นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll หรือ ส.อ.ท.โพลหัวข้อ “อุตสาหกรรมไทยจะเดินต่ออย่างไรภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว” พบว่า จากการที่ประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก ทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ส่งสัญญาณชัดเจนว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัวจากผลกระทบของสงครามและปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ แรงกดดันต่อวิกฤติพลังงาน และสถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่มองว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระดับปานกลาง โดยมีปัญหาต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น จากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ และเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยหลักที่กดดันเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้บริหาร รวม 226 คน มีสรุปผล ว่า 1.จากผลกระทบของตลาดส่งออกที่ชะลอตัวทั้งในยุโรป และสหรัฐฯ ส่งผลต่ออุตสาหกรรมในระดับใด อันดับที่ 1 ระบุว่า ปานกลาง 47.3% ระบุว่า น้อย 27.0% และระบุว่ามาก 25.7% 2.ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวล ต่อปัจจัยที่ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอในเรื่องใด อันดับ 1 ระบุว่า ต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น จากราคาพลังงาน 88.5% อันดับที่ 2 เงินเฟ้อในประเทศเศรษฐกิจหลักที่อยู่ในระดับสูง 68.1% และแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น อันดับที่ 3 กำลังซื้อในบางประเทศชะลอตัว กระทบภาคการผลิตและส่งออก 54.4%
3.ภาคอุตสาหกรรมจะปรับตัวรับมือกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างไร อันดับที่ 1 ระบุว่า ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ลดค่าใช้จ่าย 80.5% อันดับที่ 2 ระบุว่า สำรองเงินทุนใช้ในยามฉุกเฉิน 55.8% อันดับที่ 3 ระบุว่า นำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาช่วยทำธุรกิจ 50% 4.ภาครัฐควรช่วยเหลือผู้ประกอบการในเรื่องใด เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อันดับที่ 1 ระบุว่า ดูแลราคาพลังงานและค่าไฟฟ้าให้เหมาะสม 86.3% อันดับที่ 2 ระบุว่า ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 63.3% ของประเทศ อันดับที่ 3 ระบุว่า ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ประชาชน 50.4%.