ลุยโรดโชว์ดึงเม็ดเงินนอก “บีโอไอ” ดันไทยชิงผู้นำอุตสาหกรรมอนาคต

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ลุยโรดโชว์ดึงเม็ดเงินนอก “บีโอไอ” ดันไทยชิงผู้นำอุตสาหกรรมอนาคต

Date Time: 16 มี.ค. 2566 08:45 น.

Summary

  • “บีโอไอ” โรดโชว์ ดึงนักลงทุนต่างชาติเข้าไทย เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ผลักดันไทยขึ้นแท่นฐานผลิตในภูมิภาค เปิดผลสำเร็จหลังเยือนญี่ปุ่น–สหรัฐฯนำร่องปักธงลุยจีน เกาหลีใต้ และอียูต่อไป

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

“บีโอไอ” โรดโชว์ ดึงนักลงทุนต่างชาติเข้าไทย เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ผลักดันไทยขึ้นแท่นฐานผลิตในภูมิภาค เปิดผลสำเร็จหลังเยือนญี่ปุ่น–สหรัฐฯนำร่องปักธงลุยจีน เกาหลีใต้ และอียูต่อไป กางแผนทำให้ไทย เป็นบ้านหลังที่ 2 ของนักลงทุน ปักหมุดดันคนไทย ยกทัพไปลงทุนต่างแดน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยแผนจัดกิจกรรมเชิงรุก เพื่อดึงดูดการลงทุนในปี 2566 ว่าหลังจากโควิด-19 คลี่คลาย บีโอไอได้เร่งเดินเกมเชิงรุก เจาะกลุ่มเป้าหมาย เพื่อผลักดันให้ประเทศไทย เป็นฐานการผลิตและที่ตั้งของสำนักงานภูมิภาคของบริษัทชั้นนำ โดยเฉพาะในภาวะที่เกิดสงครามแบ่งขั้วทางการเมืองของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก และเกิดกระแสการโยกย้ายฐานผลิตไปยังประเทศต่างๆ

“ประเทศไทยมีศักยภาพเป็นฐานการผลิตที่มั่นคงและปลอดภัยให้กับประเทศต่างๆ เพราะนอกจากจะมีโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมรองรับลงทุนทั้งระบบสาธารณูปโภค นิคมอุตสาหกรรม พลังงานสะอาด บุคลากรที่มีคุณภาพ รวมทั้งมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เอื้อ ต่อการทำธุรกิจและการพำนักอาศัยในระยะยาว ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศและมีขีดความสามารถจัดการสถานการณ์ต่างๆ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ”

โรดโชว์กล่อมนักลงทุนทั่วโลก

ในปีงบประมาณ 2566 ได้วางแผนจัดกิจกรรมเชิงรุก เจาะกลุ่มเป้าหมาย 200 ครั้ง ทั้งการจัดคณะโรดโชว์ จากส่วนกลางและสำนักงานบีโอไอ 16 แห่งทั่วโลก เพื่อเผยแพร่มาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ และโอกาสการลงทุนในประเทศไทย มีทั้งการจัดประชุมสัมมนารายประเทศ รายอุตสาหกรรม การจับมือกับกลุ่มที่จะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน เช่น ธนาคารใหญ่ บริษัทที่ปรึกษา และหน่วยงานพันธมิตร การเจาะกลุ่มเป้าหมายในงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ และการเดินสายพบปะบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สำคัญๆ

“นักลงทุนเป้าหมายหลักๆคือ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย สหรัฐฯ และประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ โดยได้เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล สุขภาพและการแพทย์ และกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งการดึงให้บริษัทชั้นนำเข้ามาจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarters) และศูนย์วิจัยและพัฒนาในไทย

ช่วงที่ผ่านมา บีโอไอได้เดินสายโรดโชว์ 2 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ โดยที่ญี่ปุ่น บีโอไอได้จัดสัมมนาและพบปะนักลงทุนรายสำคัญๆ ที่กรุงโตเกียวและนครโอซากา ปรากฏว่าญี่ปุ่นเห็นว่า ประเทศไทยยังเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่สำคัญและยืนยันใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักในอาเซียน พร้อมมีแผนขยายลงทุนต่อเนื่อง อีกทั้งเชื่อมั่นยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ เพราะมีเป้าหมายร่วมกันในการยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมอัจฉริยะและยั่งยืน

ขณะที่การโรดโชว์สหรัฐฯ บีโอไอได้เดินทางไปพร้อมกับหม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย รวมทั้งทีมจากสถานทูตไทย เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมาย อุตสาห กรรมดิจิทัลและอิเล็ก ทรอนิกส์ เช่น บริษัท Amazon Web Services (AWS), Google, Microsoft, Western Digital, Analog Devices เป็นต้น

ปรับกลยุทธ์ไทยเป็นบ้านหลังที่ 2

บริษัทเหล่านี้ให้ความสำคัญกับการลงทุน ในอาเซียน และมีแผนขยายการลงทุนในไทย โดยพลังงานสะอาดจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ สำหรับการลงทุนในกลุ่มนี้ นักลงทุนทั้ง 2 ประ เทศมีเสียงตอบรับที่ดีต่อยุทธศาสตร์ ส่งเสริมการลงทุนใหม่ของบีโอไอในระยะ 5 ปีข้างหน้า (ปี 2566-2570) โดยเฉพาะมาตรการรักษาและขยายฐานการผลิต (Retention and Expansion Program) ที่ให้ความสำคัญกับนักลงทุนรายเดิมที่ลงทุนต่อเนื่อง โดยกระตุ้นให้ขยายฐานการผลิตเพิ่มเติม และมาตรการย้ายฐานธุรกิจแบบครบวงจร ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนี้

“บีโอไอจะให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มเติม 3-5 ปี เพื่อเชิญชวนให้บริษัทชั้นนำมองประเทศไทยเป็นบ้านหลังที่สอง และย้ายฐานธุรกิจมาอยู่ที่ไทย ทั้งในส่วนการผลิต สำนักงานภูมิภาค และศูนย์วิจัยและพัฒนา รวมทั้งมาตรการอำนวยความสะดวกให้กับชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง โดยเฉพาะวีซ่าพำนักระยะยาว (LTR) ที่ให้สิทธิประโยชน์พำนักในประเทศไทยได้ถึง 10 ปี พร้อมได้รับใบอนุญาตทำงานควบคู่กันไปด้วย ปัจจุบันมีชาวต่างชาติยื่นขอวีซ่าแล้ว 2,600 ราย”

ดันคนไทยไปลงทุนในต่างแดน

อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญของบีโอไอคือ การลดอุปสรรคของการลงทุน โดยในการประชุมบอร์ดบีโอไอครั้งที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้บูรณาการความร่วมมือ 4 หน่วยงาน ได้แก่ บีโอไอ กรม สรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และธนาคารแห่งประเทศไทยในการให้บริการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค พร้อมเปิดช่องทางออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกอย่างครบวงจร (ระบบ HQ Biz Portal) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงข้อมูล ลดขั้นตอนและอุปสรรคในการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย

ดังนั้น ในอีก 3 เดือนข้างหน้ามีแผนเดินทางบุกดึงการลงทุนจากประเทศจีน เกาหลีใต้ และอียูต่อไป

นอกจากการลงทุนของต่างประเทศ บีโอไอยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมผู้ประกอบการไทย ให้เข้มแข็ง มีมาตรฐาน และสามารถเชื่อมต่อกับตลาดโลกได้ รวมทั้งได้ร่วมมือกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) และหน่วยงานต่างๆในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อ
ขยายโอกาสทางธุรกิจ ต่อยอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี ตลอดจนเพิ่มบทบาทประเทศไทยในเวทีโลก.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ