ปี 2566 เป็นอีกปีที่ท้าทายเงินในกระเป๋า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวบางกลุ่มอีกหลายกลุ่มยังลูกผีลูกคน...สิ่งที่พึงกระทำคือการเก็บรักษาเงินในกระเป๋าไว้ให้ดี ตามที่ “คนดัง” จากหลากหลายอาชีพ มาช่วยกันแชร์เคล็ดลับกับ “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” เพื่อให้อยู่รอด เงินงอกงาม ตลอดปีกระต่ายนี้
วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
ผู้เชี่ยวชาญและนักวางแผนการเงินเบอร์ต้นๆ ของประเทศ
ให้เคล็ดลับในการบริหารจัดการด้านการเงิน เพื่อ “ดูแลเงินในกระเป๋า” ให้อยู่กับเราตลอดทั้งปีกระต่ายว่า ก่อนอื่นเลยคือ “รักษาสภาพคล่อง เพื่อให้มีเงินใช้ และเมื่อโอกาสลงทุนที่ดีมาถึง จะสามารถลงทุนได้” โดยควรมีสภาพคล่องไม่น้อยกว่า 10% ของเงินลงทุน หลักต่อมาคือ “ใช้จ่ายเงินให้มีประสิทธิภาพ” หากกังวลว่ารายได้ไม่พอรายจ่าย ต้องประหยัด โดยสำรวจรายจ่ายและลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น โดยซื้อของที่ลดราคาหรือหาของที่ดีใกล้เคียงกันทดแทนได้ในราคาต่ำกว่าสิ่งที่ต้องทำต่อมาคือ “หารายได้เพิ่มเติม” ทำงานเสริม หรือลงทุนอย่างมีหลักการ
“วิวรรณ” ยังให้ข้อแนะนำสำหรับการลงทุนที่น่าสนใจว่า การลงทุนปีนี้อยากให้เน้นความระมัดระวังและปลอดภัย โดยเฉพาะครึ่งแรกของปี รอไว้ครึ่งหลังของปี น่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นทั่วโลก ดังนั้น ไตรมาส 2 อาจเตรียมพอร์ตที่เสี่ยงสูงเพิ่มขึ้นได้ ขณะที่มองว่าตราสารหนี้มีแนวโน้มได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น จึงสามารถลงทุนตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือดี ที่มีอายุยาวกว่า 3 ปี ได้เพิ่มขึ้น
สำหรับการลงทุนในหุ้น มองว่าตลาดหุ้นทั่วโลกน่าจะปรับตัวขึ้นได้ในครึ่งหลังของปี โดยยังให้น้ำหนักลงทุนกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ และเอเชียแปซิฟิกมากกว่า ส่วนตลาดหุ้นยุโรป ควรเลือกเฉพาะบริษัทที่ทำธุรกิจทั่วโลก ขณะที่ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น หากลงทุนต่างประเทศ ควรป้องกันความเสี่ยงของค่าเงินส่วนหนึ่งด้วย ส่วนการลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์นั้น น่าจะค่อยๆฟื้นตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
และปีนี้ “วิวรรณ” ไม่แนะนำลงทุนทองคำ แม้ราคาจะปรับตัวขึ้นบ้างตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ แต่คาดว่าจะไม่ได้ไปไหนไกล และยังเตือนให้หลีกเลี่ยงตราสารที่เสี่ยงมาก เช่น คริปโต และตราสารอนุพันธ์ ที่สำคัญต้องไม่ลงทุนในสิ่งที่ไม่เข้าใจ และอย่าโลภเพราะไม่ใช่จังหวะที่จะกล้าตายในตอนนี้!!
อัจฉรา บุรารักษ์
ผู้ก่อตั้งบริษัท ไอเบอร์รี่ โฮมเมด จำกัด
“อัจฉรา” บอกว่า สำหรับมนุษย์เงินเดือน สิ่งที่ต้องท่องจำไว้ให้ขึ้นใจ คืออย่าใช้จ่ายเงินเกินรายได้ที่มี หากจำเป็นต้องก่อหนี้ เช่น หนี้บัตรเครดิต ต้องคิดให้ดี ไม่ควรก่อหนี้เกิน 30% ของรายได้ และต้องแน่ใจว่ามีความสามารถชำระหนี้ เพราะนอกจากต้องจ่ายคืนเงินต้นแล้ว ยังมีดอกเบี้ยมาเป็นภาระเพิ่มด้วย
ที่อยากแนะนำคือ ต้องมีเป้าหมาย เวลาได้เงินมาควรแบ่งเงินเป็นส่วนๆ ใช้เท่าที่จำเป็น และเจียดเงินไว้ส่วนหนึ่งเพื่อการออม ลงทุนต่อยอดเงิน โดยเลือกลงทุนที่เข้าใจมันอย่างถ่องแท้ การลงทุนที่เราไม่ได้เข้าใจ อย่าไปยุ่ง เช่น คริปโต เคอร์เรนซี หรือสินทรัพย์ดิจิทัล อย่าเห่อตามคนอื่น หากไม่รู้จักการลงทุนนั้นดีพอ
“ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ อาจมองว่าไม่จำเป็นต้องมีบ้านมีรถ ไม่ต้องการเป็นเจ้าของสินทรัพย์ถาวรใดๆ ยิ่งน่าจะมีอิสระทางการเงิน แต่ก็ไม่ควรฟุ่มเฟือย หลักการคือต้องไม่เดือดร้อน มีหนี้สินล้นพ้นตัว เจ้าหนี้ตามล่า อันนี้จะกลายเป็นชีวิตลำบาก เท่าที่ศึกษาจากพนักงานไอเบอร์รี่กรุ๊ป คนไหนที่ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ไม่ฟุ่มเฟือย แม้เป็นมนุษย์เงินเดือนก็มีความมั่นคงได้”
ในมุมธุรกิจ มองว่าปีนี้ยังมีความเสี่ยงอยู่มาก ต้องรักษากระแสเงินสดให้ดี ไอเบอร์รี่กรุ๊ป มีแบรนด์อาหารหลากหลาย ได้แก่ กับข้าวกับปลา รสนิยม โรงสีโภชนา เบิร์นบุษบา เจริญแกง ฟ้าปลาทาน และทองสมิทธิ์ ถือว่าโชคดี มีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง พอเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวเข้า เราก็ได้ลูกค้ากลับมาทันที “เราจะไม่ลงทุนสะเปะสะปะ จะไม่ทำในสิ่งที่ไม่รู้จริง แนะนำคนที่กำลังเริ่มทำธุรกิจ อย่างแรกคือต้องทำสิ่งที่ถนัด เริ่มทีละน้อย ระมัดระวัง หากเจ๊งจะได้ไม่เจ็บตัวมาก”
ยอด ชินสุภัคกุล
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไลน์แมนวงใน (LINE MAN Wongnai)
ปี 2566 น่าจะเป็นปีที่โหดและน่าเป็นห่วงอีกปี โดยเฉพาะในมุมผู้บริโภค ค่อนข้างเหนื่อย รายได้วิ่งตามไม่ทันรายจ่าย อย่างไลน์แมนวงในมีข้อมูลสั่งอาหารของลูกค้า พบว่าพฤติกรรมการสั่งอาหารดีลิเวอรีมีกราฟเป็นลักษณะตกท้องช้าง ลูกค้าใช้เงินแบบเดือนชนเดือน คนทั่วไปรวมทั้งภาคธุรกิจจึงต้องระมัดระวังและรอบคอบในการใช้เงิน ความลำบากน่าจะอยู่กับเราไปอีก 1 ปีเต็ม
การลดค่าใช้จ่ายเป็นพื้นฐานที่ทุกคนรู้ แต่ทำจริงได้ยาก เคล็ดลับที่ใช้คือเลือกใช้จ่ายตามไลฟ์สไตล์เฉพาะที่ชอบจริงๆ ผมเป็นคนชอบเรื่องกิน ชอบออกไปทานอาหารตามร้านเปิดใหม่ช่วงเสาร์-อาทิตย์ ช่วงวันหยุดยาวก็จะพาลูกไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ นี่เป็นค่าใช้จ่ายหลักที่ผมโฟกัส เป็นเรื่องที่ต้องจ่าย ส่วนที่เหลือก็ค่อยไปลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยด้านอื่นแทน ที่อยากแนะนำคือต้องกำหนดวงเงินในการใช้จ่ายต่อเดือนเอาไว้ เพื่อช่วยคุมค่าใช้จ่ายได้แม่นยำยิ่งขึ้น “สำหรับผม ถ้าค่าใช้จ่ายนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ก่อให้เกิดประโยชน์ เกิด productivity หรือช่วยประหยัดเวลา ถือเป็นการใช้จ่ายที่คุ้มค่า ผมยอมใช้เงินอย่างเต็มที่ หากเห็นว่าเกิดประโยชน์อย่างชัดเจน จะไม่มองว่าแพงและคุ้มกับเวลาที่ได้คืนมา”
อย่างการจ่ายค่าเช่าพื้นที่บนคลาวด์ (Cloud) เพื่อเก็บข้อมูลทั้งหมด ค่าใช้จ่ายนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ ไม่ต้องกลัวมือถือหาย เครื่องพัง เพราะข้อมูลที่แบ็กอัปเอาไว้บนคลาวด์ ทำให้เราทำงานได้ต่อเนื่องบนอุปกรณ์สื่อสารอื่นๆทันที ไม่ต้องเสียเวลาเซตอัปเครื่องใหม่ “สุดท้ายการมองหาแคมเปญลดราคาต่างๆยังถือเป็นวิธีที่ชาญฉลาด อย่าง “ไลน์แมน วงใน” ที่มักแจกโค้ดส่วนลดตามช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งการหาส่วนลดดีลต่างๆเพื่อให้ได้บริการและส่วนลดที่คุ้มค่าจะช่วยประหยัดในสิ่งที่เราต้องซื้ออยู่แล้วได้มากขึ้น”
“ชนาธิป สรงกระสินธ์” หรือเมสซีเจ
นักฟุตบอลอาชีพขวัญใจชาวไทย
ปัจจุบัน “เมสซีเจ” เล่นให้ทีมคาวาซากิ ฟรอนตาเล ในเจลีก ดิวิชัน 1 ประเทศญี่ปุ่น เขาแจกแจงวิธีบริหารเงินว่า แต่ละเดือนจะกำหนดสัดส่วนการใช้จ่ายและเก็บออมไว้ชัดเจน เพื่ออนาคตที่มั่นคงของตัวเอง เพราะการเป็นนักกีฬาอาชีพ มีเวลาจำกัด ตามแรงที่มี เมื่อหมดแรง ก็ต้องหยุดพักร่างกาย จึงต้องวางแผนการเงิน ไว้ตั้งแต่วันนี้
ได้วางแผนชีวิตไว้ว่า เมื่ออายุ 40 ปี จะต้องมีเงินเก็บเท่าไหร่ ตอนนี้อายุ 29 ปีแล้ว ถ้าร่างกายยังไหว คงเล่นได้อีก 5 ปี โดยรายได้ที่ได้มาจะแบ่งให้พ่อแม่ใช้จ่ายประจำเดือนและไว้ใช้จ่ายส่วนตัว ส่วนที่เหลือเก็บออมโดยซื้อสลากออมทรัพย์ ซื้อกองทุน-หุ้นกู้ ซื้อประกันเพื่อการออมทรัพย์ ซื้อประกันสุขภาพ ซื้อที่ดิน และซื้อนาฬิกาเพราะเป็นของสะสมส่วนตัวที่ชอบ หากวันใดขาดเงินก็นำออกมาขายได้ในราคาที่สูงขึ้น นาฬิกาจึงถือเป็นการลงทุน “ผมแบ่งรายได้จากการเป็นนักฟุตบอลและค่าตัวพรีเซนเตอร์ให้พ่อแม่ ที่เหลือนำไปออมและลงทุนซื้อที่ดินแถวบ้านที่สามพรานและซื้อคอนโดมิเนียมไว้พักเวลากลับจากต่างประเทศ โดยแผนที่วางไว้ เป็นของตัวเองคนเดียว ยังไม่รวมอนาคตหากมีครอบครัวคงต้องวางแผนอีกแบบ”
“ชนาธิป” เล่าต่อว่า การไปใช้ชีวิตเป็นนักกีฬาอาชีพที่ญี่ปุ่น ค่าใช้จ่ายสูงมาก ส่วนใหญ่ใช้กับการทานอาหาร เพราะชอบทานอาหารดีๆ มีคุณภาพ อร่อย และช็อปปิ้งเสื้อผ้า เพราะชอบซื้อสินค้าคุณภาพดี ราคาแพง เพื่อเติมเต็มความสุขให้ชีวิต แต่ไม่ได้ซื้อบ่อยๆ
“บิวกิ้น” พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล
ศิลปินรุ่นใหม่ที่กำลังโด่งดังไปไกลทั่วเอเชีย
มาดูเคล็ดลับการบริหารจัดการเงินของคนรุ่นใหม่กันบ้าง “บิวกิ้น” บอกว่าเมื่อมีรายได้เข้ามา เขาจะกันเงินสำหรับการใช้จ่ายส่วนตัวและเก็บเงินสดไว้ส่วนหนึ่งเพื่อ Secure เวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน แล้วนำเงินออมไปกระจายลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เช่น ลงทุนในหุ้น กองทุน รถ นาฬิกา และเริ่มสนใจศึกษาการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เพราะมองว่าเป็นการลงทุนที่น่าสนใจในอนาคต
ด้านการใช้จ่ายนั้น “บิวกิ้น” บอกว่า จะแบ่งชัดเจนว่าเงินที่ต้องจ่ายสำหรับสิ่งจำเป็น และการซื้อของฟุ่มเฟือย ซึ่งการซื้อของฟุ่มเฟือยจะให้ความสำคัญกับการจ่ายเพื่อความสุขล้วนๆ แต่แม้ดูเหมือนเป็นการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย แต่ในอีกด้านเขาจะมองถึงมูลค่าของมันในอนาคตด้วย เช่น การซื้อนาฬิกา หรือรถยนต์ ก็จะพยายามเลือกซื้อรถหรือนาฬิกาที่ในอนาคตจะมีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ทำให้ขาดทุน
ส่วนการลงทุนในกองทุนนั้น จะศึกษาวิเคราะห์เพื่อเลือกลงทุนในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่เราชอบและเชื่อว่ามีอนาคตที่ดี สำหรับการลงทุนในหุ้นนั้นมีทั้งที่ลงทุนเองและให้พี่ชายซึ่งทำงานด้านการลงทุนช่วยดูแลด้วย ซึ่งการลงทุนในหุ้นก็ต้องดูว่า มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีความเสี่ยงสูง ก็จะไม่ลงทุนในสัดส่วนที่มาก เพราะต่อให้เป็นเงินเย็น สำหรับผมไม่ต้องการรับความเสี่ยงสูงมาก ผมเลือกชัวร์แต่ผลตอบแทนอยู่ในระดับที่โอเคมากกว่า
“ผมพยายามกระจายการลงทุนให้หลากหลาย แต่ทุกสินทรัพย์ที่ลงทุนต้องเป็นสิ่งที่เราเชื่อและเห็นด้วยกับหลักการการลงทุนนั้นๆ” ดูหลักคิดของ “บิวกิ้น” แล้วไม่ว่าจะปีนี้หรือปีไหนๆ ทรัพย์สินเงินทองมีแต่จะเพิ่มพูนงอกเงยเป็นเศรษฐีร้อยล้านพันล้านด้วยตัวเองคงไม่ยาก!!
ทีมเศรษฐกิจ