสดดังกล่าวออกอากาศบนโทรทัศน์ระบบฟรีทีวีเพื่อให้ประชาชนทุกคนได้มีโอกาสรับชมอย่างทั่วถึง.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ