มองข้างหน้าปีกระต่ายกระโดดไหวไหม "เศรษฐกิจไทยโตสวนโลก"

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

มองข้างหน้าปีกระต่ายกระโดดไหวไหม "เศรษฐกิจไทยโตสวนโลก"

Date Time: 31 ธ.ค. 2565 06:11 น.

Summary

  • “เศรษฐกิจไทยปีกระต่าย” จะสามารถฝ่ามรสุมจากปัจจัยลบที่รุมกระหน่ำ และเติบโตได้ต่อเนื่อง ด้วยอานิสงส์จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หวนกลับมา การใช้จ่ายในประเทศที่ปรับดีขึ้น

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

ภายใต้สัญญาณ “ความผันผวน” ของภาพรวมเศรษฐกิจ และตลาดการเงินทั่วโลกที่ทวีความรุนแรง และคาดเดาได้ยากมากยิ่งขึ้นในปี 2566 สำนักวิเคราะห์วิจัยเศรษฐกิจส่วนใหญ่ ยังคงคาดการณ์ว่า...

“เศรษฐกิจไทยปีกระต่าย” จะสามารถฝ่ามรสุมจากปัจจัยลบที่รุมกระหน่ำ และเติบโตได้ต่อเนื่อง ด้วยอานิสงส์จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หวนกลับมา การใช้จ่ายในประเทศที่ปรับดีขึ้น เมื่อรัฐบาลเปิดให้ “ทำมาหากิน” ได้ตามปกติอีกครั้ง หลังโควิด-19 คลี่คลาย แต่เราคงไม่สามารถประมาทหรือชะล่าใจ เพราะ “วิกฤติ” ภายในยังไม่ได้จางหายไปอย่างสิ้นเชิง และยังมี “วิกฤติเศรษฐกิจ และความขัดแย้งของการเมืองโลก” เข้ามาเป็น “ภัยคุกคาม” เป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ

ปี 2566 กระต่ายจะกระโดดให้ไกลเพื่อเข้าสู่ช่วง “ฟื้นฟู” หลังยุคมืดได้อย่างไร ความเสี่ยงที่ต้องระวังอยู่ที่ไหน ติดตามจาก “สัมภาษณ์พิเศษ” รมว.คลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเป็น “ไกด์ไลน์” ในการดำเนินชีวิต และทำธุรกิจในปีใหม่นี้...

ดร.อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
รมว.คลัง

เราเริ่มต้นมองทิศทางเศรษฐกิจปี 2566 กับ รมว.คลังก่อน ซึ่ง ดร.อาคม ให้ความเห็นว่า “ในปีหน้าภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะไม่ค่อยสดใส เพราะอยู่ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย สาเหตุหลักมาจากปัจจัยความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นมาก และมีผลต่อเนื่องทำให้ราคาอาหารสูงขึ้นตาม และเมื่อความขัดแย้งยืดเยื้อ จึงส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อให้ปรับสูงขึ้นรวดเร็ว ขณะที่กำลังซื้ออ่อนล้าลง”

สำหรับเศรษฐกิจไทย แตกต่างจากเศรษฐกิจโลก เพราะเรากำลังฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด การบริโภคภายในประเทศเริ่มกระเตื้อง และการเดินทางท่องเที่ยว ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยกลับมาคึกคัก ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของปี 2566 จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.8% คิดเป็นมูลค่า 18.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ซึ่งจีดีพีขยายตัว 3.2% มูลค่า 17.63 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่ามูลค่าของเศรษฐกิจของไทยได้กลับมาเติบโต และอยู่ในระดับสูงกว่าก่อนวิกฤติโควิดแล้ว โดยปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 จีดีพีขยายตัว 2.2% และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ 16.9 ล้านล้านบาท

“จากตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่ามูลค่าเศรษฐกิจของประเทศไทย เติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นลักษณะค่อยๆฟื้นตัว ซึ่งรัฐบาลจะพยายามประคับประคองให้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน และมั่นคง”

ดร.อาคม กล่าวต่อว่า สำหรับปัจจัยที่จะส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยปี 2566 เติบโตตามเป้าหมายที่กำหนดไว้นั้น ปัจจัยแรกมาจากภาคบริการและท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวต่อเนื่องมาจากปี 2565 โดยคาดหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยทะลุ 21.5 ล้านคน จากปี 2565 ซึ่งขณะนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไทยทะลุ 10 ล้านคนแล้ว

“เมื่อภาคท่องเที่ยวและภาคบริการฟื้นตัว ก็จะส่งเป็นลูกโซ่ไปยังธุรกิจต่อเนื่องต่างๆ ให้เริ่มกลับมาเปิดกิจการ ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน แต่การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนก็ต้องปรับตัว ลดต้นทุน นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เพื่อให้สอดรับกับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) แม้การแพร่ระบาดโควิดจะคลี่คลาย แต่การป้องกันจะยังคงเข้มข้นเช่นเดิม ขณะเดียวกันก็ต้องปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพ และรองรับสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ขณะที่ในส่วนของภาครัฐ จะเร่งขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุน ผลักดันเม็ดเงินให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษ
ภาคตะวันออก (EEC) ต้องเร่งการลงทุนอย่างจริงจังในปีหน้านี้ หลังจากรัฐบาลได้อนุมัติโครงการลงทุนเป็นที่เรียบร้อย”

“การส่งออกปี 2566 อาจชะลอตัวลงบ้าง หรือขยายตัวเท่ากับปี 2565 เพราะเศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งต้องดูปัจจัยค่าเงินบาทด้วย เพราะหากเงินบาทอ่อนค่า มูลค่าการส่งออก็จะเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณไม่เพิ่ม โดยเชื่อว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้องการส่งออก จะผลักดันให้ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแน่นอน”

ส่วนความท้าทายในอนาคตอันใกล้ และทุกคนต้องปรับตัว เรื่อง แรกคือ การเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามา
มีบทบาทต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกภาคส่วน ต้องปรับใช้กับธุรกิจให้สอดคล้องไปด้วยกัน อีกทั้งควรนำมาใช้เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานด้วย ขณะที่เรื่องที่ 2 คือ การทำธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับจากนี้ไปจะเห็นการลงทุนการดำเนินธุรกิจ คำนึงถึงการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่เรื่องที่ 3 ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วและการเตรียมรองรับสังคมผู้สูงอายุ จะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ฝั่งรัฐบาลเองก็ต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ ส่วนประชาชนก็ต้องเตรียมพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุที่บ้าน เช่น จากเดิมซื้อบ้าน 2 ชั้น ไม่ต้องมีห้องนอนข้างล่าง แต่จากนี้ไปจะซื้อบ้านก็ต้องคำนึงถึงการมีห้องนอนข้างล่างไว้ด้วย และในส่วนของกระทรวงการคลัง ผมเห็นว่ายังมีอีกเรื่องที่ต้องดำเนินการ คือ การแก้ปัญหาขาดดุลงบประมาณบริหารการคลังอย่างสมเหตุสมผลเพื่อความยั่งยืน โดยหลังจากใช้งบประมาณขาดดุลมาเป็นเวลานานมาก ก็ต้องทยอยลดการขาดดุลลงด้วยการหารายได้เพิ่ม ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ปรับโครงสร้างรายได้ ปรับโครงสร้างภาษี ทยอยจัดเก็บภาษีเพิ่ม ทั้งภาษีหุ้นภาษีคริปโตเคอร์เรนซี ภาษีอี-คอมเมิร์ซ ฯลฯ ซึ่งแม้งบประมาณจะไม่สมดุลเร็วๆนี้ แต่จำนวนขาดดุลควรลดลงเรื่อยๆ ให้รายได้ใกล้เคียงกับรายจ่ายมากที่สุด ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงเพื่อความมั่นคงของการคลังประเทศ

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

จากมุมมองของกระทรวงการคลัง ต่อเนื่องมายัง ธปท. ดร.เศรษฐพุฒิ มองเศรษฐกิจไทยในปีหน้าว่า แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆเข้ามากระทบมากมาย แต่ประเด็นที่ชัดเจนคือ เศรษฐกิจไทยจะยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง และเป็นการฟื้นตัวแบบกระจายที่ “คนไทยทั้งประเทศสามารถรู้สึกสัมผัสได้จริงๆ”

“ที่เห็นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง และในบางปีตัวเลขขยายตัวดีมาก แต่ตัวเลขยังไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองฟื้น ไม่รู้สึกว่าเงินในกระเป๋ามากขึ้น เพราะเราฟื้นจากการส่งออก ยกตัวอย่างฟื้นในธุรกิจ เช่น ปิโตรเคมี ซึ่งมีมูลค่าสูงแต่การจ้างงานไม่มาก ในปีหน้าการฟื้นตัวจะมาจากแรงขับเคลื่อนหลัก 2 ตัว คือ การบริโภคในประเทศที่ปรับดีขึ้น และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ซึ่งธุรกิจภาคบริการมีการจ้างงานจำนวนมาก มีธุรกิจต่อเนื่องมาก ทำให้จะมีเงินสะพัดลงไปลึกต่อเนื่อง และเป็นวงกว้าง ตอนนี้ความรู้สึกของคนจะดีขึ้น”

ดร.เศรษฐพุฒิ ยืนยันด้วยว่า การฟื้นตัวของการบริโภคจะไม่ใช่การฟื้นตัวอย่างชั่ววูบ แต่มาจากรายได้ของคนเริ่มฟื้นตัวจริงๆ โดยตัวเลขรายได้ของแรงงานนอกภาคเกษตร เทียบปีต่อปี ไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 2% กว่าๆ ไตรมาส 2 โต 5% กว่าๆ และไตรมาสที่ 3 โต 9% กว่าๆ ซึ่งมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆที่เร่งตัวขึ้น

อีกตัวเป็นตัวสำคัญ ซึ่งเศรษฐกิจไทยจะฟื้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีการท่องเที่ยว และถือว่าเป็นเซอร์ไพรส์ เพราะช่วงต้นปีนี้ประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยว 6 ล้านคนเท่านั้น แต่ท้ายสุดเกิน 10 ล้านคน ปีหน้าคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 21.5 ล้านคน และมาจากนักท่องเที่ยวจีนเพียง 8 ล้านคน โดยเรามองแบบอนุรักษนิยมไว้ก่อนว่าจีนจะเริ่มมาในไตรมาส 4 ปีหน้า แต่หากจีนเปิดประเทศเร็วขึ้น นักท่องเที่ยวจีนมากกว่าที่คาดไว้ก็จะดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

“สำหรับปัจจัยในต่างประเทศ แน่นอนเศรษฐกิจโลกในปีหน้าภาพจะไม่ค่อยสวย แต่เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะ “โตสวนโลก” ได้ในปีหน้า เพราะพิสูจน์แล้วในปีนี้ว่า ประเทศที่เศรษฐกิจไม่ดีก็ยังมาเที่ยวไทยจำนวนมาก การใช้จ่ายในประเทศปรับตัวดีขึ้น แต่ภาคการส่งออกอาจจะชะลอลง ซึ่ง ธปท.คาดว่าปีหน้าการส่งออกจะขยายตัวเพียง 1% หรืออาจจะต่ำกว่านั้น ขณะที่ตัวเลขภาพรวมเศรษฐกิจทั้งปี 66 ธปท.คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.7% จากปี 65 ที่คาดจะขยายตัว 3.2%

อย่างไรก็ตาม ดร.เศรษฐพุฒิ แสดงความเป็นห่วง “ภาพการลงทุนของประเทศ” เพราะประเทศไทยขาดการลงทุนเป็นเวลานาน และเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่สัดส่วนการลงทุนของเราไม่เพิ่มขึ้นมาเลยหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ในขณะที่ทุกประเทศเพิ่มการลงทุนขึ้นมาหลายเท่าตัว ซึ่ง “การลงทุนใหม่” เป็นสิ่งที่จำเป็นมากหากเราจะเติบโตในระยะยาว

“ตัวเลขการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของเราสะท้อนว่า เราดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศได้น้อยกว่า โดยเงินทุนจะเข้าไปที่เวียดนาม และที่หล่อมากในขณะนี้คือ อินโดนีเซีย ซึ่งผมมองว่าไม่ได้เป็นเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ที่เราให้น้อยกว่า แต่อาจะเพราะเสน่ห์เราลดลง และเราต้องปรับตัว ยกตัวอย่าง “ผู้ชาย” ตอนเป็นหนุ่มก็หล่อก็มีเสน่ห์ แต่พอแก่ตัวลงก็ต้องวางตัวอีกแบบหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีเสน่ห์มากขึ้นก็ได้ ดูอย่างดาราฮอลลีวูดดังๆยิ่งแก่ยิ่งมีเสน่ห์”

เราต้องเลิกคิดจะพึ่งพาเสน่ห์แบบเดิมที่เป็นประเทศค่าแรงถูก คนมาลงทุนเพื่อส่งออก ขณะเดียวกันตลาดบ้านเราอาจจะไม่ใหญ่พอ ดังนั้น จะต้องพึ่งพาตลาดอาเซียนที่ขณะนี้มีเสน่ห์ คนสนใจมากเพราะไกลจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยเรามีข้อดีจากเป็นจุดที่เชื่อมโยงอาเซียนได้ทั้งในแง่ภูมิศาสตร์ การค้าและการลงทุน แต่ต้องดูแลกฎระเบียบที่มากไป สร้างโครงสร้างพื้นฐาน บรรยากาศการลงทุนและความง่ายในการทำธุรกิจ ซึ่งในส่วนของ ธปท.เข้าไปเสริมได้ในส่วนการสร้างระบบการชำระเงินระหว่างไทยกับอาเซียนที่ง่าย สะดวกและต้นทุนต่ำลง

กลับมาที่ภาคการเงิน ดร.เศรษฐพุฒิ มองว่า ในเชิงโครงสร้างอัตราเงินเฟ้อโลก มีแนวโน้มที่จะปรับสูงขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อของไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 66 จะยังสูง แต่จะลดลงและเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในครึ่งปีหลัง ทำให้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นการปรับขึ้นเพื่อลดผลกระทบจากเงินเฟ้อ แต่เป็นการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นสะดุด ขณะเดียวกัน ยังดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนเร็วและแรงเกินไป

ท้ายที่สุด “หนี้ครัวเรือน” ของไทยที่อยู่ในระดับสูงมากเป็นอีกสิ่งที่ ดร.เศรษฐพุฒิ เห็นว่า ต้องเร่งแก้ไข โดยในช่วงโควิดหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยขึ้นไปสูงมากกว่า 90% และไตรมาส 2 นี้ลดมาเหลือ 88.2% แต่ตัวเลขที่ยอมรับได้กันในโลกคือไม่เกิน 80% ของจีดีพี ดังนั้น ในช่วงเดือน ม.ค.ปีหน้านี้ ธปท.จะมีรายงานแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนออกมา ซึ่งจะครอบคลุมทันการแก้หนี้เก่า และดูแลการปล่อยหนี้ใหม่ให้เหมาะสม

“ที่ผ่านมา การฟื้นของเศรษฐกิจไทยอาจจะไม่ได้เร็วมากส่วนหนึ่งเพราะมีหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาใหญ่ แต่การแก้ไขต้องทำอย่างรอบคอบ ไม่ให้เสียวินัยทางการเงิน รักษาเสถียรภาพการเงิน แต่คนไทยยังสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ โดยเฉพาะในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้ในระยะยาว”.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ