ถอดบทเรียนลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ปัญหาจาก must have และ must carry

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ถอดบทเรียนลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ปัญหาจาก must have และ must carry

Date Time: 30 พ.ย. 2565 18:00 น.

Video

โมเดลธุรกิจ Onlyfans ทำไมถึงมีแต่ได้กับได้ ? บริษัทมั่งคั่ง คนทำก็รวย | Digital Frontiers

Summary

  • ถอดบทเรียนลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ปัญหาจาก must have, must carry และการจัดสรรสิทธิ์ของรัฐที่ขาดการแข่งขัน

Latest


กว่าจะได้ดูฟุตบอลโลกรอบนี้คนไทยลุ้นกันแทบแย่ว่าจะได้รับชมฟุตบอลโลก 2022 กันหรือไม่ และจะได้รับชมการถ่ายทอดสดกันแบบใด...ซึ่งสาเหตุหลักของความล่าช้า เนื่องมาจากติดปัญหาอุปสรรคจากประกาศ Must Have และ Must Carry ของ กสทช. ที่ทำให้ กสทช. เองต้องอนุมัติเงินสนับสนุนจำนวน 600 ล้านบาทจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส.ให้ กกท. ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในครั้งนี้

โดยมีภาคเอกชน คือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ช่วยสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์อีกเป็นจำนวนเงิน 300 ล้านบาท (ทรูสนับสนุน 200 ล้านบาท สำหรับสิทธิ์ในโทรทัศน์ดิจิทัล และ 100 ล้านบาท สำหรับสิทธิ์ทางแพลตฟอร์ม OTT (Over-the-top))

แม้ว่าในที่สุดคนไทยได้รับชมการถ่ายทอดฟุตบอลโลกในประเทศ แต่ก็มีเสียงวิจารณ์อย่างหนาหูว่า เหตุใด กกท. ได้ทำสัญญาโอนลิขสิทธิ์บอลโลกให้ทรูได้สิทธิ์ถ่ายทอดทุกช่องทางแต่เพียงผู้เดียว ทั้งๆ ที่ได้จ่ายเงินจำนวนน้อยกว่าที่รัฐออกไปถึงเท่าตัว จนกระทั่งสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ร้องเรียนมายังสำนักงาน กสทช. ซึ่งภายหลังทรูได้ยอมแบ่งถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกให้กับทีวีดิจิทัล จำนวน 16 คู่ โดยคู่ขนานไปกับช่องของทรู

ภายหลังทรูได้ฟ้องผู้ให้บริการกล่อง IPTV จำนวนหลายราย ที่ได้อ้างกฎ Must Carry และแพร่ภาพสัญญาณการแข่งขันฟุตบอลโลก โดยไม่ได้รับอนุญาตจากทรูซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และจะส่งผลกระทบถึงโอกาสในการรับชมการแข่งขันฟุตบอลโลก ในประเทศไทย

จนกระทั่งนำมาสู่คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้สั่งระงับถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ระบบ IPTV และระบบ OTT ของผู้ประกอบการรายอื่น จนส่งผลให้ผู้ใช้กล่อง IPTV อย่างเช่น AIS box NT และ 3bb จอดำ (โดยคนไทยยังคงสามารถรับชมการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบทั้ง 16 แมตช์ผ่านฟรีทีวีได้ตามปกติ)

เหตุใดการเผยแพร่บอลโลกในประเทศไทยจึงได้วุ่นวายขนาดนี้?

1. ประกาศ Must Have และ Must Carry ทำให้การซื้อลิขสิทธิ์ล่าช้า เพราะเอกชนขาดแรงจูงใจจะจ่ายค่าลิขสิทธิ์ ซ้ำยังทำให้ค่าลิขสิทธิ์แพงขึ้น

Must have หมายถึง ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะทางฟรีทีวี ซึ่งออกมาในปี 2555 เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงเนื้อหารายการโทรทัศน์ที่สำคัญอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยให้ออกอากาศได้เฉพาะฟรีทีวี ภายใต้ประกาศนี้ส่งผลให้ผู้ที่ซื้อลิขสิทธิ์เกี่ยวกับการออกอากาศกีฬา 7 มหกรรมที่ในประเทศจะต้องปฏิบัติตาม ต้องแจ้งเจ้าของลิขสิทธิ์ในต่างประเทศว่ามีประกาศแบบนี้ในประเทศ หนึ่งใน 7 มหกรรมกีฬานี้รวมถึง การแข่งขันฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final) ซึ่งถือว่าเป็นรายการโทรทัศน์ที่สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ภายใต้การให้บริการฟรีทีวีเท่านั้นด้วย

Must carry หมายถึง ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศนท์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป ซึ่งออกมาในปี 2556 ซึ่งกำหนดให้ผู้บริการโทรทัศน์ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ต้องนำรายการในช่องฟรีทีวี ไปออกอากาศในทุกช่องทาง โดยห้าม "จอดำ"

จากประกาศของ กสทช. ดังกล่าวทำให้เพย์ทีวีขาดแรงจูงใจในการซื้อลิขสิทธิ์ เพราะ 1.1. ต้นทุนค่าลิขสิทธิ์จะมีราคาสูงเพิ่มสูงขึ้น เพราะไม่ใช่แค่การอนุญาตให้ผู้ใช้งานกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีการรับชมผ่านช่องทางใดช่องทางหนึ่งได้ต่อไปแล้ว แต่บังคับว่าดูได้ทุกช่องทางทั่วประเทศ ส่งผลให้เจ้าของสิทธิ์ก็ต้องคิดเพิ่มค่าลิขสิทธิ์เพิ่มเติม

1.2. ค่าลิขสิทธิ์มหกรรมกีฬาสำคัญมีราคาสูง แต่เมื่อซื้อมาแล้วก็ต้องอนุญาตให้ฟรีทีวีเอาไปเผยแพร่ต่อได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ปัญหาที่เกิดตามมาก็คือทำให้จำนวนผู้ชมเพย์ทีวีอย่าง TRUE ไม่มากอย่างที่ควรเพราะดูบอลผ่านฟรีทีวีได้อยู่แล้ว และจะส่งผลให้เอกชนไม่สามารถสร้างรายได้จากค่าสมัครสมาชิกจากแฟนบอลที่รับชมการแข่งขันได้ ในทางกลับกันฟรีทีวีก็ไม่มีแรงจูงใจในการไปซื้อลิขสิทธิ์ เพราะก็ต้องอนุญาตให้เพย์ทีวีรายอื่นเอาไปถ่ายทอดต่อได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วยเช่นกัน ตลอดจนทำให้ขายค่าโฆษณาได้ไม่คุ้มกับค่าลิขสิทธิ์ จึงทำให้อาจเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่านัก

ประกาศที่ออกมาโดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้คนไทยได้รับชมมหกรรมกีฬาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม จึงกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้คนไทยเกือบไม่ได้ดูฟุตบอลโลกทันเวลา ซึ่งเรื่องนี้มีบทเรียนเรื่องนี้มาแล้วตั้งแต่สมัยฟุตบอลโลกปี 2018 ที่คนไทยต้องรอจนเดือนสุดท้ายก่อนที่รัฐโดยความร่วมมือกับเอกชน 9 ราย ลงขันซื้อลิขสิทธิ์เพื่อถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกที่จัดที่รัสเซีย

เช่นเดียวกัน ปี 2022 นี้คนไทยก็ลุ้นจนเหนื่อยอีกครั้งกว่าจะมีซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 กับ FIFA จำนวน 64 คู่ ในราคา 1,400 ล้านบาท (ประกอบด้วยค่าเงินลิขสิทธิ์ ค่าภาษี และค่าใช้จ่ายอื่นๆ) โดยเงินลงทุนซื้อค่าลิขสิทธิ์กลับมาจากรัฐควักจากกระเป๋าตัวเองเป็นส่วนใหญ่

โดยจำนวน 600 ล้านบาทจาก กสทช. ที่มีมติอนุมัติเงินสนับสนุนจากกองทุน กทปส. ให้ (ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการจ่ายเงินไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของกองทุน) เงินอีกก้อนจำนวน 700 ล้านบาทมาจาก กกท. ซึ่งมาจากผู้สนับสนุนจากภาคเอกชนหลายราย โดยมาจากกลุ่มทรูฯ 300 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 200 ล้านบาท สำหรับสิทธิ์ในโทรทัศน์ดิจิทัล และ 100 ล้านบาท สำหรับสิทธิ์ทาง OTT

2. มูลค่าของสิทธิประโยชน์ที่ทรูได้ไม่ได้สัดส่วนกับจำนวนเงินที่ทรูจ่ายไป ซึ่งเกิดจากรัฐเองที่ไม่มีหลักเกณฑ์จัดสรรสิทธิ์

การช่วยรัฐออกเงินค่าลิขสิทธิ์ในสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 21.4 ส่งผลให้ทรูได้รับสิทธิประโยชน์ในการถ่ายทอดสดจำนวน 32 แมตช์ จาก 64 แมตช์ทาง Digital TV และทั้ง 64 แมตช์ทาง IPTV และ OTT แบบ exclusive ทุกช่องทาง ซึ่งทรูก็ถือว่าได้สิทธิ์มาในราคาที่ถูกเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้ แม้ว่าภายหลังทรูจะยอมแบ่งการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ให้กับทีวีดิจิทัลจำนวน 16 แมตช์คู่ขนานช่อง true4U ก็ตาม

นอกจากนี้ หากดูผิวเผินจากสัดส่วนของผู้ที่มีส่วนลงขันในค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกแล้ว เอกชนอื่นที่มีส่วนในการช่วยจ่ายค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 จะไม่ใช่ผู้ประกอบการด้าน media แต่โดยหลักแล้วผู้ประกอบการกลุ่มอื่นนอกจากทรูเองก็ควรได้รับสิทธิ์ด้วย แม้ว่าไม่ได้มีส่วนในการลงขันโดยตรง เนื่องจากเงินในการลงขันมาจากกองทุน กทปส. ซึ่งมีแหล่งที่มาของเงินกองทุนส่วนหนึ่งมาจากรายได้ของรายได้ผู้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และตามกฎหมายประกอบกิจการโทรคมนาคม

3. การได้สิทธิประโยชน์ของทรู ไม่มีการประมูลหรือการเปิดให้มีการแข่งขัน

ในเอกสารของ FIFA ระบุไว้ชัดเจนว่าองค์กรที่ได้สิทธิ์ในการเผยแพร่ภาพฟุตบอลโลก 2022 ในประเทศไทยคือ กกท. แต่ทำให้หลายฝ่ายเคลือบแคลงว่าเหตุใด กกท. จึงให้ผู้ประกอบการที่มีส่วนสนับสนุนร้อยละ 21.4 ได้สิทธิแบบ exclusive ขนาดนี้

อันที่จริงแล้ว กกท. ควรเปิดเผยตั้งแต่แรกว่าถ้าจะมาขอสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดแล้ว ต้องจ่ายเท่าใด หรือมีหลักเกณฑ์การแบ่งสิทธิ์อย่างไร อาทิ แบ่งตามจำนวนแมตช์ หรือตามช่องทางที่มีการเผยแพร่ (ที่อาจขึ้นกับจำนวนผู้ใช้งานในแต่ละช่องทาง) มากกว่าที่จะไปขอระดมทุนจากเอกชนในลักษณะการกุศล และให้เอกชนเลือกเอาว่าจะเอาอะไรบ้างแบบ Cherry picking

และแน่นอนว่าสิ่งที่เอกชนเลือกมันย่อมมีมากกว่ามูลค่าที่เอกชนรายนั้นต้องจ่ายเป็นธรรมดา นอกจากนี้ หลักเกณฑ์การจัดสรรสิทธิ์ไม่เคยถูกเปิดเผยและไม่ได้มีการประมูลหรือเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเต็มที่ แต่เป็นเพียงการเจรจาต่อรองกัน โดยไม่มีการเปิดเผยสัญญาระหว่าง กกท. และทรู ให้ประชาชนได้ทราบ

บทสรุปส่งท้าย

ภายหลังคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลฯ คนไทยไม่สามารถดูฟุตบอลโลกผ่านกล่องของ ผู้ประกอบการ IPTV ซึ่งเป็นคู่แข่งทรูได้ นำมาซึ่งคำถามสำคัญว่าประกาศ must carry ว่าจะมีไว้ทำไม

ก่อนที่ปัญหาเหล่านี้จะวนกลับมาอีกใน 4 ปีข้างหน้า กสทช. คงต้องมีการทบทวนความจำเป็นในความคงอยู่ของประกาศ must have และ must carry สำหรับกรณีการออกอากาศฟุตบอลโลก ยังมีความจำเป็นใดหรือไม่ และคงต้องพิจารณาถึงหลักเกณฑ์การแข่งขันระหว่างเอกชนเพื่อให้ได้สิทธิ์อย่างจริงจังว่าจะทำอย่างไรให้ทั่วถึงและเปิดเผย เพื่อประชาชนผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด หรืออาจมีวิธีการอื่นใดที่ดีกว่าให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น การควบคุมกำกับสัญญา หรือการห้ามการกีดกันผู้ให้บริการรายอื่น เป็นต้น

หากไม่มีการแก้ไขคนไทยก็คงจะต้องลุ้นอีกทีใน 4 ปีข้างหน้าว่าไทยจะได้ลิขสิทธิ์บอลโลกหรือไม่ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต้นทุนค่าลิขสิทธิ์ และจะทำอย่างไรให้มีการเจรจากับผู้ประกอบการที่จะเข้ามาเผยแพร่ฟุตบอลโลกภายใต้เงื่อนไขที่สมเหตุสมผลและเป็นธรรม

สุดท้ายหากไม่มีการยกเลิกประกาศ must have และ must carry ประกาศฯ ก็คงจะถูกท้าทายอีกครั้งเรื่อยไป ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การขัดต่อกฎหมายลิขสิทธิ์ ตลอดจนในมิติของการแทรกแซงกลไกตลาดจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จนทำให้เอกชนขาดแรงจูงใจทางธุรกิจ และทำให้รัฐต้องมาลงทุนซื้อลิขสิทธิ์เองแบบไม่ได้อะไร

บทความโดย : ดร.สลิลธร ทองมีนสุข นักวิชาการทีดีอาร์ไอ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ