มุมมอง "ธนินท์ เจียรวนนท์" ต่อทิศทางโลก รัฐบาล เศรษฐกิจ และคนรุ่นใหม่

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

มุมมอง "ธนินท์ เจียรวนนท์" ต่อทิศทางโลก รัฐบาล เศรษฐกิจ และคนรุ่นใหม่

Date Time: 5 ธ.ค. 2565 06:55 น.

Summary

  • เพราะโควิด ทำให้ “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี ห่างหายจากการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไปกว่า 2 ปีเศษ

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

เพราะโควิด ทำให้ “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี ห่างหายจากการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไปกว่า 2 ปีเศษ

ในสายตาของสื่อมวลชนสายเศรษฐกิจ “ธนินท์ เจียรวนนท์” แตกต่างจากมหาเศรษฐีไทยรายอื่นตรงที่ เขามักออกมาแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะในเรื่องเหตุการณ์ บ้านเมืองเมื่อมีโอกาส ไม่เหมือนนักธุรกิจอัครมหาเศรษฐีไทยรายอื่นที่ถือคติ “Low Profile High Profit” อยู่แบบเงียบๆ สะสมความมั่งคั่งให้พอกพูนแบบไม่ตกเป็นเป้าสายตา

และนี่น่าจะเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่ทำให้ซีพี ในฐานะเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศ ตกเป็นจำเลยสังคมได้โดยง่าย จนเคยมีคนกล่าวเอาไว้ว่า ซีพีคือเป้าใหญ่ ยิงมั่วก็ยังถูก

สัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างงานประชุมสุดยอดผู้นำการศึกษาโลก Forum for World Education 2022 (FWE) ที่ประเทศไทย “ธนินท์” ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าสัมภาษณ์ ซักถามข้อมูลอีกครั้ง หลังห่างหายไปนาน

เขาพูดถึงตัวเองเมื่อ 50-60 ปีก่อน ที่เคยถูกผู้ใหญ่ละเลย บอกให้เงียบ ให้ฟังอย่างเดียว เขาจึงตั้งใจ “ให้โอกาส” คนรุ่นใหม่ “ธนินท์” ยังพูดถึงความคาดหวังต่อรัฐบาลและผู้นำประเทศ ตลอดจนการมาเยือนไทยเพื่อประชุมผู้นำเอเปกของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง และการควบรวมกิจการระหว่างทรู-ดีแทค ตามที่ “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ได้นำมาถ่ายทอดต่อพอเป็นสังเขป...ดังนี้...

ประเมินเศรษฐกิจปีหน้าอย่างไร หลายคนบอกเป็นปีเผาจริง

ไม่ใช่เผาจริง เผาจริงคือปีนี้ ผมว่าปีหน้าดีกว่าปีนี้แน่นอน เพราะเราเริ่มเปิดประเทศแล้ว แต่จะดีมากหรือน้อย อยู่ที่นโยบายรัฐบาล ที่เอื้อให้คนเข้ามา เป็นผมจะกระตือรือร้น ตอนนี้ยุโรปอากาศหนาว ก๊าซไม่พอ น้ำมันแพง รัสเซียมีสงคราม คนพวกนี้อยากออกนอกประเทศ เราได้ทำอะไรหรือไม่

ผมเคยพูดว่าโควิดหยุดเมื่อไร เศรษฐกิจจะฟื้นทันที ผมเชื่ออย่างนั้น มันไม่เหมือนสมัยสงครามโลกที่สนามบิน สถานีรถไฟ ท่าเรือถูกทำลายเสียหายหมด ต้องใช้เวลาซ่อมแซม แต่นี่โครงสร้างพื้นฐานทุกอย่างยังดี ที่แย่หน่อยคือนึกว่าโควิดจะอยู่แค่ปีเดียว แต่กลับระบาดยืดเยื้อ 2 ปีกว่า แถมเจอการเมืองขัดแย้ง น้ำมันแพง สงครามรัสเซีย-ยูเครน ปัญหาเลยทับถม

แต่ทั้งหมดกลับกลายเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ทั่วโลกหันมาสนใจอาเซียน ไทยจึงมีโอกาสยิ่งในฐานะศูนย์กลางอาเซียน โอกาสแบบนี้ 1,000 ปีจะมีสักครั้ง ต้องอยู่ที่รัฐบาลและพวกคุณแล้วหล่ะ ไม่ว่ารัฐบาลชุดเดิมหรือชุดใหม่ จะฉกฉวยโอกาสนี้อย่างไร ฝนตกจะหาอะไรไปรองน้ำหรือปล่อยมันไหลทิ้งไป

รัฐบาลต้องออกเงื่อนไขดึงต่างประเทศเข้ามาลงทุน อย่างเรื่องอนุญาตให้ครอบครองที่ดิน 1 ไร่ พอเปิดหัวเรื่องมา ก็เจอข้อหาขายชาติ ขายแผ่นดิน เขามาชั่วคราวและเป็นประโยชน์ ที่ดินเพาะปลูกของประเทศเรามี 100.5 ล้านไร่ เขาครอบครองได้แค่ 1 ไร่ เอาเงินมาลงทุน ซื้อที่ ซื้อบ้าน ปักหลัก ดีกว่านักท่องเที่ยวที่มาแล้วก็ไป ถ้าเขาจะมาสร้างบ้าน สร้างประโยชน์ สร้างงาน สร้างเงิน แล้วบอกว่าเป็นการ ขายชาติ ผมว่าลำบากครับเมืองไทย เขาเอาที่ดินกลับไปได้ไหม ที่ดินมันก็ตั้งอยู่ในเมืองไทยนี่แหละ บางทีหากไม่เข้าใจ แม้หวังดีแต่กลับทำให้ประเทศเสียหาย

ไม่ทราบพวกคุณรู้ไหม ดูไบพื้นที่เขานิดเดียว เขาเห็นคนรัสเซียอยากย้ายออก เขารีบไปเชิญมาอยู่ดูไบแบบถาวร คนรัสเซียมีบ้านอยู่อังกฤษ ทางดูไบมีข้อเสนอช่วยขายบ้านที่อังกฤษให้ เขาเชิญชวนเต็มที่

คนพวกนี้เข้ามา ช่วยสร้างกำลังซื้อ กระตุ้นเศรษฐกิจแน่นอน ไม่ทราบพวกคุณรู้ไหม พวกสตาร์ตอัพชอบอยู่เมืองไทย รู้แบบนี้ทำไมไม่ผ่อนคลายกฎหมายให้เขาเข้ามาโดยง่าย เราขาดคนเก่ง คนเก่งเข้ามาสัก 5 ล้านคน จ้างผู้ช่วยคนไทย 1 คน ก็เป็นประโยชน์ต่อเด็กจบใหม่แล้ว พวกนี้รับเงินเดือนมหาศาลจากอเมริกา ยุโรป มาใช้ชีวิตเมืองไทย ซื้อของในเมืองไทย ไม่ดีตรงไหน แถมมีกำลังซื้อสูง ผมลองคำนวณดูแล้ว คนเดียวใช้จ่ายมากกว่านักท่องเที่ยว 10 คนอีก

ทำไมเราไม่คิดบวก เขาไม่มาแย่งงานหรอก สตาร์ตอัพเหล่านี้มีทักษะพิเศษที่เราไม่มี เราสร้างคนไม่ทัน คนไทยจะได้เรียนรู้จากเขา ให้เขามาใช้ชีวิต มาสร้างงาน มาสอน ประเทศไทยเข้าสู่ยุคคนแก่แล้ว เราต้องการคนพวกนี้ แต่ทั้งหมดมันไม่ได้อยู่ที่ผม อยู่ที่รัฐบาล

ผู้นำประเทศควรเป็นอย่างไร

ต้องกล้าทำ อะไรที่ถูก ต้องกล้า หากเป็นการทำเพื่อประโยชน์ประเทศ การจะให้ทุกคนเห็นพ้องไม่มีทางหรอก คนมองต่างมุม ถ้ามั่นใจว่าไม่ได้ทำเพื่อส่วนตัว ต้องเดินหน้า ผิดบ้างไม่เป็นไร ทำ 10 เรื่องผิดสัก 2–3 เรื่อง ไม่เป็นไร ผู้นำไม่ใช่เทวดา ที่เห็นคือผู้นำกลัวถูกโจมตี เสียชื่อ หากทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ต้องกล้าทำ โลกมันเปลี่ยน เราไม่เปลี่ยน มัวแต่ชักช้าไม่ได้

เรื่องการศึกษา ต้องรู้ว่าการสร้างคนรุ่นใหม่ 4.0 ทำอย่างไร แล้วเอามาสอนเด็กไทย เรื่องอย่างนี้อย่าคิดเอาเอง มาถามผมก็ไม่ได้ มีตัวอย่างในโลกนี้มากมาย ผมทำธุรกิจผมก็เรียนรู้จากประเทศที่เหนือกว่า แล้วเอาไปต่อยอด ทำให้ดีกว่า เพิ่มเติมขึ้นไปอีก อย่างตอนเลี้ยงหมู ผมเรียนรู้จากทั่วโลก ตั้งแต่เบลเยียม เดนมาร์ก อังกฤษ เยอรมัน อเมริกา ส่งคนไปเรียน ตอนแรกคือลอก 100% แต่พอทดลองทำก็รู้ว่าใครมีทีเด็ดอะไร แล้วเอาที่ดีที่สุดของทุกคนมาเป็นของเรา เราไม่ต้องเรียนเอง งมเอง มันช้า เอาความเก่งของหลายประเทศมาประยุกต์ เพิ่มเติม อันไหนไม่ดีตัดออก ซีพีทำแบบนี้ ไม่ต้องเริ่มจาก 0 มันเสียเวลา

“หรือเรื่องการดึงดูดสตาร์ตอัพ ไปดูเลยประเทศไหนสตาร์ตอัพสนใจอยากไปอยู่ มีกฎเกณฑ์อะไร ลอกเขามา เสริมให้ดีกว่า หรือถามว่าเขาต้องการอะไร อย่าคิดเอาเอง เรียนรู้จากประเทศอื่นได้”

ได้หารือสีจิ้นผิงตอนมาเอเปกหรือไม่

ขนาดทูตจีนในไทยยังต้องกักตัว 7 วันเพราะสีจิ้นผิงต้องเปิดหน้ากาก มีกว่า 10 ประเทศขอพบ ผมไม่ได้เข้าหารือและเขาก็ไม่ได้จำเป็นต้องให้เราเข้าพบ เราเป็นนักธุรกิจตัวเล็ก เขามาพบนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีนับว่าเพียงพอแล้ว

ในมุมการค้าโลก เราไม่มีสิทธิ์เข้าข้างใคร ต้องคบหมด อเมริกาต้องคบ นอกจากเขาไม่คบเรา จีน ญี่ปุ่น แต่อย่าไปเกี่ยวการเมือง ผมว่าเราไม่ควรเข้าข้างใคร ความเห็นผมนะ ไม่รู้ทำได้ไหม ไทยต้องสร้างสมดุลให้ได้ เอาประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก อาจต้องยอมบ้าง ถึงอย่างไรอเมริกาก็ยังเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก ส่วนตลาดใหญ่อยู่ที่จีน เราก็ต้องคบจีนแต่ไม่ได้เข้าข้าง ขณะที่เทคโนโลยีชั้นดีและตลาดการเงินยังอยู่อเมริกา จึงทิ้งไม่ได้ เราเป็นตี๋น้อย เราเลือกไม่ได้

มองว่าทรู-ดีแทคจะควบรวมสำเร็จไหม

ไม่แน่ใจเลย เพราะถูกคัดค้าน มีคนไม่อยากให้ควบรวม มองในมุมธุรกิจ การควบรวมกิจการระหว่างทรู (ในฐานะบริษัทลูกของซีพี) และดีแทคจะทำให้ทั้ง 2 บริษัทแข็งแกร่งขึ้น แยกกันจะแข่งขันลำบาก เมื่อแข่งขันได้ดีขึ้น จะส่งผลดีต่อตลาดและผู้บริโภค ไม่ใช่ผูกขาด

ตอนนี้จุดโฟกัสของซีพีคืออะไร

โฟกัสอยู่ที่ “คน” และเป็นมาตลอด การสร้างคนคือการให้การศึกษา ประเทศจะเจริญได้ อยู่ที่การศึกษา การศึกษาจะสร้างคน และคนสร้างทุกอย่าง เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ซีพีจึงได้ริเริ่มก่อตั้งสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ขึ้น ผมเดินทางไปดูงานหลายแห่ง ที่เห็นว่าโดดเด่นมากคือของซัมซุง เกาหลีใต้ และจีอีแห่งสหรัฐอเมริกา ที่มีแจ๊ก เวลช์ (Jack Welch) เป็นผู้นำองค์กร คนนี้เก่งเรื่องพัฒนาคนมาก “คนจะเป็นผู้นำ เป็นซีอีโอต้องรู้ทุกเรื่อง ตั้งแต่บัญชี กำไร ขาดทุน บริหารบุคคล การผลิต แม้กระทั่งการประชาสัมพันธ์ ต้องรู้ให้รอบด้าน สมัยก่อนเรียก “เถ้าแก่” คนที่รู้เฉพาะเรื่องเป็นซีอีโอไม่ได้”

ในอเมริกา มีอยู่ช่วงหนึ่งคนที่รู้ทุกเรื่องจะถูกดึงตัวไปทำงานที่อื่น ทำให้บริษัทต่างๆ แก้ปัญหาด้วยการจัดให้พนักงานรู้แค่ด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น คนพวกนี้แม้ถูกซื้อตัวไป ก็มีความรู้แค่ส่วนเดียว ไม่ทั้งหมด บริษัทไม่เดือดร้อนเท่าไรนัก

แต่ที่ซีพี เราไม่คิดอย่างนั้น เราสอนให้ผู้นำเรียนรู้งานทุกด้านแบบเถ้าแก่ ถ้าที่สุดเขาตัดสินใจออกไปทำงานกับที่อื่น หากมีอนาคตที่ดีกว่า ถือว่าดี อย่างน้อยเราก็ได้ช่วยพัฒนาคน ส่งต่อให้ประเทศ เพราะทุกอย่างมาจาก “คน” ทั้งนั้น คนทำให้เกิดการค้นคว้า วิจัย เปลี่ยนแปลง พัฒนา คนอยู่ในทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ “คิด-ทำ-ใช้”

นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เราจัดตั้งสถาบันผู้นำ ซึ่งมุ่งเน้นพัฒนา ฝึกฝน พนักงานทุกระดับตั้งแต่เด็กจบใหม่ ไปจนถึงผู้บริหารระดับสูง กลาง มีการวางเป้าหมาย สนับสนุนให้พัฒนา และให้เงินลงทุนในบรรยากาศแบบสตาร์ตอัพ ยอมรับผลขาดทุนได้ แต่ต้องมีกระบวนการเรียนรู้ รู้ว่าขาดทุนเพราะอะไร พัฒนาให้เราเห็น ไม่ใช่ขาดทุนซ้ำซาก

“50-60 ปีก่อน ผมเคยเป็นเถ้าแก่อายุน้อยมาก่อน ผมเคยถูกผู้ใหญ่ละเลย บอกให้เงียบ ให้ฟังอย่างเดียว ทั้งๆที่ผมเชื่อว่า ผมรู้ไม่น้อยกว่า ผมเห็นความผิดพลาดของผู้ใหญ่ แต่ไม่มีสิทธิเพราะเป็นเด็กอายุน้อย มาถึงวันนี้ที่ผมเป็นผู้ใหญ่ ผมต้องให้โอกาส ผมจึงให้อำนาจ หน้าที่ และเวทีเพื่อฝึกให้เป็นผู้นำ”

ผู้นำในบริบทของซีพี ผมขอใช้คำว่าต้องเป็น “สปอนเซอร์” (Sponsor) หรือผู้สนับสนุน ห้ามเป็นผู้สั่งการ รูปแบบขององค์กรยุคใหม่ต้องทำให้แบนที่สุด มีระดับชั้นบริหารไม่เกิน 1-2 ชั้น เพราะการมีผู้นำเยอะๆ เป็นการเพิ่มขั้นตอน พนักงานระดับปฏิบัติการไม่รู้ว่าจะฟังใคร ในโลกสมัยใหม่ผู้นำมีตัวช่วยมากมาย ใช้ซอฟต์แวร์ติดตามตัวเลขรายได้ กำไร ขาดทุนได้ทุกวันแบบเรียลไทม์ แค่ 3 เดือนก็ปรับเงินเดือนขึ้นให้ได้เลย

ที่ซีพี เรากำหนดคุณสมบัติที่ผู้นำต้องมีทั้งหมด 6 ประการ ใครที่หลุดออกไปจากขอบเขต 6 ข้อนี้ เป็นผู้นำของซีพีไม่ได้ ที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับ 1.คือต้องเป็นคนใจดี 2.ต้องรู้จักให้อภัย ยอมเสียเปรียบบ้าง 3.ต้องอุทิศตน 4.อดทน 5.ขยัน และ 6.กตัญญู

พูดถึงเรื่องความกตัญญู ผมถือเป็นเรื่องใหญ่ เวลาจะสนับสนุนใคร ผมจะมองลึกไปถึงวัฒนธรรมครอบครัวของเขา ถ้าเขาไม่กตัญญูต่อพ่อแม่ ไม่รักพี่รักน้อง เขาจะรักบริษัทหรือ ความกตัญญูยังต้องครอบคลุมถึงประเทศชาติ ประชาชน ซีพีต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน ถ้าไม่มีจุดนี้ ซีอีโอจะทำให้บริษัทล่มสลายในที่สุด

สำหรับซีพี ข้อแรกใน 6 ค่านิยมองค์กร คือต้องตอบแทนประเทศชาติ ประชาชน และบริษัท นอกเหนือจากต้องน้อมรับการเปลี่ยนแปลง, ต้องทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย, ใช้นวัตกรรม, ขับเคลื่อนอย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ และสุดท้ายต้องมีความซื่อสัตย์ กตัญญู

ถ้าให้พูดถึงคนรุ่นใหม่ เรื่องอื่นผมไม่รู้ แต่ถ้าเป็นเรื่องธุรกิจ คนยุคนี้ฉลาดกว่ายุคผม สำหรับประเทศไทย ยิ่งนานไปเรายิ่งได้ผู้นำอายุมากขึ้น ตรงนี้ต้องเปลี่ยน ต้องสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้ขึ้นมาเป็นผู้นำ

“ยิ่งสังคมไทยกำลังเป็นสังคมสูงวัย คนทำงานน้อยลง เรายิ่งต้องรีบสร้าง สนับสนุนคนทำงานรุ่นใหม่ ผมอยากให้มีการปรับหลักสูตรการศึกษาขยับให้เยาวชนจบปริญญาตรีให้ได้ภายในอายุ 18 ปี นี่พูดเฉพาะคนที่เรียนสาขาธุรกิจนะ สาขาอื่นๆ ผมไม่อาจก้าวล่วงเด็กอายุ 18 กำลังเป็นวัยกระตือรือร้น หากได้คนวัยนี้เข้ามาสู่สังคมการทำงาน พวกเขามีพลังมหาศาลในการขับเคลื่อนประเทศ”

ในมุมมองของผม “ปริญญา” ไม่ได้มาพร้อม “ปัญญา” เรียนให้ได้ปริญญาต้องท่องจำ ขยัน แต่ “ปัญญา” เกิดขึ้นจากการลงมือทำ อดทนกับความล้มเหลว การได้ลงมือทำ จะทำให้คนรุ่นใหม่มี “ปัญญา”

ปีนี้เป็นปีที่ซีพีฉลองครบรอบ 100 ปี กำลังก้าวสู่ศตวรรษต่อไป เชื่อไหมผมไม่เคยฉลองความสำเร็จในชีวิตเลย เต็มที่แค่ดีใจได้วันเดียว ยิ่งซีพีทำงานที่ยิ่งใหญ่ขึ้น เรายิ่งพบอุปสรรคมากขึ้น งานเล็กอุปสรรคก็เล็ก งานใหญ่อุปสรรคยิ่งใหญ่ บางครั้งเราเจอแรงกดดันทางการเมืองระดับโลก หากโปรเจกต์นั้นมันใหญ่เกินไป เกี่ยวเนื่องกับหลายประเทศ ก็จะถูกแรงขัดขวางระดับประเทศ หรือบางทีใหญ่เกินไป ก็ถูกข้อหาผูกขาดอีก

“ผมจึงไม่เคยดีใจได้เกิน 1 วัน ยิ่งใหญ่ เรายิ่งลำบากขึ้น”.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ