ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล นักอุตสาหกรรมเหล็กระดับหลายหมื่นล้านบาท ตำนานวงการอุตสาหกรรมเหล็กระดับประเทศ มีความเป็นห่วงต่ออนาคตของอุตสาหกรรมเหล็กไทยที่อยู่เคียงข้างการพัฒนาของประเทศมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบ กับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน
จึงมีข้อเสนอแนะมายังรัฐบาลที่จะมาหลังจากการเลือกตั้งในเดือน พ.ค.นี้ ให้หันมาให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเหล็ก เพราะเหล็กเป็นทั้งวัสดุจำเป็นและอุตสาหกรรมสำคัญพื้นฐานต่อการพัฒนาประเทศ
ทั้งนี้ ในปี 2565 ประเทศไทยมีการใช้เหล็กรวม 16.4 ล้านตัน โดยเป็นการใช้เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง 52% อุตสาหกรรมรถยนต์ 22% อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล 12% อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า 10% และอื่นๆ 4%
ปัญหาที่น่าห่วง คือ จากกำลังการผลิตเหล็กของประเทศไทยที่มีมากกว่า 21.5 ล้านตัน แต่ที่ผ่านมามีการใช้กำลังการผลิตระดับต่ำมาก
ปีที่ผ่านมามีการผลิตเหล็กภายในประเทศไทยเพียง 7.1 ล้านตัน คิดเป็นเพียง 33% ของกำลังผลิตทั้งหมดที่มี โดยเป็นการผลิตเหล็กดิบ (Crude Steel) 5.3 ล้านตัน ซึ่งเป็นสัดส่วนเพียง 0.28% ของโลก เป็นอันดับที่ 30 ของทั้งโลก และอันดับ 4 ในอาเซียน รองจากเวียดนาม 20.0 ล้านตัน อินโดนีเซีย 15.6 ล้านตัน และมาเลเซีย 10.0 ล้านตัน
ทั้งที่เมื่อย้อนหลังไป 12 ปี ในปี 2553 ประเทศไทยเคยเป็นผู้นำของอาเซียน ผลิตเหล็กดิบ 3.7 ล้านตัน ในขณะที่อินโดนีเซียผลิตได้ 3.6 ล้านตัน และเวียดนามผลิตเหล็กได้เพียง 2.7 ล้านตัน แต่เป็นที่น่าเสียดายยิ่งที่ปัจจุบัน ทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซียแซงหน้าเราไป เพราะทั้ง 3 ประเทศ มีการส่งเสริมพัฒนาและปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศจนเข้มแข็ง ไม่มีเหล็กคุณภาพต่ำ หรือราคาถูก ส่งเข้าไปได้ จนอุตสาหกรรมเหล็กของเขาเติบโตแซงหน้าประเทศไทยไปแล้ว
ปัจจุบัน ประเทศไทยนำเข้าเหล็กสุทธิ (Steel Import-Steel Export) มากกว่า 13 ล้านตันต่อปี ซึ่งถือเป็นประเทศที่ปล่อย นำเข้าเหล็กสุทธิมากสุดอันดับ 2 ของโลก ซึ่งหมายถึงประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ เป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงแห่งชาติด้านเศรษฐกิจอย่างยิ่ง ยิ่งวันยิ่งปล่อยนำเข้าเสรีขึ้น โรงงานที่ลงทุนไป 4 แสนกว่าล้านบาทจะกลายเป็นเศษเหล็ก หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินหรือวิกฤติ หรือภัยธรรมชาติรุนแรง ความสามารถในการปกป้องโครงสร้างของประเทศ การบำรุงรักษา และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะยิ่งเจอปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบอย่างรุนแรงมาก ความเสียหายก็จะกระทบไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ เพราะเหล็ก เป็น “แกนหลัก” หรือ Backbone ของอุตสาหกรรมทุกชนิด
ข้อเสนอเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทยในด้านต่างๆ มีดังนี้
1.ส่งเสริมให้มีการใช้สินค้าเหล็กที่ผลิตภายในประเทศ (Make in Thailand) มากขึ้น นอกจากการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ได้ดำเนินการอยู่แล้ว ไปยังการก่อสร้างจำนวนมากและใช้งบประมาณมหาศาลที่เป็นโครงการความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน (Public–Private Partnership)
2.กล้าใช้มาตรการทางการค้าอย่างทันท่วงทีเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยใช้เพียงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti Dumping หรือ AD) ขณะที่ประเทศอื่นเช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหภาพยุโรป จีน อินเดีย ออสเตรเลีย ใช้มาตรการการค้าอื่นๆ ได้แก่ การตอบโต้การอุดหนุน (Anti Countervailing Duty หรือ CVD) หรือการตอบโต้เมื่อเกิดพฤติกรรมหรือเหตุการณ์หลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Circumvention) หรือการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard) เพราะประเทศไทยยังคงล่าช้าและขาดความกล้าหาญในเชิงนโยบายให้ใช้มาตรการดังกล่าว ทั้งที่การใช้มาตรการทางการค้าเป็นสิ่งที่ทำได้ในการค้าเสรี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กมีการลงทุนและสินทรัพย์หลายแสนล้านบาท จึงเป็นเสาสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ต่อประเทศ สมควรที่จะปกป้องทางการค้าเมื่อมีความจำเป็น
3.ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วยผู้ผลิตจำนวนมากราย แต่บางประเภทโรงงานเหล็กก็มีปริมาณมากเกินความต้องการใช้ภายในประเทศ (Over-Capacity) อาจต้องมีมาตรการให้ยุบการผลิต หรือควบรวมกัน ในขณะที่หลายสินค้าเหล็กสำคัญบางประเภท ประเทศไทยยังมีโครงสร้างการผลิตที่ไม่ครบวงจร จึงต้องอาศัยการนำเข้าวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปจากต่างประเทศ เป็นปริมาณและมูลค่ามหาศาล อาจต้องส่งเสริมให้มีการเพิ่มหรือขยายการผลิต
4.พัฒนาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยเน้นความเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน ส่งเสริมความร่วมมือกันระหว่างอุตสาหกรรมเหล็ก กับผู้ใช้งานอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีอัตราการบริโภคสินค้าเหล็กเป็นปริมาณมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น เพื่อร่วมวิจัยพัฒนาคุณภาพสินค้าเหล็ก และลงทุนในการผลิตสินค้าเหล็กชั้นคุณภาพสูง
และ 5.ส่งเสริม สนับสนุน อุดหนุนให้อุตสาหกรรมเหล็กปรับตัว เลือกใช้เทคโนโลยีทันสมัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานทางเลือกที่เหมาะสมสอดคล้องกับทิศทางของโลก และยังคงขีดความสามารถในการแข่งขัน.
เจริญสุข ลิมป์บรรจงกิจ