DealStreetAsia รายงานว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสตาร์ทอัพเพียง 8 รายเท่านั้นที่ขึ้นแท่นเป็นยูนิคอร์นได้ (สตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัท 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเป็นจำนวนน้อยกว่าปี 2564 เกือบ 3 เท่าตัว ที่มีจำนวนยูนิคอร์นรวมกว่า 23 ราย เนื่องจากในปีนั้นในตลาดมีสภาพคล่องมากเกินไป ที่ได้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการระดมทุนมหาศาล
สำหรับยูนิคอร์นทั้ง 8 ราย ที่เกิดขึ้นในปี 2565 ได้แก่
-Akulaku ผู้ให้บริการโซลูชั่นทางการเงินดิจิทัล โดยมี SCB เป็นผู้ลงทุนเชิงกลยุทธ์กว่า 3 พันล้านบาท
-Insider ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ด้านการตลาดจากสิงคโปร์
-Voyager ผู้ให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัล Paymaya จากฟิลิปปินส์ซึ่งมี Tencent บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนร่วมลงทุน
-Biofourmis ผู้ให้บริการระบบดิจิทัลเพื่อการดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคลจากสิงคโปร์
-Coda Payments ผู้ให้บริการโซลูชั่นการชำระเงินออนไลน์จากสิงคโปร์
-DANA ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มกระเป๋าเงินดิจิทัล
-LINE MAN Wong Nai ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนดีมานด์และข้อมูลร้านอาหารไทย
-Kredivo ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสินเชื่อออนไลน์จากอินโดนีเซีย
โดยในบรรดาจำนวนยูนิคอร์นเกิดใหม่ สิงคโปร์ยังเป็นอันดับที่ 1 ร่วมกับอินโดนีเซีย ประเทศละ 3 ราย ขณะที่ประเทศไทยก็มี LINE MAN Wong Nai ขึ้นแท่นเป็นยูนิคอร์นรายล่าสุด หลังจากที่ปี 2564 ได้แจ้งเกิด 2 ยูนิคอร์น อย่าง Flash Express และ Ascend Money
ทั้งนี้การเกิดขึ้นของยูนิคอร์นหน้าใหม่ สะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบการระดมทุนของในแต่ละประเทศ โดยในปีที่แล้วสตาร์ทอัพของสิงคโปร์สามารถระดมทุนได้สูงสุดที่ 9.79 พันล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยสตาร์ทอัพจากอินโดนีเซียที่ระดมทุนได้ 3.77 พันล้านดอลลาร์ ทั้งสองประเทศมีสัดส่วนรวมกันประมาณ 86% ของการระดมทุนโดยรวมที่มีมูลค่า 1.58 หมื่นล้านดอลลาร์
ถ้าหากแบ่งตามประเภทธุรกิจ พบว่า 5 ใน 8 ของยูนิคอร์นเกิดใหม่เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีการเงิน หรือ Fintech โดยมีมูลค่าถึง 5 พันล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยธุรกิจการค้าออนไลน์ e-commerce ที่มีมูลค่า 3.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสนใจของนักลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีการเงินมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ในบรรดายูนิคอร์นเกิดใหม่ Coda Payments จากสิงคโปร์ เป็นบริษัทที่ระดมทุนได้สูงสุดที่ 690 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในรอบ Series C ในเดือนเมษายนปีที่แล้ว จากนักลงทุนรายใหญ่ ได้แก่ GIC กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของสิงคโปร์, Insight Partners และ Smash Capital ขณะที่อันดับที่สอง ได้แก่ Akulaku ของอินโดนีเซีย และ Biofourmis ของสิงคโปร์ ซึ่งระดมทุนไปได้รายละ 300 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว
ทั้งนี้ DealStreetAsia ยังได้ให้มุมมองว่า ในปี 2565 จำนวนยูนิคอร์นเกิดใหม่ที่ลดลง เป็นผลมาจากภาพรวมกิจกรรมการระดมทุนที่ลดลง โดยกองทุนส่วนบุคคลในสตาร์ทอัพภูมิภาคอาเซียนอยู่ที่ 1.58 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงกว่า 32% จากปี 2564 ที่ 2.32 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
อย่างไรก็ตามภาพรวมของยูนิคอร์นในอาเซียน สิงคโปร์ยังเป็นประเทศที่ครองแชมป์โดยมีจำนวนสูงสุดอยู่ที่ 25 ราย รองลงมาเป็นอินโดนีเซีย 16 ราย อันดับสาม เวียดนาม 4 ราย ไทย 3 ราย ฟิลิปปินส์ 2 ราย และมาเลเซีย 2 ราย.
อ้างอิง : DealStreetAsia