เศรษฐกิจไทยในปีกระต่าย ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกถดถอย ดอกเบี้ยขาขึ้น จีนคลายล็อกดาวน์ วิกฤติพลังงานในยุโรป ความขัดแย้งระหว่างประเทศอาจบานปลาย โควิดกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นทุกวัน ในฟากฝั่งภาคธุรกิจ ยังต้องเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าแรง และค่าดอกเบี้ยต่างขยับขึ้นไปหมด
ภาคของการส่งออกที่เคยเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย กลับมาหดตัว ผลพวงจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าถดถอย บวกกับค่าเงินบาทแข็ง ฉุดความต้องการสินค้าส่งออกไทยลดลง นับจากนี้ต้องหวังรายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจ
มองไปข้างหน้าปัจจัยความไม่แน่นอน ยังคงประดังเข้ามาตลอดเวลา และเต็มไปด้วยความผันผวน ก่อให้เกิดความเสี่ยงจากการลงทุน เพียงแต่ทุกวิกฤติที่เกิดขึ้นควรถือเป็นโอกาส ควรหาจังหวะเข้าลงทุน หากเลือกลงทุนได้ถูกต้องเดินถูกทาง ก็สามารถสร้างความมั่งคั่ง ร่ำรวยได้รวดเร็ว
“ทีมเศรษฐกิจ” ได้คัดสรรเหล่าบรรดากูรูชั้นนำในแวดวงของตลาดหุ้น ทองคำ การเงิน และน้ำมัน มาชี้ช่องทางการลงทุนในปีกระต่าย ดังนี้...
ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ และนายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไทย
ให้ทิศทางตลาดหุ้นปีนี้ว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัวอย่างรุนแรง และมีปัจจัยความไม่แน่นอนค่อนข้างมาก ขณะที่ธนาคารกลางทั่วโลกจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับที่น่ากังวล การลงทุนในตลาดหุ้นยังมีความเสี่ยงสูงและต้องทำด้วยความระมัดระวัง ข้อมูลในอดีตชี้ให้เห็นว่าตลาดหุ้นของประเทศที่เศรษฐกิจถดถอยมักให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีในปีนั้น ดังนั้น นักลงทุนที่สนใจลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศควรศึกษาความเสี่ยงให้รอบด้าน
มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยน่าจะค่อนข้างแน่นอนแล้ว สะท้อนทั้งจากดัชนี US Recession Probability ที่พุ่งแตะเกือบ 100% และภาวะ Inverted Yield Curve (ดอกเบี้ยสั้นสูงกว่าดอกเบี้ยยาว) ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซนก็ส่งสัญญาณอ่อนแอลงต่อเนื่อง และน่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเช่นเดียวกัน ท่ามกลางวิกฤติพลังงานและเงินเฟ้อที่ขยายตัวทำจุดสูงสุดใหม่
ตลาดหุ้นสหรัฐฯและยุโรป คาดว่าจะยังอยู่ในขาลงในปีนี้ ยกเว้นบางช่วงที่อาจเกิดภาวะ Bear Market Rally หรือการปรับขึ้นช่วงสั้นในขณะที่ภาพใหญ่ยังเป็นขาลง โอกาสที่จะเห็นธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางสหภาพยุโรป (อีซีบี) ลดดอกเบี้ย เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจและตลาดหุ้นน่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะเงินเฟ้อรอบนี้ไม่น่าลดลงง่ายๆ
ส่วนตลาดหุ้นจีนดูน่าสนใจขึ้นในระยะสั้น หลังรัฐบาลจีนเริ่ม ผ่อนคลายมาตรการโควิดลงบ้าง แต่ในระยะยาวนักลงทุนยังคงต้องระมัดระวัง เพราะจีนเริ่มใช้นโยบายที่ไม่เป็นมิตรกับตลาดทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และดูเหมือนรัฐบาลจีนจะให้ความสำคัญกับรัฐวิสาหกิจมากกว่าภาคธุรกิจเอกชน
“ตลาดหุ้นไทย คือหนึ่งในตลาดหุ้นที่น่าลงทุนที่สุดในปีหน้า และมีแนวโน้ม Outperform ตลาดหุ้นโลกต่อเนื่องไปอีก โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากแรงหนุนของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เริ่มกลับมาเป็นบวก”
โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยเข้าสู่ภาวะฟื้นตัวอย่างชัดเจน หลังเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้ไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นในปีหน้า อีกทั้งไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่คาดว่าจะได้ประโยชน์สูงสุดเมื่อจีนยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์ ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นช่วงกลางปีนี้
ปัจจัยเสี่ยงหลักสำหรับตลาดหุ้นไทย คือการเมือง ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าผลการเลือกตั้งที่คาดว่าน่าจะมีขึ้นในไตรมาส 2 ของปีนี้ จะนำไปสู่เสถียรภาพทางการเมืองที่ดีขึ้นหรือแย่ลง และรัฐบาลใหม่จะมีทีมเศรษฐกิจที่สามารถเรียกคะแนนความเชื่อมั่นได้ขนาดไหน!!
ธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มฮั่วเซ่งเฮง
มองแนวโน้มราคาทองคำตลาดโลกในปีนี้ คาดว่าจะเป็นขาขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงจะเกิดภาวะถดถอย และแรงซื้อทองแท่งจากจีนและอินเดียที่เป็นผู้ใช้ทองคำรายใหญ่อันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลก
ซึ่งในปีนี้คาดว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยราว 0.75% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปีจะอยู่ที่ 5.00-5.25% ส่งผลให้เงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ขณะที่การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางชั้นนำ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ ยุโรปและอังกฤษ อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลกให้ถดถอยได้
ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในอดีตโดยส่วนใหญ่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอยในอีก 12-18 เดือนข้างหน้า ถ้าย้อนกลับไปราวกว่า 50 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯเคยเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย 7 ครั้ง ราคาทองคำโดยส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น ดังนั้นกรณีที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจริงคาดว่าจะมีแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม คาดว่าปีหน้าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะชะลอตัวลง ไม่ได้ถดถอยรุนแรง แต่เศรษฐกิจยุโรปมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะถดถอยจากการขาดแคลนพลังงานและอัตราเงินเฟ้อที่สูง
ส่วนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้คาดการณ์เศรษฐกิจของจีนและอินเดียในปีนี้ จะขยายตัว 4.4% และ 6.1% ตามลำดับ ดังนั้นแนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นจากการเปิดประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจอินเดียที่คาดจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทำให้ความต้องการทองแท่งจากจีนและอินเดียจะสูงขึ้น
ทั้งนี้ ด้วยปัจจัยทั้งหมดข้างต้น ประเมินว่า ราคาทองคำตลาดโลกปีนี้จะปรับขึ้นแตะระดับ 1,900 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือสูงกว่า ส่วนจุดต่ำสุดคาดว่าจะอยู่ระดับ 1,660–1,680 ดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่อาจไม่เป็นไปอย่างที่คาดคืออัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯและยุโรปยังอยู่ในระดับที่สูง และเศรษฐกิจโลกเกิดภาวะถดถอยอย่างรุนแรง ส่วนเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้น เนื่องจากเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นและคาดว่าจะกลับมาเกินดุลบัญชีเดินสะพัด รวมทั้งเงินลงทุนจากต่างประเทศคาดจะไหลเข้าตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นไทย ทำให้การลงทุนในทองแท่งต้องระวังความเสี่ยงจากเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น
การลงทุนระยะสั้นแนะนำเข้าซื้อเมื่อราคาทองคำตลาดโลกปรับลดลงมาที่ 1,730 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการลงทุนระยะยาวแนะนำทยอยสะสมที่ราคาต่ำกว่า 1,700 ดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้อาจเลือกลงทุนทองแท่งในรูป เงินดอลลาร์สหรัฐฯหรือ USD Gold Trade หรือลงทุนทองแท่งในรูปเงินบาท แต่ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนโดยใช้ USD Futures ในตลาด TFEX
ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ และธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์
มองแนวทิศทางดอกเบี้ยของไทยปีนี้ “จะเป็นขาขึ้น ตามการส่งสัญญาณทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) ที่สื่อสารชัดเจนว่า แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินไทยที่เหมาะสมในระยะข้างหน้า คือจะทยอยขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจเงินเฟ้อและความเสี่ยงที่อาจเปลี่ยนไป (Gradual and measured policy normalization)”
หลังจากดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นแล้ว ก็จะเห็นการส่งผ่านนโยบายการเงินจากดอกเบี้ยนโยบายไปยังดอกเบี้ยอื่นๆ ในตลาดการเงินตามมา ธุรกิจและประชาชนคงต้องเตรียมพร้อมเจอกับภาวะต้นทุนเงินกู้ที่จะสูงขึ้นเทียบกับช่วงโควิดที่ดอกเบี้ยไทยต่ำมาก
ถ้ามองแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ล่าสุด ธปท.ประเมินว่า จะขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ เศรษฐกิจไทยก็คงไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ กดดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำสุดเท่าที่เคยทำมาอยู่ที่ 0.5% นานกว่าสองปีในช่วงโควิด แต่สามารถทยอยขึ้นดอกเบี้ยกลับสู่ระดับปกติที่เคยเป็นได้
สำหรับ แนวโน้มเงินเฟ้อไทยปีหน้าจะยังสูงกว่าเป้าเงินเฟ้อ 1–3% ของ ธปท.ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ก่อนกลับเข้าเป้าได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ก็จะสอดคล้องกับทิศทางนโยบายการเงินตึงตัวเพื่อดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในเป้าหมาย แม้ภาพรวมเงินเฟ้อปีหน้าจะลดลงจากปีนี้ที่สูงกว่า 6% ตามราคาน้ำมันโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่เริ่มปรับลง แต่ราคาพลังงานในประเทศคงไม่ได้ลดตามมากนัก เพราะรัฐบาลช่วยตรึงราคาไว้ช่วงโควิดมีภาระอุดหนุนกว่าสองแสนล้านบาท ในช่วงข้างหน้าคงเห็นรัฐบาลทยอยลดการอุดหนุน และมีกลไกเก็บเงินคืนภาระก้อนนี้จากผู้ใช้พลังงาน จึงน่าจะเห็นการส่งผ่านต้นทุนพลังงานไปราคาสินค้าและบริการอื่นตามมา
ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้มองว่าดอกเบี้ยนโยบายจะปรับเพิ่มต่อเนื่องจาก 1.25% ณ สิ้นปี 65 เป็น 2% หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยในปีหน้าไม่เปลี่ยนไปตามเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอตัวลงมากและยังมีความไม่แน่นอนสูง คณะกรรมการนโยบายการเงินคงประเมินขนาดและจังหวะเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
นอกจากดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้น ยังมีการ สิ้นสุดของมาตรการปรับลดอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF fee) ในช่วงโควิดจาก 0.46% เป็น 0.23% ของฐานเงินฝากเพื่อให้สถาบันการเงินส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงด้วยการลดดอกเบี้ยเงินกู้อย่างน้อย 0.4% จึงมองว่าการเรียกเก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินในอัตราเดิมตั้งแต่ต้นปีนี้ จะมีผลให้เกิดการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตามกลไกที่เคยเกิด ดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารจะปรับสูงขึ้นตามด้วยเหตุผลนี้อีก รวมถึงการ สิ้นสุดของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและสินเชื่อเพื่อการปรับตัวในเดือน เม.ย.นี้ จะทำให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมากหรือมีกลไกรัฐค้ำประกันความเสี่ยงเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องธุรกิจในช่วงโควิดจะหมดลง
ส่วนค่าเงินบาทปีนี้มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องในกรอบ 33–34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 66 ค่าเฉลี่ยปีหน้าอยู่ในช่วง 33.5–34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มองว่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯน่าจะอ่อนค่าลงตามการชะลอขึ้นดอกเบี้ยของเฟดไปสู่ระดับที่สูงมากพอแล้ว ที่สำคัญเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะสะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐปีนี้ ที่น่าจะชะลอลงมากหลังยาแรงของเฟดออกฤทธิ์ มองกลับมาปัจจัยในประเทศเอง เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ต่อเนื่อง ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลมากขึ้นตามการฟื้นตัวของรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ มองแนวโน้มปีหน้านักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะสูงกว่าปีนี้เกินสองเท่าราว 28 ล้านคน โดยเฉพาะหลังจีนเปิดประเทศ
นิธิภัทร แสงดาวฉาย นักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน กลุ่ม ปตท. (PRISM Experts)
ทีม PRISM Experts ได้คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบที่เป็นแหล่งนำเข้าหลักของประเทศไทย ในปีนี้ราคาจะเคลื่อนไหวในกรอบเฉลี่ย 85–95 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เพราะมั่นใจว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ในช่วงครึ่งหลังของปี แต่กำลังการผลิตจากรัสเซียอาจจะหายไปจากตลาด หลังสหภาพยุโรปได้คว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเต็มรูปแบบ รวมทั้งความร่วมมือของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ หรือโอเปกพลัส (OPEC+) ในการพยุงราคาน้ำมันในตลาดโลก
“ต้องจับตาผู้ผลิตรายอื่นๆว่า จะสามารถเพิ่มการผลิตเพื่อชดเชยกำลังการผลิตที่ขาดหายไปจากรัสเซียได้มากน้อยเพียงใด โดยคาดว่าน้ำมันจากรัสเซียจะหายไปจากตลาด 500,000–1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และประเด็นการยกเลิกคว่ำบาตรต่ออิหร่านและเวเนซุเอลา ที่อาจเป็นหมากอีกตัวหนึ่งในเกมการต่อรองของราคาน้ำมันโลก ในประเด็นการสามารถเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบเข้ามาในตลาดจากหลายๆผู้ผลิต”
สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก ยังจะต้องจับตาต้นทุนการผลิต ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามเงินเฟ้อ และนโยบายของผู้นำสหรัฐฯ ขณะที่กลุ่ม Non-OPEC อาจจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และต่ำกว่าระดับ 90 เหรียญฯ นอกจากนี้โอเปกพลัสจะปรับเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อรักษาสมดุลของตลาด แต่อาจจะทำได้ในปริมาณที่ไม่มากนัก โดยอาจเพิ่มกำลังการผลิตได้เพียง 600,000 บาร์เรลต่อวัน
ทีม PRISM ขอฟันธงว่า ในปีนี้กำลังการผลิตน้ำมันโลก โดยเฉพาะที่มาจากรัสเซียจะปรับตัวลดลง 800,000 บาร์เรลต่อวัน ในขณะที่จากโอเปกพลัสปรับตัวเพิ่มขึ้น 600,000 บาร์เรลต่อวัน และจาก Non–OPEC ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ปริมาณการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน.
ทีมเศรษฐกิจ