“...พอเพียง มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่า พอ ก็พอเพียงนี้ก็พอแค่นั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมี มีมากอาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น...”
น้อมรำลึก “5 ธันวาฯ มหาราช-วันพ่อแห่งชาติ”
เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ผมหยิบยกพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ที่ให้ไว้ในตอนหนึ่ง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ 4 ธันวาคม 2541 ที่หลักปรัชญาของพระองค์ ยังคงทันสมัยมาถึงทุกวันนี้
เข้ากับสถานการณ์วิกฤติปากท้องของพี่น้องคนไทย ณ วันนี้
ที่ เครดิตบูโร รายงาน ข้อมูลหนี้ครัวเรือน (รายย่อย) ในไตรมาส 3 พบ หนี้เสียทั้งระบบทะลุ 1.1 ล้านล้านบาท เอ็นพีแอลแตะ 8.5% ขณะที่หนี้ค้างชำระพุ่งต่อเนื่อง
ตัวเลข ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2565 มีลูกหนี้ภายใต้เครดิตบูโร 25 ล้านคน แบ่งเป็น หนี้เครดิตการ์ด 5.29 แสนล้านบาท หนี้สินเชื่อบุคคล 2.5 ล้านล้านบาท สินเชื่อรถ 2.5 ล้านล้านบาท สินเชื่อบ้าน 4.7 ล้านล้านบาท และ สินเชื่อเพื่อการเกษตร 1 ล้านล้านบาท
โดย แบงก์ชาติ รายงานตัวเลขลูกหนี้ที่ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ณ วันที่ 31 ส.ค. รวมอยู่ที่ 3.88 ล้านบัญชี ยอดสินเชื่อที่ได้รับความช่วยเหลือ 2.98 ล้านล้านบาท และยังมีกลุ่มที่ขอความช่วยเหลือจากสินเชื่อใหม่ ผ่านมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูของ ธปท. ที่ 135,805 ราย หรือ 339,036 ล้านบาท
ในสินเชื่อครัวเรือน ทั้ง 4 ประเภท คือ สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล พบว่า ที่น่าห่วงที่สุด คือ สินเชื่อรถ และสินเชื่อบุคคล
และสินเชื่อรถยนต์ที่ได้รับการอนุมัติช่วง 9 เดือน อยู่ที่ 1.08 ล้านบัญชี เป็น กลุ่มเจนวาย (อายุ 25-42 ปี) ถึง 53% และ ยังเป็นกลุ่มที่มีปัญหาชำระหนี้มากที่สุด
ขณะที่สินเชื่อบุคคล 9 เดือนที่ผ่านมา มีบัญชีเปิดใหม่ 5.4 ล้านบัญชี มีสินเชื่อใหม่เพื่อช่วยกลุ่มฐานราก เกือบ 3 ล้านบัญชี กลุ่มนี้เปราะบางสูง เสี่ยงจะเป็นบัญชีเสียมากขึ้น ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเจนวายถึง 61% จากทั้งหมด
เมื่อรวม 2 กลุ่มที่มีปัญหาชำระหนี้ คือเจนวายกับเจนเอกซ์ รวมแล้วเกือบ 5.5 ล้านบัญชี
หากรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เร่งแก้ไข หรือหารือมาตรการช่วยเหลือ ปัญหาใหญ่จะตามมาแน่ เพราะกลุ่มนี้ล้วนอยู่ในวัยทำงาน
อีกกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือ ลูกหนี้รหัส 21 หรือกลุ่มหนี้เสียจากพิษโควิด ที่มีทั้งคนธรรมดา และนิติบุคคลหรือบริษัท สูงถึง 4 แสนล้านบาท
สะท้อนว่าแม้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว รายได้คนกำลังกลับมา แต่ยังมีบางกลุ่มที่รายได้ยังไม่กลับมา เพราะไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยมาตรการพิเศษช่วยเหลือกลุ่มนี้ เพื่อให้กลับมาอยู่ในระบบ
และยิ่งสะท้อนว่าการเติบโตของเศรษฐกิจยังไม่ทั่วถึง ยังมีความเปราะบางสูง
รัฐบาลตีปี๊บจัดอีเวนต์ ประกาศให้ปี 2565 เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน”
แต่ทุกวันนี้ “ลูกหนี้หน้าใส” ก็ยังคงเป็นทาส (หนี้) ธนาคาร สถาบันการเงิน และแก๊งเงินกู้โหดอยู่.
เพลิงสุริยะ