เพราะ “โมเมนต์ที่ใช่ สร้างได้ไม่ต้องรอ” ภายใต้บริบทนี้สำหรับการเที่ยวของคนไทยในปี 2566 ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยว พยายามส่งสารบอกคนไทยให้เติมความหมายของการเดินทางท่องเที่ยว ชดเชยช่วงเวลาที่พลาดโอกาสได้เดินทางจากการแพร่ระบาดของโควิด–19
ตอนนี้จึงบอกว่า “ได้เวลา” ที่จะออกไปท่องเที่ยวได้แล้ว
ในปี 2566 ททท.เดินหน้าปลุกกระแสคนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ด้วยแคมเปญ “เที่ยวเมืองไทย Amazing ยิ่งกว่าเดิม” มาสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวด้วยมุมมองใหม่
ที่น่าสนใจคือ บิ๊กโปรเจกต์ ครั้งแรกที่ ททท.เสนอการท่องเที่ยวเมืองไทยให้น่าสนใจยิ่งขึ้น ภายใต้โครงการ “365 มหัศจรรย์เมืองไทยเที่ยวได้ทุกวัน” ทำให้ทุกวันเป็น “ไฮซีซัน”
โดย ททท.ได้สร้างธีมการท่องเที่ยวในแต่ละวันให้ครอบคลุมทุกมิติของการท่องเที่ยว เพื่อดึงคนไทยให้โหยหาการท่องเที่ยวในประเทศแทนการไปเที่ยวในต่างประเทศ และมุ่งหวังที่จะเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวไทยให้บะละฮึ่ม!
ในปี 2566 จะเป็นปีที่การท่องเที่ยวจะมีโอกาสได้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ อย่างน้อยที่ ททท.ตั้งไว้คือ ต้องสร้างรายได้ทั้งจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศให้กลับมาที่ระดับ 80% ของปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในปีนั้นประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท
ภายใต้ โครงการ “365 มหัศจรรย์เมืองไทยเที่ยวได้ทุกวัน” จึงมีคอนเซปต์ออกมาว่า การท่องเที่ยวในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นสายไหน อาทิ #สายมู มูวันนี้ดีที่สุด #สายกิน เมนูพิเศษวันนี้วันเดียว #สายช็อป ราคาดีซื้อวันนี้เท่านั้น
อ้าว! แล้วต้องทำงาน จะให้ไปเที่ยวได้อย่างไร ในหลายอาชีพเริ่มคุ้นชินกันแล้วตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ที่สัมผัสกันมาแล้วว่า Work from Home อาจจะไม่เพียงพอ
จึงเกิดกระแสไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนๆก็ทำงานได้ และในเมื่อเป็นการทำงานทางไกลหรือ Remote working กันอยู่แล้ว ถ้าเช่นนั้นก็ไปทำงานในแหล่งท่องเที่ยวซะเลยทีเดียว เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศให้แตกต่างจากเดิม และเปลี่ยนทุกที่เป็นที่ทำงาน
สำหรับคนที่ทำงานในรูปแบบใหม่ ตอนนี้มีคนกลุ่มนี้จำนวนมากที่เรียกว่า Workation หรือการทำงานขณะท่องเที่ยว หรือ Digital Normad หรือคนที่ทำงานผ่านระบบออนไลน์ ที่กลายมาเป็นเทรนด์ใหม่ของการท่องเที่ยว
แม้แต่รัฐบาลก็สนับสนุนการทำงานของข้าราชการขณะ ท่องเที่ยวหรือ Workation หรือจะเรียกว่า Work from Anywhere ทำงานที่ไหนก็ได้เช่นกัน ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้ข้าราชการหยุดเที่ยวได้ 2 วันโดยไม่คิดเป็นวันลา แต่ในวันนั้นๆต้องทำงานด้วย หรืออาจจะไปในวันศุกร์หรือวันจันทร์เพื่อให้หยุดยาวได้ 3 วันก็ได้ แต่ก็กำหนดว่าจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวต้องเป็นเมืองรอง
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ทุกคน ทุกอาชีพ ไม่อาจเที่ยวได้ตลอด 365 วัน แต่ภายใต้ โครงการ “365 มหัศจรรย์เมืองไทยเที่ยวได้ทุกวัน” ต้องการสื่อสารให้เห็นว่า ไม่ว่าวันใดที่คุณอยากเที่ยว ก็ออกไปท่องเที่ยวได้เลย โดยไม่ต้องรอ และมีสถานที่ในเมืองไทยที่น่าสนใจไปเที่ยวได้ทุกวัน
สามารถเลือกการเดินทางได้ทั้งปี เพราะไม่มีช่วงไหนที่เป็น “โลว์ซีซัน”
เมื่อคิดโครงการเช่นนี้ขึ้นมาแล้ว ททท.จึงจะเป็นตัวเชื่อมโยง ทุกเทศกาล ทุกกิจกรรม ทุกการสร้างสรรค์เพื่อการเดินทางท่องเที่ยว ร่วมกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงต่างๆ ภาคเอกชน แม้กระทั่งชาวบ้านในพื้นที่ของแหล่งท่องเที่ยว เพื่อทำให้ปฏิทินท่องเที่ยวทั้งปี มีความหมายและให้คนที่ออกเดินทางท่องเที่ยวตามคอนเซปต์นี้มีความสุขทุกคน
และเล็งว่า จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงการท่องเที่ยวภายในประเทศครั้งใหญ่
เพราะจะต้องมีการ Drive Demand หรือขับเคลื่อนความ ต้องการของนักท่องเที่ยวให้ออกเดินทาง เพิ่มวันพักค้าง สร้างความถี่ในการเดินทางมากขึ้น
ขณะที่ฟากฝั่งผู้ประกอบการท่องเที่ยวก็ต้องเตรียมพร้อมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวได้ตลอดปี ท่ามกลางอุปสรรคแรงงานภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกำลังขาดแคลนอย่างหนัก
ส่วนกลยุทธ์ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความสนใจ ทาง ททท.จะนำเสนอเรื่องราวของการเดินทางท่องเที่ยวที่มีการเชื่อมโยงทุกมิติ เพื่อสร้างประสบการณ์ และการท่องเที่ยวที่มีความหมาย โดยจะมีกิจกรรมในแต่ละเดือนทุกเดือนจะมีการเสนอดีลพิเศษ และจะมีแคมเปญออกมาจำนวนมาก
โดยแต่ละสำนักงาน ททท.ภายในประเทศจะเริ่มนำร่องเดือน ม.ค.2566 กับกิจกรรม “มหัศจรรย์ เมืองไทย สวยแบบตะโกนนนนน” ประกวดคลิป “365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทยเที่ยวได้ทุกวัน” ผ่านยอดวิวอันทรงพลังในโซเชียลมีเดีย
กติกาง่ายๆ เพียงแค่ตะโกนชื่อโครงการ และลากเสียงให้ยาวที่สุด ตามลีลาของตัวเอง ก็ได้ลุ้น! รางวัล
ขณะเดียวกัน จะมีแคมเปญ “Code ลับ 365 พาเพื่อนเที่ยว” รวมเพื่อนให้ได้ 3 คน มีเวลาให้ 6 สัปดาห์ จองดีลเด็ดไปเที่ยวให้ครบ 5 ภูมิภาค รวม Content เด็ดโดนใจ ส่งกลับมา ภายในเวลาที่กำหนด ผู้ชนะใจกรรมการ+ขวัญใจมหาชนรับเงินรางวัลได้ของรางวัล รวมมูลค่ากว่า 365,365 บาท
ที่น่าสนใจ คือ ราคาสุดพิเศษ โดนใจ โดย ททท.ได้ร่วมกับพันธมิตรออนไลน์ทุกสิ้นเดือน เหมือนการเริ่มต้นใหม่ มาวางแผน เริ่มการเดินทางใน 30 วันถัดไปด้วย “Wonder Deal จาก ททท.”
พร้อมกันนี้ ททท.ได้กำหนดธีมเที่ยวไทยทั้ง 5 ภาคโดยนำเสนออัตลักษณ์และสิ่งที่น่าสนใจในภาคนั้นๆ
เริ่มจากภาคเหนือ เสิร์ฟประสบการณ์ท่องเที่ยวสัมผัส “เสน่ห์วันวานเมืองเหนือ” กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงภายในภูมิภาค
เจาะกลุ่มครอบครัวที่มีหลายช่วงวัย (Multi-Gen Family) ผ่านความหลากหลายของประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิต ชุมชนที่มีเอกลักษณ์ อาหารการกิน และกิจกรรมท่องเที่ยวที่สามารถทำร่วมกันได้อย่างสนุกสนาน
ในพื้นที่ภาคเหนือ 5 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ และสุโขทัย จะกระตุ้นนักท่องเที่ยวใช้จ่ายผ่านงานคราฟต์ของภาคเหนือ โดยร่วมกับแบรนด์ที่มีชื่อเสียงผลิตสินค้าที่มีความพิเศษเฉพาะตัว และเพิ่มช่องทางการเสนอขายภายใต้แนวคิด “North X Clusive”
ขณะที่เมืองรองของภาคเหนือ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ อุทัยธานี และนครสวรรค์ นำเสนอโครงการ Amazing Northern Road Trip เพิ่มความถี่ในการเดินทางท่องเที่ยวผ่านเส้นทางขับรถท่องเที่ยว โดยวางเส้นทางที่น่าสนใจ เช่น เส้นทางเสน่ห์กินริมน้ำ เส้นทางสายมู เส้นทางชมธรรมชาติ
ทางด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน ที่มี 2 เมืองหลักและ 18 เมืองรอง มาภายใต้แนวคิด “หลงรักแผ่นดิน ถิ่นอีสาน” เจาะกลุ่ม Gen-Y และวัยทำงาน โดยเฉพาะกลุ่ม Workation และ Digital Normad หรือคนที่ทำงานผ่านระบบออนไลน์ รวมทั้งกลุ่ม Active Senior หรือกลุ่มคนสูงอายุที่ยังมีไฟและมีพลังในการเดินทางท่องเที่ยว
โดยนำเสนอสินค้าท่องเที่ยวภายใต้ธีม 3 ธรรม ได้แก่ ธรรมะ (ศรัทธา-มู ตลอดทั้งปี) ธรรมชาติ (3 ฤดู ร้อน-ฝน-หนาว) และวัฒนธรรม (กิจกรรมรายเดือน/ฮีต 12 คอง 14)
ฮีต 12 หมายถึง ประเพณี 12 เดือนที่เกี่ยวเนื่องกับหลักทางพุทธศาสนา ความเชื่อ และการดำรงชีวิตทางเกษตรกรรมที่ชาวอีสานยึดถือปฎิบัติกันมา ส่วนคอง 14 มักเป็นคำที่กล่าวควบคู่กับฮีต 12 ซึ่งน่าจะหมายถึงคำว่า ครรลอง
สินค้าท่องเที่ยวที่เป็นไฮไลต์ของภาคอีสาน ยังมุ่งเน้นการส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรอง 18 จังหวัด โดยนำเสนอเมนูประสบการณ์เส้นทางท่องเที่ยว “ISAN in love” อีสานมุมมองใหม่ใครไปก็หลงรัก
รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยววันธรรมดา ภายโครงการ “Workation @ ISAN เที่ยวได้ทำงานด้วย...ที่อีสาน” โดยจะคัดสรรที่พักสไตล์เมืองนอกมานำเสนอ และจะเร่งกระตุ้นนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้าสู่พื้นที่อีสาน โดยนำเสนอสินค้าพร้อมโปรโมชัน พาตะลอนเที่ยวสุด COOL หลงรักอีสานได้ทุกวัน เพื่อกระตุ้นท่องเที่ยว 20 จังหวัดภาคอีสาน
สำหรับ ภาคกลาง พาอินเทรนด์กระแสท่องเที่ยวภาคกลางด้วยเมนูประสบการณ์ใหม่ “Trendy C2 ภาคกลาง” โดยสร้างสรรค์เมนูประสบการณ์ใหม่ ที่เป็นจุดขายที่โดดเด่นของแหล่งท่องเที่ยวในภาคกลาง เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen-Y อายุ 26-41 ปี และ Gen-Z อายุ 16-25 ปี ซึ่งเป็น 53.5% ของประชากรไทย เพื่อสร้างกระแสการเดินทางที่เป็นเทรนด์ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมผ่านคอนเทนต์ ออนไลน์
โดยนำเสนอสินค้าท่องเที่ยว 6 พลังบวก ได้แก่ เมนูที่ 1 เพิ่มพลังใจด้วยศรัทธา เช่น แหล่งท่องเที่ยวสายมู เมนูที่ 2 อิ่มอร่อยเพิ่มพลังกาย เช่น เส้นทางอาหาร เมนูที่ 3 เติมพลังใจเพิ่มพลังให้ชุมชน เช่น แหล่งท่องเที่ยวชุมชน เมนูที่ 4 เพิ่มพลังกายสาย Sport เช่น แหล่งท่องเที่ยวเชิงกีฬา
เมนูที่ 5 เพิ่มพลังสร้างสรรค์ ในแหล่งท่องเที่ยวแนว StreetArt สถาปัตยกรรม โบราณสถาน แหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมมีพื้นที่แนะนำ ได้แก่ คลองโอ่งอ่าง สวนป่าเบญจกิตติ หนังใหญ่วัดขนอน และเมนูที่ 6 เพิ่มพลังชีวิต ติดธรรมชาติ เช่น กิจกรรมกลางแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นสายแคมป์ เดินป่า
โดยมีโครงการที่เตรียมไว้ อาทิ โครงการเที่ยว In Trend โครงการ Trendy to MAHANAKHON โครงการประจวบเทรนดี้ โครงการมหัศจรรย์พลังศรัทธา มนต์เสน่ห์แห่งชัยนาท โครงการ Trendy c (see) you @Ayutthaya โครงการอาหารถิ่นกินดี ไหว้พระ ชมวัง @เพชรบุรี โครงการ Trendy Kanchanaburi โครงการ Journey (C2) สุพรรณ-อ่างทอง โครงการ “Let’s ชิลล์ทั้งปี...ที่สมุทรสงคราม” และโครงการ
ราชบุรี 4 พลังบวก
ภาคตะวันออก มีแผนเพิ่มความถี่ในการเดินทางของนักท่องเที่ยวกลุ่ม GEN Y ด้วยเมนูประสบการณ์ “Story สบ๊าย สบาย” ไม่ว่าจะเป็นสายกิน สายชิล สายเขียว สายมู โดยนำเสนอแนวคิดเที่ยวทะเล สบายกาย เที่ยวศรัทธา สบายใจ เที่ยวธรรมชาติ สบายตา และเที่ยวไปกินไป สบายพุง
ขณะเดียวกันก็ต้องการเพิ่มค่าใช้จ่ายกลุ่มไฮเอนด์หรือกลุ่มผู้มีรายได้สูง กลุ่มมิลเลนเนียล (Millennial) และกลุ่มครอบครัว โดยนำเสนอเมนูประสบการณ์สายกิน Gastonomy Tourism ให้ทดลองลงมือทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารในพื้นที่จริงและส่งต่อให้เกษตรกรติดตามผลผลิตผ่านช่องทางออนไลน์
ในภาคตะวันออกมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ เที่ยวหรูอยู่สบาย สไตล์ชลบุรี, เที่ยวสบาย สายกิน ระยอง, สบ๊าย สบาย สายกิน @จันทบุรี, สบ๊าย สบาย เที่ยวตราด อเมซิ่งยิ่งกว่าเดิม, สบ๊าย สบาย สาย Green ผืนป่าตะวันออก #นครนายก–ปราจีนบุรี–สระแก้ว และจุดหมายสายศรัทธา ปักหมุดมา @ฉะเชิงเทรา
ขณะเดียวกันได้จัดปฎิทินท่องเที่ยวรายเดือน เน้นหนักตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค. ซึ่งเป็นฤดูผลไม้ภาคตะวันออก
ภาคใต้ พาสัมผัสการท่องเที่ยวรสจัดจ้าน “หรอยแรง แหล่งใต้” ดึงคนไทยเที่ยวภาคใต้ตลอดทั้งปีควบคู่กับการสร้างกระแสการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบเพื่อสร้างสมดุลทางการท่องเที่ยว
นำเสนอ “ความหรอยแรง” ด้วยอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของสินค้า กิจกรรม และแหล่งท่องเที่ยว ผ่านธรรมชาติ (N) atural อาหาร (F) ood และความเป็นไทย (T) hainess เล่นกับคำ NFT เพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์ให้เดินทางท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี
โดยเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวไทยเพื่อสร้างประสบการณ์ระดับพรีเมียม นำเสนอความหรอยแรงของกิจกรรมท่องเที่ยวภาคใต้ที่ครั้งหนึ่งต้องมาสัมผัส ตัวอย่างโครงการ เช่น โครงการหรอยชัวรี่ โครงการกระบี่ Savory หรอย โครงการหรอยให้สุด หยุดที่พังงา โครงการ Phuket #หรอย Play และโครงการเที่ยวเกาะให้หรอย โดยมีพื้นที่ดำเนินงานที่กระบี่ พังงา ภูเก็ต เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า และ 14 จังหวัดภาคใต้
ขณะเดียวกันจะกระตุ้นการเดินทางด้วยโปรโมชันสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับฤดูกาลของแต่ละพื้นที่เพื่อให้ท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ในพื้นที่ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี ตรัง นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล
มีตัวอย่างโครงการ เช่น โครงการ Amazing Surat หรอยยิ่งกว่าเดิม โครงการสุดยอดตำนาน อาหารหรอย @สงขลา โครงการสตูล Eco หรอย โครงการหรอยแรงส์ระนอง รับรองสดชื่น โครงการหรอยนคร ตะลอนเมืองลุง โครงการตรังนี้หรอย : 9 มื้อเด็ดเสร็จที่ตรัง และโครงการนรา ยะลา ตานี หรอยม้าย
ทั้งหมดนี้ เมื่อมีการกำหนดให้ “365 มหัศจรรย์เมืองไทยเที่ยวได้ทุกวัน” ททท.ทั้ง 5 ภาคจึงต้องร่วมมือสร้างจุดขายใน 365 วัน ทั้งในเรื่องของ Workation/Co–Working Space หรือพื้นที่ทำงานร่วมกัน เพื่อตอบโจทย์กำลังพลภาครัฐในวันธรรมดา
รวมทั้งจะมีการจัดสปอร์ตทัวริซึ่ม หรือการท่องเที่ยวเชิงกีฬาทุกรูปแบบ
ขณะที่การออกแบบการจัดงานประเพณีของไทยจะไม่ใช่รูปแบบเดิม แต่จะเป็นเรื่องของการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว พร้อมกันนี้ต้องจุดกระแสการเดินทางด้วยการมีเรื่องเล่าและบอกเรื่องราวของแต่ละสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อให้เป็นที่จดจำ
พร้อมกันนั้น จะมีการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่เดินทางไปถึง ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวชุมชน การท่องเที่ยวเชิง วัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแหล่งธรรมชาติ การท่องเที่ยวในแหล่ง man-made attraction ที่มีสิ่งดึงดูดใจที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือแม้กระทั่งการท่องเที่ยวในโครงการพระราชดำริ
รวมทั้งการส่งเสริมการเที่ยวข้ามอำเภอ ข้ามจังหวัด ข้ามภาค และเชื่อมโยงข้ามประเทศ ตลอดจนการท่องเที่ยวที่สนับสนุนโครงการเมกะโปรแจกต์ของรัฐบาล และที่ลืมไม่ได้คือ การท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องของ BCG หรือเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว
ไม่เพียงเท่านั้น ททท. ยังชวนค้นหาความหมายใหม่ของการเดินทางในเส้นทางเมืองรอง 5 ภูมิภาค กับแนวทางส่งเสริมการตลาด “เมนูเปิดประสบการณ์ใหม่...เมืองรองมิรู้ลืม” เพื่อให้เกิดการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวไปในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ
ส่วนตลาดต่างประเทศ ททท. ยังคงตอกย้ำแคมเปญ “Visit Thailand Year 2022-2023 : Amazing New Chapters” เพื่อพลิกโฉมประเทศไทยนำเสนอประสบการณ์การท่องเที่ยวที่แสนพิเศษให้การเดินทางเที่ยวเมืองไทยมีความหมาย ให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการกลับมาพบกันอีกครั้ง (Reunion)
รวมทั้งเป็นการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมยกระดับภาพลักษณ์สู่การเป็น World Class Destination ภายใต้แนวคิดเมนูประสบการณ์ A to Z Amazing Thailand Has it All และ Soft Power of Thailand ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาค้นหาและร่วมออกแบบบทต่อไปของการเดินทางด้วยตัวเองตลอดปี 2566
ตามที่ ททท.ตั้งเป้าให้มีรายได้รวมกลับมาในอัตรา 80% ของปี 2562 ดั้งนั้น ในปี 2566 จะต้องส่งเสริมให้มีรายได้รวมจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 2.38 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย รายได้จากตลาดต่างประเทศ 1.5 ล้านล้านบาท และตลาดในประเทศ 880,000 ล้านบาท
นักท่องเที่ยวต่างประเทศก็ต้องการ คนไทยเที่ยวในประเทศก็มุ่งหวัง เมื่อพาเหรดโครงการต่างๆออกมามากมายขนาดนี้ จะทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องตามกันไปตลอดทั้งปีนี้.
ทีมเศรษฐกิจ