เปิดกล่องของขวัญ ที่คนไทยไม่อยากได้ รับสภาพสารพัดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิดกล่องของขวัญ ที่คนไทยไม่อยากได้ รับสภาพสารพัดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

Date Time: 19 ธ.ค. 2565 07:01 น.

Summary

  • เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้ ในห้วงเวลานี้แห่งปี เป็นจังหวะแห่งการส่งความสุข การให้ และการจับจ่ายใช้สอยซึ่งเป็นโอกาสทองของภาคธุรกิจ ที่จะปั่นยอดขายในช่วงไฮซีซัน

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้ ในห้วงเวลานี้แห่งปี เป็นจังหวะแห่งการส่งความสุข การให้ และการจับจ่ายใช้สอยซึ่งเป็นโอกาสทองของภาคธุรกิจ ที่จะปั่นยอดขายในช่วงไฮซีซันแห่งปี

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ถูกประเมินกันว่าปีหน้าจะเป็นปีที่สาหัสสากรรจ์ไม่น้อย ด้วยเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นทั่วโลก ทำให้ธนาคารกลางเกือบทุกประเทศ ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย หวังเรียกเก็บเงินเข้าระบบ ลดการใช้สอย ขณะที่อาการเพิ่งสร่างไข้จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดราคาน้ำมันปรับตัวสูง และอารมณ์ยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน กลายเป็นปัจจัยตอกย้ำความเจ็บช้ำไปทั่วโลก

แม้ในห้วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้พยายามพยุงเศรษฐกิจไทยให้รอดพ้นสารพัดปัจจัยลบรุมเร้า มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใช้งบประมาณสนับสนุนการจับจ่ายใช้สอย การลดงด เว้นการจัดเก็บภาษี การส่งเสริมสินเชื่อภาคธุรกิจทุกขนาด เพื่อให้บริหารจัดการการเงินได้อย่างคล่องตัว เป็นต้น

แต่ภาพความจริงที่สะท้อน ผ่านผลกระทบต่อปากท้องของประชาชนในยุคปัจจุบันที่ “ทีมเศรษฐกิจหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ได้หยิบยกบางส่วนมานำเสนอนั้นก็น่าจะเป็นข้อมูลฝากไว้ให้คิด เตือนสติให้หยั่งรู้ว่า ภาระค่าใช้จ่ายของพวกเราทุกคนกำลังเพิ่มขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง...

นักกู้รับสภาพดอกเบี้ยต่ำ!มันจบแล้ว

หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตรา 0.25% ต่อปี มาแล้ว 3 รอบ หรือจากระดับ 0.50% สู่ 1.25% เพื่อรักษาส่วนต่างดอกเบี้ยไทยกับดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟด ชะลอการไหลออกของเงินตราต่างประเทศ

ถือเป็นจุดสิ้นสุดยุคดอกเบี้ยต่ำ เพราะนับจากนี้ชาวบ้านร้านค้า นักธุรกิจ ที่พึ่งพาเงินกู้นำมาซื้อบ้าน ซื้อรถ ใช้จ่ายลงทุน ต้องปาดเหงื่อสู้ภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นแน่

มองย้อนกลับไป กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% รอบแรก เมื่อเดือน ส.ค.65 หากเป็นสถานการณ์ปกติ เมื่อ กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับขึ้นตาม แต่ในช่วงนั้นเศรษฐกิจไทยเพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากโควิด ธปท.ได้ขอให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยตรึงอัตราดอกเบี้ยไปก่อน เพื่อไม่ให้เป็นภาระของผู้กู้เงิน และชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ขณะที่เฟดยังดำเนินนโยบายขึ้นดอกเบี้ยแบบร้อนแรงต่อไปอีก โดยปรับขึ้น 0.75% ติดต่อกัน 4 ครั้ง ล่าสุดมาอยู่ที่ 3.75-4.00% พร้อมส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อสยบปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้ดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯมีระยะห่างกันมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง ที่ประชุม กนง.ในรอบเดือน ก.ย.65 ได้ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25 % ต่อปี หรือจาก 0.75 % เป็น 1.00%

ธนาคารกรุงเทพไม่รอช้า ปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม กนง.ทันที โดยขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก 0.15-0.50% ต่อปี และปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.30-0.40% ต่อปี ขณะที่ธนาคารพาณิชย์อื่นๆปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ แต่ยังตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย และยืนยันช่วยเหลือลูกค้าในกลุ่มเปราะบางตามคำร้องของ ธปท.

ทันทีที่แบงก์พาณิชย์ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ สินเชื่อบ้านและรถยนต์ ในกรณีที่เป็นสินเชื่อปล่อยใหม่ อัตราดอกเบี้ยรับขึ้นทันที ส่วนสินเชื่อบ้าน เอสเอ็มอี และธุรกิจที่เป็นลูกค้ารายเดิม ดอกเบี้ยจะถูกบวกเพิ่มขึ้นไปตามอัตราที่เพิ่มขึ้น

โดยสินเชื่อบ้านค่างวดผ่อนชำระต่อเดือนยังคงเท่าเดิม เพราะปกติการปล่อยสินเชื่อตลอดสัญญาเงินกู้ ธนาคารจะบวกดอกเบี้ยเผื่อไว้ 1.00% หากกรณีดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นสะสมเกิน 1.00% จะต้องส่งค่างวดเพิ่มขึ้น ขณะที่บัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล ไม่เปลี่ยนแปลง และเป็นไปตามประกาศของ ธปท. บัตรเครดิตอยู่ที่ 16% ต่อปี สินเชื่อบุคคลไม่เกิน 25% ต่อปี

ต่อมาเมื่อ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในรอบที่ 3 เมื่อ 30 พ.ย.65 อีก 0.25% รอบนี้ธนาคารไทยพาณิชย์นำร่องขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก 0.25-1.40% ต่อปี และปรับดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น 0.125-0.25% ต่อปี จากนั้นแบงก์พาณิชย์อื่นๆก็ทยอยประกาศขึ้นดอกเบี้ยตาม

ขณะที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธ.อ.ส.) ธนาคารออมสิน ยังต้องยืนหยัดตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ ช่วยลดภาระให้ลูกค้าตามนโยบายกระทรวงการคลัง แต่ในปีหน้าดอกเบี้ยเงินกู้ของบรรดาธนาคารเฉพาะกิจของรัฐจะต้องปรับขึ้นแน่นอน

ส่วนทิศทางดอกเบี้ยในปี 2566 ประเมินว่า กนง.ยังปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อไป มีโอกาสไปแตะระดับสูงสุดที่ 1.75-2.00% จากปัจจุบัน 1.25%

ผู้กู้เงินจึงต้องหัดทำใจและเตรียมรับมือดอกเบี้ยเงินกู้ที่จะแพงขึ้นแบบนอนสต็อปในปีที่จะถึงนี้

จุกๆ 1 ม.ค.66 “บีทีเอส”ปรับค่าตั๋ว

เป็นข่าวร้ายรับปีกระต่าย สำหรับคนที่เดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขต กทม. และปริมณฑล หลังจากที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.66 เป็นต้นไป จะปรับราคาค่าโดยสาร ในเส้นทางสายสุขุมวิท เส้นทางสถานีหมอชิต-สถานีอ่อนนุช, สายสีลม เส้นทางสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สถานีสะพานตากสินและส่วนต่อขยายสายสีลม เส้นทาง สถานีกรุงธนและสถานีวงเวียนใหญ่ รวม 24 สถานี เพิ่มขึ้น

จากเดิมที่ประชาชนเคยเสียค่าโดยสารที่ 16-44 บาท จะปรับเพิ่มเป็น 17-47 บาท เรียกว่าได้รับของขวัญปีใหม่ที่ไม่มีใครอยากได้ เพราะทุกวันนี้ค่าครองชีพที่แต่ละคนแบกรับภาระในการเดินทางก็แทบจะไม่ไหวอยู่แล้ว ยังต้องมาถูกปรับค่าโดยสารในเส้นทางไฮไลต์ไข่แดงอีก

บีทีเอสบอกด้วยความปรานีว่า การปรับค่าโดยสารยังต่ำกว่าเพดานอัตราค่าโดยสารสูงสุดตามสัญญาสัมปทานที่อยู่ในอัตรา 21.52 -64.53 บาท และการปรับค่าโดยสารครั้งนี้เนื่องมาจากไม่ได้ปรับมานานแล้ว จะเห็นได้ว่าบีทีเอสเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2542 ร่วม 23 ปีปรับค่าโดยสารครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2560 และครั้งนี้หากมีการปรับค่าโดยสารจะเป็นการปรับครั้งที่ 3 เท่านั้น และการปรับค่าโดยสารครั้งล่าสุดเมื่อ 1 ต.ค.60 ได้ปรับจาก 15-42 บาท เป็น 16-44 บาท

จนมาถึง ณ วันนี้ผ่านมากว่า 5 ปี บริษัทยังไม่เคยปรับอีกเลย ทั้งๆที่ในสัญญาสัมปทานให้บริษัทปรับค่าโดยสารได้ในทุกๆ 18 เดือน

คลังเก็บภาษีขายหุ้น ไม่มีถอยหลัง

เงื้อง่ามาพักใหญ่ ในที่สุดคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีมติให้กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร จัดเก็บภาษีขายหุ้นในอัตรา 0.10% ให้มีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาครบ 90 วัน โดยปี 2566 จะจัดเก็บกึ่งหนึ่งหรือในอัตรา 0.055% รวมภาษีท้องถิ่น และจัดเก็บเต็มอัตรา 0.11% รวมภาษีท้องถิ่นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.67 เป็นต้นไป

เมื่อนำภาระภาษีมารวมกับค่าธรรมเนียมของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือโบรกเกอร์แล้ว ปี 2566 ผู้ลงทุนในตลาดหุ้น เมื่อขายหุ้น จะเสียค่าใช้จ่ายรวม 0.195% และปี2567 จะมีค่าใช้จ่ายรวม 0.22% ต่อการขายหุ้นแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะขาดทุนหรือกำไร โดยโบรกเกอร์จะเป็นผู้จัดเก็บภาษี แล้วนำส่งกรมสรรพากรด้วยตัวเอง

กระทรวงการคลังอธิบายว่าภาษีที่จัดเก็บนั้นต่ำกว่าหลายประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชีย และไม่ว่าจะย้ายไปลงทุนซื้อขายหุ้นในประเทศใด ก็ต้องเสียภาษีให้กับประเทศนั้นๆ เช่นเดียวกัน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ยืนยันเดินหน้าเก็บภาษีไม่มีทบทวน เพราะขณะนี้รายได้ของประเทศไทย ถือว่าอยู่ในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ โดยปี 2564 อยู่ที่ 14.9% ของจีดีพี ดังนั้น ตามแผนการหารายได้แล้ว สัดส่วนรายได้จะต้องอยู่ที่ 16% ของจีดีพีในอีก 5 ปีข้างหน้า และหนึ่งในแผนหารายได้คือภาษีขายหุ้น คาดปีแรกจะจัดเก็บได้ 8,000 ล้านบาท ส่วนปีถัดๆไป จัดเก็บได้ราว 16,000-18,000 ล้านบาท

เปิดราคาค่าไฟฟ้าใหม่ปี 66

หันมาทางฟากฝั่งราคาพลังงาน ที่เป็นอีก 1 ในปัจจัยหลักในเรื่องของค่าครองชีพ ปรากฏว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีข่าวร้ายเขย่าขวัญเงินในกระเป๋าของคนไทยทั้งประเทศ พร้อมๆ กัน 2 เรื่องนั่นก็คือ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานมีมติ ให้ปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) สำหรับรถยนต์ทั่วไป 1 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) หรือจาก 16.59 บาทต่อ กก. เป็น 17.59 บาทต่อ กก. มีผลตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค.65-15 มี.ค.66 จากต้นทุนที่แท้จริงซึ่งอยู่ที่ 29.51 บาทต่อ กก. ส่วนราคาสำหรับโครงการเอ็นจีวีเพื่อลมหายใจเดียวกันที่ช่วยเหลือรถแท็กซี่ ยังให้คงราคา ไว้ที่ 13.62 บาทต่อ กก.ระหว่างวันที่ 16 ธ.ค.65-15 มี.ค.66

ข่าวร้ายเรื่องที่ 2 ก็คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศปรับขึ้นราคาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ที่แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านที่อยู่อาศัย จะต้องจ่ายค่าเอฟที อัตราคงเดิมที่ 93.43 สตางค์ (สต.) ต่อหน่วย หรือคิดเป็นค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (รวมค่าไฟฐาน) อยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย

ขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้า ประเภทอื่นๆอาทิ กิจการขนาดเล็ก, กิจการขนาดกลาง, กิจการขนาดใหญ่, โรงแรม, โรงงานอุตสาหกรรม, ผู้ใช้ไฟฟ้าชั่วคราว อาทิบ้านพักอาศัย สถานประกอบการ อาคารสำนักงานที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ค่าเอฟที จะอยู่ที่ 190.44 สต.ต่อหน่วย และเมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานจะอยู่ที่ 5.69 บาทต่อหน่วย หรือปรับขึ้น 20.5%

ทั้งนี้ ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในครั้งนี้ทำให้นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ออกมาระบุว่าจะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการทั้งโรงแรม ต้นทุนผลิตสินค้าของโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค จะต้องปรับเพิ่มขึ้น 5-12% และสุดท้ายก็ต้องผลักภาระไปยังผู้บริโภค นอกจากนั้นยังมีผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อและ กระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขัน ในการส่งออกของประเทศไทย

ดังนั้น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) จะทำหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนมติ กกพ. และให้ตั้งคณะทำงานทั้งภาครัฐ-เอกชน มาหารือร่วมกันด่วนก่อนที่จะเริ่มเก็บค่าไฟฟ้าใหม่ในวันที่ 1 ม.ค.2566

ทั้งนี้ ค่าไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม หากนับเพิ่มจากงวดต้นปี ที่ผ่านมาจนมาถึงงวดใหม่ต้นปี 2566 หากเก็บตามที่ กกพ.กำหนดก็จะขึ้นถึง 70% จากประมาณ 3 บาทต่อหน่วยเป็น 5.69 บาทต่อหน่วย

โดนอีก! ราคาประเมินใหม่ภาษีที่ดินพุ่ง

ในปี 2566 จะมีการประกาศใช้บัญชีราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างรอบใหม่ปี 2566-2569 ส่งผลให้ราคาที่ดินแพงขึ้น 8.33% มีผลต่อการประเมินมูลค่าที่ดินสำหรับการเสียภาษีด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ประกาศจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาตั้งแต่ปี 2563 แต่เนื่องด้วยวิกฤติการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องประกาศปรับลดหย่อนอัตราการจัดเก็บลงเหลือ 10% เป็นเวลา 2 ปี (2563-2564) ส่วนปี 2565 จัดเก็บอัตรา 100% ซึ่งเริ่มจ่ายเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับปี 2566 ก็ต้องจ่ายภาษีที่ดินเต็ม 100% เช่นเดียวกัน คาดว่าจะมีรายได้บำรุงท้องถิ่นปีละ 30,000 ล้านบาท

สำหรับอัตราการจัดเก็บภาษี ดังนี้ 1.ที่ดินเพื่อการเกษตร, ที่ดินเพื่ออยู่อาศัย และอื่นๆ ซึ่งคือที่ดินเพื่อการพาณิชย์ อุตสาหกรรมและที่รกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ทำประโยชน์ตามควร ที่ดินเพื่อการเกษตร มีอัตราภาษีตั้งแต่ 0.01-0.1% โดยยกเว้นภาษีให้กับที่ดินเพื่อการเกษตรที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทและใน 3 ปีแรก (2563-2565) ในกรณีเป็นที่ดินเกษตรของบุคคลธรรมดาไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ต้องมีภาระภาษี 2.ส่วนที่ดินเพื่ออยู่อาศัย มีอัตราตั้งแต่ 0.02-0.1% กรณีเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและเป็นบ้านหลังหลักของคนนั้น มีชื่อเป็นเจ้าของและมีชื่อในทะเบียนบ้านหลังนั้นที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี และ 3.สำหรับที่ดินประเภทอื่นๆ อาทิ พาณิชย์ อุตสาหกรรม และที่รกร้างว่างเปล่ามีอัตราภาษีตั้งแต่ 0.3-0.7% เฉพาะที่ดินรกร้างว่างเปล่า จะถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 0.3% ในทุกๆ 3 ปี แต่อัตราภาษีรวมจะต้องไม่เกิน 3%

ดังนั้น นับตั้งแต่ 1 ม.ค.2566 เจ้าของและเศรษฐีที่ดินทั้งหลาย จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น นอกจากอัตราภาษีเก็บเต็ม 100% ไม่มีผ่อนปรนแล้ว ราคาประเมินที่ดินที่สูงขึ้น คือภาระที่ต้องควักกระเป๋าจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย!!

ทั้งหมดนี้เป็นของขวัญปีใหม่แบบจุกๆ ที่ไม่มีใครอยากได้และต้องแบกรับภาระกันไป.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ