เปิดทิศทางความร่วมมือเศรษฐกิจอนาคต เชื่อมสัมพันธ์ไทย-เกาหลีใต้ แน่นแฟ้น

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เปิดทิศทางความร่วมมือเศรษฐกิจอนาคต เชื่อมสัมพันธ์ไทย-เกาหลีใต้ แน่นแฟ้น

Date Time: 6 มี.ค. 2566 08:15 น.

Summary

  • “เกาหลีใต้” ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับไทยมาอย่างยาวนาน และในปี 2566 ยังเป็นช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองครบรอบ 65 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เกาหลีใต้

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

“เกาหลีใต้” ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับไทยมาอย่างยาวนาน และในปี 2566 ยังเป็นช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองครบรอบ 65 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เกาหลีใต้ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะร่วมกันกระชับและส่งเสริมความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

ในทางเศรษฐกิจ ประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และเป็นประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่อันดับ 6 ของโลก เชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีชั้นสูง รวมทั้งยังเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงอย่างยิ่งในการใช้ “ซอฟต์ เพาเวอร์” (Soft Power) เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

และที่ดีที่สุด ประเทศเกาหลีใต้ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ความสนใจ “ประเทศไทย” ของเรา ทั้งในด้านการค้า การลงทุน โดยมูลค่าทางการค้าระหว่างไทยและเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากในปี 2564 อยู่ที่ 15,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 16,500 ล้านเหรียญฯในปี 2565 ที่ผ่านมา

ขณะที่ในด้านการท่องเที่ยว ในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 มีนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้หลั่งไหลเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยประมาณ 2 ล้านคนต่อปี และหลังสถานการณ์โควิด-19 เพื่อเป็นการฟื้นฟูการท่องเที่ยว ประเทศไทยและเกาหลีใต้ได้ร่วมกันจัดแคมเปญเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยให้ปี 2566 และปี 2567 เป็น “ปีแห่งการเยี่ยมเยียนระหว่างสองประเทศ”

“ทีมเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ นายมุน ซึง–ฮย็อน (Moon Seoung–hyun) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ประจำประเทศไทย ถึง “ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย และเกาหลีใต้ รวมถึงการเพิ่มศักยภาพความร่วมมือทางการค้า ส่งเสริมการลงทุน การแก้ไขปัญหาแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ รวมทั้งเคล็ดลับการต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ที่กำลังทยอยเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย”

ยกระดับความสัมพันธ์เศรษฐกิจ

“เกาหลีใต้ และไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตที่ดี เราถือว่าไทยสำคัญกับเกาหลีใต้ เพราะเคยช่วยปกป้องประเทศเราในช่วงสงคราม และผมเชื่อว่ายังมีโอกาสอีกมากมายที่จะเพิ่มความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศให้มากขึ้น ขณะที่ชาวเกาหลีใต้สนใจมาท่องเที่ยวประเทศไทยมาก”

นายมุน ซึง–ฮย็อน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี ประจำประเทศไทย กล่าวกับ “ทีมเศรษฐกิจ” โดยเปิดเผยถึงทิศทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ด้วยว่า “ในปี 2565 ผลของโควิด-19 ราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้น สงครามยูเครนและรัสเซีย รวมทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลก เศรษฐกิจเกาหลีใต้เติบโต 2.6% ขณะที่ในปีนี้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไม่มาก ภายใต้การนำของรัฐบาลเกาหลีใต้ชุดใหม่ ที่สนับสนุนให้การทำธุรกิจของเกาหลีใต้ง่ายขึ้น และเร่งการลงทุนในเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้ขยายตัวมากขึ้น”

และในทางเศรษฐกิจ “ท่านทูตเกาหลีใต้” มีความเห็นว่าไทยและเกาหลีใต้ยังมีโอกาสทางการค้าอีกมาก และมีมูลค่าทางการค้าที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มูลค่าทางการค้าระหว่างกันอยู่ที่ 16,500 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ประมาณ 7% และข้อดีคือ มูลค่าทางการค้าระหว่างเกาหลีใต้และไทยไม่มีใครขาดดุลเกินดุลมากนัก ก่อนนี้จากที่เกาหลีเคยกำไร ต่อมาก็เริ่มสมดุล ซึ่งเป็นทิศทางที่ดีทางการค้าของทั้งสองประเทศ

ขณะเดียวกัน นโยบายรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญกับ BCG Model เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) รวมทั้งเศรษฐกิจเชิงดิจิทัลยังเป็นทิศทางเดียวกับเกาหลีใต้ ที่เรามีความเชี่ยวชาญ ทำให้มีโอกาสมากมายที่จะร่วมมือกันมากขึ้น

เปิด 4 ด้านเพิ่มความร่วมมือการค้า

ทั้งนี้ “ท่านทูต” ได้ชี้ให้เห็นโอกาสใน 4 ด้านที่จะเพิ่มความร่วมมือระหว่างกัน ด้านที่ 1 คือ ความร่วมมือกันในด้าน EV (Electric Vehicle) ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเกาหลีใต้มีผู้ผลิตที่สำคัญ อย่าง “Hyundai” และ “Kia” รวมทั้งแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีซัมซุง และแอลจีเป็นผู้นำ นอกจากนี้ ยังมองว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ EV จะมีส่วนช่วยสำคัญในนโยบายการดูแลสิ่งแวดล้อม และการไปถึงเป้าหมาย Zero Corbon ในปี 2593

ด้านที่ 2 “ท่านทูต” มองถึง “ความร่วมมือด้านดิจิทัล” โดยการเพิ่มความร่วมมือในธุรกิจอี-คอมเมิร์ช (E-commerce) ดิจิทัลแบงกิ้ง (Digital Banking) และธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) ซึ่งเป็นธุรกิจที่เป็นที่นิยมในเกาหลีใต้ และธนาคารในเกาหลีใต้ได้ยกระดับเป็น Digital Banking เกือบทั้งหมดแล้ว ทำให้สามารถเพิ่มความร่วมมือระหว่างกันได้ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่เกาหลีใต้สนใจมาลงทุน

สำหรับด้านที่ 3 คือ ความร่วมมือในการส่งเสริม Soft Power เพื่อประชาสัมพันธ์ และเพิ่มมูลค่าของทั้งคนไทย และประเทศ ยกตัวอย่าง เกาหลีใต้ มีอุตสาหกรรม K-POP หรือการสอดแทรกส่งเสริมวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ สถานที่ท่องเที่ยว หรือตัวสินค้าในซีรีส์เกาหลี ซึ่งจะเห็นว่าสามารถทำเงินได้มหาศาล

โดยมองว่า ทั้งสองประเทศมี “จุดแข็ง” ร่วมกันที่จะช่วยส่งเสริม Soft Power ได้ อย่าง Lisa BLACKPINK ซึ่งนอกจากจะทำเงินได้มากมายแล้ว ยังเปรียบเสมือนเป็น “ผู้เชื่อมโยงสานสัมพันธ์ระหว่างไทยและเกาหลีใต้”

“คนไทยก็เป็นอย่าง Lisa ได้อีกมาก และมองว่ากระแส K-POP น่าจะยังอยู่อีกนาน โดยความร่วมมือในช่วงที่ผ่านมา ไทยและเกาหลีใต้ได้ถ่ายภาพยนตร์ร่วมกัน เป็นภาพยนตร์สยองขวัญที่ถ่ายทำในไทย ค่ายเพลงมีการคัดเลือกเด็กฝึกจากประเทศไทยไปเป็นศิลปินเกาหลีต่อเนื่อง โดยวงใหม่ที่เดบิวต์จะพยายามให้มีเด็กไทยร่วมด้วยอย่างน้อย 1 คน และยังร่วมกันผลิตการ์ตูนที่ฉายผ่านแอปพลิเคชันด้วย”

และด้านที่ 4 “ท่านทูต” กล่าวถึง “ความร่วมมือกันในอุตสาหกรรมอนาคต” ซึ่งอาจเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ยานอวกาศ ฯลฯ ซึ่งคงต้องใช้เวลาพูดคุยให้ชัดเจน เพราะเป็นทิศทางระยะยาวของแต่ละประเทศ และระหว่างสองประเทศจะร่วมมือกันอย่างไร ซึ่งความเป็นไปได้ของความร่วมมือที่จะเพิ่มขึ้นใน 4 ด้านนี้ สถานทูตเกาหลีใต้ให้ความสำคัญ และพร้อมจะส่งเสริมให้แน่นแฟ้นขึ้น

เสียดาย “เกาหลีใต้” ลงทุนไทยน้อย

มาถึงฝั่งของการลงทุนของนักลงทุนเกาหลีใต้ในไทยนั้น ในขณะนี้ มีบริษัทเกาหลีใต้ประมาณ 400 แห่งที่ลงทุนในไทย นำโดย 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ ประกอบด้วย Samsung LG และ Posco

อย่างไรก็ตาม “ท่านทูต” แสดงความเสียดาย เพราะหากเปรียบเทียบในประเทศอาเซียน เกาหลีใต้ยังลงทุนในไทยน้อย โดยอยู่ในอันดับที่ 8 ซึ่งมากกว่าเพียงแค่ลาวและกัมพูชาเท่านั้น

“ตามหลักการง่ายๆที่ไหนลงทุนแล้วได้ผลกำไร เราก็ลงทุนอยู่แล้ว นักลงทุนเกาหลีก็อยากลงทุนในไทยเพิ่ม แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนจะรู้กันว่าประเทศไทยเป็นฐานการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่น”

แต่หากมองไปในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น EV นวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง และดิจิทัล เกาหลีใต้ยังมีโอกาส แต่รัฐบาลไทยอาจให้ Insentive สิทธิพิเศษที่ช่วยดึงดูดใจมากขึ้น ตามหลักที่ว่า “ถ้าใครมีข้อเสนอที่ดีกว่า การลงทุนก็ไปที่นั่น” ซึ่งเราย้ำเรื่องนี้กับหน่วยงานไทย เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ตลอด

“ไทยต้องประชาสัมพันธ์มากขึ้น เพื่อแสดงให้นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งไม่ใช่แค่เกาหลีใต้รู้ว่า ไทยไม่ได้เป็นตลาดแต่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยต้องไปแสดงให้ประเทศอื่นๆรู้ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชน...คนไทยใจเย็นมาก จะต้องแสดงความกระตือรือร้นมากกว่านี้ รัฐบาลไทยต้องมองทิศทางของเศรษฐกิจประเทศให้ชัดเจนแล้วกล้าให้ข้อเสนอที่ดึงดูดใจมากพอในอุตสาหกรรมที่ต้องการการลงทุน”

แล้วอุตสาหกรรมใดนักลงทุนเกาหลีใต้ให้ความสนใจ “ท่านทูต” มองว่า รถ EV ถือว่าไทยมีศักยภาพ และรู้มาว่ารัฐบาลไทยให้ส่วนลดในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้คนไทยสนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ยังมีอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ และจักรกลอัจฉริยะ (AI) อุตสาหกรรมอนาคต รวมทั้งการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ที่เกาหลีใต้เชี่ยวชาญ อุตสาหกรรมชีวภาพ และการแพทย์ที่ไทยมีศักยภาพ และน่าจะร่วมมือกันได้มากขึ้น

“ไทย” จุดหมายปลายทางท่องเที่ยว

สำหรับความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว ไทยถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวของชาวเกาหลีใต้ และ ในปี 2566–2567 ได้ร่วมกันโปรโมตให้เป็น “ปีแห่งการเยี่ยมเยียนซึ่งกันและกัน” เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศหลังโควิด–19 ซึ่งจะมีการประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวของไทย และทำให้คนเกาหลีใต้รู้จักประเทศไทยมากขึ้น เชื่อว่าจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากเกาหลีใต้มาไทยได้เพิ่มมากขึ้น

“ท่านทูต” เล่าด้วยว่า คนเกาหลีใต้ชอบเมืองไทย และชอบท่องเที่ยวในไทยอยู่แล้ว ช่วงก่อนโควิดจะมาเป็นกรุ๊ปทัวร์ เที่ยวเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา หัวหิน เกาะสมุย ฯลฯ แต่หลังโควิด เปลี่ยนมาเที่ยวกันเองมากขึ้น และไปท่องเที่ยวหลากหลายที่มากขึ้น ซึ่งธุรกิจท่องเที่ยวไทยก็รับรู้

“ไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสได้ไปเขาใหญ่ ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 2–3 ชั่วโมง แปลกใจมากที่มีคนเกาหลีใต้ไปเที่ยวจำนวนมาก สนามกอล์ฟที่พัทยาก็มีคนเกาหลีใต้จองออกรอบแน่นจนคนไทยแทบจองไม่ได้ ขนาดร้านก๋วยเตี๋ยวเล็กๆในกรุงเทพฯ ผมยังเจอคนเกาหลีใต้มานั่งทานเกือบเต็มร้าน”

และหากถาม “เคล็ดลับ” ว่า คนไทยต้องทำอย่างไรให้คนเกาหลีใต้มาเที่ยวไทยมากขึ้น “ผมว่าไม่ต้องทำอะไรคนเกาหลีใต้ก็อยากมาเที่ยว ด้วยบุคลิกที่คนไทยเป็นคนใจดี ยิ้มแย้มแจ่มใส ต้อนรับนักท่องเที่ยว อาหารอร่อย ทำให้คนต่างชาติอยากมาเที่ยวเมืองไทย และคนเกาหลีใต้รู้จักอาหารไทยดี เพราะมีร้านอาหารไทยในเกาหลีใต้จำนวนมาก ผมว่าเฉพาะในโซลเมืองเดียวมากกว่าร้านอาหารเกาหลีที่มาตั้งในไทยทั้งประเทศ”

เมื่อให้ “ท่านทูต” แนะนำสถานที่ที่ท่องเที่ยว นอกเหนือจากที่คนเกาหลีรู้จักแล้ว ที่ส่วนใหญ่ผู้ชายก็จะมาตีกอล์ฟ หนุ่มสาว และครอบครัวก็เที่ยวทะเล ภูเก็ต พัทยา ที่เที่ยวที่ “ท่านทูต” ประทับใจคือ “เชียงใหม่และหาดใหญ่” นอกจากนั้น ยังมีสถานที่ใหม่ๆที่อยากแนะนำ เช่น ลพบุรี บุรีรัมย์ และอุดรธานี “ช่วงที่ผ่านมาผมได้ไปลพบุรี และเพิ่งไปบุรีรัมย์ไม่นานมานี้ เป็นเมืองที่น่าประทับใจ และกำลังจะไปอุดรธานี ซึ่งผมมองว่าเมืองเหล่านี้มีประวัติศาสตร์ เรื่องราวที่น่าสนใจ และน่าไปท่องเที่ยว”

นอกจากนั้น เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตและอาหารไทย “ผมชอบไปเดิน “ตลาดนัด” โดยเฉพาะไนต์ มาร์เกต เพราะไม่ร้อนมาก และตั้งเป้าหมายจะเดินตลาดนัดในไทยให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และอยากแนะนำให้คนเกาหลีใต้มาเดินตลาดนัด ส่วนอาหารไทย ที่ผมชอบคือ “ก๋วยเตี๋ยวน้ำใส” และอาหารคนเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ชอบ คือ ผัดไทย ปูผัดผงกะหรี่ และต้มยำกุ้ง”

“ผีน้อย” ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย

ท้ายที่สุด ต่อกรณีการลักลอบเข้าเมืองไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย หรือที่คนไทย และคนเกาหลีใต้รู้จักกันอย่างดีในชื่อว่า “ผีน้อย” “ท่านทูต” ได้ทำความเข้าใจในเรื่องนี้ และเล่าให้ฟังว่า แรงงานผิดกฎหมาย หรือผีน้อย ในเกาหลีมีประมาณ 140,000–200,000 คน และเป็นผีน้อยคนไทยมากที่สุด

สาเหตุที่คนไทยเป็น “ผีน้อย” มากที่สุด เรื่องแรกเป็นเพราะคนไทยไปเที่ยวเกาหลีใต้โดยไม่ต้องขอวีซ่า และอยู่ในเกาหลีใต้ได้ 90 วัน หลังจากครบ 90 วันที่ถูกกฎหมาย หากอยู่ทำงานต่อก็กลายเป็นคนผิดกฎหมาย

ขณะที่เรื่องที่ 2 มาจากความแตกต่างของค่าแรงในไทยและเกาหลีใต้ โดยเงินเดือนจบปริญญาตรีที่ไทยประมาณ 700 เหรียญสหรัฐฯต่อเดือน ขณะที่ทำงานในโรงงานที่เกาหลีใต้ไม่ต้องจบปริญญาตรีก็ได้แล้ว 1,800 เหรียญฯต่อเดือน และหากเป็นแรงงานมีฝีมือ เช่น ต่อเรือ ค่าแรงจะขึ้นไปถึง 3,000 เหรียญฯต่อเดือน

“กรณี “ผีน้อย” ทั้งรัฐบาลเกาหลีใต้และไทย มีความพยายามร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด และล่าสุดได้เพิ่มโควตาแรงงานคนไทยที่สามารถไปทำงานในเกาหลีใต้อย่างถูกกฎหมาย”

ทั้งนี้ อัตราการว่างงานโดยรวมในเกาหลีใต้อยู่ที่ประมาณ 2.4-2.6% ของจำนวนแรงงานทั้งระบบ แต่ในบางสาขา เช่น อุตสาหกรรมต่อเรือ ช่างทาสี ช่างเชื่อม ขาดแคลนมาก และแรงงานไทยที่มีฝีมือสามารถทำงานได้ ล่าสุด จึงได้ตกลงกันและขยายโควตาแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานอย่างถูกกฎหมายในเกาหลีใต้ เป็น 5,000 คนต่อปี จากเดิมที่อนุญาต 3,000 คนต่อปี และรัฐบาล 2 ประเทศยังได้หารือเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง

โดยมีความคาดหวังร่วมกันว่าจะสามารถกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นเพิ่มพูนมากขึ้นในทุกด้าน และเติบโตแข็งแกร่งไปด้วยกันในด้านเศรษฐกิจ การค้า ท่องเที่ยวและการลงทุน.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ