Financial exclusion : การบ้านจากภาคการเงินไทย

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

Financial exclusion : การบ้านจากภาคการเงินไทย

Date Time: 2 มี.ค. 2566 10:51 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • คนไทยยุคดิจิทัลส่วนใหญ่มองว่า การเข้าถึงบริการทางการเงินมีความสำคัญ เพราะช่วยเป็นตาข่ายรองรับทางสังคม

Latest


กิจกรรมทางเศรษฐกิจไทย ทยอยปรับตัวดีขึ้น ตามตัวเลขจีดีพีที่ 2.6% ปีก่อน และคาดว่าในปีนี้จะโตเพิ่มขึ้นเป็น 3.4% สอดคล้องกับที่ทิศทางเศรษฐกิจและบรรยากาศการลงทุนเริ่มปรับดีขึ้นบ้าง โดยการกลับมาเปิดประเทศของจีนเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การท่องเที่ยวของไทยเติบโตเช่นเดียวกับในภูมิภาค

โดยคาดว่าภูมิภาคอาเซียนจะเติบโตได้ถึง 4-5% ภาพเศรษฐกิจมหภาคที่สดใสขึ้นจะนำมาซึ่งโอกาสในการสร้างรายได้ แล้วภาคการเงินไทยมีความพร้อมที่จะสนับสนุนการเติบโตดังกล่าวมากน้อยเพียงใด บทความนี้มุ่งตีโจทย์การบ้านจากภาคการเงินไทย โดยขอเริ่มจากการวิเคราะห์แยกออกเป็นสองมุมมอง

มองเขา จากปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ

มองจากมุมมองภายนอกแล้ว เศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียนที่ปรับดีขึ้นเป็นไปอย่างกระจายตัว โดยสัดส่วนชนชั้นกลางในอาเซียนจะเพิ่มขึ้นเป็น 65% ในปี 2030 จาก 54% ในปี 2020 และจำนวนประชากรฐานะมั่งคั่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเติบโตถึง 58% ในช่วงปี 2021-2026 การเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนกลุ่มนี้ย่อมจะนำมาซึ่งความต้องการใช้บริการทางการเงิน โดยเฉพาะการมองหาช่องทางต่อยอดความมั่งคั่งในสินทรัพย์ก็จะเพิ่มขึ้นตามมา

ตัวเลขที่น่าสนใจ คือ มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการความมั่งคั่ง หรือ Wealth Asset Under Management หรือ AUM ในเอเชียจะเพิ่มขึ้น 1.7 เท่าภายในปี 2025 เมื่อเทียบกับปี 2021 สำหรับประเทศไทยเอง แบบสำรวจลูกค้าที่ใช้บริการการบริหารความมั่งคั่ง หรือ Wealth management พบว่า 44% มีความต้องการที่จะได้รับคำแนะนำและข้อมูลเพิ่มในการลงทุนจากบริการบริหารความมั่งคั่งอีกด้วย

เหลียวมองเรา ในมุมผู้ใช้บริการทางการเงิน

มองย้อนกลับไปพบว่า COVID-19 ทำให้ผู้คนลดความต้องการใช้เงินสดลง และหันมาทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น เร่งให้ตลาด Mobile banking ของไทยเติบโตเร็ว ผลสำรวจจาก Visa และ SEA พบว่า 96% ของคนไทยมี Mobile app และประเทศไทยมีสัดส่วนการใช้ Application การเงินดิจิทัล (E-banking และ E-wallet) มากเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน

รายงานฉบับเดียวกันนี้ยังพบด้วยว่า แม้ 94% ของคนไทยยุคดิจิทัล ซึ่งหมายถึงผู้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในช่วงอายุ 16-60 ปี จะเข้าถึงบริการทางการเงินได้อยู่แล้ว แต่ก็ยังต้องการใช้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เพื่อรองรับกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ทั้งการจับจ่ายใช้สอย การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การออม และการลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เข้าถึงบริการทางการเงินหลัก (สินเชื่อ การลงทุน และการประกันภัย) ได้อยู่แล้ว 98% ของคนกลุ่มนี้มีความต้องการจะใช้บริการทางการเงินดิจิทัลเพิ่มอีกในอนาคต

ประเด็นน่าสังเกต คือ คนไทยยุคดิจิทัลส่วนใหญ่มองว่า การเข้าถึงบริการทางการเงินมีความสำคัญ เพราะช่วยเป็นตาข่ายรองรับทางสังคม (Social safety net) รองรับกรณีเกิดความเสี่ยงต่างๆ ที่คาดไม่ถึงได้ด้วย เช่น รายได้ลดลง รายจ่ายเพิ่มขึ้น มีค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิด ขาดสภาพคล่องทำธุรกิจ ซึ่งต่างจากมุมมองคนประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่มองว่าบทบาทสำคัญของบริการทางการเงิน คือ การบริหารสภาพคล่อง และการออมเพื่ออนาคต

นอกจากนี้ คนไทยยุคดิจิทัลจำนวนมากยังเข้าถึงเพียงแค่บริการทางการเงินขั้นพื้นฐาน ได้แก่ บริการออมทรัพย์และการชําระเงินออนไลน์ ส่วนใหญ่ 72% ยังเข้าไม่ถึงบริการหลักอื่น เช่น สินเชื่อ การลงทุน การทำประกัน

ผลสำรวจกลุ่มคนที่ต้องการสินเชื่อ พบว่า ธนาคารพาณิชย์ให้บริการสินเชื่อได้ไม่ถึง 50% ของผู้ต้องการสินเชื่อทั้งหมด ทำให้ต้องไปพึ่งพาแหล่งสินเชื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน นอกจากนี้ ธุรกิจขนาดย่อย (Micro enterprise) สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้น้อยกว่าธุรกิจ SMEs อย่างชัดเจน อุปสรรคสำคัญอันดับหนึ่งในการเข้าถึงสินเชื่อของไทยไม่ใช่อัตราดอกเบี้ย แต่เป็นกระบวนการขอสินเชื่อที่ต้องใช้หลักประกันที่ยุ่งยากและซับซ้อน

ขณะที่ผลสำรวจด้านการลงทุน พบว่า คนไทยส่วนน้อยคุ้นเคยกับการลงทุน คนไทยยุคดิจิทัลเคยลงทุนในตลาดการเงิน (หุ้น พันธบัตร กองทุนรวม) ไม่ถึง 30% และไม่ถึง 15% กระจายความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนในผลิตภัณฑ์หลากหลาย คนไทยส่วนใหญ่กว่า 60% ยังเลือกออมเงินไว้ในบัญชีเงินฝาก

จากมองเขาที่ปัจจัยแวดล้อม สู่มองเราที่พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้เห็นถึงการบ้านของภาคการเงินไทย คือ การที่ยังมีคนที่ยังไม่ได้รับบริการ (Unserved) หรือ ยังได้รับบริการไม่เพียงพอ (Underserved) จึงจะไม่สามารถเข้าถึงโอกาสในการเติบโตในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นได้อย่างเต็มที่ การเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างไม่ทั่วถึง หรือ Financial exclusion จึงเป็นการบ้านให้ภาคการเงินไทยต้องขบคิดว่าจะตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการทางการเงินได้อย่างไร

บทความโดย ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์
บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด

ข้อมูลอ้างอิง

-Park, C. Y., & Yeung, B. (2021). An integrated and smart ASEAN: Overcoming adversities and achieving sustainable and inclusive growth.

- Credit Suisse Research Institute (2022). Global Wealth Report 2022: Leading perspectives to navigate the future.

- Accenture (2022). The future is calling: How advisory will define wealth management in Asia.

- VISA (2022). Consumer Payment Attitudes Study 2022: Navigating a new era in payments.

- SEA (2022). Thai Digital Generation Survey 2022: Financial access in the digital era.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์