เพราะเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ชุดที่ต้องเข้ามารับพิจารณาประเด็นร้อนกรณีการควบรวมกิจการระหว่างบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ซึ่งเป็นที่จับตามองจากผู้คนในวงกว้าง
การเข้ามารับตำแหน่งของบอร์ด กสทช. ชุดที่มี นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เป็นประธานตั้งแต่เดือน เม.ย.2565 จึงเป็นไปอย่างเงียบงัน หลีกเร้น ซ่อนหน้า ไม่เฉพาะต่อสื่อมวลชน แต่รวมถึงต่อภาคเอกชนบางส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย
มีเพียงการแถลงข่าวร่วมกันเมื่อเดือน ส.ค.2565 ในโอกาสดำรงตำแหน่งครบ 3 เดือน ครั้งนั้นประธานบอร์ดยืนยันสั้นๆกับสื่อมวลชนว่า การพิจารณากรณีทรูและดีแทค “ไม่มีธง” แน่นอน
กระทั่งในวันที่ 20 ต.ค.2565 เมื่อบอร์ดมีมติ 3 ต่อ 2 รับทราบการควบรวมกิจการและกำหนดมาตรการและเงื่อนไขเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคม สร้างกระแสลุกฮือจากกลุ่มผู้คัดค้าน ซึ่งประกาศว่าจะนำเรื่องฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อหยุดยั้งการควบรวมในครั้งนี้ให้ได้
กระนั้น...ก็ยังไม่มีบอร์ดคนไหนเอ่ยปากพูดถึงเรื่องดังกล่าว นอกจากการให้เอกสารข่าวเผยแพร่วาระประชุมและการสื่อสารทางเดียวผ่านหน้าเฟซบุ๊กของบอร์ด กสทช.บางคน
...จึงนับเป็นฤกษ์งามยามดียิ่ง เมื่อในที่สุด “ทีมเศรษฐกิจหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. เสียงข้างน้อย ผู้ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค
นอกจาก “แก่ขึ้นเยอะและเหนื่อยกว่าที่คิด” รศ.ดร.ศุภัชยังบอกเล่าเรื่องราวการทำงาน ความต้องการทำให้ค่าบริการมือถือและ อินเตอร์เน็ตถูกลง การเคารพในความคิดต่าง การปล่อยวางและ เป้าหมายในเวลาอีก 5 ปีครึ่งที่เหลืออยู่ของเขา...
6 เดือนที่ผ่านมาทำอะไรไปแล้วบ้าง
ต้องยอมรับว่าการพิจารณากรณีควบรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค กินเวลาและพลังงานไปเยอะมาก แต่เมื่อการพิจารณาของบอร์ดเสร็จสิ้นลงแล้ว ก็จะเดินหน้าทำงานอื่นๆได้ตามแผนที่วางเอาไว้ รวมถึงการกำกับดูแลราคาค่าบริการมือถือและอินเตอร์เน็ต ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการควบรวมด้วย
“กรณีทรูและดีแทค ต้องถือเป็นเผือกร้อนสำหรับ กสทช.ชุดนี้ เราถูกกรอบเวลา สังคมเร่งรัดให้พิจารณาทันทีที่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อเดือน เม.ย.2565 หน้าที่ของผมในฐานะกรรมการสายเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการ ต้องผลักดันให้มีการศึกษาข้อมูลอย่างครบถ้วน รอบด้าน เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาของบอร์ด คิดว่าทำในส่วนของตัวเองอย่างดีและเต็มที่แล้ว”
ความตั้งใจหลักจริงๆ ตอนตัดสินใจสมัครเข้ามารับการคัดเลือก เป้าหมายคืออยากยกระดับสำนักงาน กสทช.ให้เป็นองค์กรกำกับ ดูแลชั้นนำ ทั้งในและต่างประเทศ มีความเป็นสากลและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ
“ผมเป็นนักวิชาการ ทำงานร่วมกับ กสทช.มากว่า 14 ปีแล้ว ในฐานะนักวิจัย ทำงานให้ กสทช.หลายเรื่อง ที่ตลกคือผมเป็นคณะทำงานที่เข้ามาช่วย กสทช.ร่างประกาศเรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ซึ่งถูกอ้างอิงเรื่อยมาตั้งแต่มีกรณีทรูควบรวมดีแทค”
“ก่อนหน้านี้ ผมอยู่ในฐานะนักวิจัย ช่วยศึกษา ร่างประกาศ ทำข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบาย แต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจ ตอนนี้บทบาทเปลี่ยน ผมมีอำนาจในการพิจารณาเรื่องที่ส่งผลดี และเสียต่อผู้เกี่ยวข้อง ทำให้รู้ว่าข้อมูลหลักฐานที่ดีนั้น จะนำไปสู่การกำกับดูแลที่ดีและตอบคำถามจากสังคมได้”
พอได้เข้ามาทำงาน ผมจึงเสนอบอร์ดเพิ่มสายงานวิชาการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสำนักงาน กสทช. ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจาก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานบอร์ด ทำให้กระบวนการเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว ล่าสุดเพิ่งฟอร์มทีมเสร็จเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2565 ที่ผ่านมา สายงานวิชาการ ประกอบด้วย 5 สำนัก ได้แก่ 1.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทางวิชาการ กสทช. ซึ่งอยากทำให้เป็นเหมือนสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่ง ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการ ธปท. ได้เข้ามาช่วยวางโครงสร้างด้วย 2.สำนักงานวิเคราะห์นโยบาย 3.สำนักวิเคราะห์นโยบายเชิงปริมาณ 4.สำนักวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจดิจิทัล 5.สำนักวิชาการต่างประเทศ
การเพิ่มสายงานที่มีตำแหน่งและเครื่องการันตีความก้าวหน้าในอาชีพการงานที่ชัดเจน จะช่วยสร้างฐานงานวิชาการให้กับสำนัก งาน กสทช. แทนที่จะพึ่งพางานวิจัยจากบุคคลภายนอกเป็นหลัก ช่วยยกระดับ กสทช.สู่การเป็นองค์กรที่กำกับดูแลโดยใช้ข้อมูลหลักฐาน (Evidence Based) มีขีดความสามารถทางวิชาการชั้นสูง มีคนเก่งๆอยากร่วมงานด้วย
งานชิ้นแรกของสายงานวิชาการ ก็คืองานศึกษาผลกระทบจากการควบรวมทรูและดีแทคด้านเศรษฐศาสตร์ ที่ทำข้อมูลรอบด้าน ทั้งผลกระทบต่อค่าบริการ จีดีพี และการพัฒนาประเทศ นอกจากนั้นยังเตรียมจัดทำ Telecommunication and Broadcasting Barometer เพื่อรายงานภาวะเศรษฐกิจในส่วนของเศรษฐกิจดิจิทัลที่นับวันจะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นเรื่อยๆด้วย
การทำงานร่วมกันของบอร์ดลงตัวหรือยัง
ก็ OK นะ ทำงานด้วยกัน ต้องเข้าใจกัน ความหลากหลายมันมีความสวยงามของมัน คิดต่างกันได้แต่ต้องเคารพกัน นี่คือ สิ่งที่ดีที่สุด คุยกันด้วยเหตุผล มันไม่เป็นไรหรอก บอร์ดแต่ละคนย่อมมีความคิด ความเห็นเป็นของตัวเอง หากอยู่ใต้กฎหมายเป็นเรื่องที่รับได้ คนหลายคนจะให้คิดเหมือนกันได้อย่างไร
กรณีมติบอร์ดเรื่องควบรวมทรู-ดีแทค ผมเป็นกรรมการเสียงข้างน้อย ร่วมกับ ดร.พิรงรอง รามสูต ที่ไม่เห็นด้วยกับการควบรวม เพราะผมเชื่อในสิ่งที่ผมศึกษา วิเคราะห์โดยใช้ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์เข้ามาช่วย ใช้โมเดลแบบจำลองดุลภาพ ทั่วไป Computable General Equilibrium (CGE) ซึ่งมีความละเอียดแม่นยำสูง มาช่วยถอดสมการ หลักฐานบ่งชี้ว่ามีความเป็นไปได้ที่การรวมธุรกิจครั้งนี้ จะก่อให้เกิดอำนาจเหนือตลาด ส่งผลต่อการแข่งขัน และแทบไม่มีทางเป็นไปได้ ที่ผู้ให้บริการรายใหม่จะสามารถเข้าสู่ตลาด อัตราค่าบริการมีแนวโน้มสูงขึ้น ขาดความชัดเจนว่ารวมธุรกิจแล้วประชาชนจะได้ประโยชน์เพียงใด “เพื่อไม่ให้ประเทศต้องเผชิญกับความเสี่ยงนี้ ผมจึงไม่เห็นด้วย”
“ถ้าถามว่า ผลวิจัยแม่นยำแค่ไหน อาจบอกเป็น % ไม่ได้ บอกได้ว่ามีความแม่นยำ ผมมาสายนี้ อิงทฤษฎี เป็นบอร์ดด้านเศรษฐศาสตร์ ก็ต้องศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ให้ดี หากเขาจะเก็บงานเราไว้บนชั้น ก็ไม่เกี่ยง หรือที่สุดผมอาจจะคาดการณ์ผิดก็ได้ แต่ถือว่าทำดีที่สุดแล้ว”
ความรู้สึกต่อคำว่า “ทรยศวิชาชีพตัวเองไม่ได้”
รู้สึกตามนั้น หลังประชุมบอร์ดเสร็จ ดร.พิรงรองเดินมาคุยกับผม ผมก็พูดไปตามนั้น ผมศึกษามาอย่างรอบคอบ ข้อมูลทั้งหมดด้านเศรษฐศาสตร์ ทำให้ผมไม่เห็นด้วยกับการควบรวม ผมทรยศวิชาชีพตัวเองไม่ได้ ผมพูดกับเขาอย่างนั้นจริง พอ ดร.พิรงรองนำไปโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก เลยเป็นข่าวไปทั่ว
“เคยมีคนกล่าวว่า หากคุณเป็นองค์กรกำกับดูแลที่ถูกลืม นั่นเป็นเพราะคุณทำงานได้ดี ราบรื่น จนประชาชนลืมไปว่ามีคุณอยู่ เนื่องจากทุกอย่างไร้ปัญหา หาก กสทช.ถูกลืมได้แบบนั้น ก็คงจะดี เพราะตอนนี้ใครๆก็นึกถึง พูดถึงเรากันอย่างกว้างขวาง”
มีแนวทางกำกับดูแลค่าบริการอย่างไร
แนวทางคือจะทำให้ดีที่สุด ค่าบริการต้องเป็นธรรม หากค่าบริการมือถือ อินเตอร์เน็ตแพง จะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างขึ้น สิ่งนี้ทำให้เราต้องดูแลเรื่องราคาสำหรับคนชั้นกลางลงมามากเป็นพิเศษ คนที่รวยเขาสบายอยู่แล้ว ไม่เดือดร้อน
“เรื่องค่าบริการ เชื่อว่าเป็นเป้าหมายของบอร์ดทุกคนที่จะดูแลให้เป็นธรรม ในระดับราคาที่เข้าถึงได้ง่าย มีแผนจะเข้าไปดูโครงสร้างราคาใหม่ ให้การกำกับดูแลค่าบริการมีความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคมากขึ้น รวมทั้งการใช้เพดานราคากำหนดใหม่ ยกตัวอย่าง ราคาควบคุมของ กสทช.ตั้งแต่ปี 2562 กำหนดให้ราคาเฉลี่ยบริการอินเตอร์เน็ตผ่านมือถือต้องไม่เกินนาทีละ 0.69 บาทนั้น ใช้มา 4 ปีแล้ว ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน”
แต่ต้องอธิบายว่า ผมเป็นแค่ส่วนหนึ่งของบอร์ด ผมไม่ใช่บอร์ดทั้งหมด เรามีการแสดงความเห็น ลงมติกันภายใน 5 คน ล่าสุดเพิ่งมีบอร์ดสายกฎหมายเข้ามาเพิ่มอีก 1 คน เป็น 6 คน
ในทางเศรษฐศาสตร์ การกำกับดูแลการแข่งขันเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูง การกำกับดูแลการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม จะต้องบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค ผู้บริโภค ควรได้รับบริการที่ดี อัตราค่าบริการที่ยุติธรรม แต่กิจการโทรคมนาคมไม่เหมือนกับบริการประเภทอื่นๆ คือมีผู้ให้บริการน้อยราย เป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนสูง มีข้อจำกัดทางด้านคลื่นความถี่ เราต้องกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการอยู่ได้แบบมีกำไรด้วย เขาจะได้มีเงินไปลงทุนโครงข่ายให้บริการที่ดีต่อไปได้
“เรื่องนี้ต้องเป็น Fair Treatment คือกำกับดูแลอย่างยุติธรรม เหมือนเรามีลูก 2 คน คือผู้บริโภค และภาคธุรกิจ ก็ต้องดูแลทั้งคู่ เพราะมันสะท้อนไปถึงระดับการพัฒนาประเทศ”
ดังนั้น หัวใจในเรื่องนี้คือเมื่อเราไม่สามารถสร้าง Perfect Competition ได้ในธุรกิจนี้ ก็ต้องบริหารจัดการให้มีการแข่งขันที่เป็น Healthy Competition โดยผู้ให้บริการมีการแข่งขันกันให้มากที่สุด ในขณะเดียวกันก็ควรมีความสามารถเพียงพอในการลงทุนและพัฒนาเทคโน โลยีใหม่ๆ ทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะโทรคมนาคมเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ทวีความสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศขึ้นเรื่อยๆ โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 14-15% ของจีดีพีรวมของประเทศ และมีบทบาทสูงในชีวิตประจำวันของประชาชน
สิ่งที่จะทำในวาระ 6 ปีที่เหลือคืออะไร
นอกจากกำกับดูแลให้เกิด Healthy Competition ทั้งในธุรกิจโทรคมนาคม วิทยุ โทรทัศน์ตามขอบข่ายอำนาจ กสทช.แล้ว
การลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide) ยังถือเป็นภารกิจสำคัญ เพราะนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จากสถิติพบว่า อัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในประเทศ
ไทยยังอยู่ในระดับต่ำคืออยู่ที่ 15.6% ของครัวเรือนทั่วประเทศ ส่วนหนึ่งมาจากการที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูง ผลที่เกิดตามมาคือ ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการเข้าถึงบริการเหล่านี้ ต้องมีรายได้ในระดับหนึ่งและต้องเสียค่าบริการ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ ทำให้ผู้ที่มี รายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งรวมถึงการไม่สามารถเข้าถึง ช่องทางหรือแพลตฟอร์มต่างๆด้วย เป้าหมายคืออยากให้คนทุก ระดับ โดยเฉพาะคนในชนบท คนด้อยโอกาส และคนยากจนเข้าถึงบริการโทรคมนาคมได้
“เราเห็นข้อมูลว่า โควิดทำให้เกิดการอพยพกลับถิ่นฐานของแรงงานทั่วประเทศ จับจากสัญญาณมือถือเห็นการย้ายถิ่นของแรงงานกลับสู่ภาคอีสานตอนใต้อย่างมีนัยสำคัญ ข้อมูลตรงนี้ทำให้เราสามารถกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับความ ต้องการของคนเหล่านั้นได้ เช่น นำบริการอินเตอร์เน็ตราคา เอื้อมถึงไปให้”
“ผมเริ่มวางแผนที่จะเดินทางไปในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศแล้ว เพื่อไปดูว่าเราจะแก้ไขอะไรได้บ้าง โดยเฉพาะโครงการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation) หรือ USO ซึ่งเป็นโครงการของสำนักงาน กสทช.เอง มีจุดบกพร่องหรือต้องเสริมตรงไหน ต้องทำให้ทั่วถึงมากขึ้น”
ผมยังมีแผนผลักดันให้ กสทช.เข้าไปมีส่วนร่วม และมีบทบาทที่เด่นชัดในองค์กรระดับโลก เพื่อที่จะต่อยอดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคม เช่น เอเปกที่มี APEC Con nectivity Blueprint และในส่วนของอาเซียน ซึ่งจะทำให้การเชื่อมต่อโทรคมนาคมระหว่างประเทศไทยกับกลุ่มประเทศในอาเซียนและอาร์เซ็ป (RCEP) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและราบรื่น ยกตัวอย่าง การถ่ายโอนข้อมูลระหว่างกัน ซึ่งต้องมี การกำหนดมาตรฐานเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-paper) ร่วมกัน หากทำได้ก็จะเกิดความสะดวกและช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศได้ในอีกทางหนึ่ง
รวมทั้งการเข้าไปอำนวยความสะดวกต่อการทำการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศ ที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นจากการทำข้อตกลงทางการค้า Digital Trade Agreement ในหลายประเทศ กสทช.อาจเป็นองค์กรผู้นำในการเดินหน้าเรื่องนี้ นี่คืองานบางส่วนที่อยากผลักดันให้เห็นผล ภายในระยะอีก 5 ปีครึ่งที่เหลืออยู่.
ทีมเศรษฐกิจ